“...การยกเลิก (การประมูลครั้งที่ 1) ก็เป็นผลดีเหมือนกัน เพราะแทนที่รัฐจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด 6,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้มันโดดขึ้นมาเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท อันนี้ คือ ผลที่เห็นชัดเจนเลยว่า ผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่รัฐแน่นอน...”
................................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดแถลงข่าวกรณีที่กรมธนารักษ์แจ้งยกเลิกพิธีลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มูลค่าสัญญา 2.5 หมื่นล้านบาท ระหว่าง กรมธนารักษ์ กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 พ.ค.2565 กรมธนารักษ์ แจ้งยกเลิกพิธีลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มูลค่าสัญญา 2.5 หมื่นล้านบาท ระหว่าง กรมธนารักษ์ กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยเบื้องต้นมีรายงานว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งการให้เลื่อนการลงนามในสัญญาฯ ออกไปก่อน นั้น (อ่านประกอบ : ผู้ใหญ่ในรบ.โทรสั่ง! ‘ธนารักษ์’แจ้งเลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล. กะทันหัน)
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามที่มีการแจ้งว่า ในวันที่ 3 พ.ค.2565 กรมธนารักษ์จะมีการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก แต่เนื่องจากขณะนี้มีกระแสทั้งในสื่อมวลชน และสังคมอาจยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าที่ควร หรืออาจเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่กรมธนารักษ์จะต้องเลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไปก่อน เพื่อทำความเข้าใจกับสื่อและสังคมให้มีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทางกรมธนารักษ์ได้มีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับสื่อมวลชนทุกแขนงมาอย่างต่อเนื่อง ว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้อง และครบถ้วน
“ผมเคยยืนยัน และจนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมก็ยังยืนยัน ว่า การดำเนินการของกรมธนารักษ์นั้น เราดำเนินโดยยึดหลัก 3 อย่าง คือ 1.การดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด 2.คุ้มครองประโยชน์ของรัฐ และ3.คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือผู้ใช้น้ำ” นายประภาศ กล่าว
@การคัดเลือกเอกชนบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ เป็นไปตาม ‘พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ’
นายประภาศ อธิบายว่า ประเด็นแรก เรื่องการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย กรมธนารักษ์ขอเรียนว่า การคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกฯ ไม่ใช่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 และกฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 เป็นต้น ซึ่งกรมธนารักษ์ดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายถูกต้อง ครบถ้วน
“ระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกจะมี 2 โครงการหลัก โครงการแรก เป็นโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งเริ่มมีการลงนามกับคู่สัญญาเดิม (บริษัท East Water) ตั้งแต่ปี 2537 และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566 ส่วนโครงการที่สอง จะมีท่อส่งน้ำ 2 ท่อ คือ ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบับ ระยะที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 ท่อ ไม่มีสัญญา แต่เป็นการให้คู่สัญญาเดิมดำเนินการบริหารจัดการไป โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการลงนามในสัญญาเช่าท่อส่งน้ำโครงการที่สอง