"...หากเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลในพื้นที่ขัดแย้งปิดลง ประเทศไทยจะมีระยะเวลาเตือนภัยเพียง 48 ชั่วโมง เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอันจะส่งผลต่อแหล่งเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การส่งออกและนำเข้าที่ต้องพึ่งพาการลำเลียงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ผ่านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านบาทต่อปี..."
.................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) ให้ ครม.รับทราบ อย่างไรก็ดี หลังการประชุม ครม. ไม่มีการแถลงรายละเอียดในเรื่องนี้แต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุป (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งได้วิเคราะห์ ‘บริบทความมั่นคงในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับภายในประเทศ’ รวมทั้งประเด็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อภัยความมั่นคงของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2566-2570 ดังนี้
@ชาติมหาอำนาจแข่งขยายอิทธิพล ส่งผลจุดยืนไทยบนเวทีโลก
ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับโลก
1.การแข่งขันขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจ
ในห้วงที่ผ่านมามีการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ของโลกอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาผ่านการสานต่อการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ,การสกัดกั้นอิทธิพลของจีนที่มีต่อโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)
และการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองผลประโยชน์ร่วมกันของขั้วอำนาจต่าง ๆ อาทิ พันธมิตรความมั่นคงสี่ฝ่าย ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย (Quadrilateral Security Dialogue: QUAD) และกลุ่ม AUKUS (Australia-the United Kingdom-the United States) เพื่อเสริมสร้างกำลังอำนาจของชาติผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย
เช่น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและยุทโธปกรณ์ การแสวงหาทรัพยากรและพื้นที่อิทธิพลใหม่ๆ การรวมกลุ่มพันธมิตรที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน การปิดล้อมหรือสกัดกั้นอิทธิพลของประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นต้น
การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และสร้างความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายความมั่นคงกับต่างประเทศ อันส่งผลต่อการกำหนดจุดยืนของไทยในเวทีการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีแนวโน้มการแข่งขันเพื่อขยายอิทธิพล 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้
(ที่มา : Free and Open Indo-Pacific: FOIP)
1) การสะสมอาวุธและการแพร่ขยายอาวุธ
มีข้อบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณทางทหารทั่วโลก และรายงานสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ (Armed conflict) เพิ่มสูงขึ้น ได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวงและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ส่งผลให้แต่ละประเทศและพันธมิตรของขั้วอำนาจ เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศให้พร้อมรับมือด้วยการเพิ่มปริมาณการสะสมอาวุธ
การปรับยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อม หากเกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการพัฒนา แสนยานุภาพและเทคโนโลยีทางการทหาร โดยนำไปสู่การแพร่ขยายของอาวุธตามแบบ (conventional weapons) และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการนำไปใช้ในอาชญากรรม
หากอาวุธดังกล่าวอยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐที่มีสถานการณ์ขัดกันทางอาวุธ หรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐบางกลุ่ม ทำให้เกิดความพยายามในการจัดระเบียบโลก เพื่อควบคุมและลดอาวุธอันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของรัฐ
โดยไทยมีความเสี่ยงจากการเป็นพื้นที่แสวงประโยชน์เพื่อการจัดหา จัดซื้อ ลักลอบขนส่ง และลำเลียงสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการถูกกดดันให้มีการควบคุมและลดอาวุธที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ
2) การแสวงประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้สร้างพลวัตให้ประเทศมหาอำนาจ ประเทศที่มีศักยภาพ และตัวแสดงระหว่างประเทศ เพื่อขยายอิทธิพลในการเสริมสร้างกำลังอำนาจของชาติ ด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างความทันสมัยของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตที่เน้นการต่อยอดและผสมผสานเทคโนโลยีต่างสาขาเข้าด้วยกัน
อาทิ เทคโนโลยีควอนตัม การจัดการระบบแพลตฟอร์ม การวิเคราะห์และเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ
ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง และแสวงประโยชน์ที่เพิ่มความหวาดระแวงระหว่างกัน ทั้งในเรื่องการโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน การจารกรรมข้อมูล การสอดแนม การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงภาวะการพึ่งพิงจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถแสวงหาโอกาสและประโยชน์กับประเทศมหาอำนาจ และขั้วอำนาจต่างๆ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดและรองรับภัยคุกคามอันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
3) ผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศ
การแย่งชิงตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมระหว่างประเทศ การพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มดาวเทียมในการระบุพิกัดพื้นที่ การแสวงประโยชน์จากกิจการอวกาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการทหารและการป้องกันประเทศ รวมถึงการลงทุนและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงส่งผลต่อแนวโน้มปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้น
ซึ่งไทยสามารถแสวงหาโอกาสจากความร่วมมือทางด้านกิจการอวกาศ เพื่อประโยชน์ของชาติด้านความมั่นคง โดยต้องเตรียมพร้อมทางด้านงบประมาณในการสั่งสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้มีความพร้อม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในกิจการอวกาศ
@‘กลุ่มก่อการร้าย’ ปรับรูปแบบการก่อเหตุเป็น ‘ปฏิบัติการโดยลำพัง’
2.สถานการณ์การก่อการร้าย
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดห้วงที่ผ่านมา จะส่งผลให้พื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ลดน้อยลง โดยเฉพาะการก่อเหตุในรูปแบบเดิม อันเนื่องจากมาตรการจำกัดการเข้าเมือง และการปิดพรมแดนของนานาประเทศ ตลอดจนการเข้มงวดการเดินทางสัญจรระหว่างประเทศ
แต่กลุ่มก่อการร้ายมีแนวโน้มปรับรูปแบบการก่อเหตุในลักษณะของการปฏิบัติการโดยลำพัง (Lone Actor) รวมถึงมีแนวทางการดำเนินการที่มุ่งเน้นการเผยแพร่/บ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่อกลุ่มที่มีความเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน และสตรี
อีกทั้งหากสถานการณ์ของโรคโควิด- 19 คลี่คลายลง ก็มีแนวโน้มที่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักรบก่อการร้ายต่างประเทศ (Foreign Terrorist Fighters: FTFs) จะกลับมาเคลื่อนไหว/ก่อเหตุรุนแรงอีก โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา ชาติพันธุ์ รวมทั้งความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ก่อการร้าย
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำมาใช้พัฒนาอาวุธในการก่อการร้าย อาทิ อากาศยานโจมตีไร้คนขับก่อเหตุ การก่อการร้ายทางไซเบอร์ (Cyber Terrorism) และการใช้อาวุธทางชีวภาพในการก่อการร้าย (Biological Weapons) ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายอาจใช้ไทยเป็นสถานที่พักพิงและอำนวยความสะดวกเพื่อก่ออาชญากรรมต่างๆ
