“…การมี ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ และการมี ‘คนจนที่ไม่สมควรจน’ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม และเมื่อมีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม ก็มักจะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงเกินเหตุ และสูงเกินรับได้ ซึ่งสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับ Top 10 หรือ Top 20 ของโลก จะเห็นว่าทุกประเทศมีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรมทั้งนั้นเลย…”
...................................
หมายเหตุ : ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ควรจะต้องให้ความสำคัญ
@ต้องวัดตัวเลขความเหลื่อมล้ำจาก ‘ความมั่งคั่ง’
สมชัย ระบุว่า เป็นที่รู้กันว่า เมืองไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยตัวเลขของทางการที่บอกว่าเหลื่อมล้ำมีไม่มากนั้น เป็นตัวเลขที่ดูความเหลื่อมล้ำของ ‘รายได้และรายจ่าย’ ซึ่งได้มาจากการสำรวจครัวเรือน แต่ปัญหาของข้อมูลชุดนี้ คือ แม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพยายามเก็บตัวเลขอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่สามารถเก็บข้อมูลของคนรวยได้
“เดี๋ยวนี้คนรวยอยู่บ้านใหญ่หรือคอนโดแพง พนักงานที่จะไปสัมภาษณ์ ไม่ผ่าน รปภ. ด้วยซ้ำ ข้อมูลคนรวยจึงหายไป พอข้อมูลหายไป ตัวเลขทางการที่บอกว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้แย่ และทำท่าจะดีขึ้นด้วยซ้ำ จึงเชื่อไม่ได้ ซึ่งถ้าเก็บข้อมูลของคนรวยเข้ามา แล้วคำนวณตัวเลขใหม่ ก็จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำมาก
ตัวเลขความเหลื่อมล้ำที่ผมใช้ จะเป็นตัวเลขของต่างประเทศมากกว่า และเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง (Wealth) เช่น ข้อมูลของ Credit Suisse และถ้าใช้ข้อมูลชุดนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่งอยู่ในอันดับ Top 10-20 ของโลก และบางปีอันดับความเหลื่อมล้ำของไทยสูงติดอันดับ Top 3 ของโลก
ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง จึงเป็นความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง เพราะถ้าไปดูจากรายได้ มันดูไม่ได้ เช่น สมมติว่าเป็นเจ้าสัวรายหนึ่ง เขาทำงานโดยไม่รับเงินเดือน รายได้เป็นศูนย์ แต่ถ้าไปดู เขามีทรัพย์สินแสนล้าน ถ้าจะดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในมุมของผมแล้ว จะต้องดูความเหลื่อมล้ำในด้านความมั่นคั่ง” สมชัย ระบุ
@‘ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม’ซ้ำเติม‘เหลื่อมล้ำฯ’
สมชัย กล่าวว่า เวลาพูดว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร ต้องมาดูว่า เรามองภาพความเหลื่อมล้ำว่าเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า เราต้องดูก่อนว่าเรามี ‘ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม’ หรือไม่ เพราะถ้าเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชอบธรรม คือ คนรายได้ไม่เท่ากัน แต่เป็นการไม่เท่ากันแบบยุติธรรม (fair) คนจะมีความรู้สึกว่า ยอมรับได้
“ผมเคยไปสิงคโปร์ นั่งรถแท็กซี่ แล้วคุยกับเขา เขาบ่นเรื่อง คนรวยในสิงคโปร์ เขาชี้ไปตึกสูงๆ แล้วบอกว่าซีอีโอที่นี่รวยมาก รายได้สูงมาก แล้วก็บ่นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสิงคโปร์ พอฟังจบ ผมถามเขาว่า คุณรู้สึกว่าคนรวยที่คุณชี้ไป คุณโอเคหรือไหมที่เขารวย แท็กซี่คนนั้น บอกว่า ก็โอเคนะ เพราะอย่างน้อย เขาก็มาด้วยฝีมือ