ทั้ง 2 ท่อ นั้น เนื่องจากสถานะของคู่สัญญาเดิม ณ ขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุนของคู่สัญญาเดิม (เปลี่ยนจากบริษัท East Water เป็น บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ในปี 2540) ทำให้สถานะของคู่สัญญาเดิมพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสัญญาที่ 1 โดยสัญญาก็เดินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แต่สำหรับท่อที่ 2 และ 3 (ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบับ ระยะที่ 2) นั้น เมื่อคู่สัญญาเดิม ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็จะต้องมาดำเนินการตามกฎหมายร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เรื่อยมา ตั้งแต่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2536 และ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 และเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนผู้บริโภค กรมธนารักษ์จึงต้องให้คู่สัญญาเดิมบริหารจัดการท่อทั้ง 2 ท่อ ไปก่อน
จนกระทั่งในปี 2562 มีการออก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 และในปีเดียวกันนั้น มี พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ออกมาในปีเดียวกัน แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ มาตรา 29 กำหนดไว้ว่า เมื่อมีการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ นั้น หากโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ก็จะมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ จึงเป็นที่มาว่ากรมธนารักษ์ต้องดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อมาบริหารท่อส่งน้ำฯ ตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ ไม่ใช่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
หลังจากโครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯแล้ว กรมธนารักษ์ได้เข้ามาดำเนินการ และเนื่องจากกฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 กำหนดไว้ว่า ก่อนสิ้นสุดสัญญาฯ จะต้องมีการจัดหาผู้บริหารโครงการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี กรมธนารักษ์ จึงได้ดำเนินการล่วงหน้า เพราะในปี 2566 จะหมดสัญญา โดยดำเนินคัดเลือกเอกชนในปี 2564 ซึ่งอยู่ในกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ ย้ำว่า “เรื่องนี้ ไม่ใช่การจัดซื้อฯ ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ แต่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราได้จัดทำรายงานผลการศึกษา โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาทำการศึกษา วิเคราะห์ในเรื่องนี้ก่อนดำเนินการ และผลการศึกษาก็ชัดเจนว่า ให้ใช้วิธีการคัดเลือก โดยกรมฯได้เชิญผู้ประกอบการที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องระบบท่อส่งน้ำเข้ามา และทำตามรายงานผลการศึกษาแล้ว
ต่อมามีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯขึ้นมาตามขั้นตอนทุกอย่าง จนกระทั่งได้ตัวผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่การดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แต่เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ”
@กำหนดให้คิดค่าน้ำเฉลี่ยไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย ตลอดอายุสัญญา
ประเด็นที่สอง เรื่องการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเราจะมองถึงผลประโยชน์ในเชิงเงินรายได้ที่ภาครัฐได้รับ โดยหากกรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับเอกชนรายใหม่ (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) ที่ได้รับการคัดเลือกฯให้เป็นผู้บริหารโครงการระบบท่อส่งน้ำฯ กรมฯจะได้เงินค่าแรกเข้าในการทำสัญญาฯทันที 580 ล้านบาท ค่าตอบแทนรายปีปีที่ 1 อีก 44.64 ล้านบาท และหลักประกันสัญญาอีก 118.97 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 743.62 ล้านบาท ขณะที่ตลอดอายุสัญญา 30 ปี เอกชนรายใหม่จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
เทียบกับผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐได้รับจากคู่สัญญาเดิม (บริษัท East Water หรืออีสท์วอร์เตอร์) ตามสัญญาเช่าท่อส่งน้ำฯฉบับแรก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) และการบริหารโครงการท่อส่งน้ำอีก 2 โครงการเป็นการชั่วคราว (โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบับ ระยะที่ 2) ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน หรือเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่ 600.89 ล้านบาท เท่านั้น
ประเด็นที่สาม เรื่องการคุ้มครองผู้ใช้น้ำหรือผู้บริโภค ในร่างสัญญาที่กรมธนารักษ์จะลงนามกับเอกชนรายใหม่ กำหนดไว้ว่าผู้ได้รับการคัดเลือกหรือคู่สัญญา จะต้องคิดค่าน้ำต่อประชาชนหรือผู้บริโภคเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 10.98 บาท/ลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ขณะที่ในร่างสัญญาดังกล่าวไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่จะเปิดให้เอกชนปรับเพิ่มค่าน้ำได้ เพราะหากเปิดช่องว่าให้เอกชนแก้ไขสัญญาได้ ก็เท่ากับเป็นการไม่คุ้มครองผู้ใช้น้ำ
“ถ้า Fix ราคาไว้แล้วที่ 10.98 บาท แล้วเขียนว่า ถ้าเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ให้เปลี่ยนแปลงได้ ก็เท่ากับไม่คุ้มครองผู้ใช้น้ำ” นายประภาศ ย้ำ
@‘ธนารักษ์’แจงยกเลิกประมูลครั้งแรก เหตุ TOR ไม่ชัดเจน-เกิดข้อสงสัย
ส่วนกรณี 'อีสท์วอเตอร์’ ฟ้องศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (การประมูลครั้งที่ 1) และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 (การประมูลครั้งที่ 2) นั้น
นายประภาศ ชี้แจงว่า เมื่อมีการเปิดคัดเลือกเอกชนฯครั้งที่ 1 ซึ่งคู่สัญญารายเดิมก็เข้ามาสู่การคัดเลือกด้วย โดยคู่สัญญารายเดิม (อีสท์วอเตอร์) เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ ประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนรายใหม่ (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่สาเหตุที่ต้องมีการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจน หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัว TOR ในเรื่องเทคนิค
“จากรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และมีเอกสารยืนยันจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ด้วยว่า ศักยภาพในการส่งน้ำของท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เราจึงใช้กรอบอันนี้ในการจัดทำ TOR และผู้ที่เข้าร่วมประมูลก็รับทราบอยู่แล้ว แต่เนื่องจากใน TOR ไม่ได้บอกว่าจะต้องยึดถือตามรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คู่สัญญารายเดิม (อีสท์วอเตอร์) จึงเสนอมาว่า ความสามารถในการส่งน้ำของเขาอยู่ที่ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ทำให้เกิดประเด็นที่ทำให้ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เพราะการที่คู่สัญญาเดิมเสนอมาถึง 350 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แล้วมันเกินศักยภาพของท่อของกรมธนารักษ์ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า TOR ไม่ชัดเจนแล้ว ทำให้มีการเสนอคลาดเคลื่อนหรือเปล่า ส่วนเจ้าที่เสนอ แล้วได้รับการคัดเลือกในครั้งที่ 2 ก็เสนอในกรอบ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ตามผลการศึกษา