โดยเฉพาะการฟอกเงินและการให้เงินอุดหนุนต่อการก่อการร้าย (Money Laundering and Financing of Terrorism) การเป็นแหล่งจัดหาและเส้นทางขนส่งอาวุธไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน การเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งไปยังกลุ่มก่อการร้ายทั้งในและนอกภูมิภาค
รวมถึงปัญหาการก่อการร้ายยังเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ การฟอกเงิน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีแนวทางการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือและต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
3.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Disruptive Technology)
ที่ส่งผลต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crimes) พัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต
ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นปัจจัยเร่งให้วิถีชีวิตของประชาชนต้องพึ่งพิงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มความเสี่ยงไปสู่การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีลักษณะไร้ตัวตน (Invisible) ไร้พรมแดน (Borderless) และนิรนาม (Anonymous)
โดยไทยมีแนวโน้มเผชิญกับสถานการณ์การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ อาทิ การทำสงครามไซเบอร์ระหว่างรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้ง ปฏิบัติการของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ การล่อลวงและฉ้อโกงทางไซเบอร์เพื่อแสวงประโยชน์ ทางการเงินผ่านมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware)
ขบวนการฉ้อโกงการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol: VOPP) การโจมตีระบบของสถาบันทางการเงิน ภัยจากการใช้เงินตราเข้ารหัสลับ(Cryptography) ที่นำไปสู่การฟอกเงิน ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติ การพนันออนไลน์ การถูกครอบงำหรือชี้นำทางความคิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
การล่อลวงเป้าหมายอ่อนแอด้วยวิธีการหาคู่ทางอินเตอร์เน็ต (Romance scam) การระรานทางไซเบอร์ (Cyber bullying) นอกจากนี้ การละเมิดข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตจะเพิ่มขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้องค์กรและรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการกู้คืน
อาชญากรไซเบอร์ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งโจมตีเว็บไซต์แลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย และเว็บไซต์ที่ให้บริการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ อีกทั้งใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน เนื่องจากไม่ปรากฎเส้นทางการโอนเงินเหมือนกับการชำระด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต
ในขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้โอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันและการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งเชื่อมโยงระบบข้อมูลขนาดใหญ่ด้านความมั่นคงของประเทศให้เป็นเอกภาพ
รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งจากรัฐ (States) และตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (Non-State Actors) ที่ใช้ช่องทางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งหมายรวมถึงการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (Critical Infrastructure: CI) และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CI)
@แนะไทยเสริมศักยภาพด้าน ‘สาธารณสุข’ รับมือ ‘โรคติดต่ออุบัติใหม่’
4.โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคระบาด
ปัจจัยทางชีวภาพของเชื้อโรคที่มีวิวัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance) พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้โรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำเพิ่มมากขึ้น
และมีแนวโน้มยกระดับเป็นโรคระบาดที่เป็นเป็นโรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากกว่าปกติที่เคยเป็นมา
ซึ่งกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนพิจารณาได้จากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ยกระดับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic)
หลังจากมีการลุกลามไปหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ได้ส่งผลกระทบในทุกระดับ และเป็นประเด็นระดับโลกที่จำเป็นต้องร่วมมือเพื่อป้องกันและระงับยับยั้งร่วมกันในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขของประชาคมโลกผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำจะเป็นช่องทางให้ประเทศมหาอำนาจแสวงประโยชน์ผ่านความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข เพื่อเสริมบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนวิทยาการทางการแพทย์ องค์ความรู้ในการจัดการ ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแบ่งปัน/จัดสรร เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและป้องกันโรค
สำหรับไทยควรมีการเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขทั้งในด้านงบประมาณ หน่วยงาน บุคลากร และองค์ความรู้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต
(บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
ก่อให้เกิดผลกระทบในมิติความมั่นคงหลายประการและเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางของปัญหาที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย
1) ปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการแบ่งเขต/กำหนดพื้นที่ทางทะเล เนื่องจากการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทำให้เส้นฐาน (Baseline) ที่ใช้ในการกำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าวถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อการกำหนดพื้นที่ทางทะเลต่างๆที่ใช้เส้นฐานในการคำนวณ
2) ปัญหาการขาดแคลนและแย่งชิงทรัพยากรน้ำ อันเป็นผลมาจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้ง จึงมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งหรือกรณีพิพาทระหว่างประเทศต่อปัญหาการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในบริเวณที่มีทรัพยากรน้ำ
3) ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบพิจารณาโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศก่อให้เกิดปัญหาทั้งในมิติด้านความมั่นคง สังคม ทรัพยากรและเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง
4) ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ประชากรโลกมีแนวโน้มเผชิญภาวะอดอยากและการขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น ราคาอาหาร มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตอาหารทันกับความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางน้ำของโลกในระยะยาวยังคงน่ากังวล
โดยประชากรโลกร้อยละ 30 ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และขาดแคลนน้ำดื่ม ซึ่งหากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำและอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอต่อความต้องการ ย่อมเพิ่มความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และ
5) ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน กระบวนการจัดหาพลังงาน การนำเข้าและส่งออกพลังงานฟอสซิลได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศเริ่มหันไปใช้พลังงานสะอาดเพื่อสร้างสังคมปลอดคาร์บอน ดังนั้น ประเทศที่ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลและพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรพลังงาน
โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากต่างประเทศต้องเร่งปรับนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในภาคส่วนการผลิตให้มากขึ้น เนื่องจากการถูกกีดกันด้วยบรรทัดฐานทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
@เสนอ ‘ภาครัฐ’ ต้องปรับวิธีวางนโยบาย รองรับแนวโน้มสังคมสูงวัย
6.การเปลี่ยนแปลงทางภูมิประชากรศาสตร์
คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 พันล้านคน ภายในปี 2030 และภายในปี 2050 ร้อยละ 8 ของประซากรโลกที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นส่งผลให้ภาครัฐต้องมีการบริหารจัดการด้านหลักประกันสุขภาพและสาธารณสุขที่เหมาะสม
ในขณะเดียวกัน ความไม่สอดคล้องกันระหว่างแรงงานและความต้องการทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากแนวโน้มประชากรวัยทำงานที่ลดลงจะก่อให้เกิดความไม่คล่องตัวต่อการสร้างรายได้ของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ประเทศต้องเผชิญกับความต้องการด้านอื่นๆ อย่างเร่งด่วน
โดยไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาสังคมผู้สูงวัยไปพร้อมกับสถานการณ์ในระดับโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทยจะนำมาซึ่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ทั้งในเรื่องปัญหาการขาดแคลนรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์อันเป็นผลมาจากความต้องการด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น
การขาดระบบสวัสดิการที่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัยจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ที่นำไปสู่การปะทะกันทางความคิดและความแตกแยกในสังคม
ดังนั้น ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนวิธีการวางนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับแนวโน้มสังคมสูงวัย และความท้าทายของตลาดแรงงานไทย ตลอดจนการบริหารจัดการไม่ให้อคติช่วงวัยนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
@ห่วงความขัดแย้ง ‘ทะเลจีนใต้’ กระทบส่งออกสินค้าไทย 7 ล้านล้าน
ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับภูมิภาค
1.การแข่งขันและขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาพที่ตั้งของภูมิภาคในการเป็นเส้นทางคมนาคมและแหล่งทรัพยากรพลังงานที่สำคัญ ส่งผลให้มีแนวโน้มการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจและพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่องในห้วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองของจีน
และการที่สหรัฐอเมริกาพยายามคานอำนาจและอิทธิพลของจีนในภูมิภาคทวีความเข้มข้นขึ้น รวมทั้งดึงดูดให้ประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาค อาทิ รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียเข้ามามีบทบาทผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
โดยการแข่งขันและขยายอิทธิพลดังกล่าว ส่งผลต่อการกำหนดท่าที และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศ อาทิ นโยบายเน้นการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ และนโยบายแสวงหาความร่วมมือด้านอื่นๆ จากประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรักษาดุลยภาพในภูมิภาคในอนาคต พิจารณาได้จากกรณีพื้นที่แข่งขันและขยายอิทธิพลที่สำคัญ ดังนี้
1) กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้
สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งเดิมพื้นฐานความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนเหนือพื้นที่ ทะเลจีนใต้ ต่อมาได้ยกระดับเป็นประเด็นระดับโลก โดยมีประเทศภายนอกภูมิภาคเข้ามารักษาผลประโยชน์จากการใช้สิทธิการเดินเรืออย่างเสรี
นอกจากนี้ ยังปรากฎแนวโน้มที่ทะเลจีนใต้จะถูกทำให้เป็นพื้นที่ทางการทหาร (Militarization) ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ ได้แก่ การสะสมกำลังทางทะเลของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาท รวมถึงการนำกำลังของประเทศนอกภูมิภาคมาปฏิบัติการ
อาทิ ปฏิบัติการเดินเรือและบินผ่านอย่างเสรี (Freedom of Navigation Operations: FONOPs) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการฝึกซ้อมทางทหาร ตลอดจนการแข่งขันเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ในรูปแบบอื่น อาทิ การให้บริการเกี่ยวกับกิจการทางทะเล โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในการเดินเรือ และการใช้ยุทธวิธีกึ่งทหารกึ่งพลเรือน (Grey zone activities) เพื่อควบคุมพื้นที่
ทั้งนี้ แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งในประเด็นพิพาทโดยตรง แต่เป็นผู้ใช้เส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ผ่านพื้นที่ดังกล่าว จึงย่อมได้รับผลกระทบหากเกิดการใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามอย่างเปิดเผยหรือเหตุกระทบกระทั่งแบบไม่เจตนา หรือสถานการณ์ความปลอดภัยและความมั่นคงในการชนส่งทางทะเล
การกระทำอันเป็นโจรสลัด จนถึงขั้นกระทบกับผลประโยชน์ของชาติที่ต้องใช้ทะเลในบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อเข้าและออกประเทศไทยได้
นอกจากนี้ หากเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลในพื้นที่ขัดแย้งปิดลง ประเทศไทยจะมีระยะเวลาเตือนภัยเพียง 48 ชั่วโมง เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอันจะส่งผลต่อแหล่งเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การส่งออกและนำเข้าที่ต้องพึ่งพาการลำเลียงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ผ่านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านบาทต่อปี
อีกทั้งไทยยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากประเทศมหาอำนาจเพื่อขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับการแสดงท่าที หรือการดำเนินกิจการในทะเลจีนใต้อีกด้วย ดังนั้น ไทยจึงควรแสดงท่าทีต่อการสนับสนุนในการแก้ไขข้อพิพาทของคู่กรณีต่าง ๆ ผ่านกระบวนการสันติและสร้างสรรค์ เพื่อลดความขัดแย้งในบริเวณพื้นที่ทะเลจีนใต้
(พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ที่มาภาพ : wikipedia)
@ ‘สหรัฐ-จีน’ แข่งขันมีอิทธิพลเหนือ ‘อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง’
2) กรณีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น และเป็นอีกพื้นที่แข่งขันอิทธิพลอย่างเข้มข้นของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ผ่านการดำเนินนโยบายของประเทศตน โดยใช้ช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี เช่น ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน
และการจัดตั้งกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative - LMI) ซึ่งได้ยกระดับเป็นกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง (Mekong-U.S. Partnership) ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
รวมถึงใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของภูมิรัฐศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีของประเทศนั้น ๆ เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งการแข่งขันเพื่อช่วงชิงบทบาทนำระหว่างประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ก่อให้เกิดความท้าทายแก่ประเทศในอนุภูมิภาค
โดยเฉพาะการกำหนดท่าทีและดำเนินนโยบายต่างประเทศ ทั้งการรักษาสมดุลความสัมพันธ์และหลีกเสี่ยงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่นนาประเทศใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ
ดังนั้น การอาศัยกลไกหรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการที่สามารถลดความขัดแย้ง หรือความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากการแข่งขันทางอิทธิพลดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ไทยควรใช้โอกาสดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสร้างสรรค์และมีดุลยภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ
(แนวเส้นทางสายไหมใหม่ตามนโยบาย BRI ของจีน ที่มาภาพ : https://www.maritimesilkroad.org.hk/en/quickFacts/mapsOfMaritimeSilkRoad)
@มอง ‘ชาติอาเซียน’ เผชิญบททดสอบความเป็น ‘เอกภาพ’
2.บทบาทของอาเซียน
เนื่องด้วยความแตกต่างด้านค่านิยม วัฒนธรรม ระดับการพัฒนาระบบการปกครอง จึงเป็นความท้าทายของอาเซียนในการมีกฎเกณฑ์และค่านิยมร่วมกัน ที่อาจส่งผลต่อปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ดังนี้
1) การป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การอำนวยความสะดวกให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านช่องทางชายแดน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ย่อมส่งผลให้มีการเคลื่อนย้าย ทั้งคนและสินค้ามากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และภัยข้ามชาติต่าง ๆ ที่กระทบต่อเสถียรภาพทางความมั่นคงภายในภูมิภาค
2) ความมีเอกภาพของอาเซียน อาเซียนจะเผชิญบททดสอบความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิก และการเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค อันเนื่องมาจากมุมมองเกี่ยวกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน
ประกอบกับสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกที่แตกต่างกันจะกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประเทศสมาชิกในการตอบสนองต่อประเด็นความมั่นคงรูปแบบต่างๆ
ขณะเดียวกัน การมองผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกันย่อมเพิ่มแนวโน้มการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ และประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ในกรอบทริภาคีมากกว่าการดำเนินการผ่านกลไกของอาเซียน ซึ่งจะทำให้อาเซียนขาดพลังต่อรองกับประเทศนอกภูมิภาค รวมทั้งในเวทีระหว่างประเทศ
3) ความเป็นแกนกลางของอาเซียน มีแนวโน้มว่าประเทศมหาอำนาจจะแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาคอย่างเข้มข้นขึ้น ทั้งรูปแบบของการใช้พลังอำนาจทางการเมือง การทหารเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จะส่งผลให้มีการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในภูมิภาค ซึ่งอาเซียนต้องทบทวนบทบาทเกี่ยวกับการคงสถานะความเป็นกลางที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และ
4) มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ให้ความสำคัญกับความร่วมมือภาคพื้นมหาสมุทร เพื่อยืนยันจุดยืนของอาเซียนในเรื่องการกำหนดให้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปชิฟิกเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ร่วมกันด้วยการยึดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
การแสดงบทบาทเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เข้ามาแสวงประโยชน์ในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมและขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
ด้วยเหตุนี้ ไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโอกาสในการดำเนินธุรกิจมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจอาจมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของอาเซียนได้ ปัญหาประชากรจีนย้ายถิ่นฐาน และความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ ซึ่งไทยควรเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมทั้งเพิ่มบทบาทในการเสนอแนวทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามในเวทีการประชุมทุกระดับของอาเซียน
@มองประเทศเพื่อนบ้านพึ่งพา 'มหาอำนาจ' จนส่งผลกระทบดุลยภาพระหว่างประเทศ
3.สถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบบ้าน
มีแนวโน้มที่ประเทศมหาอำนาจจะเข้ามามีบทบาทในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศรอบบ้านเพิ่มมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการสนับสนุนทางการเมือง เศรษฐกิจ และการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งทำให้ประเทศรอบบ้านของไทยมีการพึ่งพามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อดุลยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
นอกจากนี้ ในกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งภายในของประเทศรอบบ้านมีการแทรกแซงจากภายนอก อันเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ทำให้การสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างรุนแรงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ได้ว่านานาชาติอาจเพิ่มการกดดันเพื่อเร่งให้สถานการณ์คลี่คลาย ตลอดจนมีความคาดหวังต่อกลไกอาเซียนหรือกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ในการเป็นช่องทางหรือตัวกลางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่มีสัญญาณการเจรจาประนีประนอม มีแนวโน้มพบความพยายามของประชาชนในการหลบหนีเข้ามาตามแนวชายแดน และความพยายามจัดหาอาวุธจากแหล่งต่างๆ ภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนในการเป็นพื้นที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ หรือการใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่น รวมถึงความพยายามที่จะให้ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นความขัดแย้ง ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจและการค้าชายแดนของไทย
อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถแสดงบทบาทนำในการประสานงานและร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวบนเวทีประชาคมอาเซียนและผ่านกลไกแบบทวิภาคีและพหุภาคีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการกำหนดท่าทีที่เหมาะสม เพื่อดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย
@จับตา 4 ประเด็น กระทบความมั่นคงทางชายแดนไทย-เพื่อนบ้าน
4.ความมั่นคงทางชายแดน
สถานการณ์ความมั่นคงบริเวณชายแดนจะยังคงมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมโดยยังคงพบปัญหาที่สำคัญ ดังนี้
1) ความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดน สืบเนื่องจากกระบวนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทั้งทางบกและทางทะเล ระหว่างไทยกับประเทศรอบบ้านยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องอันเกิดจากปัญหาความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดนที่อ้างอิงแผนที่คนละฉบับ
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ จึงส่งผลให้การดำเนินการบริเวณพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดนเป็นไปด้วยความยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม ไทยควรดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างสูงสุด และควรแสดงท่าทีอย่างสร้างสรรค์ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศในประเด็นเขตแดน เพื่อคงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
2) อาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะปัญหาแหล่งการผลิตในประเทศภายในภูมิภาคในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่อง โดยขบวนการค้ายาเสพติดอาศัยไทยเป็นทางผ่านในการลำเลียงยาเสพติดไปยังประเทศที่สาม เนื่องด้วยการลำเลียงมีความสะดวกกว่าการลำเลียงภายในประเทศเพื่อนบ้าน
รวมถึงยังพบปัญหาการค้าอาวุธ ซึ่งมีปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน การใช้อาวุธสงครามของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อใช้ป้องกันจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ในพื้นที่ชายแดน อาทิ การมีที่ตั้งสำหรับการพนันออนไลน์ในพื้นที่ชายแดน การเป็นที่ตั้งสำหรับกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ โดยประชาชนไทย ทั้งในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นในตกเป็นเป้าหมายของธุรกิจดังกล่าว
