"...10 ประเด็นสิทธิมนุษยชนในปี 2567 เป็นประเด็นที่มีการสร้างบรรทัดฐาน มีผลอย่างต่อเนื่องระยะยาว เช่น มีการออก กฎหมาย กฎ หรือระเบียบ ที่มีความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิ มนุษยชน มีนโยบายหรือแผนงานรับรองประเด็นสิทธิมนุษยชนใหม่..."
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 เพื่อรวบรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นไป
สำหรับกรอบแนวคิดในการรวบรวมและจัดทำรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีความก้าวหน้าที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อประเทศโดยรวม และประเด็นที่ยังไม่มีความก้าวหน้าหรือถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง ดังนี้
-
กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาอนุสัญญาทั้ง 9 ฉบับ (ไทยรับรอง 7 ฉบับ)
-
ด้วยเหตุที่การใช้อำนาจของเจ้าหน้ารัฐ มีหน้าที่ในการเคารพ การปกป้องคุ้มครองและทำให้บรรลุผลสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการกำหนด กฎหมาย นโยบาย แผนงาน หรือโครงการ รวมทั้งการประกันสิทธิ โดยสถาบันตุลาการ ดังนั้นการพิจารณาความก้าวหน้า หรือถดถอยต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย นโยบาย การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือคำพิพากษาของศาล
โดย 10 ประเด็นสิทธิมนุษยชนในปี 2567 เป็นประเด็นที่มีการสร้างบรรทัดฐาน มีผลอย่างต่อเนื่องระยะยาว เช่น มีการออก กฎหมาย กฎ หรือระเบียบ ที่มีความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิ มนุษยชน มีนโยบายหรือแผนงานรับรองประเด็นสิทธิมนุษยชนใหม่ มีคำพิพากษาของศาลที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม) หรือมีกรณีการพัฒนาสิทธิโดยประชาชน
มีรายละเอียด ดังนี้
สมรสเท่าเทียม ได้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์
ในปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ .... พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ซึ่งในชั้นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้มีสมาชิกสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯด้วย ในที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ในชื่อ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ฉบับที่ 24 พ.ศ.2567
นอกจากทำให้บุคคลทุกเพศสภาพทุกเพศวิถีจดทะเบียนสมรสกันได้แล้ว สิ่งที่บุคคลที่เป็นคู่สมรสทุกเพศวิถี (รวมถึงคู่สมรสชาย-หญิง) ได้รับร่วมกันคือ การทำให้บุคคลทุกเพศมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการฟ้องหย่าและเรียกร้องร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่มีความสัมพันธ์ “ประพฤติทำนองชู้” (ยกเลิกคำว่า “ชู้สาว”) กับคู่สมรสได้ไม่ว่าโดยการยินยอมร่วมกันนอกใจหรือโดยถูกบังคับล่วงละเมิด (เดิม มาตรา 1523 ระบุให้สามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายหรือหญิงซึ่งล่วงเกินภรรยาตนได้ ขณะที่ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนได้เฉพาะ “หญิง” ที่มีความสัมพันธ์เชิงชู้กับสามีของตนโดยเปิดเผยเท่านั้น) ทั้งนี้การจดทะเบียนสมรสใต้ ปพพ. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 24 นี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ถือเป็นการความก้าวหน้าด้านสิทธิพลเมือง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และหลักการยอกยาการ์ตาด้านสิทธิการจัดตั้งครอบครัว ความเสมอภาคทางเพศวิถี
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ความก้าวหน้าด้านบริการสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขประกาศความก้าวหน้านโยบาย 30 รักษาทุกโรค รักษาทุกที่ การขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว จะสามารถยกระดับการบริการด้านสุขภาพของหน่วยให้บริการ ให้อำนวยความสะดวกประชาชน โดยไม่ต้องรอคิวมาก รอรับยานาน ตรวจเสร็จรับยาที่บ้าน Health Rider ที่ผ่านมา ประชาชนพอใจการได้รับบริการเกือบ 100 %
การให้บริการได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง สธ. ร้อยละ 99.7 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ มีการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นและไลน์หมอพร้อมทั่วประเทศ มีการนัดหมายและดำเนินการบริการระบบการแพทย์ทางไกล ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล และมีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider ที่ช่วยลดความแออัดในการรอรับยาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก
สสส. ถือเป็นความก้าวหน้าทางด้านการบริการภาครัฐ ที่กำหนดเป็นนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริการด้านสาธารณสุขที่เข้าถึงและได้บริการอย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองต่อปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะได้รับบริการจากรัฐที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ 2560 มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 คุณภาพชีวิตที่ดี (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยการดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการทางสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกัน ยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่น ในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน (2) มารดาและเด็กย่อมมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
ศาลรับฟ้องคดีสลายชุมนุมตากใบ หลังผ่านมาเกือบ 20 ปี
ศาลนราธิวาสรับฟ้องคดีสลายชุมนุมตากใบเมื่อปี 47 หลังเหตุเกิดผ่านมาเกือบ 20 ปี สสส. มีความเห็นว่าแม้การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการสอบสวนคดีอาญาเพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบการสั่งการให้จับผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาฟ้องคดีได้ จนกระทั่งญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องฟ้องคดีเอง และผู้ถูกฟ้องคดีได้หลบหนีคดีไม่สามารถนำตัวผู้กระทำมาศาลเพื่อพิสูจน์ความถูกผิดของคดี จนทำให้คดีเป็นอันขาดอายุความ ก็ตามแต่การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องคดีการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกรณีตากใบ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการยืนยันสิทธิของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิตามที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