จึงเป็นที่มาของการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 นี่เป็นประเด็นหลักเลย ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นประเด็นปลีกย่อย และเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าผู้ที่เข้ามาเสนอต่อรัฐ จะต้องเสนอภายใต้กรอบ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งนำมาสู่การเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยคู่สัญญารายเดิม (อีสท์วอเตอร์) ก็เข้ามาเหมือนเดิม แต่พอมีการยกเลิกครั้งที่ 1 คู่สัญญารายเดิมก็ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองอ้างว่าการยกเลิกไม่ชอบ นั่นคือประเด็นที่อยู่ในศาล
และขอเรียนว่า คำฟ้องที่ปรากฏในศาลปกครอง คือ ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกครั้งที่ 1 ว่า ไม่ชอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในศาลฯจนถึงขณะนี้ เมื่อมีการคัดเลือกครั้งที่ 2 ทุกฝ่ายก็เข้ามาเหมือนเดิม ทั้งบริษัทที่มีข้อพิพาทกันอยู่ และผู้ได้รับการคัดเลือกรายใหม่ก็เข้ามาเหมือนเดิม โดยเสนอในกรอบความสามารถในการส่งน้ำที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เหมือนกัน และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ 2.5 หมื่นล้าน ส่วนคู่สัญญารายเดิมเสนอ 2.4 หมื่นล้านบาทเศษ” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ ยังระบุว่า “การยกเลิก (การประมูลครั้งที่ 1) ก็เป็นผลดีเหมือนกัน เพราะแทนที่รัฐจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด 6,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้มันโดดขึ้นมาเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท อันนี้ คือ ผลที่เห็นชัดเจนเลยว่า ผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่รัฐแน่นอน”
(เช็ค 3 ฉบับ มูลค่า 743 ล้านบาท ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เตรียมไว้จ่ายให้กรมธนารักษ์ ในการลงนามสัญญาฯ ในวันที่ 3 พ.ค.2565)
ส่วนกรณีที่กรมธนารักษ์ยังเดินหน้าลงนามในสัญญาทั้งๆ ยังมีข้อพิพาทในศาลปกครองนั้น นายประภาศ กล่าวว่า หากมีกฎหมายที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อเกิดคดีพิพาทในศาลแล้ว ให้หยุดการดำเนินการไว้ กรมธนารักษ์ก็ต้องหยุดการลงนามสัญญาไว้ก่อน แต่หากไม่มีกฎหมายเขียนไว้ ก็ต้องให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน แต่เรื่องนี้คู่สัญญารายเดิมที่ฟ้องกรมธนารักษ์ ได้ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวฯรวม 3 ครั้ง แต่ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคุมครองชั่วคราว
“คู่สัญญารายเดิมที่ฟ้องกรมธนารักษ์ ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวฯรวมทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรก ศาลฯยก ครั้งที่ 2 ศาลฯ ไม่รับ แล้วครั้งที่ 3 ศาลฯยกอีก พอเป็นอย่างนี้ ถามว่ากรมธนารักษ์จะหยุดได้ไหม และในกฎหมายและกฎกระทรวง มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ถ้าผ่านคณะกรรมการที่ราชพัสดุแล้ว กรมธนารักษ์จะต้องจัดให้มีการลงนามในสัญญา และไม่มีตรงไหนที่บอกว่า ถ้ามีคดีพิพาทกันแล้ว จะต้องหยุด
อีกทั้งเมื่อศาลฯสั่งไม่คุ้มครอง 3 ครั้ง แล้วเรายังคิดว่าจะหยุด มันเกิดความเสี่ยงกับพวกเราแน่นอน ความเสี่ยงแรก ถ้ามีการลงนามในสัญญาวันนี้ รัฐจะได้ 743 ล้าน แต่ถ้าชะลอออกไป ถามว่ากรมธนารักษ์มีเหตุอะไรที่จะต้องชะลอ และยังอาจเป็นการกระทำโดยประมาท เลินเล่อหรือไม่ เพราะทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์ช้าออกไป ซึ่งเป็นความรับผิดทางละเมิดที่ผู้ปฏิบัติหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องได้รับผิดชอบ อันเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงสำหรับข้าราชการ