ซึ่งไทยควรแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนผ่านกลไกความร่วมมือทวิภาคีในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการข่าวและการปฏิบัติการทางความมั่นคงร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนส่งผลเข้ามายังพื้นที่ชั้นในของประเทศ
3) แรงงานผิดกฎหมายและการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศรอบบ้าน ได้แก่ ความต้องการแรงงานภายในไทย การแสวงหาโอกาสของประชาชนในประเทศรอบบ้าน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศรอบบ้าน
ส่งผลให้เกิดขบวนการนำพาแรงงานผิดกฎหมายโดยลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในพื้นที่ชายแดนมีการสร้างเครือข่ายในระดับประชาชนเพื่อจัดหาแรงงานผิดกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานผิดกฎหมายเข้ามายังในพื้นที่ชั้นในของประเทศ รวมถึงเป็นพาหะของโรคระบาดเดิมและโรคติดต่ออุบัติใหม่
ซึ่งไทยควรสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนชายแดนเพื่อเฝ้าระวังขบวนการนำพาแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการลดขั้นตอนและลดค่าธรรมเนียมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แรงงานจากประเทศรอบบ้านเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางจุดผ่านแดนให้มากขึ้น
(ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และกองทัพภาคที่ 4 แถลงผลการจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564)
4) ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคตามชายแดน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดโรคระบาดช้ำและโรคอุบัติใหม่ในหลายภูมิภาคของโรค ทั้งโรคระบาดในสัตว์ โรคระบาดในคน โรคระบาดทั้งคนและสัตว์ และโรคระบาดในพืช โดยเฉพาะในพื้นที่ประชากรหนาแน่นอย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประกอบกับประเทศรอบบ้านมีระดับทางสาธารณสุขที่แตกต่างจากประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคตามแนวชายแดนทั้งที่เกิดในมนุษย์และสัตว์ ซึ่งไทยควรมีการเตรียมพร้อมด้านความรู้ด้านสาธารณสุขในเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนทุกระดับรวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้นำเข้าสินค้าประเภทสัตว์และเนื้อสัตว์สด
นอกจากนี้ ควรแสวงหาความร่วมมือกับประเทศรอบบ้าน เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขและสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชายแดนที่จะเข้ามายังพื้นที่ชั้นใน
@มองปัญหา ‘ความมั่นคงทางทะเล’ อาจส่งผลให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
5.ความมั่นคงทางทะเล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายมิติที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป ดังนี้
1) การแย่งชิงผลประโยชน์และการแข่งขันทางทะเล มีสัญญาณแนวโน้มเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค เช่น การแข่งขันด้านอิทธิพลทางทะเลของประเทศมหาอำนาจการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การอ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลในบริเวณทะเลจีนใต้ ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการรุกล้ำน่านน้ำเพื่อทำการประมง
ซึ่งสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนดังกล่าว จะสร้างความหวาดระแวงและส่งผลให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายในภูมิภาค รวมถึงอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ประเทศคู่กรณีหรือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีความต้องการเสริมสร้างกำลังทางทหารเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างความจำเป็นในการปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศ
2) ความปลอดภัยและอาชญากรรมทางทะเล ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คนตกงานและมีแรงงานว่างงานเป็นจำนวนมาก เป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลให้มีแนวโน้มการก่อเหตุปล้นเรือและโจรสลัดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น
ตลอดจนการใช้ส้นทางทางทะเลเพื่อลักลอบเข้าเมืองและแสวงหาอาชีพในต่างแดนแทนการเดินทางทางอากาศเนื่องจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้สายการบินระหว่างประเทศมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางอย่างเข้มงวดและปรับลดการให้บริการ
นอกจากนี้ การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายบริเวณชายแดนทางบก อาจส่งผลให้กลุ่มอาชญากรปรับรูปแบบการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ โดยใช้เส้นทางทางทะเลเพิ่มขึ้น อาทิ การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย การลักลอบขนส่งยาเสพติด สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน และการค้าอาวุธผิดกฎหมาย
ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่หลากหลายในการก่ออาชญากรรมทางทะเลส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการและแนวทางอย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันและปราบปรามการก่อเหตุดังกล่าว และ
3) ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ ทั้งในเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือแพลงก์ตอนบลูม อย่างไรก็ดี แนวโน้มกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างรุนแรงและกว้างขวาง อาทิ การรั่วไหลของน้ำมัน จากการขนส่งทางทะเล
นอกจากนี้ ในห้วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณขยะทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งหากการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพจะกลายเป็นขยะพลาสติกไหลออกสู่ทะเล
นอกจากนี้ การแสวงหาและใช้ประโยชน์ที่ไม่คำนึงถึงขีดจำกัดและศักยภาพในการพื้นตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากขึ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางทะเลจำเป็นจะต้องเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
รวมทั้งการเสริมสร้างองค์ความรู้และความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทะเลอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่งหากมีการจัดตั้งองค์กรจัดการความรู้ทางทะเลในอนาคต จะเป็นส่วนเสริมให้การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(ภาพคราบน้ำมันตามแนวชายหาดแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง ในช่วงเดือน ก.พ.2565)
@ต้องเฝ้าระวัง 4 อาชญากรรมข้ามชาติ 'ค้ายา-ลักลอบเข้าเมือง'
6.ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
เป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญในภูมิภาคและมีความซับซ้อนเชื่อมโยงระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญที่ควรเฝ้าระวัง ดังนี้
1) การลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งจะมีการขยายตัวในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ โดยมีปัจจัยเร่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งที่หลากหลายขึ้น
สำหรับไทยจะยังประสบปัญหาการป้องกัน แก้ไข และปราบปรามการค้ายาเสพติด เนื่องจากเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศรอบบ้านมีความทับซ้อนในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เป็นพื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทางของการลักลอบขนส่งยาเสพติด
2) การปลอมแปลงเอกสาร แม้ในปัจจุบันการลักลอบผลิตและจัดหาเอกสารปลอมโดยประเทศในภูมิภาคได้ลดลงไปอย่างมาก แต่ยังคงพบขบวนการลักลอบการปลอมแปลงเอกสารเคลื่อนไหวอยู่อีกหลายกลุ่ม โดยมักเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์และธนบัตรปลอม
รวมถึงการปลอมแปลงดวงตราประทับวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และมีการปลอมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะใบรับรอง การไม่ติดเชื้อหรือรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรค เพื่อให้บุคคลสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ในห้วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
3) การลักลอบเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ มีปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูดของประเทศต้นทางและปลายทางที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนและแรงงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น โดยมีการแสวงประโยชน์จากคนในพื้นที่ตามแนวชายแดนร่วมกับขบวนการค้ามนุษย์ในการอำนวยความสะดวก และจัดหาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศในภูมิภาครวมถึงไทยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงบริเวณพื้นที่ชายแดนร่วมกับประเทศต้นทาง และ
4) การฟอกเงิน การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่ทันสมัย รวมถึงการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของคน เงิน และข้อมูลดิจิทัลได้ส่งผลให้การฟอกเงินมีรูปแบบที่ชับซ้อนมากกว่าในอดีต และมักจะมีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่นๆ อาทิ การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ การหลอกลวงผ่านอีเมล์และการลักลอบค้าสัตว์ป่า
โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านช่องทางธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการเปิดธุรกิจบังหน้า การรับจ้างเปิดบัญชี การให้บริการโอนเงิน และแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับไทยที่จะถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงินขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายได้
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบและเผชิญกับประเด็นท้าทายอันเนื่องจากการก่ออาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว เนื่องจากเป็นที่ตั้งและศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการสัญจรระหว่างประเทศที่สำคัญของภูมิภาคและเป็นแหล่งพักพิงและพื้นที่ปฏิบัติการของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ
@เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเสี่ยงเผชิญ ‘ปัญหาก่อการร้าย’
7.การก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาจากการบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงโดยกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่น โดยมีความพยายามเผยแพร่อุดมการณ์และแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง เพื่อแสวงหาแนวร่วมก่อเหตุในอนาคต โดยเฉพาะผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในภูมิภาคตะวันออกกลางและในอัฟกานิสถานที่ยังไม่แน่นอน มีสัญญาณแนวโน้มส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters) เดินทางไปรวมกลุ่มในพื้นที่หรือนำอุดมการณ์ที่นิยมความรุนแรงกลับมาก่อเหตุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งทำเลที่ตั้งของไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางระหว่างประเทศที่สำคัญในภูมิภาคอาจถูกใช้เป็นทางผ่าน แหล่งพักพิง และแหล่งจัดหาวัสดุอุปกรณ์
นอกจากนี้ แนวโน้มการก่อเหตุของผู้ปฏิบัติการโดยลำพัง (Lone Actor) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในระยะหลังบ่อยครั้งเป็นปฏิบัติการจากสตรีและเยาวชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเฝ้าระวังและติดตามของเจ้าหน้าที่ และมักจะก่อเหตุในพื้นที่เปราะบาง อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศาสนสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ
@ประเมินความมั่นคง 3 สถาบันหลัก ‘ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์’
ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับประเทศ
1.ความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ประกอบด้วย 3 สถาบันสำคัญ ได้แก่
1) สถาบันชาติ ไทยเข้าสู่ความเป็นพหุสังคมมากขึ้น และมีการแสดงพลังในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งการรวมกลุ่มดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการอยู่ร่วมกันของคนในชาติภายใต้สังคมที่มีความหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมีแนวโน้มก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในอัตลักษณ์และความหลากหลายระหว่างกลุ่ม ทั้งในเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปรองดองสมานฉันท์ของคนในสังคมและความมั่นคงของชาติในภาพรวมได้
รวมถึงการปรับเปลี่ยนเชิงความคิดในระดับปัจเจกบุคคลที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากผลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประกอบกับแนวโน้มของพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสดงออกทางความคิดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมมากขึ้นโดยชุดความคิดดังกล่าวมีความแตกต่างกับแนวความคิดเดิม
ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ เช่น บทบาทการมีส่วนร่วมและทัศนคติของเด็กและเยาวชนต่อการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันหลักของชาติ การสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นต้น
2) สถาบันศาสนา สังคมไทยมีความหลากหลายทางด้านการนับถือศาสนา ส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและขนมธรรมเนียมประเพณี
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้าใจในหลักคำสอนที่แตกต่างออกไปเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความไม่เข้าใจระหว่างกันและการบิดเบือนคำสอนของแต่ละศาสนาในประเทศ ดังปรากฎความขัดแย้งที่เห็นต่างระหว่างผู้นับถือต่างศาสนาในบางพื้นที่ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถแก้ไขร่วมกันตามแนวทางสันติวิธีในพื้นที่ได้ และ
3) สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญและผูกพันกับสังคมไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ซึ่งการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์รวมจิตใจ ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ เนื่องมาจากสมเด็จพระบูรพมหากษัตรยาธิราชทุกพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างเป็นอเนกประการ
โดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริรวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงาน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ปวงชนชาวไทย
ทั้งนี้ ในห้วงที่ผ่านมา ประชาชนบางกลุ่มจะขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดในหมู่ประชาชน และทัศนคติความเห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
(ภาพการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า 'ประชาชนปลดแอก' อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563)
@จับตากลุ่มปลุกระดมมวลชนด้วยการ 'บิดเบือนข้อมูล-เผยแพร่ข้อมูลเท็จ’
2.สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
มีจุดเปลี่ยนสำคัญเนื่องจากประชาชนที่มีความหลากหลายทางอายุ อาชีพ และสถานะทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นในการแสดงทัศนะต่อปัญหาเชิงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง โอกาสและการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน และการชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลในการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อาทิ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านให้ลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในสังคม
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตและการทำงานมากขึ้น
ซึ่งในส่วนของการชุมนุมได้เปลี่ยนรูปแบบจากการชุมนุมทางกายภาพมาเป็นการชุมนุมประท้วงโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มอาศัยความได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีจัดตั้งกลุ่มบุคคลและองค์กรพลังมวลชนต่างๆ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ผ่านเครื่องมือเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น การปลุกระดมมวลชนด้วยการบิดเบือนข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นเท็จ เป็นต้น
