“…ในขณะที่ความเสี่ยงในฝั่งเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงในแง่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน้อยลง ความเสี่ยงจึงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี โจทย์ทางด้านนโยบาย ไม่ได้เปลี่ยน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้การฟื้นตัวไปต่อเนื่อง ทำให้การ takeoff ของเราไปได้อย่างต่อเนื่อง (smooth takeoff) อาจไม่ได้เร็ว แต่ขอให้มันไปได้อย่างต่อเนื่อง…”
.................................
หมายเหตุ : เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย’ จัดโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565
ในช่วงหลังเราเจอช็อกแปลกๆใหม่ๆ ไม่เคยคาดคิด ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ โควิด ซึ่งเดิมไม่คิดว่า มี แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผลก็คือ ก่อนเกิดโควิดนึกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3% พอเจอโควิดมาตูมเดียว เศรษฐกิจปีนั้นติดลบ 6% พอจบโควิดเราก็มาเจอช็อกอีก คือ เรื่องยูเครน ซึ่งส่งผลอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในรูปเงินเฟ้อ
“เดิมเราคิดว่าเงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1% แต่ล่าสุดเราคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปีนี้จะวิ่งไปถึงกว่า 6% ซึ่งประเด็น คือ มันมีช็อกหลายอย่างที่คาดไม่ถึง และเกิดขึ้น มิหนำซ้ำ พอช็อกเกิดแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ก็ดูค่อนข้างยาก และถ้าพูดในแง่ความเสี่ยง เราอยู่ในโลกความเสี่ยงที่ดูไม่ออกว่า อะไรเป็นอะไร อย่างตอนนี้ ช็อกจาก Geopolitic มีโอกาสเกิดสูงขึ้น”
ดังนั้น เมื่อเราอยู่ในบริบทที่ว่าช็อกจะมาจากไหน ก็ไม่ทราบ และผลจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ค่อยเคลียร์ แนวทางตอบรับต่อสถานการณ์ที่เหมาะสม คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน และการสร้างกันชน เพื่อให้เศรษฐกิจไปได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเล็กๆแบบเรา ซึ่งผมคิดว่าภูมิคุ้มกันที่สำคัญน่าจะมีอย่างน้อย 5 ด้าน
@ชี้ ‘เสถียรภาพด้านต่างประเทศ’ ของไทยค่อนข้างดี
ด้านแรก เรื่องเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ถามว่าภูมิคุ้มกันและกันชนของเราเป็นอย่างไร ผมถือว่าค่อนข้างดี เพราะตอนนี้หนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่ได้สูง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกือบ 3 เท่า ถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น ตกใจ อยากเอาเงินออก เรามีทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับเมื่อปี 2540
“ถามว่าเรามีความเสี่ยงเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือเปล่า ที่เห็นกันตามกระแสข่าวนั้น ถามว่าในบรรดาเรื่องที่น่าเป็นห่วง เรื่องนี้ทำให้ผมนอนไม่ค่อยหลับตอนกลางคืน ก็ตอบว่า ‘อันนี้ไม่ใช่’ และจริงๆแล้ว ถ้าพูดถึงภาพเงินทุนไหลออกในช่วงหลังแล้ว บ้านเราตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินทุนไหลเข้าสุทธิอยู่ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
ด้านที่สอง เรื่องเสถียรภาพการคลัง ถ้าพูดถึงเรื่องเสถียรภาพการคลัง เราคงหนีไม่พ้น เพราะเมื่อเจอวิกฤติโควิด ภาคการคลังต้องปรับตัว ต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบ แล้วเราก็เห็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 41% ไปอยู่ที่ 60% ต้นๆ แต่การเพิ่มตรงนี้ ถามว่าจำเป็นหรือเปล่า ก็ตอนสั้นๆว่า ‘จำเป็น’ และทุกประเทศก็ทำหน้าตาประมาณอย่างนี้