ความเสี่ยงที่สอง ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องกรมธนารักษ์ เพราะเมื่อมีมติออกมาแล้ว แต่กรมธนารักษ์ไม่ดำเนินการ เขาย่อมมีสิทธิ์โดยชอบที่จะฟ้องกรมธนารักษ์ในความล่าช้านั้น เพราะเขาต้องวางหลักประกัน วางอะไรต่างๆตามธุรกิจของเขา ที่สำคัญความเสี่ยงที่มากกว่านั้น คือ ถ้าผู้ได้รับการคัดเลือก เขาถอย ไม่เอาแล้ว ผลประโยชน์ 2.5 หมื่นล้านบาท หายเลย และถ้ามีการคัดเลือกใหม่แล้วผลประโยชน์ไม่ได้เท่าเดิม อะไรจะเกิดขึ้น” นายประภาศ ระบุ
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า กรมธนารักษ์ยื่นคำให้การในศาลปกครองล่าช้า เพราะต้องการถ่วงเวลาใช่หรือไม่ นายประภาศ กล่าวว่า ในคดี ผู้ที่ถูกฟ้องไม่ใช่มีแต่เฉพาะกรมธนารักษ์ แต่มีคณะกรรมการฯเป็นรายบุคคลที่ถูกฟ้อง ซึ่งในส่วนของกรมธนารักษ์นั้น ได้ยื่นคำให้การต่อศาลฯไปตั้งนานแล้ว และทราบมาว่า ตอนนี้มีคณะกรรมการชุดต่างๆเองก็ได้ยื่นคำให้การไปครบถ้วนแล้ว ดังนั้น ตอนนี้การดำเนินการจึงอยู่ในขั้นตอนในชั้นศาลฯ ไม่ได้มีการเตะถ่วงอะไร
(ประภาศ คงเอียด แถลงข่าวกับสื่อ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565)
@‘กรมธนารักษ์’พร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ-มั่นใจชี้แจงได้ทุกเรื่อง
นายประภาศ ย้ำว่า การเดินหน้าลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งนี้ ไม่ใช่การเร่งร้อน หรือร้อนรน ตามที่บางสำนักข่าวเสนอไป โดยขอให้เข้าใจว่า ต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ ซึ่งตนเคารพในการตรวจสอบของทุกฝ่าย เป็นสิทธิโดยชอบ และฝ่ายค้านมีสิทธิ์ที่จะต้องข้อสงสัยในประเด็นที่มีข้อสงสัยว่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ หรือถ้ามีหลักฐานในการตรวจสอบก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรม ไม่ว่าจะตรวจสอบทางศาลหรือองค์กรอิสระทั้งหลาย
“ผมเคารพในการตรวจสอบ แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าเราเพิกเฉย มันก็เกิดปัญหากับเรา” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ ย้ำว่า ที่ต้องมีการชะลอการลงนามสัญญาฯออกไป เหตุผลสำคัญ คือ หากมีการลงนามก็เป็นสิทธิ์โดยชอบที่กรมธนารักษ์จะดำเนินการลงนามในวันนี้ และเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่มีอะไรที่เป็นความผิดเลย หากมีการลงนามในสัญญา แต่เนื่องจากสังคมยังมีข้อสงสัยอยู่ ยังมีการตั้งประเด็นต่างๆ กรมธนารักษ์จะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย
ทั้งนี้ หากสังคม สาธารณชน และสื่อมวลชน หรือหน่วยงานใดก็ตาม ต้องการทราบรายละเอียดหรือซักถามในประเด็นใด กรมธนารักษ์พร้อมให้ข้อมูล
“ในเมื่อมีเรื่องในกระแสที่ร้อนรนอยู่อย่างนี้ ถ้าบอกว่ากรมธนารักษ์ไม่ฟังเลย ไม่ฟังเลยว่าสังคมจะคิดอย่างไร มันก็ดูเหมือนว่า เราทำอะไรตามใจตัวเองมากเกินไป ถึงแม้จะอ้างได้โดยชอบ แต่ความเข้าใจของสังคม กับผู้ที่ทำอยู่ มันอาจจะจูนกันยังไม่ได้ เราจึงอยากชี้แจงตรงนี้ให้เกิดความชัดเจน และทำให้เห็นว่า การดำเนินการของเรา ไม่มีอะไรที่ผิด หรือไม่ถูกต้องตรงไหน นี่คือจุดยืนของกรมธนารักษ์” นายประภาศ กล่าว
เมื่อถามว่า กรมธนารักษ์จะเลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไปอีกนานเท่าใด นายประภาศ กล่าวว่า จะมีการชี้แจงให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด และตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดวันที่ลงนามสัญญาครั้งใหม่ เพราะต้องดูว่าสังคมมีความเข้าใจเรื่องนี้แล้วหรือยัง โดยเรื่องนี้ ทุกจุดกรมธนารักษ์ชี้แจงได้ อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันลงนามในสัญญาครั้งใหม่ นั้น กรมฯคงไม่ปล่อยเวลาให้ล่าช้าจนเกินไป