แล้วเรื่องแบบเดียวกันนี้ ผมมาถามแท็กซี่ที่เมืองไทย ถามคล้ายกันๆว่า เขาคิดอย่างไรกับคนรวยในเมืองไทย คำตอบไม่เหมือนกัน แท็กซี่ที่เป็นคนไทย ตอบว่า คนรวยในเมืองไทย รวยแบบแย่ๆ โกงมา คอร์รัปชั่นมา ค้าของเถื่อน มีเส้นสาย มันผูกขาด ซึ่งภาพแบบนี้ไม่มีในสิงคโปร์
ผมจึงใช้นิยามว่า ‘ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม’ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่มี ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ และที่มาของความรวยก็รับไม่ได้ เช่น คอร์รัปชั่นมา ผูกขาดมา เล่นพรรคเล่นพวก คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย รับสินบาทคาดสินบน รับส่วยโน่นนี่อะไรต่างๆ ถ้าเรารู้สึกว่า เมืองไทยมีคนประเภทนี้อยู่เยอะ นั่นก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม
อีกด้านหนึ่งเป็นฝั่งคนจน มีคำถาม คือ เรามี ‘คนจนที่ไม่สมควรจน’ มากเกินไปไหม เช่น เขาไม่ได้สำมะเลเทเมา ไม่กินเหล้า ไม่ติดยา ไม่ขี้เกียจ แล้วก็ขยันขันแข็งเต็มที่แล้ว ทำงานสุจริต พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความยากจน อันนี้ผมมองว่าเข้าข่าย ‘จนแบบไม่สมควรจน’ หรือจนเพราะขาดโอกาสต่างๆ” สมชัย กล่าว
@ความ‘รู้สึก’เหลื่อมล้ำฯทำให้สังคมแบ่งขั้ว-แตกแยก
สมชัย ระบุว่า “การมี ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ และการมี ‘คนจนที่ไม่สมควรจน’ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม และเมื่อมีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม ก็มักจะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงเกินเหตุ และสูงเกินรับได้ ซึ่งสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับ Top 10 หรือ Top 20 ของโลก จะเห็นว่าทุกประเทศมีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรมทั้งนั้นเลย”
สมชัย กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำฯเพิ่มขึ้น เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งคนที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ก่อน จะเป็นคนที่มีการศึกษาดี มีการศึกษาสูง เข้าใจเทคโนโลยีได้ดี และมีความสามารถลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ และแม้ว่าตรงนี้จะเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชอบธรรม แต่ก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำฯถ่างมากขึ้น
ที่สำคัญหากมีการออกกฎหรือระเบียบบางอย่าง ที่ทำให้คนบางกลุ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ แต่บางคนใช้ไม่ได้ หรือมีคนบางกลุ่มที่ผูกขาดเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาปฏิวัติการใช้ชีวิตของผู้คน แต่ต่อมามีคนบางกลุ่มผูกขาดไป และก็จะผูกขาดเรื่องเทคโนโลยีด้วย ก็จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรมไป
สมชัย ย้ำว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีการเก็บสถิติในเชิงตัวเลขว่า มี ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ และ ‘คนจนที่ไม่สมควรจน’ เท่าไหร่ เป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เรื่องความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นปัญหาที่ตามมา เพราะถ้าคนมีความรู้สึกเชิงลบ (negative feeling) มาก จะทำให้สังคมเกิดความแตกแยก อย่าง ‘กีฬาสี’ ที่เล่นมาหลายสิบปี