“เมื่อเจอวิกฤติอย่างนี้ ก็ต้องอัดเงินช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งปีแรกที่เราเจอโควิดและเศรษฐกิจติดลบ 6% นั้น ถ้าไม่ได้มีมาตรการทางการคลังเข้ามาช่วย เราจะติดลบ 9% และเศรษฐกิจที่โตแผ่วๆในปีที่แล้ว และเราเติบโตได้ 1.5% แต่ถ้าไม่ได้การคลังภาครัฐเข้ามาช่วย เศรษฐกิจเราจะกลายเป็นติดลบประมาณ 4% การใช้มาตรการการคลังจึงจำเป็น
และแม้ว่าผลที่ตามมาจากการใช้มาตรการทางการคลัง คือ หนี้เพิ่ม แต่หนี้ที่เพิ่มนั้น ถามว่าไปถึงจุดที่น่าเป็นห่วงหรือทำให้เสถียรภาพเสียหรือเปล่า คำตอบ คือ ณ จุดนี้ คือ ‘ยัง’ ดูได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปีของเรา ที่อยู่ที่ประมาณ 2.8% ซึ่งถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว จะพบว่าดอกเบี้ยของเราอยู่ในระดับต่ำที่สุด ถ้าเสถียรภาพของเราเสียจริงๆ ถามว่ารัฐบาลจะกู้ระยะยาว 10 ปี ได้ดอกเบี้ยขนาดนี้หรือเปล่า คำตอบ คือ คงไม่ใช่”
@‘ระบบสถาบันการเงิน’ แข็งแรง-แต่ ‘ภาคครัวเรือน’ อ่อนแอ
ด้านที่สาม เสถียรภาพการเงิน ถ้าพูดถึงเสถียรภาพการเงิน เราต้องดูความแข็งแรงของ balance sheet (งบดุล)ในเซ็กเตอร์ต่างๆ ซึ่งตัวแรกที่ต้องดู คือ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน แต่ไม่ว่าจะดูในมิติของทุน เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) และการกันสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์ พบว่าค่อนข้างเข็มแข็ง และสภาพคล่องในระบบค่อนข้างสูง
“ถามว่าภาพมันสวยหรูหมดหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่ ยังมีบางเซ็กเตอร์ที่อ่อนแอ โดยเฉพาะ balance sheet (งบดุล) ของภาคครัวเรือนถือว่า อ่อนแอ เห็นได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นมานานมากแล้ว แต่มาเร่งขึ้นมากในช่วงโควิด และล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90% ต่อจีดีพี
แต่ก็ยังข้อดี คือ balance sheet ของบริษัทเอกชนยังค่อนข้างแข็งแรง และภาพนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับปีเมื่อ 2540 ซึ่งเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และเสถียรภาพด้านการเงินของเราเปราะบาง แต่รอบนี้ทั้ง 2 ฝั่ง โดยรวมถือว่าดี”
ด้านที่สี่ เรื่องเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งก็คือเรื่องเงินเฟ้อ เราไม่อยากให้ผันผวนมาก และไม่อยากให้สูงเกินไป แต่ล่าสุดเราก็เห็นว่า จากเดิมที่เราแทบไม่ต้องใส่ใจเรื่อเงินเฟ้อเลย เพราะมันต่ำมาก และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายระยะปานกลางที่เรากำหนดไว้กรอบ 1-3% ซึ่งบางช่วงอาจสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป แต่ในระยะปานกลางเราอยากเห็นอยู่ที่ 1-3%
“ถ้าถอยกลับไป เราจะเห็นว่าเงินเฟ้อต่ำ และต่ำกว่าเป้าด้วยซ้ำ แล้วต่ำจนคนไม่ค่อยสนใจ แต่หลังเกิดเหตุการณ์ในยูเครน เราก็เห็นว่าเงินเฟ้อมัน spiral ค่อนข้างเร็ว และพุ่งสูงขึ้น โดยไตรมาส 1 เงินเฟ้ออยู่ที่ 4.7% หลังจากนั้นเราคิดว่าน่าจะเกินกรอบเงินเฟ้อทั้งปี แล้วจะพีคในไตรมาส 3 (ขยายตัว 7.5%) ก่อนปรับลดลงมา และทยอยกลับเข้าสู่เป้าของเรา”
@ความเสี่ยง ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม-ภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
มีอีกตัวที่น่าสนใจ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คือ เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารและพลังงานออก ซึ่งเดิมเสถียรภาพราคาตรงนี้ ไม่ได้เป็นอะไรที่น่ากังวลขนาดนั้น และยังต่ำกว่าเป้าด้วยซ้ำไป แต่ตอนนี้เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ทางการต้องติดตาม และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