“เรื่องนี้เอกชนที่ชนะประมูลเขาเสียหาย เพราะกระบวนการการดำเนินการที่ผ่านมา เขาเห็นว่าไม่มีอะไรผิดพลาด ทางเราก็เห็นว่าไม่มีอะไรผิดพลาด การชะลอออกไปเขาเสียหายแน่นอน ซึ่งการที่ผมเลื่อนการลงนามสัญญาออกไป ก็มีความเสี่ยง ถ้าเขาจะฟ้องผม ผมก็ต้องยอมรับ แล้วก็บอกเขาว่า ขอทำความเข้าใจอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องขอร้องเขาว่าอย่าเพิ่งฟ้องผม ผมขอทำความเข้าใจอีกระยะหนึ่ง แต่จะให้ใช้ดุลพินิจเลื่อนไปเรื่อยๆ คงไม่ได้” นายประภาศ กล่าว
เมื่อถามว่า สาเหตุที่กรมธนารักษ์ต้องเลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไป เป็นเพราะฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องการเปิดประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกใช่หรือไม่ นายประภาศ ระบุว่า “ผมไม่อยากนำเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะอภิปรายหรือไม่อภิปราย เราก็ยังไม่รู้ ซึ่งหน้าที่ของกรมธนารักษ์ขณะนี้ คือ ทำความเข้าใจ และทำความเข้าใจให้อยู่ในระดับที่เห็นว่าสมควรที่จะลงนามแล้ว แต่ถ้าทำความเข้าใจแล้ว ยังมีคนไม่เข้าใจอีก อันนั้นเราก็ต้องตัดสินใจ เพราะเป็นโครงการรัฐ ถ้าล่าช้าออกไป เรามีความเสี่ยง”
เมื่อถามว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งการให้กรมธนารักษ์เลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไปก่อนใช่หรือไม่ นายประภาศ กล่าวว่า “ผมเรียนตามตรงว่า เราหารือกันในคณะผู้บริหารของกรมเราด้วย แล้วต้องหารือกับผู้ใหญ่ด้วย แต่ไม่มีการสั่ง และเมื่อมีกระแสเมื่อเช้านี้ ซึ่งร้อนแรงมาก ผมก็เห็นว่า เราจะหาทางออกอย่างไร จะลดกระแสตรงนี้ไหม แล้วผมก็เรียนผู้บังคับบัญชาทั้งหมด และผมก็เรียนให้ท่านแล้ว แต่คนที่ตัดสินใจ คือ อธิบดี ไม่มีใครสั่ง”
นายประภาศ ยืนยันว่า หากจะมีการลงนามในสัญญาฯในวันไหน กรมธนารักษ์จะแจ้งให้ทุกฝ่ายรับทราบ เพราะเรื่องนี้จะทำโดยไม่เปิดเผยไม่ได้ และการที่ไม่เปิดเผย มีแต่จะทำให้มีข้อสงสัยมากขึ้น
(ห้องลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกถูกเก็บเรียบร้อย หลังกรมธนารักษ์ยกเลิกพิธีลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565
@ยันแก้ TOR ก่อนเปิดประมูล ‘ครั้งที่ 2’ ไม่มีการตัดสิทธิ์เอกชนรายใด
เมื่อถามว่า การออก TOR ครั้งที่ 2 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ ซึ่งผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆให้กับเอกชนบางรายเกินไปหรือไม่ นายประภาศ กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นข้อสังเกต แต่ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขตรงนั้น ไม่ได้ทำให้เอกชนรายใดถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูล เพราะการออก TOR ครั้งแรก ทุกบริษัทฯมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล และการออก TOR ครั้งที่ 2 ทุกบริษัทฯก็มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลเหมือนเดิม แต่ถ้าไปทำให้คนใดคนหนึ่งเสียสิทธิ์ต่างหาก ตรงนั้นจึงจะเป็นการเอื้อประโยชน์
“TOR ทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ทุกบริษัทฯมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล เพียงแต่เราต้องการสร้างความชัดเจนเท่านั้นเอง” นายประภาศ กล่าว
พร้อมระบุว่า “ที่บอกว่าเอกชนรายใหม่ ไม่มีประสบการณ์ ตรงนี้ผมเข้าใจว่าเป็นข้อห่วงใย แต่เราจะไปตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเป็นรายใหม่เข้ามา การบริหารจะมีปัญหา ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เอาเจ้าเดิมอย่างเดียว ไม่ต้องคัดเลือก เราอย่าคาดการณ์ไปก่อนว่า บริษัทนั้นไม่มีความสามารถ ไม่มีประสบการณ์ เพราะเขาเองก็มีแผนชัดเจนมาเสนอเหมือนกัน และทำกิจการในเรื่องท่อส่งน้ำให้กับการประปาฯอยู่ แต่ถ้าไม่เคยทำมาก่อน อันนี้ก็ตั้งข้อสังเกตได้”