3.สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย
1) เงื่อนไขระดับบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยบางกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ได้นำเงื่อนไขความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์มาสร้างความชอบธรรมในการต่อสู่ตามเป้าหมาย/อุดมการณ์
2) เงื่อนไขระดับโครงสร้าง จากข้อจำกัดของโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ และ
3) เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม ที่ประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังรู้สึกแปลกแยกจากสังคมไทย โดยแนวโน้มสถานการณ์ระยะต่อไป คือ การก่อเหตุนแรงลดลง แต่จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนงานและกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงที่ผ่านมา และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
นอกจากนี้ ปัญหาภัยแทรกซ้อนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความหวาดระแวงและความเข้าใจระหว่างกัน ยังคงเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจมีความรุนแรง และมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความปลอดภัยและความสันติสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการลดเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะความหวาดระแวง ความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ควบคู่กับการยุติเหตุความรุนแรงในพื้นที่และขยายผลการพัฒนาให้สอดคล้องตามศักยภาพของพื้นที่ต่อไป
4.ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง
การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกที่ผ่านมาไทยได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) กลุ่มที่อพยพเข้ามานานและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือออกไปยังประเทศที่สามได้จึงยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย ย่อมก่อให้เกิดปัญหาปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานและบุตรในระยะยาว
2) กลุ่มที่อพยพเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยมากเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายจากประเทศรอบบ้านผ่านช่องทางชายแดนธรรมชาติ
3) กลุ่มที่อพยพเข้ามาเนื่องจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงจากประเทศทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจำเป็นต้องมีแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ
4) กลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายแต่มีการลักลอบอาศัยอยู่ในไทยต่อภายหลังจากที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลง และกลุ่มที่ปลอมแปลงเอกสารเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลักลอบทำงาน หรือการแฝงตัวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
@ผู้เข้าสู่วงจรยาเสพติด ‘รายใหม่’ มีแนวโน้มสูงขึ้น-วัยแรงงานเสพมากขึ้น
5.ปัญหายาเสพติด
มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยอุปทานสูงขึ้น โดยสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ยังคงสามารถลำเลียงเข้าสู่แหล่งผลิตได้ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการ โดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้การผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำขยายตัวมากขึ้น
ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านเป็นช่องโหวให้ผู้ค้ายาเสพติดฉกฉวยโอกาสในการเร่งผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย โดยใช้ระบบคมนาคมที่มีความสะดวกในการลำเลียงจากพื้นที่ชายแดนภาคเหนือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านทางแม่น้ำโขง
และการลักลอบนำเข้ายาเสพติดทางทะเลในบางจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งมายังพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ตลอดจนใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งต่อยาเสพติดไปยังประเทศที่สาม
แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกัน แก้ไข และปราบปรามเพื่อลดอุปทานยาเสพติด การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และการป้องกันเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง แต่อุปสงค์และอุปทานยาเสพติดยังคงมีเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากกลยุทธ์ทางการค้าของกลุ่มนักค้ายาเสพติด ราคายาเสพติดถูกลง และปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้ยาเสพติดในประเทศเพิ่มขึ้น
โดยพบว่าผู้เข้าสู่วงจรยาเสพติดรายใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งผู้เสพและผู้ค้า ผู้กระทำผิดซ้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งผู้เสพและผู้ค้าจากปัจจัยมุมองของสังคมต่อผู้เสพ และผู้ต้องโทศคดียาเสพติดที่เอื้อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถมีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมได้
จึงมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำ จนส่งผลให้เกิดปัญหานักโทษคดียาเสพติดลันคุกที่เกี่ยวเนื่องตามมา ผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชร่วมด้วยมีแนวโน้มสูงขึ้น การใช้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมีแนวโน้มและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูงในการเสพยาเสพติดที่ผสมกันหลายชนิด หรือ Cocktail Drugs รูปแบบใหม่ๆ ที่แพร่ระบาดและสร้างผลกระทบมากขึ้น วัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีแนวโน้มการใช้ยาเสพติดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ขบวนค้ายาเสพติดยังคงสรรหาวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ และแสวงหาโอกาสจากรูปแบบการส่งยาเสพติดทางพัสดุไปรษณีย์ การค้ายาเสพติดผ่านช่องทางออนไลน์ในการสร้างช่องทางจำหน่าย โฆษณา และขยายโครงข่ายการค้ายาเสพติดให้เข้าถึงกลุ่มผู้เสพมีความหลากหลายรูปแบบและในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการขยายตัวของอาชญากรรมดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดผ่านช่องทางบล็อกเขน และสกุลเงินดิจิทัล ทำให้การติดตามตรวจสอบ เพื่อระบุตัวตนทำได้ยากขึ้น เป็นอีกช่องทางของการค้ายาเสพติด และการฟอกเงิน ด้วยเหตุนี้ ปีญหายาเสพติดจึงเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาหลายประการ
เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจของประชาชน ปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประชาชนและของชาติโดยรวม
(กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แถลงผลการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564)
6.ปัญหาการค้ามนุษย์
ประเทศไทยอยู่ในสถานะเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของกระบวนการค้ามนุษย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองและช่วยเหลือการพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน ตลอดจนการพัฒนาและการบริหารจัดการข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการกระทำความผิด เนื่องจากผู้ค้ามนุษย์เปลี่ยนรูปแบบการกระทำความผิดของตนมาดำเนินการที่ผิดกฎหมาย (to conduct illegal activities) ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยรูปแบบการค้ามนุษย์ที่พบบ่อย แบ่งออกเป็น
1) รูปแบบการค้าประเวณีโดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร
2) รูปแบบการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ โดยการหลอกผู้เสียหายทั้งเด็กหญิง เด็กชาย และผู้หญิงมาผลิตสื่อลามกอนาจาร (Child Sexual Abuse Material) และ