และยังมีกรณี ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ มาเอาเปรียบ ‘คนจนที่ไม่สมควรจน’ เช่น การแย่งชิงโอกาสไปโดยที่คนจนสู้ไม่ได้ หรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีถูกนายทุนเอาไปหมด ตรงนี้จะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วมากขึ้น และมีความขัดแย้งทางการเมืองตามมา เรื่องเหล่านี้จึงเป็นประเด็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข
“ถามว่าเขา (รัฐบาล) พยายามลดคนรวยแบบไม่สมควรรวยไหม จะเห็นในช่วงหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มาแตะตรงนี้เลย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แตะ ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลเศรษฐา) น่าจะไม่แตะใหญ่เลย ยกเว้นจะมีการปฏิรูปขนานใหญ่ เช่น พรรคก้าวไกลขึ้นมา แต่ก็เสียวๆอยู่ว่า อีกซักพัก พรรคก้าวไกลจะถูกระบบกลืนไปหรือเปล่า” สมชัย กล่าว
@ต้องทำให้ภาครัฐโปร่งใส-ลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ
สมชัย เห็นว่า หากประเทศไทยต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ ต้องดูให้ครบทั้ง 2 ขั้ว คือ ‘ขั้วรวย’ กับ ‘ขั้วจน’
โดยแนวทางการลด ‘คนรวยที่ไม่สมควรรวย’ นั้น จะต้องทำให้ภาครัฐโปร่งใส ระบบการเมืองการปกครองโปร่งใส และระบบราชการโปร่งใส เช่น เมื่อการประมูลต่างๆ หากมีการเผยแพร่ข้อมูลการประมูลทุกขั้นตอน ละเอียดยิบ ก็ช่วยได้ เพราะจะมีคนจับตาอยู่ รวมทั้งต้องมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากเกินไป
“การตรวจสอบภาคประชาชนมีความสำคัญมาก ในแง่ของการป้องกัน ‘การรวยแบบไม่สมควรรวย’ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันคอร์รัปชั่น การฮั้ว และการผูกขาด เป็นต้น หรือถ้ามีกฎหมายที่เอื้อนายทุน เช่น เรื่องไฟฟ้า ซึ่งเอื้อนายทุนเยอะ ถ้าถามว่าถูกกฎหมายไหม ก็ต้องตอบว่า ถูก เพราะมีกติกาที่ออกมา มีฐานทางกฎหมายรองรับและไม่ผิด
แต่ถ้าทุกคนเห็นกติกา อ่านแล้วรู้ว่า มันไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนกติกานั้น ดังนั้น การลดคนรวยที่ไม่สมควรรวย จึงต้องมี 2 ชอท คือ อันแรก เป็นเรื่องความโปร่งใส เพื่อให้เห็นข้อมูลก่อน อันที่สอง ต้องมีกระบวนการเรียกร้อง และต้องมีกระบวนการที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มีพลัง” สมชัย กล่าว
สมชัย มองว่า การที่คนรวยที่ไม่สมควรรวยและคนจนที่ไม่สมควรจน ยังอยู่กันแบบนี้ได้ เป็นเพราะมีความเหลื่อมล้ำของอำนาจด้วย และก็เป็นรากเหง้าที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง เช่น ออกกฎหมายเอื้อตัวเอง ป้องกันการตรวจสอบที่จะมาถึงตัว หรือหากตรวจสอบเสร็จ ก็เข้าไปแทรกแซงกลไกตุลาการจนตัวเองพ้นผิด เป็นต้น
“พวกนี้เป็นเรื่องอำนาจทั้งสิ้น ในเมืองไทย คนถึงแย่งอำนาจทางการเมืองกันมาก เพราะถ้าได้มา มันก็ได้พวกนี้ไปด้วย และแน่นอนคนที่มีอำนาจจริงๆนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นในทางการเมือง เช่น ชนชั้นนำ หรือเจ้าสัว ซึ่งเราก็รู้ว่าทุกพรรคฟังเจ้าสัว นี่เป็นอำนาจที่เรียก Deep State ถ้าจัดการได้ หรือถ้าการเมืองดี ปัญหาทุกอย่างก็แก้ง่าย” สมชัยกล่าว
