กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี สนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 65 มีแนวโน้มสูงกว่าที่ประเมินไว้ หลังราคา ‘พลังงาน-อาหารสด’ ปรับเพิ่มขึ้น
.............................
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามราคาพลังงานโลกและสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ตลาดแรงงาน รวมถึงรายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เร็วกว่าคาด
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในภาวะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงกว่าที่ประเมินไว้และอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี จากการปรับขึ้นราคาสินค้าในบางหมวด โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากขึ้นหากราคาพลังงานและอาหารสดอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด หรือหากข้อจำกัดด้านการผลิตขยายวงกว้างขึ้นไปสู่สินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จะต้องติดตามราคาพลังงานโลก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการในประเทศ รวมทั้งแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิด
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสำคัญ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ยังเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักที่เร็วขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและช่วยลดภาระหนี้
อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น
@เศรษฐกิจ 65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง-คาดเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ต่ำกว่า 3%
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากไตรมาส 4/2564 ที่เศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกในเดือน ธ.ค.2564 ที่ขยายตัว 5.2% เทียบกับก่อนหน้านี้ ที่ กนง. ประเมินว่าจะติดลบ -3.3% ขณะที่ความเสี่ยงจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด โดยจำนวนผู้ป่วยหนักจากโอไมครอนอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อในระดับสูงก็ตาม
“ในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจ แม้ว่าจีดีพีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด (Pre-Covid) แต่คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะสามารถปิดช่องว่างตรงนี้ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว” นายปิติ กล่าว และว่า “จีดีพีปี 2564 น่าจะค่อนข้างดี และน่าจะสูงกว่าที่เราคาดไว้ ซึ่งจะทำให้ยกฐานจีดีพีให้ปี 2565 ด้วย แต่เราคาดว่าในแง่ภาพรวมของจีดีพีปี 2565 จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากภาพที่ให้ไว้ในคราวก่อนมากนัก”
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้นเช่นกัน และมีความเป็นไปได้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 3% ในช่วงแรกของปีนี้ แต่โดยรวมแล้วคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น หลักๆจะมาจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร และเนื้อไก่นั้น รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะไม่สูงเช่นที่ได้มีการคาดการณ์ไว้
“ราคาสินค้าบางประเภทมีการปรับเพิ่มไปเยอะจริง ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และถ้าดูตามตะกร้ารายจ่ายของผู้บริโภค จะพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีสัดส่วนค่าอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 45% หรือเกือบ 2 เท่าของครัวเรือนที่มีรายได้สูง ดังนั้น ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเยอะกว่า ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูง มากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเล็กน้อย
ส่วนในแง่ของรายได้นั้น จะพบว่ารายได้ของลูกจ้างที่อยู่ในภาคบริการ 8.1 ล้านคน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 9.2 ล้านคน จะฟื้นตัวช้ากว่าลูกจ้างที่อยู่ในภาคการผลิตที่มีจำนวน 4 ล้านคน ส่งผลให้ลูกจ้างในภาคบริการและผู้ที่มีอาชีพอิสระ จะได้รับความยากลำบากใน 2 มิติ คือ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้น และทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับที่สูงด้วย จึงต้องติดตามกันต่อไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า ที่ผ่านมา กนง.จับตามองอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและในประเทศไทย โดย กนง.จะดูแลไม่ให้การเพิ่มขึ้นของราคาเฉพาะจุดหรือเฉพาะบางภาค ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของราคาในวงกว้าง และจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ฝังเข้าไปในระบบเป็นระลอก อย่างไรก็ดี กนง.มองว่า ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะไปถึงจุดนั้น ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด จึงให้น้ำหนักในเรื่องการสนับสนุนรายได้ของประชาชนและการจ้างงาน
@ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-ต้องพิจารณาผลกระทบทั้ง 2 ด้าน
นายปิติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น ก็มีพูดคุยเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีพูดกันปกติอยู่แล้ว แต่การพิจารณาว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะต้องมองระยะปานกลางมากกว่าปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหรือปัจจัยชั่วคราว และต้องดูว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นนั้น ยั่งยืนหรือไม่ เพียงใด จึงเป็นการดีกว่าจะพิจารณาปัจจัยต่างๆให้รอบคอบก่อน
ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเศรษฐกิจนั้น ผลการศึกษาชี้ว่ามีผลกระทบ 2 ด้าน เช่น กรณีประเทศไทย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นการขึ้นค่อนข้างเร็วและขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้น ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และมีหลักฐานว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้บริษัทขนาดเล็กลดการจ้างงานลงไปด้วย
นายปิติ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ กนง. จะติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ การระบาดของโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะแม้ว่าอัตราการป่วยหนักจะไม่สูงมาก แต่การแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบนั้น เดิม กนง.มองว่าจะไปอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในช่วงแรก และลดลงเหลือ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปี แต่เนื่องจากราคาน้ำมันดิบไปขึ้นไปถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แล้ว ดังนั้น ในการประชุม กนง. รอบหน้า จะมีการทบทวนในส่วนนี้
(ปิติ ดิษยทัต)
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%