“…ต้องอย่าลืมว่าความยากจนเป็นสภาวะพลวัต ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูด้วย คือ เรื่องการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่า มีความยุติธรรมหรือไม่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่สามารถสร้างกลไกการแข่งขัน ไม่สามารถสร้างผู้ประกอบการได้ และธุรกิจถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่อย่างเดียว ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครที่จะก้าวข้ามขึ้นมาได้ และต้องกลายเป็นแรงงานแบบเดิมๆต่อไป…”
......................................
นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) หรือ ‘แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13’ จะมีผลบังคับใช้ โดยแผนพัฒนาฯฉบับนี้ กำหนดทิศทางให้ประเทศไทยก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ เพื่อให้ ‘ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’
อย่างไรก็ดี 1 ใน 13 หมุดหมาย ที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ความสำคัญ นั่นก็คือ ‘หมุดหมายที่ 9’ หรือ ‘ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับบริบท ‘ความยากจนข้ามรุ่น’ ในช่วงที่ผ่านมา เป้าหมาย และแผนกลยุทธ์ในการผลักดันเพื่อ ‘ลดความยากจนข้ามรุ่น’ ควบคู่กับการ ‘มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม’ ภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 สรุปได้ดังนี้
@‘ความยากจนข้ามรุ่น’ เป็นปัญหา ‘เรื้อรัง’-มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
สถานการณ์การพัฒนาที่ผ่านมา
ความยากจนข้ามรุ่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต แม้ว่าสัดส่วนคนจนของไทยจะลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสัดส่วนคนจนลดลงจาก 8.6% ในปี 2559 เหลือ 6.84% ในปี 2563 แต่ยังมีคนจนจำนวนหนึ่งที่ติดอยู่ใน ‘กับดักความยากจน’ เป็นเวลานาน
ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ปี 2565 พบว่า ครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนข้ามรุ่น หรือเรียกโดยย่อว่า ‘ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น’ มีจำนวนประมาณ 597,248 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก
ขณะเดียวกัน จำนวนของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน อันจะส่งผลให้โอกาสในการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนยากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นพบว่า ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำและอัตราการพึ่งพิงสูง
โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (73.4%) รองลงมา คือ ความขัดสนทางการศึกษา (17.2%) โดยเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะครอบครัวไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าเกือบ 70% ของหัวหน้าครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และเมื่อพิจารณาโครงสร้างประชากรภายในครัวเรือน พบว่า อัตราส่วนการพึ่งพิงของเด็กและผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานสูงถึง 90% และสัดส่วนของสมาชิกวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีมากถึง 23.7%
ขณะที่อาชีพของหัวหน้าครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นส่วนใหญ่ คือ อาชีพเกษตรกรรม (48.5%) รองลงมา คือ รับจ้างทั่วไป (28.8%) และกว่า 30% ของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคใต้ (25%) และภาคเหนือ (19%)
การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตของเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานกึ่งมีทักษะ
นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเด็กในอนาคตแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นผลให้ประชากรวัยเด็กในปัจจุบันต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อเข้าสู่วัยแรงงาน
ดังนั้น การขจัดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น เพื่อให้เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมีโอกาสได้รับการศึกษาและพัฒนาทักษะได้อย่างเต็มศักยภาพ และครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
@ระบบความคุ้มครองทางสังคมของไทยยังมี ‘ช่องว่าง’
นอกเหนือจากการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอสำหรับกลุ่มคนในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ทว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมของไทยในปัจจุบันยังมีช่องว่าง และระดับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
เช่น กรณีของความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย พบปัญหาการตกหล่นของการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยถึง 30% ของครัวเรือนที่เข้าข่ายมีสิทธิ์รับเงินอุดหนุน ขณะที่จำนวนของเงินอุดหนุนที่ได้รับ (600 บาท) คิดเป็นเพียง 16% ของรายจ่ายเฉลี่ยของประชากรวัยนี้