สมชัย ยังระบุว่า ในการปะทะกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งเป็นการปะทะเชิงวัฒนธรรมนั้น คนมีบางกลุ่มใช้ประโยชน์จากปะทะตรงนี้ เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่น บอกว่าถ้าไม่เอาเด็กรุ่นใหม่ก็ให้สนับสนุนตัวเอง แล้วเอาอำนาจนั้น ไปทำให้ตัวเองมีอำนาจในภาคธุรกิจมากขึ้น รวมถึงมีการใช้วาทะกรรมต่างๆด้วย
“คนบางกลุ่ม enjoy กับความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำที่เขาได้ประโยชน์ และพยายามอนุรักษ์ความเหลื่อมล้ำฯที่ว่านั้น เอาไว้” สมชัย กล่าว
(สมชัย จิตสุชน)
@พัฒนาคุณภาพศึกษา-ใช้กลไกตลาดฝึกอบรมแรงงาน
สมชัย ระบุว่า ส่วนแนวทางลด ‘คนยากจนไม่ควรจน’ นั้น ถ้าโจทย์เป็นเรื่องการขาดโอกาส สิ่งที่ควรทำ เช่น ปฏิรูปการศึกษา และต้องทำให้แน่ใจว่าความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาลดลงด้วย ไม่ใช่ให้เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ หรือเตรียมอุดม มีคุณภาพเท่ากับเด็กที่เรียนในสหรัฐ แต่เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีคุณภาพการศึกษาที่ไม่ดี
“ถ้าไปสังเกตประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ คุณภาพของโรงเรียนเขาใกล้กันมาก อย่างในแคนาดา คุณไม่ต้องไปคิดเลยว่าลูกคุณจะเรียนที่ไหน โรงเรียนใกล้บ้านนี่แหละ เพราะคุณภาพไม่ต่างกัน ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ก็เป็นการให้โอกาสแก่คนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คนจนที่ขาดโอกาส ก็ไม่ขาดโอกาสด้วย” สมชัย กล่าว
ถัดมา เป็นเรื่องการเพิ่มทักษะที่ถูกต้องให้กับคนที่ออกจากระบบโรงเรียนมาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 90% ของประชากร โดยรัฐบาลต้องผลักดันให้มีการเพิ่มทักษะให้กับคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ training การ Re-skill และ Up-skill ซึ่งอันนี้สำคัญกว่าการให้การศึกษาในระบบด้วยซ้ำ
“เรามีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจัดคอร์สเยอะ แต่เรียนแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ออกมาแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ผมจึงอยากให้ประเทศไทยทำแบบโครงการของสิงคโปร์ คือ ทำโครงการ SkillsFuture โดยใช้กลไกตลาด คือ รัฐบาลจัดสรรงบมาก้อนหนึ่ง แล้วแจก training คูปอง แล้วเอาคูปองไป training กับเทรนนิ่งเซ็นเตอร์เอกชนต่างๆ
ถ้าที่ไหนดีจริงๆ คนจะไปที่นั่น แต่ถ้าศูนย์ฝึกอบรมที่ไหน คุณภาพสู้ไม่ได้ ก็ปิดไป ซึ่งเป็นเรื่องกลไกตลาด ใครมีผลิตภัณฑ์ดีกว่า ก็อยู่รอด แล้วประโยชน์ตรงนี้จะกลับมาสู่ตัวแรงงาน ประเทศชาติ แล้วก็บริหารง่ายด้วย โดยสิ่งที่รัฐต้องทำ คือ ไปตรวจคุณภาพ แล้วอย่าให้โกงกัน ง่ายกว่ามานั่งจัดเอง แล้วก็ไม่รู้จะจัดคอร์สอย่างไร” สมชัย ระบุ
สมชัย เสนอด้วยว่า ในด้านการสวัสดิการให้คนจนนั้น เห็นว่าการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ควรจะเป็นถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตกหล่น และแม้ว่าให้แบบถ้วนหน้านี้ จะทำให้ต้องใช้งบเพิ่มขึ้น 20-30% แต่งบที่ใช้ทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 1 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มการใช้งบก็น้อยลงด้วย เพราะเด็กเกิดน้อยลง
ส่วนเรื่องการให้บำนาญคนชรานั้น การถอยหลังไปเป็นแบบไม่ถ้วนหน้า ‘คงไม่ได้’ แต่การที่มีคนเสนอว่าต้องให้บำนาญฯ 3,000 บาทถ้วนหน้า ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เช่นกัน เพราะต้องใช้เงิน 4 แสนล้านทุกปี แล้วจะหาเงินมาจากที่ไหน ทุกปี จึงเสนอว่าควรใช้วิธีลูกผสม เบี้ยคนชรา 600-1,000 บาทถ้วนหน้า ก็ให้ไป แต่ถ้าจะเพิ่มก็ให้เฉพาะคนแก่ที่ยากจน