หมายความว่าผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมชุมสามารถฟ้องคดีต่อศาลให้ผู้รับผิดชอบต้องได้รับการพิสูจน์คดีในศาล และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถูกฟ้องคดีย่อมสามารถใช้สิทธิยกข้อต่อสู้ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าตนกระทำการโดยถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย สามารถใช้สิทธิเพื่อให้มีการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน ได้รับความเสมอภาคในการพิจารณาคดีจากศาลและคณะตุลาการ และสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
การรับฟ้องคดีนี้แสดงให้เห็นว่าศาลไทยมีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง อันเท่ากับว่าศาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เริ่มให้การยอมรับและนำหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาปฏิบัติ
นอกจากนี้การรับฟ้องคดีตากใบ จะเป็นต้นธารของการใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในอนาคตเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงและทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม อาจถูกดำเนินคดีได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (กฎหมายห้ามการทรมานและอุ้มหาย) หากดำเนินการจับกุมโดยขัดต่อข้อบัญญัติของกฎหมายนี้ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาการบังคับให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติที่ประเทศไทยลงนาม และจะให้สัตยบันต่อไป
สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี
กรณีศาลจังหวัดระยอง พิพากษาให้ บริษัท‘วิน โพรเสส’ ชดใช้ 1.7 พันล้าน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ฟ้อง
ศาลจังหวัดระยอง มีคำพิพากษาให้บริษัทวิน โพรเสส จำกัด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อฟื้นฟูดิน และน้ำที่มีการปนเปื้อนมลพิษให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จำนวน 1,700 ล้านบาท ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฟ้องเอาผิดทางแพ่ง
สืบเนื่องจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด รับจ้างขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมจากโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตต่างๆ เพื่อดำเนินการบำบัดกำจัด แต่กลับนำมากองเก็บไว้และลักลอบฝัง หรือ เททิ้ง (กรณีเป็นของเหลว) ในพื้นที่โรงงานและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ต่อมา ปี 2563 กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน และตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ภายหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหนองพะวา เมื่อปี 2560
ผลการตรวจสอบและตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ กรณีคุณภาพน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน พบว่ามีสภาพเป็นกรดเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากการฝังกลบของเสียปนเปื้อนสารพิษภายในโรงงาน และมีการซึมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยผลตรวจตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงานทั้งหมด 8 จุด พบการปนเปื้อน 7 จุด, ผลการตรวจคุณภาพน้ำภายในโรงงาน 2 จุด มีสภาพเป็นกรดสูงและพบค่าตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตารฐาน รวมทั้งมีการปนเปื้อนโลหะหนักอื่นอีกหลายชนิด, ผลตรวจคุณภาพน้ำใต้ดิน 12 จุด มีค่าสารหนูไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน, ผลตรวจบ่อน้ำในสวนยางพาราข้างโรงงาน (สวนลุงเทียบ) มีสภาพเป็นกรดสูงที่สุด ส่วนผลตรวจตัวอย่างดิน 6 จุด มีสภาพเป็นกรดปานกลาง-รุนแรงมาก
สรุปได้ว่า โรงงานวิน โพรเสสฯ เป็นแหล่งก่อกำเนิดของการรั่วไหลและแพร่กระจายมลพิษ ลงสู่บ่อน้ำของชาวบ้านและแหล่งน้ำสาธารณะ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุให้พื้นที่การเกษตรบริเวณนั้นเสียหาย เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
สั่งนายกฯ แก้ฝุ่นภาคเหนือ โดยไม่ต้องรอคดีสิ้นสุด
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ โดยไม่ต้องรอคดีสิ้นสุด ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นตามศาลปกครองเชียงใหม่ในคดีที่มีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกันควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 (PM2.5) ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพราะมิได้เป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หรือจะเป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่จะมีคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วยนักวิชาการมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และภาคประชาชน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญในคดี คือ (1) ให้นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1) ใช้ มาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ให้มีคำสั่งหน่วยงานอย่างเข้มงวดแก้ปัญหา (2) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปฏิบัติตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) “แก้มลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศมาตั้งแต่ปี 2562
ลดขั้นตอน แก้ปัญหาสัญชาติกว่า 4.8 แสนคน
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทย
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559
ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร [ชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ (กลุ่มเป้าหมาย 19 กลุ่ม)] ที่รอการพิจารณากำหนดสถานะในปัจจุบัน จำนวน 483,626 คน ให้ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร) หรือสัญชาติไทยอย่างรวดเร็ว
โดยมีการปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสถานะของบุคคลในประเด็นต่าง ๆ เป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน
มติคณะรัฐมนตรีกรณีนี้ ไม่ได้เป็นการให้สัญชาติไทยกับคนต่างด้าวผู้ใดหรือกลุ่มใด แต่เป็นการให้สัญชาติแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีเป็นคนชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์เดิมที่มีสิทธิอยู่แล้ว โดยรัฐมีฐานข้อมูลคนเหล่านี้ ที่กรมการปกครองออกบัตรมีเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวบุคคลและรัฐได้เคยมีนโยบายที่จะให้บุคคลเหล่านั้นและครอบครัวมีถิ่นที่อยู่ถาวรหรือให้สัญชาติไปเป็นเวลานานกว่าสิบปีมาแล้ว คนเหล่านี้บางคนหรือบางกลุ่มจึงได้ยื่นเรื่องขอลงรายการสัญชาติไทย เนื่องจากมีคุณสมบัติมีสัญชาติไทย แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนต่างๆ ดำเนินการอย่างล่าช้ามาก บางกรณีกว่า 20 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ในอดีตคนจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอยู่เมืองไทย ต่างกลายเป็นคนต่างด้าว ลูกหลานที่เกิดในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ ต่อมารัฐมีนโยบายให้สัญชาติแก่คนจีนและลูกหลาน จนกลายเป็นคนไทยที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือสังคมไทยทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมมาจนทุกวันนี้
สสส.จึงเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเด็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567
ถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ประเทศไทยยินยอมที่จะถูกผูกมัดภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ด้วยการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
มติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติได้รับความคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้ หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินงานในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานของเด็กได้อย่างครอบคลุม
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยและเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน สอดคล้องกับคำมั่นที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ และมุมมองด้านบวกต่อประเทศไทย และยังลดการแทรกแซงหรือตั้งคำถามที่ไม่จำเป็นในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อประเทศไทย
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ในปี 2535 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ ตั้งข้อสงวนมาตราที่ 22 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย การถอนข้อสงวนในครั้งนี้หมายถึงประเทศไทยได้ให้คำมั่นที่จะคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสถานะของพวกเขา เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคน
การประกาศถอนข้อสงวนอย่างเป็นทางการได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อหลักสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้แสดงความมุ่งหวังว่าการถอนข้อสงวนครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทยรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัย และการถอนข้อสงวนครั้งนี้ยังแสดงถึงเจตจำนงของประเทศไทยต่อหลักสิทธิเด็ก และพันธกรณีของรัฐบาลที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศของตน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และจะต้องจัดทำรายงาน UPR เป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศได้รับการยกระดับ และปรับปรุงที่จะสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
ไทยร่วมภาคีอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสาบสูญ
ไทยยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)
มติของ ครม. จากการประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED และจะมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายและแนวปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ยกเว้นข้อบทบัญญัติที่ 42 ที่จะไม่มีผลผูกพัน โดยบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีการนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
การเข้าเป็นภาคี ICPPED ของไทยส่งผลให้ไทยมีพันธะกรณีสำคัญ โดยเฉพาะการขจัดการการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งสอดรับกับการที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment of Punishment: CAT) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 (มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550) อันมีหลายหลักการที่คล้ายกัน
การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวทำให้ไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ซึ่งการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีดังกล่าว
นับเป็นหมุดหมายสำคัญของไทยในการปฏิรูปกฎหมาย โดยกำหนดให้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าลักษณะตามกฎหมายกำหนดเป็นความผิดทางอาญา ฐานการกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมวางมาตรการป้องกัน ปราบปรามการกระทำดังกล่าว และมาตรการเยียวยาที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT และ ICPPED
จากนี้ ผลของการให้เข้าเป็นภาคี ICCPEFD นี้ จะทำให้ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์การบังคับหายสาบสูญต่อคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับหายสาบสูญ (The Committee on Enforced Disappearance) แห่งสหประชาชาติ (The United Nations) เป็นระยะๆ และกรณีคนหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
สิทธิชุมชน : กรณีความก้าวหน้าไปของป่าชุมชน