อีกทั้งปัญหาการเข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก 0-2 ปี ยังเป็นอุปสรรคต่อครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงอายุ 3 เดือนถึง 2 ปี เป็นช่วงที่สิทธิ์ลาคลอดของแม่ครบกำหนด และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของรัฐยังไม่สามารถรับเด็กเข้าดูแลได้ ในขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชนมีจำนวนน้อยและมีค่าบริการสูง ครัวเรือนจำนวนมากจึงต้องส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายายตามภูมิลำเนาเดิม ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ซึ่งเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า
ส่วนวัยแรงงาน ยังคงมีแรงงานจำนวนมากที่ขาดหลักประกันทางรายได้ที่เหมาะสม โดยในปี 2564 มีจำนวนแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐจำนวนเกือบ 20 ล้านคน หรือประมาณ 52% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ขาดแคลนหลักประกันทางรายได้เมื่อต้องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือว่างงาน
ขณะเดียวกัน แม้ว่าแรงงานนอกระบบจะมีทางเลือกในการเข้าร่วมระบบการออมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจที่ภาครัฐร่วมจ่ายสมทบ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยสร้างหลักประกันทางรายได้ในวัยสูงอายุ แต่ยังคงมีจำนวนผู้เข้าร่วมเพียงประมาณ 35% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของแรงงานชั่วคราว โดยเฉพาะแรงงานในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับและมีความเสี่ยงที่จะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ขณะที่ ผู้สูงอายุยังขาดสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยในปี 2563 มีผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในความยากจนเป็นสัดส่วน 8.30% ซึ่งผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือหลักประกันในรูปแบบอื่นรองรับ จะมีเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท เพื่อใช้สำหรับการดำรงชีพ
นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดย ณ เดือน ม.ค.2565 มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียง 54.2% เท่านั้น
@ครัวเรือนเป้าหมาย หลุดพ้นสถานะ ‘ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น’ ปี 70
เป้าหมายการพัฒนา
เป้าหมายที่ 1 ครัวเรือนที่มีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม จนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัด เช่น ทุกครัวเรือนที่ถูกคัดกรองว่ามีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นในปี 2565 สามารถหลุดพ้นจากสถานะการมีแนวโน้มเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นภายในปี 2570
อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ต่ำกว่า 100% และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่า 70% ,เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น เติบโตไปเป็นแรงงานที่มีทักษะ หรือสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และสัดส่วนของเด็กปฐมวัยในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีปัญหาพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์ลดลง 20%
เป้าหมายที่ 2 คนทุกช่วงวัยได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยมีดัชนีชี้วัด เช่น อัตราการเข้าถึงบริการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย (0-2 ปี) เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% ,แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานรวม
จำนวนผู้ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจที่ภาครัฐจ่ายสมทบ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100% ,สัดส่วนผู้สูงอายุที่ยากจนลดลง เหลือไม่เกิน 4% และสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่เข้าถึงบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 70% เป็นต้น
@5 กลยุทธ์ลด ‘ยากจนข้ามรุ่น’-ยกระดับความคุ้มครองฯทุกช่วงวัย
กลยุทธ์การพัฒนา
กลยุทธ์ที่ 1 การแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าให้ครัวเรือนหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน มีกลยุทธ์ย่อย เช่น ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น เพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็ก โดยให้ความคุ้มครองทางสังคมอย่างเฉพาะเจาะจงในกลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านศักยภาพ
พร้อมทั้งมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพที่มีผลิตภาพและรายได้สูงขึ้น ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน การหางานที่เหมาะสมกับศักยภาพของครัวเรือน บริบทของพื้นที่ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็นในการประกอบอาชีพถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน
การพัฒนากลไกการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพ และเพิ่มบทบาทของหน่วยงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนา เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 2 การสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น กลยุทธ์ย่อย เช่น สนับสนุนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นให้สามารถเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงปฐมวัยได้อย่างมีคุณภาพ พัฒนาระบบการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการแก้ไขปัญหาผู้มีสิทธิ์ที่ตกหล่น
ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีคุณภาพ จัดสรรเงินอุดหนุนและทรัพยากรที่จำเป็นแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในโรงเรียนและการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน ทั้งแหล่งเรียนรู้บนพื้นที่กายภาพและพื้นที่เสมือนจริงหรือออนไลน์ เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 3 การยกระดับความคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย มีกลยุทธ์ย่อย เช่น ยกระดับความคุ้มครองทางสังคมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ส่งเสริมการเข้าถึงและเร่งรัดพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก 0-2 ปี ที่มีคุณภาพ
โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อม ขยายการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครอบคลุมเด็กอายุ 0-2 ปี และส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพในชุมชน สถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยที่เด็กยังอยู่อาศัยกับพ่อแม่ได้
ยกระดับความคุ้มครองทางสังคมเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับวัยแรงงาน พัฒนาระบบประกันสังคมให้สามารถตอบสนองความต้องการของแรงงานนอกระบบ และส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุด้วยการจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบการออมภาคสมัครใจ
ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในบ้านตนเอง ด้วยการสนับสนุนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ยากจน ควบคู่กับการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีทางเลือกของที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ทั้งบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และที่อยู่อาศัยที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น
@ปรับปรุง ‘สวัสดิการ’ ให้เหมาะสมกับความยั่งยืนทางการคลัง
กลยุทธ์ที่ 4 การพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ มีกลยุทธ์ย่อย เช่น บูรณาการระบบความคุ้มครองทางสังคม ,การกำหนดโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในการจัดความคุ้มครองทางสังคมให้ชัดเจน และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกหน่วยงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน
ปรับปรุงรูปแบบการจัดความคุ้มครองทางสังคม ให้ทุกกลุ่มคนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมบนฐานของความยั่งยืนทางการคลัง ,ยกเลิกหรือลดทอนงบประมาณของโครงการและมาตรการที่ไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบต่ำ ตลอดจนส่งเสริมการจัดความคุ้มครองทางสังคมแบบร่วมจ่าย เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 5 การบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อลดความยากจนข้ามรุ่นและจัดความคุ้มครองทางสังคม มีกลยุทธ์ย่อย เช่น พัฒนาฐานข้อมูลรายบุคคล ที่ครอบคลุมประชากรจากครัวเรือนที่มีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นทุกคน ให้เป็นปัจจุบัน และเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญต่อการลดความยากจนข้ามรุ่น และการบูรณาการความคุ้มครองทางสังคม
ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ในการออกแบบนโยบายและมาตรการ ,การติดตามประเมินผล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนข้ามรุ่นเป้าหมาย จัดสวัสดิการทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
(กลยุทธ์การพัฒนา หมุดหมายที่ 9 ‘ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม’ ที่มา : ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13)
@ปรับระบบ ‘สวัสดิการ’ ให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า การแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะการลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่นนั้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เช่น ทำอย่างไรให้เยาวชนไม่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อให้มีอาชีพและรายได้ที่ดี รวมทั้งต้องปรับระบบสวัสดิการให้ครอบคลุม
“เราคงต้องเอาการศึกษาเข้าไป เพื่อทำให้เยาวชนของเราไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา และรูปแบบการศึกษาคงต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เขาสามารถมีความรู้ เมื่อมีความรู้แล้ว ก็สามารถมีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาหลุดจากความยากจน รวมทั้งต้องปรับระบบสวัสดิการที่ทำให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้นด้วย” ดนุชา ระบุ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการบริหารและเลขานุการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยให้ภาพว่าทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาของไทยมีมากขึ้น