“ถ้าเอาเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน มาทำตรงนี้ ทำสิ่งที่ผมพูดมานี้ ทำได้หมดเลย” สมชัย ย้ำ
@เสนอขึ้นภาษีแวต-ชี้คนจนไม่ได้กระทบมากอย่างที่คิด
สมชัย ระบุด้วยว่า ในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำฯนั้น แน่นอนว่าต้องมีเรื่องการปฏิรูปภาษีต่างๆ และส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การขึ้นภาษี VAT นั้น ไม่ได้กระทบกับคนจนมากอย่างที่คิด
“เรื่องการปฏิรูปภาษี พูดมาหลายเวที พูดจนเบื่อตัวเองแล้ว แต่การเมืองไม่ทำ เช่น ต้องเพิ่มภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องมากกว่านี้ การลดหย่อนต้องน้อยกว่านี้ ต้องเก็บภาษีกำไรหุ้น เก็บภาษีลาภลอย แล้วก็อยากให้ขึ้นภาษี VAT ไปด้วย ซึ่งคนมักเข้าใจผิดเรื่องขึ้น VAT คิดว่าจะไปกระทบคนจน
คือ เขาไปดูว่า เมื่อจ่าย VAT ไป แล้วเอา VAT ที่จ่ายไป ไปหารด้วยรายได้ แล้วคนก็บอกว่า คนจนจะจ่ายมากขึ้น เพราะตัวหาร (รายได้) มันน้อย แต่เขาลืมไปว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่คนจนซื้อนั้น ไม่ได้เสีย VAT หรือสินค้าบางอย่างที่ต้องเสีย Vat แต่ถ้าไปซื้อในตลาดสด ก็ไม่มี VAT
ผมลองให้ทีมไปคำนวณแล้ว ปรากฏว่า ที่บอกว่าคนจนรับภาระมากกว่านั้น ไม่จริง เขาไม่ได้รับภาระมากกว่าในแง่ของอัตราภาษี VAT ที่เพิ่มขึ้น และตัวที่น่าจะเด่นชัด คือ ถ้าคิดเป็นเม็ดเงิน สมมติว่ารัฐบาลได้ VATเข้ากระเป๋า เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท จะพบว่าประมาณ 80-90% ออกจากกระเป๋าคนรวยและคนชั้นกลาง ส่วนอีก 10-20% มาจากคนจน
เคยเสนอในหลายเวทีว่า ถ้ากลัวคนจนจะกระทบ ผมเสนอให้ทำสิ่งที่เรียกว่า Political Earmark ของภาษี VAT คือ เอาภาษีที่เก็บได้ไปทำประโยชน์ให้เฉพาะคนจนเท่านั้น ถ้าไปอ่านกฎหมายแล้ว จริงๆพอทำได้ กระทรวงการคลังสามารถได้ แต่ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ไม่เคยโอเค
ผมจึงใช้คำว่า Political Earmark คือ รัฐบาลไปประกาศว่าจะขึ้นปีนี้ 7% ปีหน้า 8% ปีต่อไป 9% และปีต่อไป 10% แล้วบอกว่าเงินภาษีที่เก็บได้เพิ่ม จะเอาทำมาใช้เพื่อสวัสดิการเพื่อคนจนเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น คนจนจ่าย VAT เพิ่มขึ้นจริง แต่จ่ายเพียง 10% ของเงินที่มากขึ้น แต่ตอนได้เขาได้กลับมาเต็ม 100% ในแง่นี้คนจนจะดีขึ้น” สมชัย กล่าว
สมชัย กล่าวว่า “ถ้าเพิ่ม VAT จาก 7% เป็น 10% จะได้เงิน 2-3 แสนล้านบาท แล้วเอาไปพัฒนาคุณภาพโรงเรียนห่างไกล หรืออย่างญี่ปุ่นเคยมีการขึ้น VAT มาแล้ว และตอนที่ขึ้น เขาบอกว่าเอาไปพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและดูแลเด็ก เพราะญี่ปุ่นคนเกิดน้อย แต่ของเราเด็กเกิดน้อยและจนด้วย ถ้าเอาช่วยการศึกษาเด็ก ก็ตอบโจทย์ทั้งเรื่องเด็กและเรื่องจน”
@ต้องทลายทุนผูกขาด-ส่งเสริมประชาธิปไตยแท้จริง
สมชัย ยังเสนอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น และแทนที่จะใช้วิธียกเลิกกฎหมายที่ละฉบับ แต่อยากให้ทำแบบเกาหลีใต้ คือ ยกเลิกกฎหมายทั้งกระบิเลย แล้วให้เสนอกลับมาว่ามีกฎหมายอะไรที่จะนำกลับมาใช้บ้าง
