‘กนง.’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.2% จากเดิม 3.4% หลังเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ขณะที่การแพร่ระบาด ‘โอไมครอน’ ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ มองเงินเฟ้อทั่วไปพุ่ง 4.9% เหตุราคาน้ำมัน-อาหารแพง
.................................
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. ได้ทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะขยายตัวที่ระดับ 3.2% เทียบกับประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค.2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% ส่วนเศรษฐกิจปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.7%
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ส่งผลกระทบต่อจีดีพี -0.1% ,เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบต่อจีดีพี -0.2% และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบจีดีพี -0.3% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 4 และแนวโน้มการบริโภคเอกชนดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลบวกต่อจีดีพีปีนี้ 0.4% ทำให้คาดว่าจีดีพีในปี 2565 จะขยายตัวลดลง 0.2% หรือลดลงมาอยู่ที่ 3.2%
“คณะกรรมการฯ ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวในภาพรวม แต่อาจจะมีความเสี่ยงในระยะต่อไปของปีนี้บ้าง” นายปิติ กล่าว และว่า “การปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 ของ กนง. ลงมาอยู่ที่ 3.2% นั้น ไม่ได้ฉีกไปจากสำนักอื่นๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ขยายตัวในกรอบ 2.7-3.4%”
@จับตาเงินเฟ้อพุ่งเกิน 5% ช่วงไตรมาส 2 และ 3
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ที่ประชุม กนง. คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.7% และในปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.4%
“ปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 4.9% และปีหน้าจะอยู่ที่ 1.7% โดยตัวแปรที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนปีหน้าจะปรับลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กนง. มีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจขยายตัวในระดับเกิน 5% ในระยะสั้น ก่อนปรับตัวลดลงในปี 2566 และกลับสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ระดับ 1-3% เนื่องจากฐานราคาในปี 2565 อยู่ในระดับที่สูง
“เงินที่เฟ้อที่สูงขึ้น และจะสูงขึ้นอีกในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาพลังงานและอาหาร โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ถือเป็นแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และถึงแม้ว่าเราจะมีกลไกกองทุนน้ำมันฯที่มาช่วยรับต้นทุนและภาระได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังระบบบ้าง แต่เมื่อมองไปถึงปีหน้าแล้ว ทั้งแรงกดดันด้านราคาพลังงานและอาหารจะหมดไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า จากกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ที่จะขยายตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเกินกว่ากรอบเป้าหมายทางการเงินในปี 2565 ที่กำหนดไว้ที่ 1-3% ต่อปี ธปท.จะทำจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลัง แจ้งสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่ากรอบที่ตั้งเป้าไว้ และ ธปท.จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลาง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.4% และปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัว 1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.7% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.7% นั้น มาจากแรงส่งของเศรษฐกิจในปี 2566 ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.4% ซึ่งจะทำให้สินค้ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้นบ้าง
"ปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจาก cost push หรือการเพิ่มขึ้นของราคาที่มาจากต้นทุน เช่น ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ส่วนแรงกดดันที่มาจากอุปสงค์ (demand pull) มีค่อนข้างน้อยและจำกัด" นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปข้างหน้า แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่ได้สูงขึ้นมาก โดย Common Component ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.7% ซึ่ง ธปท.จะจับตาดัชนีชี้วัดเหล่านี้ต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มว่าของเงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่สูงไปมากกว่านี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายการการเงินที่ระดับ 1-3% แม้ว่าจะมีช็อกเข้ามา
สำหรับปัจจัยที่คณะกรรมการ กนง. จะติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา 2.ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นไปแล้ว และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค และ 3.แนวโน้มและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะปานปลาง
@กนง.ยังให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายปิติ ยังระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะไม่มีการออกมาตรการแรงๆ เพื่อมาทำให้เงินเฟ้อลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลที่จัดสรรงบกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยการบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางได้
“แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก ซึ่งมีสาเหตุจากราคาที่ปรับขึ้นมาแล้ว แต่การดำเนินนโยบายการเงิน เราจะมองในระยะปานกลาง และเมื่อผลของการดำเนินนโยบายการเงินนั้น กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี และทางคณะกรรมการฯเอง ได้คิดและมองทะลุไปแล้วว่า ความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ
ดังนั้น ในการชั่งน้ำหนักนโยบายนั้น เมื่อผลของการดำเนินนโยบายกว่าจะเกิดก็ต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว การจะฉุดเศรษฐกิจอย่างแรงๆ เพื่อให้เงินเฟ้อหลุดมาลงอยู่ในกรอบนั้น มันไม่คุ้ม และเป็นหลักปกติของธนาคารกลางทั่วไปว่า ควรจะต้องมองทะลุปัจจัยที่มาจากด้านอุปทานในระยะสั้น แม้ว่าเราไม่ได้คาดว่ามันจะสูงขนาดนี้ แต่ก็คาดว่ามันจะกลับลงมาในปีหน้า ตอนนี้เราจึงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปได้” นายปิติ กล่าว
@ยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ Stagflation
นายปิติ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง) และไม่เข้าข่าย Stagflation เลย เพราะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2565 จะขยายตัว 3.2% และปี 2566 จะขยายตัว 4.4% ซึ่งเติบโตสูงกว่าศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อของไทยก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ กนง. กำลังทำขณะนี้ คือ “ทำให้มีการ take off ที่ราบรื่น มีการเหินฟ้าแบบราบรื่น ขณะที่วัฏจักรเศรษฐกิจของเราต่างจากสหรัฐ จึงไม่เข้าข่าย Stagflation เลย”
นายปิติ กล่าวว่า กนง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และเป็นการตอกย้ำว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่ต่อไป โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนปีหน้าจะพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศมากขึ้น ส่วนปี 2566 ธปท.คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมาอยู่ที่ 19 ล้านคน
นายปิติ กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ว่า ที่ผ่านมาเงินทุนยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ทั้งตลาดพันธบัตร ตราสารหุ้น และยังไม่เห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่หวือหวา และการที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 5-6 ครั้ง ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยจะไปถึง 2% ในสิ้นปีนี้ ทำให้ขณะนี้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี อยู่ที่ 2% ส่วนไทยอยู่ที่ 0.7-0.8% แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพค่าเงินบาท
“ส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรฯ ไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท หรือเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก เพราะจากผลการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ความสัมพันธ์ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ได้มีเยอะมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และสิ่งที่นักลงทุนจะดู คือ การเทียบภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่าดูแค่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง” นายปิติกล่าว
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%