3) รูปแบบการหลอกลวงโฆษณาจัดหางานผ่านช่องทางสื่อสังคมโชเซียล เพื่อชักชวนผู้เสียหายโดยเฉพาะผู้เสียหายคนไทยให้ไปทำงานต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศเมียนมา ประเทศลาวประเทศกัมพูชา และประเทศในแถบประเทศตะวันออกกลางที่ไม่บังคับให้มีมาตรการในการกักตัว จึงทำให้มีจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวไทยในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งในส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมายยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหรือประชาชนจากประเทศเมียนมาที่หนีภัยการสู้รบ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ตกเป็นกลุ่มเปราะบางและมีแนวโน้มถูกแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มนายหน้า ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว โดยเพิ่มมาตรการในการคัดแยกผู้เสียหายตามชายแดนมากขึ้น
นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติในภาพรวมของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
@‘กลุ่มทุนขนาดใหญ่’ ถือครองกำไรส่วนใหญ่-มีอำนาจกำหนดราคาสินค้า
7.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ความแตกต่างทางรายได้ ปัญหาการขาดโอกาสเชิงเศรษฐกิจของประชาชนในบางกลุ่มบางพื้นที่อันเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสามารถนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ หรือส่งผลให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงมากขึ้น
เช่น ปัญหาความยากจน การเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ปัญหาการก่ออาชญากรรม ปัญหายาเสพติด เป็นต้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะยังคงถือครองกำไรส่วนใหญ่ และมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้ภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยเกิดความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ การเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ก่อให้เกิดธุรกิจรายย่อยและแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform labor/Gig worker) จำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มแรงงานในธุรกิจใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินเศรษฐกิจของสังคมเมืองและยังไม่มีหลักประกันในการทำงานหรือสวัสดิการที่เหมาะสม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน และความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ
อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคในระดับปัจเจกที่เปลี่ยนแปลงไปได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้น อาทิ การลักลอบค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การค้าน้ำมันเถื่อนการโจรกรรม การลักลอบค้าพาหนะข้ามแดน และการพนันออนไลน์
@การทุจริตในภาครัฐ ‘กระจายตัว’ ไปยังทุกระดับของสังคม
8.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
แม้ว่าในห้วงที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังผ่านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) แต่จากการจัดอันดับความโปร่งใสของไทยและอันดับการรับรู้การทุจริตของประเทศได้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การทุจริตคอรับชันของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีความน่าเป็นห่วง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตในภาครัฐที่มีการกระจายตัวไปยังทุกระดับของสังคม ซึ่งทำให้สาธารณชนเห็นการทุจริตเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐได้เกี่ยวพันกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามอื่น ๆ อาทิ ยาเสพติด ผู้หลบหนีเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และการฟอกเงิน
ส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงและชับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลภาครัฐ และระบอบประชาธิปไตยตามลำดับ
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล)
8.สาธารณภัยและภัยพิบัติ
ไทยยังคงต้องเผชิญกับสาธารณภัยที่ท้าทาย ได้แก่
1) ภัยที่เกิดจากทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศแปรปรวนระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น เกิดภาวะแล้งจัด พายุหมุน การกัดเซาะชายฝั่งทะเล วาตภัย มหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก โรคระบาด และการเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีภัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ ไฟป่าและหมอกควัน เป็นสาธารณภัยที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน และมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนปัญหาสาธารณภัยที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบและสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ อาทิ ปัญหาอุทกภัยจากการผันน้ำออกจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ทำให้หลายหน่วยงานต้องบูรณาการการทำงานเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและลดความขัดแย้งดังกล่าว และ
2) ภัยที่เกิดจากกระทำของมนุษย์ อาทิ ภัยจากสารเคมีอัคคีภัย ภัยจากการคมนาคมที่เป็นอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ การปล่อยของเสียและขยะมูลฝอยจากโรงงานอุตสาหกรรม ภัยจากมลพิษทางอากาศประเภท PM2.5 ที่มีสาเหตุหลักจากการเผาในที่โล่งของภาคเกษตรกรรม และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากการคมนาคมขนส่งและภาคการผลิต การตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า
การใช้ทรัพยากรโดยขาดความสมดุลเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสังคมเมืองย่อมส่งผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสาธารณภัยที่มีความถี่ และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นด้วยการประเมินให้เข้าใจความเสี่ยง การป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม และการฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิมมากขึ้น เพื่อให้ความสูญเสียด้านชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนและประเทศลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
9.ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เกิดจากปัจจัยสำคัญทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ ขยะมูลฝอย ความเสื่อมโทรมของดินและน้ำ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุหลักที่สำคัญ
คือ การบุกรุกแผ้วถางป่าและครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยของประชาชน การลักลอบเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอากาศ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก การลักลอบตัดและค้าไม้หวงห้ามและไม้มีค่าต่างๆ จำนวนมาก เพื่อนำไปจำหน่ายแก่นายทุนอย่างผิดกฎหมาย
การออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการกำหนดแนวเขตป่าไม้ และที่ดินของรัฐ เนื่องจากเทคโนโลยีในการจัดทำแผนที่ในอดีตไม่สามารถกำหนดรายละเอียดขอบเขตพื้นที่ป่าไม้ได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ไม่มีการกันพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่ก่อนประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนของฤดูกาล
ส่งผลให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากสาธารณภัยนำไปสู่ภัยพิบัติที่รุนแรงและสร้างความเสียหายในวงกว้างมากขึ้นซึ่งการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
เหล่านี้ คือ บทวิเคราะห์และมุมมองของ สมช. เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผ่านร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) ที่ได้มีการเสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ และ สมช. จะนำร่างนโยบายฯไปปรับปรุงรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาในภาพรวมต่อไป