“…คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ…”
......................................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 2 และ 8 มิ.ย.2565
กรรมการที่เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมณ์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปี2565 และปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.6 และ 3.2 เป็นร้อยละ 3.4 และ 3.1 ตามลำดับ ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นและการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นทั่วโลกตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซียและปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียโดยเฉพาะจีนมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงเดิม แม้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 จากการใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด (zero-COVID) ในหลายเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าในภูมิภาค อย่างไรก็ดี การระบาดเริ่มคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภาคการผลิตและภาคการขนส่งของจีนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ของปี 2565 ที่ออกมาดีกว่าคาด กอปรกับทางการจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนโดยรวมมีแนวโน้มการขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม
ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสะท้อนความกังวลต่อเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและตลาดแรงงานตึงตัว รวมถึงธนาคารกลางหลายประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด COVID-19 แล้ว และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมากกว่ากรอบเป้าหมาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศส่วนใหญ่จึงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง
ด้านตลาดการเงินไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก
อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมซึ่งเร็วกว่าคาด ช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะหลัง มองไปข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของตลาดการเงินที่ต้องติดตามคือแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ภาวะเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 4.2ตามลำดับ จาก
(1) การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดบริการ สะท้อนจากข้อมูลการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก ประกอบกับอุปสงค์คงค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่จะช่วยเพิ่มการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้นโดยไทยได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ การยกเลิกระบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 และมีแผนจะยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม 2565 และ
(3) ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานปรับลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาด COVID-19 แต่ต้องติดตามการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ออกนอกกำลังแรงงานหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศมีความชัดเจนขึ้น
เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่อาจดีกว่าที่คาด อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจจำกัดตามที่ประเมินไว้
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่
(1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและวัตถุดิบอาหารสัตว์อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ จึงต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในระยะต่อไป และ
(2) เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวลดลงจากการระบาดของ Omicron และการใช้มาตรการ zero-COVID ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการส่งออกของไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปีโดยประมาณการเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ตามราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น
โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (costpush inflation) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหลายประเภทปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน รวมทั้งราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มปรับเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหาร และอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด ซึ่งสะท้อนในเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ (underlying inflation) ต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักค่าเช่าและมาตรการภาครัฐ, trimmed mean CPI , sticky price CPI จึงต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุนในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และการส่งผ่านต้นทุนที่คาดว่าจะทยอยลดลง ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1-3 แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จาก
(1) ราคาน้ำมันที่มีโอกาสอยู่ในระดับสูงกว่าที่ประเมินไว้โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ขณะที่ราคาน้ำมันภายในประเทศอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์และการทยอยลดเงินชดเชยของกองทุนน้ำมัน
(2) การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มมากและเร็วกว่าคาด จากภาวะที่ต้นทุนหลายด้านปรับสูงขึ้นพร้อมกัน รวมถึงผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะทยอยส่งผลในปี 2566 และความสามารถในการแบกรับต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจลดลงโดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีอัตรากำไรไม่มาก และ
(3) แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป (demand-pull inflation)
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
-คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้จาก
(1) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจเร่งขึ้นมากกว่าในกรณีฐาน จากอุปสงค์คงค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) โดยเฉพาะกลุ่มรายได้สูงและรายได้ปานกลางที่ยังมีกำลังซื้อและอาจกลับมาใช้จ่ายมากกว่าที่ประเมินไว้
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติภายหลังการเปิดประเทศอาจเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคาด และ
(3) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในภาคบริการที่เกี่ยวข้องปรับดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีความไม่แน่นอน โดยต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีนที่อาจชะลอลงในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
-คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้โดยเฉพาะจาก
(1) ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในระยะข้างหน้า โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจคงตัวอยู่ในระดับสูงมากหรือนานกว่าคาด เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจเพิ่มปริมาณการผลิตได้ไม่มากนัก ผลจากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซียที่จะอาจยาวนานกว่าคาด รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ
(2) การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ โดยผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนมากและเร็วกว่าที่คาด จากภาวะที่ต้นทุนหลายด้านสูงขึ้นพร้อมกันทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงาน และค่าแรง อีกทั้งเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น
-คณะกรรมการฯ เห็นว่าน้ำหนักของความเสี่ยง (balance of risks) ในการตัดสินนโยบายการเงินเริ่มเปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งที่แล้ว โดยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจปรับลดลง ขณะที่น้ำหนักความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น
จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง และควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทันการณ์ รวมทั้งควรสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space)เพื่อรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
-คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนัก (trade-off) ระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างรอบด้าน โดยข้อสรุปจากประเด็นอภิปรายที่คณะกรรมการมีความเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่
(1) หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับลดลง โดยกำลังซื้อที่ถูกลดทอนลงอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จนกระทบกลไกการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ รวมถึงค่าจ้างได้ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหากทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อหรือ inflation psychology เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
(2) ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไปอาจก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลง และเปรียบเสมือนการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นโดยปริยาย ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มเติมได้
และหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของธุรกิจและประชาชนได้อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงขึ้นในภายหลังเพื่อดูแลเงินเฟ้อซึ่งเป็นกรณีที่ไม่พึงประสงค์ เพราะรายได้ ค่าครองชีพและภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะถูกกระทบมากยิ่งกว่า ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรเริ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสมและทันการณ์เพื่อสามารถดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น จะส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมเนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว การฟื้นตัวของรายได้จะช่วยให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถรองรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะเพิ่มต้นทุนต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมไม่มากนัก และน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อหลายเท่า
อย่างไรก็ดี สำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อาจมีความอ่อนไหวต่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มรายได้สูง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางดังกล่าว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจปรับให้เหมาะสมตามช่องทาง เช่น ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool)
การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีโดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง
ทั้งนี้ กรรมการ 4 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และเห็นควรให้เริ่มสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนในครั้งนี้
ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อน โดยการฟื้นตัวของอุปสงค์จาก pent-up demand และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนอาจมากกว่าคาดโดยเฉพาะการส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่าน จึงควรเริ่มปรับขึ้นในครั้งนี้และทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงซึ่งอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น
จึงควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบางภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายทั้งสามด้านดังกล่าวตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆในภาพรวมควบคู่ไปด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ
อ่านประกอบ :
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%