“ของเราไปนั่งดูรีวิวกฎหมายว่า มีอะไรจะเอาออกบ้าง แต่ที่เกาหลีใต้ กฎหมายทั้งกระบิ เขายกออกหมดเลย แล้วก็ไปดูว่า จะเอาอะไรกลับมา เขาจึงไปเร็ว แต่ของเราไม่กล้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีช่วงปั่นป่วนบ้าง ตรงนี้ก็ต้องไปดูว่าเกาหลีใต้เขาทำอย่างไร”
สมชัย เสนอด้วยว่า หากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง จะต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง มีการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลังไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องทลายทุนผูกขาด รวมทั้งมีระบบบริหารราชการส่วนกลางและท้องถิ่นที่โปร่งใสและเปิดเผย เป็นต้น
“ต้องทลายทุนผูกขาด ต้องส่งเสริมการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งให้สิทธิ์ให้เสียงกับคนทุกคน ในการกำหนดนโยบายของประเทศ ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยที่จบตอนเลือกตั้ง 4 นาทีในคูหา ต้องมีกลไกการตรวจสอบที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง ระบบบริหารราชการส่วนกลางและท้องถิ่น ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผย มีกระบวนตรวจสอบ
ผมอยากให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า คือ ส่งเสริมในเรื่ององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมห้มีการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลังไปสู่ท้องถิ่นฯมากขึ้น ถ้าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯไปด้วยก็ได้ แต่ต้องคิดให้ดีว่า นายกฯ อบจ.ไปอยู่ไหน ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเป็นประชาธิปไตยที่กินได้
แล้วผมไม่เคยเชื่อเลยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่มีโกง แต่ก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่า เม็ดเงินที่ท้องถิ่นโกงจะมากกว่าการโกงที่ส่วนกลาง เพียงแต่เป็นข่าวมากกว่าเท่านั้นเอง
มันจึงอยู่ที่ว่า จะโกงกระจุกหรือโกงกระจายเท่านั้นเอง แต่ต่อให้เป็นเงินที่ท้องถิ่นโกงไป เงินก็ยังอยู่ในพื้นที่ พอเงินหมุนก็ทำประโยชน์ให้พื้นที่ แต่ถ้าเป็นการโกงกระจุกอยู่ในส่วนกลาง ก็จะเอาเงินไปซื้อบ้านที่ลอนดอน เป็นต้น แล้วก็กระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่คน” สมชัยกล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ :
ช่องว่างรายได้เกิน15เท่า-คนจนหนี้ท่วม-พัฒนาไม่เท่าเทียม! เปิดโจทย์‘เศรษฐา’แก้เหลื่อมล้ำฯ
คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’
สมองVSแรงงาน : ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแนวโน้มสูงขึ้น
ครม.ไฟเขียวตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่อง 538 รร.
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
ผ่า'ร่างแผนความมั่นคงฯ' 5 ปี มองไทยในวงล้อม 2 มหาอำนาจ 'สังคมเหลื่อมล้ำ-ทุจริตทุกระดับ'
เปิดรายงาน ‘สภาพัฒน์’ เผย ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังสูง-คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : 'ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth'
วิรไท สันติประภพ : ถ้าความเหลื่อมล้ำรุนแรง..สังคมจะเปราะบางและแตกแยกมากขึ้น
‘เหลื่อมล้ำ’หนักขึ้น! ผู้ว่าฯธปท.มองภาพศก.หลังพ้นโควิด-รื้อเกณฑ์ซอฟท์โลนอุ้มSME
ขยี้ปมเหลื่อมล้ำศก. เขย่าเก้าอี้ 'บิ๊กตู่' นโยบายรัฐเอื้อเจ้าสัว 5 ตระกูล 'รวยก้าวกระโดด' ?
รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า