วิวาทะ “คนอยู่กับป่าได้หรือไม่” เกิดขึ้นตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 รัฐมีนโยบายอพยพคนออกจากป่า เพื่อพิสูจน์ว่าคนอยู่กับป่าได้ ภาคประชาชนและชุมชนจึงลุกขึ้นมาต่อสู้และร่วมผลักดันให้เกิดป่าชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และต่อมารัฐได้ยอมรับการมีอยู่ของสิทธิชุมชนด้วยการบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 46
อย่างไรก็ตามถ้อยคำ “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ที่ปรากฎอยู่ในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวและความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายของนักกฎหมายไทยที่มีอำนาจในการตีความ ได้ส่งผลให้สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ไม่สามารถเกิดมีผลขึ้นได้ในความเป็นจริง ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) มาตรา 66 มาตรา 67 จึงได้ตัดถ้อยคำ “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) มาตรา 43 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
แม้ในปัจจุบันข้อสรุปของวิวาทะที่ว่า คนอยู่กับป่าได้หรือไม่จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ปีนี้การต่อสู้ของภาคประชาชนและชุมชนในการจัดการป่าชุมชน ก็มีความคืบหน้ามากขึ้นไปอีกก้าว โดยเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งป่าชุมชน การจัดการป่าชุมชน การควบคุมดูแลป่าชุมชน การเพิกถอนป่าชุมชน และการอื่นที่จำเป็นในพื้นที่อื่นของรัฐ
ไทยยอมเข้าสู่กระบวนการทบทวนรายงาน CAT
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ตามอนุสัญญาCAT ไทยจะต้องเสนอรายงานต่อคณะกรรมการCAT เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ แต่กว่าที่รายงานฉบับแรกของประเทศไทยส่งให้คณะกรรมการ CAT ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเวลากว่าห้าปีให้หลังจากกำหนดการ ทั้งที่ต้องส่งให้ทบทวนภายในหนึ่งปีหลังเข้าเป็นภาคีและอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้
การทบทวนรายงานสถานการณ์กับคณะกรรมการ CAT เป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทยเกิดขึ้นในปีนี้ (2567) ในประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 81 ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2567 แม้จะล่าช้าและห่างจากการทบทวนรายงานสถานการณ์ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ถึงสิบปี ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการทบทวนรายงานสถานการณ์ฯ ครั้งนี้ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอความก้าวหน้าโดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหายที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐไทยเข้าร่วมในการทบทวนรายงานมากถึง 36 คน จากมากกว่า 10 หน่วยงาน (ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ, กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรมการปกครอง, คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา) หลังจากการทบทวนรายงานสถานการณ์ฯ คณะกรรมการCAT จึงได้นำเสนอข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) มายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
การที่รัฐบาลไทยยอมเข้าสู่กระบวนการทบทวนรายงานตามอนุสัญญา CAT ในปีนี้ เป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญในการเอื้อให้เกิดการสานเสวนาแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะตามอนุสัญญา CAT และพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ
เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามพันธกรณีและการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศฉบับดังกล่าวในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในการทบทวนรายงานสถานการณ์การทรมานฯ ของประเทศไทยครั้งแรกหลังเข้าเป็นภาคีจึงเกิดขึ้น ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2557
เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น ภายหลังการรัฐประหารเพียงหนึ่งวัน ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการCAT นำเสนอข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) จำนวน 13 หน้า ต่อประเทศไทยเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขแนวทางทางทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การป้องกันการทรมานเป็นผลในประเทศไทย แต่เนื่องจากผลพวงของรัฐประหารทำให้ข้อเสนอของ CAT แทบจะไม่ถูกนำมาปฏิบัติ อีกทั้งยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งได้ร่วมส่งรายงานสถานการณ์คู่ขนาน (shadow report) แก่คณะกรรมการก่อนการทบทวนสถานการณ์และได้รายงานาทางวาจาเกี่ยวกับกรณีการทรมานที่เกิดที่จังหวัดยะลา
ทำให้ผู้แทนกรมทหารพรานที่ 41 ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสีย อย่างไรก็ดีองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ติดต่อหรือชี้แจ้งต่อคณะกรรมการCAT จะได้รับการคุ้มครองและจะไม่ตกเป็นเป้าในการแก้แค้นของรัฐไทย และถูกคุกคามข่มขู่ด้วยการถูกฟ้องด้วยคดีหมิ่นประมาททางอาญา การคุกคามครั้งนั้นเป็นเหตุให้ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 George Tugushi (Rapporteur on reprisals under article 19 of the Convention Committee against Torture) ส่งหนังสือถึงเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา นับเป็นการแสดงความห่วงกังวลกรณีการคุกคาม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ต่อรัฐบาลไทย แตกต่างจากการทบทวนสถานการณ์การทรมานต่อคณะกรรมการ CAT ในครั้งที่สองนี้ จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ
ทั้งหมดนี้ คือ 10 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีความก้าวหน้า ที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อประเทศโดยรวม เสมือนภาพสะท้อนของสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปี 2567 ซึ่งควรนำไปสู่การถอดบทเรียนและการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานรัฐและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น