“พูดง่ายๆ คือ ความเสี่ยงของเรา จะเน้นไปในด้านเงินเฟ้อมากขึ้น และถ้าดูสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจไทย พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าก่อน คือ การฟื้นตัว ‘มันมา’ แต่อาจไม่ได้มาเร็ว มาแรงเหมือนที่เราอยากเห็น แต่มันมา โดยปีนี้เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 3.3% ปรับขึ้นมาเล็กน้อย และปีหน้าน่าจะเติบโต 4.2%
แม้ว่าตัวเลขอาจปรับเปลี่ยนไป เพราะมีความเสี่ยงอยู่ แต่ประเด็น คือ จากภาพที่เศรษฐกิจปีที่แล้วที่โต 1.5% แล้วปีนี้จะโตเกิน 3% และปีหน้ามีโอกาสสูงที่จะเห็นตัวเลขเติบโตเกิน 4% ซึ่งการเติบโตที่ระดับ 3% หรือ 4% นั้น มันสูงเท่าๆ หรือสูงกว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจของเรา โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดไตรมาส 1 ก็ออกมาดีกว่าที่คาด และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไตรมาส 2 ก็ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งที่เกี่ยวกับการบริโภค”
อย่างไรก็ตาม ตัวสำคัญที่เป็นตัวชี้ว่า การฟื้นตัวของเรา จะไปได้อย่างต่อเนื่อง และจะกว้างขวางอย่างที่เราอยากเห็นหรือเปล่า คือ เรื่องของท่องเที่ยว ซึ่งจากสัญญาณหลังจากมีการเปิดประเทศ ก็พบว่าดูค่อนข้างดี โดยเราคาดว่าปีนี้การท่องเที่ยวจะกลับมาที่ 6 ล้านคน และสิ่งที่จะฟื้นตัวที่ตามมา คือ รายได้กับการว่างงาน น่าจะดีขึ้น
“บางคนจะบอกว่า ไม่รู้สึกเลยว่ามันฟื้น ก็เข้าใจ เพราะของเราเป็นการฟื้นที่ไม่เร็ว ไม่ได้แรงขนาดนั้น เราโดนกระทบจากโควิดหนักกว่าชาวบ้าน การฟื้นตัวของเราก็ต้องช้ากว่าชาวบ้าน ซึ่งเราจะกลับสู่ภาวะใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดในแง่ของจีดีพี ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า ช้ากว่าที่อื่นในภูมิภาค เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวหนัก แล้วตัวนี้มันโดนหนัก
และถึงแม้ว่าตัวเลขจีดีพี จะกลับมาเท่ากับระดับที่เคยเป็นอยู่ระดับเดิม แต่ถ้าไปคุยกับคนทั่วไป เขารู้สึกว่ามันฟื้นกลับมาเหมือนเดิมหรือเปล่า คำตอบก็คือ ยัง ถามว่าทำไม ก็เพราะรายได้ การจ้างงาน มันยังไม่กลับมาเข้าสู่ระดับเดิม อย่างปีนี้เราจะเห็นนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ส่วนปีหน้า 19-20 ล้านคน แต่มันยังไม่ใช่ 40 ล้านคนเหมือนที่เราเคยได้มา”
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาในแง่ความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะ ‘ไม่ฟื้น’ คงน้อยลงกว่าเดิม แม้ว่าเราจะเจอช็อกจากต่างประเทศก็ตาม แต่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งล่าสุดเราปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ จากเดิมที่เรามองที่ 4.9% เพิ่มเป็น 6.2% เพราะเราเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่เริ่มขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ
“ในขณะที่ความเสี่ยงในฝั่งเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงในแง่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน้อยลง ความเสี่ยงจึงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี โจทย์ทางด้านนโยบาย ไม่ได้เปลี่ยน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้การฟื้นตัวไปต่อเนื่อง ทำให้การ takeoff ของเราไปได้อย่างต่อเนื่อง (smooth takeoff) อาจไม่ได้เร็ว แต่ขอให้มันไปได้อย่างต่อเนื่อง
