‘ธปท.’ เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 65 เป็นสูงกว่า 1.7% หลังราคา ‘น้ำมัน-หมู’ เพิ่มขึ้น แต่ยังมั่นใจเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกินกรอบ 3% มั่นใจเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย ‘แข็งแกร่ง’ รับมือผลกระทบ ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยได้
.............................
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง ภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง และแต่ละภาคธุรกิจฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวดังนั้น การตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินเฟ้อ เป็นประเด็นที่ กนง.มีการพูดคุยกันมาก และเห็นว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยง ใน ‘ขาสูง’ เพิ่มขึ้น ขณะที่ ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงต้นของปี 2565 จากราคาน้ำมันและเนื้อหมูที่มีราคาเพิ่มขึ้น ก่อนจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี และคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3%
นายสักกะภพ ยังระบุว่า สำหรับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน คือ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากค่าใช้จ่าย 45% เป็นเรื่องของอาหาร แตกต่างจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเพียง 20% โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่อยู่ในภาคบริการและผู้มีอาชีพอิสระรายได้นั้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับมา และมีค่าครองชีพเข้ามาซ้ำเติม รวมทั้งมีปัญหาเรื่องหนี้ด้วย
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.2565 ที่ขยายตัว 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก และส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสด คือ เนื้อหมู อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. และเดือน ก.พ. ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันและราคาเนื้อหมู ทำให้ ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2565 จะขยายตัวมากกว่า 1.7%
“เดิมเราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 1.4% แต่หลังจากที่เราเผยแพร่ประมาณการเงินเฟ้อในช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มีพัฒนาการต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูที่มีราคาสูงขึ้นในเดือน ม.ค. และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเดือน ก.พ. เหล่านี้เป็นความเสี่ยง ที่ทำให้เราคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ มีความเป็นไปสูงที่จะมากกว่า 1.7% ซึ่งเราอยู่ระหว่างทบทวน และจะเผยแพร่ประมาณการเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช กล่าวว่า ธปท. จะติดตามปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาอาหารสด 2.การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการไปยังค่าโดยสาร และอาหารบริโภคนอกบ้าน-ในบ้าน เช่น ราคาอาหารตามสั่ง เป็นต้น 3.ความเสี่ยงด้านซัพพลายดิสรัปชัน เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั้น ธปท.คาดว่ารัฐบาลจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ และไตรมาส 2 คาดว่าราคาน้ำมันจะทยอยปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการใช้กองทุนน้ำมันฯเข้าไปดูแลราคาน้ำมันจะลดลง ขณะที่กองทุนน้ำมันฯมีความสามารถในการหาแหล่งเงินสินเชื่อมาใช้ในการตรึงราคาน้ำมัน 3 หมื่นล้านบาท
นายสุรัช กล่าวต่อว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.2565 จะขยายตัวในอัตราที่สูง แต่เมื่อพิจารณาราคาสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ติดตาม 430 รายการ พบว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง และมีสินค้าเกือบ 200 รายการที่มีราคาคงที่หรือลดลง เช่น ข้าว ค่าเล่าเรียน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมัน เพิ่มขึ้น 27% ,เนื้อหมู/โค เพิ่มขึ้น 22% เครื่องปรุงอาหาร เพิ่มขึ้น 9% ,ไข่ เพิ่มขึ้น 6% และค่าไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 4%
“เงินเฟ้อในเดือน ม.ค.ที่ขยายตัว 3.23% นั้น 2 ใน 3 มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนราคาเนื้อหมู/โค ที่เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนในเงินเฟ้อเพียง 0.7% จึงสรุปได้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้าบางตัวเท่านั้น ซึ่งหลักๆจะถูกขับเคลื่อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อันดับสองมาจากราคาเนื้อหมู แต่ก็ไม่ได้มากเท่า และราคาสินค้าจำนวนมากหรือเกือบ 200 รายการ มีราคาคงที่หรือลดลงด้วยซ้ำ” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช ระบุว่า หากเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการของไทยและสหรัฐในเดือน ม.ค.2565 พบว่าสินค้าและบริการของไทยที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยมีเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่สหรัฐมีสินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้นผิดปกติ 35% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดี ตลาดแรงงานร้อนแรง ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น แตกต่างจากเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
นายสุรัช กล่าวว่า ในภาวะที่ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าบางประเภทที่มีราคาเพิ่มขึ้นนั้น สิ่งที่ ธปท.จะช่วยได้ คือ การทำให้รายได้ของครัวเรือนและธุรกิจไม่สะดุด ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ต่อปี มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 มาจนถึงปัจจุบัน และกนง.ยังให้ความสำคัญกับการขยายทางเศรษฐกิจ ,การเติมเงินใหม่ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น และการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้กับลูกหนี้
เมื่อถามว่า การที่สหรัฐฯประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.2565 ที่ขยายตัว 7.5% นั้น จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของไทยหรือไม่ นายสุรัช กล่าวว่า นโยบายการเงินของไทย ไม่ได้ตามนโยบายการเงินของต่างประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์นโยบายการเงินของไทยมี 3 เรื่อง คือ ดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจ ,เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงิน
“ถ้าเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย และที่ผ่านมาเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง คือ เศรษฐกิจไทยมีหนี้ต่างประเทศน้อยไม่เหมือนละตินอเมริกาหรืออินโดนีเซีย เศรษฐกิจไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนได้
ขณะที่ภาคธุรกิจของไทยเองมีการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และธนาคารพาณิชย์ในประเทศก็ระดมทุนจากเงินฝากในประเทศ ดังนั้น ความผันผวนทางการเงินแม้เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่กรณีของไทยเมื่อเทียบกับหลายประเทศถือว่าไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างแข็งแกร่ง และสามารถเอื้อต่อการใช้นโยบายการเงินเพื่อเป้าประสงค์ของเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องการเติบโต เรื่องเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน” นายสุรัช กล่าว
นางรุ่งพร เริงพิทยา ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 1-3% ในช่วงแรกของปี 2565 และจะลดลงในช่วงหลังของปี ตามแนวโน้มราคาพลังงานที่ลดลงในช่วงหลังของปีนี้ การคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนสินค้าบางประเภท เช่น เนื้อสุกร เซมิคอนดักเตอร์ และการขาดแคลนตู้ขนส่งจะน่าปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี
“เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดได้ หากราคาน้ำมัน และเนื้อหมูยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หรือภาคธุรกิจส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมายังราคาสินค้า ซึ่งเราต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด” นางรุ่งพร กล่าว
นางรุ่งพร อธิบายต่อว่า แม้ว่าราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าแรงกดดันของราคาน้ำมันจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากกำลังการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งของประเทศที่มีผลต่อราคาน้ำมันคลี่คลายลง ซึ่ง ธปท.เอง มีความเห็นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราคาน้ำมันต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีความไม่แน่นอนสูง และในเดือน มี.ค.นี้ ธปท.จะทบทวนคาดการณ์ราคาน้ำมันทั้งปี
ส่วนราคาเนื้อหมู ธปท. มองว่า ราคาน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงหลังของปี ซึ่งเป็นไปตามรอบการเลี้ยงหมูที่ต้องใช้เวลา 10 เดือน ขณะที่การขาดแคลนตู้สินค้าและเซมิคอนดักเตอร์ ที่คาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดดีขึ้น และประเทศต่างๆมีประสบการณ์ในการรับมือโควิด
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%