ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จับตาผลกระทบ ‘โอไมครอน’ อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด พร้อมประเมินจีดีพีปี 65 ขยายตัว 3.4%
.........................
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน ทั้งนี้ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ทั้งนี้ โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องยังมีไม่มาก จากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังจำกัดจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง
คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนง. ได้ปรับประมาณการตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.7% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาส 3/2564 ออกมาดีกว่าที่คาด ส่วนเศรษฐกิจปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ขยายตัวลดลง
“ตัวเลขเศรษฐกิจปี 64 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.2% มาจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาส 3/64 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ส่วนปี 2565 ตัวเลขที่ลดลงจาก 3.9% ลงมาเหลือ 3.4% มาจากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากโอไมครอน และเศรษฐกิจในต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโอไมครอน อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างเร็วมากก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าชะลอลงเล็กน้อย” นายปิติ กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า การปรับประมาณเศรษฐกิจของ กนง. และธปท. ได้รวมผลกระทบจากมาตรการล่าสุดของรัฐบาลเกี่ยวกับการปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว โดยธปท.ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 5.6 ล้านคน แต่หากรัฐบาลมีมาตการเข้มงวดในช่วงครึ่งปีหลัง ผลกระทบก็จะมีมากขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% และเศรษฐกิจไทยจะกลับไปเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2566
“เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงต้นปี 2566 ทั้งนี้ โควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะมีผลกระทบกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากโอไมครอนแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดลต้า ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการแพร่กระจายของไวรัสก็ด้อยลงเมื่อเทียบกับเดลต้า แต่เบื้องต้นคาดว่าความรุนแรงของการเจ็บป่วยแ และตัววัคซีนน่าจะยังช่วยได้พอสมควร
ในขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้น คาดว่าสิ้นปีนี้ไทยจะฉีดวัคซีนได้ 70% ของประชากร และครึ่งแรกของปีหน้า อุปทานของวัคซีนจะมีเพียงพอในการฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ได้ทุกคน ดังนั้น โดยรวมจึงมองว่าโอไมครอนเป็นความเสี่ยงที่ไม่น่าจะยืดเยื้อเกินครึ่งแรกของปีหน้า แต่ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนยังค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะการปรับนโยบายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้เราต้องยอมรับความไม่แน่นอนที่สูง” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุว่า ที่ประชุม กนง. และธปท. ประเมินว่า ในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะอยู่ที่ 2.8 แสนคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 แสนคน ปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.6 ล้านคน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโอไมครอนจะมีผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงต้นปี 2565 และปี 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 20 ล้านคน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 1.7% จากเดิมที่คาดวว่าจะขยายตัว 1.4% และปี 2566 คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ระดับ 1.4% ซึ่งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าวยังอยู่ในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่จะขยายตัวที่ระดับ 1-3% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2564 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัว 0.2% ,ปี 2565 ขยายตัว 0.4% และปี 2566 ขยายตัว 0.7%
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่โดยรวมแล้วยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อจะมาจากราคาพลังงานและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเห็นว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะทยอยกลับเข้ามา
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่จะส่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆยังมีจำกัด เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาของผู้ประกอบการยังมีจำกัด จากเศรษฐกิจยังเปราะบาง เพราะรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นไม่ค่อยเยอะ และแนวโน้มที่จะมีการปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นมากนั้น ยังมีไม่เยอะ นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หรือ 40% ระบุว่ายังไม่มีการปรับราคาสินค้า ส่วนที่ตอบว่าจะมีการปรับขึ้นราคาจะอยู่ที่ 34% และปรับขึ้นราคาไม่เกิน 20%” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า ในส่วนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายสาขามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าในปี 2566 ธุรกิจหลายสาขาจะกลับมาเทียบกับช่วงก่อนโควิด แต่มีบางสาขาที่ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวพอสมควร เช่น สาขาโรงแรม เนื่องจากในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 20 ล้านคน จาก 40 ล้านคนในช่วงก่อนโควิด ส่งผลให้การจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตรบางส่วนยังไม่กลับมาเท่าเดิม
(ปิติ ดิษยทัต)
นายปิติ กล่าวว่า ในขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น จากประมาณการอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย อีกทั้งวัฎจักรเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากต่างประเทศพอสมควร เพราะเศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว แต่ไทยเพิ่งก้าวเข้าสู่แนวโน้มการฟื้นตัว ทำให้แรงกดดันที่มาจากอุปสงค์ของไทยยังมีไม่มาก ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัด
“ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ถามว่าเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน หรือเพิ่มขึ้นแค่ชั่วครู่ชั่วคราว ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ที่ธนาคารกลางทุกแห่งต้องตอบคำถามนี้ แต่ ณ ตอนนี้ เรามองว่าเงินเฟ้อเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว การดำเนินนโยบายจึงเน้นไปที่การสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า แต่ก็ยังจับตาเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 11% เมื่อเปรียบเทียบกับต้นปี 2564 นั้น เหตุผลที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าส่วนใหญ่มาจากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หากเทียบกับการแถลงข่าวครั้งที่แล้วในเดือน พ.ย. เงินบาทอ่อนค่าลง 10% เมื่อเทียบกับต้นปี จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้กำไรของผู้ประกอบการดีขึ้น แต่ต้องติดตามว่าหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆจะสร้างแรงกดดันต้นทุนนำเข้า
อ่านประกอบ :
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น