นายประภาศ กล่าวด้วยว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารโครงการท่อส่งน้ำฯ ขอยืนยันว่า จะมีส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ เพราะกรมธนารักษ์ คู่สัญญาเดิม และคู่สัญญารายใหม่ จะต้องลงไปในพื้นที่ดูว่าจุดใดที่จะเป็นปัญหา รวมทั้งให้ผู้ใช้น้ำเข้ามาดูด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านจะไม่เกิดผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ และหากเอกชนรายใหม่ไม่มีความพร้อมจริงๆ กรมธนารักษ์ก็ยกเลิกสัญญาได้ โดยที่ไม่กระทบกับผู้ใช้น้ำ เพราะคู่สัญญารายเดิมยังบริหารท่ออยู่
“ไม่ใช่ว่าเราไม่มั่นใจในตัวเจ้าใหม่ เรามั่นใจอยู่แล้ว เพียงแต่สังคมอาจจะยังสงสัยอยู่เท่านั้นเอง” นายประภาศ ระบุ
เมื่อถามว่า ฐานะการเงินของผู้ชนะประมูล (วงษ์สยามก่อสร้าง) มีความพร้อมเพียงใด นายประภาศ กล่าวว่า วันนี้เอกชนมีความสามารถในการชำระค่าแรกเข้าตามสัญญาฯได้ทั้งหมด ซึ่งเขาส่งมาแล้ว แต่หากไปบอกว่าบริษัทฯนี้เป็นบริษัทฯใหม่ และสถานะทางเงิน ณ ขณะนี้ ทำให้มีข้อสงสัยว่า เขาจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐได้หรือไม่นั้น ต้องอย่าลืมว่า บริษัทฯสามารถหาพาร์ทเนอร์เข้ามาและมีสิทธิ์ที่จะขยายได้ ซึ่งเรื่องนี้ คิดว่าเขาคงวางแผนไว้แล้ว
“เราจะไปบอกว่าเขาเป็นบริษัทฯเล็กๆ จะไปประเมินแบบนั้น คงไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯเอง เขาต้องเชื่อมั่นเกี่ยวกับศักยภาพตรงนี้แล้ว ก่อนที่จะคัดเลือก และเมื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐแล้ว ผมเชื่อว่าเขาคงต้องขยายการลงทุนของเขา เช่น การหาผู้ร่วมทุนเข้ามา โดยเขาสามารถดำเนินการได้หมด ไม่ใช่ว่ารัฐไป Fix ว่าคุณต้องอยู่ของคุณคนเดียวอย่างนี้ มันไม่ใช่” นายประภาศ กล่าว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุเคยมีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำฯ โดยขอให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน แต่ต่อมาคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้ประชุมกันอีกครั้ง และมีมติ 6 ต่อ 3 อนุมัติผลการคัดเลือกฯ นายประภาศ กล่าวว่า “อันนั้น เป็นความเห็น ซึ่งเราต้องเคารพความเห็นของกรรมการฯด้วย เพราะแต่ละคนก็มีความเป็นอิสระของท่าน และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด”
อ่านประกอบ :
'บิ๊กตู่'สั่ง'คลัง'ตั้ง กก.ดูประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี ยังไม่เซ็นสัญญา รอผลสอบข้อเท็จจริง
ผู้ใหญ่ในรบ.โทรสั่ง! ‘ธนารักษ์’แจ้งเลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล. กะทันหัน
จ่ายก้อนแรก 743 ล้าน! 'ธนารักษ์'เรียก'วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ'อีอีซี' 3 พ.ค.นี้
‘อีสท์วอเตอร์’ยันสู้คดีประมูลท่อส่งน้ำ EEC ถึงศาลปค.สูงสุด-เผยยังดำเนินธุรกิจได้ปกติ
คำชี้แจง'ธนารักษ์' ก่อนศาลสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวฯ ปิดฉาก'อีสท์วอเตอร์'ผูกขาดท่อน้ำ EEC
ข้ออ้าง'อีสท์วอเตอร์'ฟังไม่ขึ้น! 'ศาลปค.'ยกขอคุ้มครองชั่วคราวฯ คดีประมูลท่อส่งน้ำ EEC
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้องศาลฯขอคุ้มครองชั่วคราวฯประมูล'ท่อส่งน้ำ' EEC-นัดไต่สวนฉุกเฉินวันนี้
มติ 6 ต่อ 3! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ เคาะ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล.
ข้อเท็จจริง'EASTW-ธนารักษ์' ศึกประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล. ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุรื้อมติ?
รมช.คลัง นัดถก บอร์ดที่ราชพัสดุ 14 มี.ค. ชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล.
‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร้อง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรม ประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้