และถ้าเราไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ก็มีโอกาสที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจไม่ต่อเนื่อง และมีโอกาสที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งท่านคงเห็นคำแถลง (statement) ล่าสุดของ กนง. มีการพูดถึงว่า ด้วยบริบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อมีมากขึ้น จึงต้องสร้างสมดุลการบริหารความเสี่ยง (balance of risk)
ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างที่เคยเป็นอยู่ในอดีต มันน้อยลง แล้วเราต้องเริ่มปรับโหมด โดยคิดถึงเรื่องการเข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Normalization คือ กลับเข้าไปสู่หรือใกล้เคียงภาวะปกติมากขึ้น และจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างกันชนต่างๆ เพื่อรองรับปัญหาช็อกที่จะเกิดขึ้น”
@ ‘ธปท.’ ยันไม่ดู 'เงินเฟ้อ' แค่เป็น ‘ตัวเลข’ เท่านั้น
ถ้าถามว่า ทำไมเรา (ธปท.) ต้องใส่ใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อต่างๆ และต้องสร้างสมดุลระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ อันแรกเลย เราไม่ได้ใส่ใจเงินเฟ้อ สักแต่ว่ามันเป็นแค่ตัวเลข หรือเป็น KPI ที่เราต้องทำให้เข้าเป้าเท่านั้น แต่เหตุผลที่เราต้องใส่ใจ เพราะเรื่องเงินเฟ้อมีความสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็น
เรื่องแรก เศรษฐกิจของเรา เป็นเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดเป็นหลัก การที่พึ่งกลไกตลาด จึงต้องดูเรื่องราคา เพราะราคาจะเป็นตัวบอกว่า ทรัพยากรต่างๆไปทางไหน แต่ถ้าเงินเฟ้อสูง และผันผวนสูง สัญญาณของราคาก็มีโอกาสผิดเพี้ยนได้ ซึ่งจะทำให้การวางแผนของธุรกิจทำได้ยากลำบาก และทรัพยากรอาจไปในที่ที่ไม่ควรที่จะไป เราจึงต้องดูแลราคา
เรื่องที่สอง สำหรับคนส่วนมากแล้ว เงินเฟ้อ มันกระทบเรื่องปากท้อง และความเป็นอยู่ของคนโดยรวม โดยคนที่จะถูกกระทบจากเงินเฟ้อเยอะที่สุด คือ คนที่อยู่กลุ่มรายได้น้อย เพราะคนที่รายได้น้อยมักจะมีความมั่งคั่งน้อย ทรัพย์สินที่จะช่วยเป็นกันชนหรือเป็นภูมิคุ้มกันต่อเงินเฟ้อก็น้อย เพราะทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ของพวกนี้จะขึ้นไปตามเงินเฟ้อ
อีกทั้งคนที่มีรายได้น้อยจะพึ่งรายได้จากค่าจ้างเป็นหลัก ถ้าเงินเฟ้อขึ้นเร็ว แล้วค่าจ้างไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อย ค่าจ้างที่แท้จริงก็ลดลง และถ้าเราไปดูครัวเรือนที่รายได้น้อย จะพบว่าสัดส่วนการบริโภคของเขา หนักไปในเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม และพลังงาน ดังนั้น เงินเฟ้อสูง ผลกระทบจะตกหนักกว่ากับครัวเรือนที่รายได้น้อยมากกว่าครัวเรือนที่รายได้สูง
@กนง.ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ‘ธนาคารกลางสหรัฐ’
“กลไกของดอกเบี้ยจะทำงานในฝั่งอุปสงค์ เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ต้นทุนกู้ยืมก็จะขึ้น การลงทุน และการบริโภคต่างๆก็ชะลอตัวลง แต่บริบทของเอเชีย โดยเฉพาะของไทย ที่มาของเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์ไม่ได้เยอะขนาดนั้น และจริงๆแล้วเงินเฟ้อที่มามาจากฝั่งอุปทาน เช่น พลังงาน ราคาปุ๋ย และต้นทุนต่างๆที่ขึ้น
ถ้าถามว่าดอกเบี้ยจะไปกระทบราคาพลังานโดยตรงได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ ราคาน้ำมันโลกมันมาจากราคาที่เกิดขึ้นในโลก ไม่สามารถถูกกระทบโดยตรงจากเรื่องดอกเบี้ยในประเทศ แต่สิ่งที่เราเห็น คือ การขยายวง และการส่งผ่านของเงินเฟ้อมันกว้างขึ้น แล้วไปกระทบการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