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังเช่นกัน และต้องไม่ปล่อยให้ก้าวข้าม tipping point ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของคนระหว่างรุ่นหรือข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส อย่างไรก็ดี เวลาเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราอาจจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องสินทรัพย์หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีขนาดที่กว้างขึ้น
แต่ถ้าเราปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และมีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ก็จะยิ่งน่ากลัวมาก ที่เห็นได้ชัด คือ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา เพราะแต่เดิมการศึกษาจะเป็นบันไดให้คนยกระดับฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ แต่วันนี้บันไดอันนั้น ให้โอกาสน้อยลง สำหรับคนที่ไม่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี” วิรไท ระบุ
@‘นักวิชาการ’แนะแก้ปัญหาทุนใหญ่ผูกขาด-เตรียมพร้อมก่อนสูงวัย
ขณะที่ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งสนใจและมีงานศึกษาวิจัยในด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนาและความเหลื่อมล้ำ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การทำให้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นลดลง ตนมองว่าจะต้องพิจารณาอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก นโยบายของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐรู้ตัวว่า ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนข้ามรุ่นอย่างไร แม้ว่าปัจจุบันนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดระบบสวัสดิการต่างๆ และการยกระดับการคุ้มครองทางสังคมให้กับกลุ่มคนทุกช่วงวัย ยังมีช่องว่างอยู่
เช่น การอุดหนุนเด็กเล็กและเงินช่วยเหลือสำหรับเด็กแรกเกิด ที่มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือเด็กเล็กในครอบครัวยากจน ซึ่งยังพบว่ามีเด็กเล็กที่ตกหล่นอยู่พอสมควร และเด็กเล็กที่ยากจนเข้าไม่ถึงระบบการช่วยเหลือ ,การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยังเป็นหลักสูตรระบบเดิม ไม่ทันกับโลกสมัยใหม่ ที่การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ เป็นต้น
เรื่องที่สอง การแข่งขันที่เป็นธรรมในโลกทุนนิยม เพราะหากภาครัฐยังปล่อยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดในประเทศไทยได้ทั้งหมด โดยไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดไม่มีธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้น และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอได้
“ต้องอย่าลืมว่าความยากจนเป็นสภาวะพลวัต ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูด้วย คือ เรื่องการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่า มีความยุติธรรมหรือไม่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า
เพราะถ้าเราไม่สามารถสร้างกลไกการแข่งขัน ไม่สามารถสร้างผู้ประกอบการได้ และธุรกิจถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่อย่างเดียว ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครที่จะก้าวข้ามขึ้นมาได้ และต้องกลายเป็นแรงงานแบบเดิมๆต่อไป ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ทรัพย์สินของคนอเมริกาส่วนใหญ่มาจากคนรุ่นใหม่ๆทั้งนั้น ไม่ใช่พวกเศรษฐีเก่าซักเท่าไหร่” นณริฏ กล่าว
(นณริฏ พิศลยบุตร ที่มาภาพ : TDRI)
เรื่องที่สาม ทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจมาก คือ ถ้าเราอยากให้ความยากจนข้ามรุ่นลดลง แปลว่าครอบครัวต้องพร้อม แต่ไทยเรากลับมีปัญหาวัยรุ่นที่มีเด็กก่อนวัยอันควร และครอบครัวที่หวังพึ่งลูกหลาน ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทัศนคติที่ดีต่อการแก้ปัญหาความยากจนเลย
นอกจากนี้ ในอนาคตคนต้องการใช้เงินมากขึ้น เพราะอายุยืนมากขึ้น ข้าวของแพงขึ้น และต้องดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เสียเงินมากขึ้น แต่เมื่อไปมองกลับมาไทย เราไม่มีความพร้อม เพราะคน 80% ไม่พร้อมสำหรับคนสูงวัย และที่สำคัญคนรุ่นใหม่ยังมีปัญหาลัทธิบริโภคนิยม ทำให้เรามีหนี้ครัวเรือนที่สูง โดยเฉพาะหนี้จากฝั่งบัตรเครดิต
“ในอนาคตมีความเสี่ยงที่คนจะเตรียมตัวไม่พร้อมเยอะมาก เงินไม่พอ และเมื่อดูแลตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะดูแลครอบครัว และดูแลคนรุ่นในอนาคตให้ดีได้อย่างไร” นณริฏ กล่าว และว่า “เราคงไม่สามารถแจกเงินให้ผู้สูงอายุไปได้เรื่อยๆ เพราะเรามีปัญหาสังคมสูงวัยและจำนวนผู้สูงอายุก็มีมากขึ้นทุกที”
เหล่านี้เป็นทิศทางและกลยุทธ์ หมุดหมายที่ 9 ‘ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม’ โดยเฉพาะการลดปัญหา ‘ความยากจนข้ามรุ่น’ ภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 และนับเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา!
อ่านประกอบ :
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
“ยากจนข้นแค้น” “ยากจนเหลือทนทาน”
เปิดแผนแม่บทเฉพาะกิจ ‘โควิด’ ตั้งเป้า 2 ปี ‘ดัน 5 เครื่องยนต์ศก.ใหม่-ลดยากจน’