และตรงนี้เป็นหน้าที่หลักของการดำเนินนโยบายการเงิน คือ ทำอย่างไร ที่จะให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลาง ‘มันไม่หลุด’ และทุกประเทศที่มีนโยบายการเงินที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ ตรงนี้เป็นหน้าที่หลักเลย ซึ่งช่วงหลังเราจะเห็น การคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยเฉพาะการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้น มันเริ่มขึ้นแล้ว วิ่งแล้ว ชนกรอบแล้ว
ถ้าในท้ายที่สุด มันไปดึงคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวสูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อตามมา ทั้งในแง่ค่าจ้างและการขึ้นราคาสินค้า หรือที่เรียกว่า wage-price spiral (การปรับขึ้นราคาสินค้าและการปรับขึ้นค่าแรง) มันจะทำให้เครื่องยนต์ของเงินเฟ้อติด จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง ที่ต้องไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดจนเกินไป
โดยสัญญาณที่บอกว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้เราเห็นว่ามันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ จากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ 0.2% แต่ปีนี้น่าจะเห็นตัวเลข 2% ดังนั้น การทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ และไม่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดจนเกินไป อันนั้นเป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญของธนาคารกลาง...
เมื่อกลับมาดูที่บริบทเรา บริบทปัจจุบันของเรา การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ควรเป็นแบบเรา ไม่ต้องไปตามต่างชาติ เพราะนั่นไม่ใช่โจทย์ การที่ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) ขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายว่า เราต้องขึ้นดอกเบี้ย นี่ขอย้ำ เพราะถูกถามบ่อยๆ ผมก็จะตอบว่า ไม่ มันไม่ได้เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของเรา เราดูของเรา
ใช่ เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจจะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างๆ แต่ถามว่าตรงนั้น เป็นปัญหาหรือเปล่า ก็ตอบว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เราไม่ได้มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้สุทธิแล้วเงินไหลยังไหลเข้า ดังนั้น สิ่งที่เราต้องดู คือ เรื่องของเรา ซึ่งก็คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพอะไรต่างๆ”
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
@ขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่การ ‘เหยียบเบรก’ แต่เป็นการ ‘ถอนคันเร่ง’
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าจะตอบสั้นๆ คือ 'ขึ้นเมื่อไหร่ และถ้าขึ้นแล้ว ขึ้นอย่างไร'
“ขึ้นเมื่อไหร่ ก็ต้องตอบว่า ช้าเกินไปไม่ดี และในแง่ความผ่อนปรนของนโยบายการเงิน เราต้องถือว่า เราผ่อนปรนมาก และผ่อนปรนมาเป็นเวลานาน หรือพูดง่ายๆในแง่ของคันเร่ง เราค่อนข้างเหยียบ ดอกเบี้ยเราต่ำมากๆ ซึ่งถ้าเทียบเรากับภูมิภาค เราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในภูมิภาคแล้วตอนนี้ ในขณะที่เงินเฟ้อของเรา ก็ติดอันดับท็อปๆในภูมิภาค
แต่การผ่อนปรนของนโยบายการเงินที่ผ่านมา ซึ่งเราผ่อนปรนมากๆนั้น ก็เหมาะกับบริบทเรา เพราะเราเจอผลกระทบจากโควิดค่อนข้างเยอะ แต่ถ้ามองไปข้างหน้า ความจำเป็นตรงนี้ มันน้อยลงแล้ว ดังนั้น โจทย์ของเรา คือ ไม่จำเป็นต้องไปเหยียบเบรก แต่เป็นเรื่องการถอนคันเร่ง
ส่วนเหตุผลที่ผมบอกว่า ทำช้าเกินไป ไม่ดี เป็นเพราะว่า ถ้าคอยนานเกินไป แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์ของเงินเฟ้อติด เมื่อถึงตอนนั้นการถอนคันเร่งเฉยๆ คงไม่พอแล้ว ต้องเหยียบเบรก และยิ่งคอยนาน ก็จะต้องเหยียบเบรกยิ่งแรงขึ้น คือ ถ้าขึ้นช้าเกินไป โอกาสที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ก็จะตามมา ซึ่งไม่ใช่อะไรที่เราอยากเห็น
และถ้ามาดูในแง่ดอกเบี้ยกู้ยืมของบริษัทฯ ตอนนี้กลุ่มเรตติ้ง A ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.3% ถ้าเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 6.2% ต้นทุนการกู้ยืมของเขาจริงๆ จะลบเกือบ 5% ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ก็เหมือนกับคันเร่งเวลาถูกเหยียบเพิ่มขึ้น เมื่อโจทย์ของเรา คือ smooth takeoff จึงต้องค่อยๆถอนคันเร่ง ค่อยๆถอน แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรก หรือแตะเบรก”
แน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกับประชาชน และทำให้ต้นทุนการกู้ยืม แต่อยากย้ำว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะต่อครัวเรือนที่รายได้น้อย เพราะแม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อประมาณ 7 เท่า
“สมมติว่าดอกเบี้ยขึ้น 1% แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมา 4-5% เราพบว่าค่าใช้จ่ายมันต่างกันประมาณ 7 เท่า และสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับครัวเรือนที่รายได้น้อย คือ เงินเฟ้อ ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น และเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบ เราก็ต้องมีวิธีดูแลเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจง
และด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่ามาตรการ 3 ก.ย. เพื่อแก้หนี้ระยะยาวที่เรามีอยู่ หรือโครงการแก้หนี้ต่างๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ และการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งเราได้วางมาตรการต่างๆ จะสามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนที่ต้องเจอกับปัญหาภาระหนี้ต่างๆ จากการที่เราเข้าสู่ normalization”
@แนะสร้าง ‘กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี’
ด้านที่ห้า เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุด คือ กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี (policy Governance) เพราะการออกนโยบายต่างๆนั้น แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสมสถานการณ์ แต่ทางที่ดีที่สุด คือ เราต้องมั่นใจว่า มีกระบวนการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะกับบริบทต่างๆ
“ถ้าบริบทเปลี่ยนไป การสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพด้านต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป จึงต้องมีกลไกที่ทำให้เราสร้างนโยบายที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆได้ เพราะการเน้นแต่เสถียรภาพอย่างเดียว โดยไม่คิดถึงอะไรเลยสร้างกันชนไปทุกมุมทุกมิติ ฟังดูอาจปลอดภัย แต่ไม่ได้ดีสำหรับบริบทเศรษฐกิจ จึงต้องสร้างสมดุลให้ได้”
เมื่อถามว่าองค์ประกอบของกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดีเป็นอย่างไร เรื่องแรกเลย คือ กระบวนการต้องถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูล และต้องมีการประเมินผล เรื่องที่สอง เป็นนโยบายที่ถูกต้อง ส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ แม้จะไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม และเรื่องที่สาม ต้องมีความรับผิดชอบ การดำเนินนโยบายมีความโปร่งใส ที่มาชัดเจน และอธิบายได้
อ่านประกอบ :
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%