“…จากข้อมูลการวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า ประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 77 ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า…”
...............................
นโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’
เป็นหนึ่งในแคมเปญหลักที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งฯ ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง โดยได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 1 รวม 152 ที่นั่ง และได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 14.23 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 36.23% ของผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเป็นแกนนำในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ ในครั้งนี้
ล่าสุด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 8 พรรค ด้วยจำนวนว่าที่ ส.ส. รวมกัน 313 เสียง ให้ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ‘คนที่ 30’ ของประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอย่างสำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดย พิธา ระบุถึงนโยบายสำคัญที่พรรคก้าวไกลจะดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย 3D อันแรก ได้แก่ Demilitarize (การเอาทหารออกจากการเมือง) อันที่สอง คือ Demonopolize (การทลายทุนผูกขาด) และอย่างที่สาม คือ Decentralize (การกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง)
“คิดว่า ถ้าหากดำเนินการตามแนวทาง 3D จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง สามารถยืนหยัดบนเวทีโลก บนเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ และจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากนิยามของคำว่าโลกาภิวัฒน์” พิธา กล่าวกับสื่อต่างประเทศ
(พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566)
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการหาเสียงเลือกตั้ง ตอนหนึ่งว่า “ไทยต้องเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากกระจุกเป็นกระจาย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจตอนนี้ กระจุกตอนอยู่กับทุนนิยมพวกพ้องที่ใกล้ชิดภาครัฐ (Crony Sector) ที่ประเทศไทยมี Crony Sector อันดับ 9 ของโลกจากการจัดอันดับโดย The Economist
ถ้าไม่ทลายทุนผูกขาดที่อิงแอบกับอำนาจรัฐเหล่านี้ได้ ก็จะไม่สามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปให้กับทุกคนได้ นโยบายต้องเปลี่ยนจากการสั่งการลงมาจากผู้มีอำนาจ เป็นการนำเสนอแนวทางแก้ไขจากประชาชนไปปรับใช้ (bottom-up) และคำตอบที่ง่ายที่สุด คือ การกระจายอำนาจ คืนอำนาจและงบประมาณ ให้โอกาสการทำมาหากิน
ผ่านการปลดล็อกท้องถิ่นที่จะเป็นการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เพื่อให้ประชาชนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้” นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 (อ่านประกอบ : จะก้าวทันโลกอนาคต ต้องรื้อราชการรวมศูนย์ ทลายทุนผูกขาด)
อย่างไรก็ดี ในขณะที่นโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’ และการกระจายความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ถูกคาดหวังจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในแวดวงนักวิชาการว่า จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะลดปัญหาความ ‘เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม’ ของประเทศไทยที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
แต่เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ผ่าน 'รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12’ ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@กลุ่ม‘คนจนมาก-คนจนน้อย’ มีจำนวน‘เพิ่มขึ้น’ในช่วงแผนฯ 12
รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
-รายได้ต่อหัวของประชากรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP-per-capita) อยู่ที่ 7,254.3 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 7,188.4 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ที่อยู่ที่ 6,103.9 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
-คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีสัดส่วนคนจน ร้อยละ 7.87 (ที่เส้นความยากจน 2,686 บาท/คน/เดือน) ลดลงเป็นร้อยละ 6.24 (ที่เส้นความยากจน 2,763 บาท/คน/เดือน) ในปี 2562
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ที่การจ้างงานลดลง กระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็น ร้อยละ 6.84 (ที่เส้นความยากจน 2,762 บาท/คน/เดือน) ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนยังเป็นไปตามกรอบของเป้าหมายที่กำหนดให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเป็น ร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนฯ
เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนคนจนตามระดับความรุนแรง พบว่า คนจนมาก (ผู้มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินร้อยละ 20) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากร้อยละ 1.84 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 2.31 ในปี 2563 รองลงมา คือ คนจนน้อย (ผู้มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่เกินร้อยละ 20) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.40 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 4.52 ในปี 2563
สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำให้ครัวเรือนที่เปราะบางต้องเผชิญความยากลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน (ช่วยเหลือเงินชดเชยรายได้กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 คนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน)
การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กแรกเกิด 0-6 ปี ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา ผู้ที่มีบัตรคนพิการ คนละ 1,000 บาท รวม 3 เดือน รวมถึงกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.6 ล้านคน ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แม้จะมีแนวโน้มความรุนแรงลดลง แต่เชื้อไวรัสยังคงระบาดและมีแนวโน้มการกลายพันธุ์อยู่ ซึ่งจะกระทบต่อสถานการณ์ความยากจนได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสมได้อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์
@คน 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้เฉลี่ย/หัว เพิ่มเพียง 2.7%
-ประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 2,982 บาท/คน/เดือน ในปี 2556 เป็น 3,921 บาท/คน/ เดือน ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในช่วงปี 2564 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี
ทั้งนี้ ประชากรที่มีรายได้ต่ำส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economically Inactive) และมีความ เปราะบางสูง หากมีปัจจัยที่รุนแรงมากระทบ ดังนั้น ภาครัฐต้องสนับสนุนการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชากรกลุ่มนี้ โดยการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ ส่งเสริมการมีงานทำด้วยการพัฒนาทักษะแรงงาน และจัดหาแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบอาชีพต่างๆอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีนโยบาย/มาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาความ เดือดร้อนในหลายรูปแบบ
-ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ และวิกฤตโรคโควิด 19 ตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องให้ความสำคัญ และมีหลายมิติอาทิ มิติรายได้ ความมั่งคั่ง การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากรหรือบริการของภาครัฐ ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวชี้วัดเพียงตัวเดียว
โดยความเหลื่อมล้ำของคนไทยเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่พ่อแม่มีความรู้น้อยหรือมีฐานะยากจน มักจะมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ด้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่มีฐานะดี เช่น มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อเติบโตมาขึ้นมา ก็มักจะขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข และทรัพยากรในการดำรงชีวิต
เห็นได้จากจำนวนเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนจะมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี นอกจากนี้ ยังรวมถึงโอกาสในการทำงานที่แตกต่างกันด้วย
@ชี้‘เหลื่อมล้ำรายได้-รายจ่าย’ ดีขึ้น เหตุจากเงินโอนของภาครัฐ
รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ฉบับนี้ ยังสะท้อนภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมใน 5 ด้าน ได้แก่
(1) ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้น
เป็นผลมาจากภาครัฐมีนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือคนจนมาโดยตลอด อาทิเรียนฟรี 15 ปี การจัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรหรือธุรกิจรายเล็ก นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนในระยะสั้น
ส่งผลให้ความแตกต่างของรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุด ต่อรายได้ของประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีแนวโน้มลดลงจาก 2.50 เท่า ในปี 2560 เหลือ 2.20 เท่า ในปี 2564
แสดงให้เห็นว่า ประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดนั้น มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ช่องว่างสัดส่วนรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ประกอบกับค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini Coefficient) มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีค่าลดลงจาก 0.453 ในปี 2560 เป็น 0.430 ในปี 2564
และเมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายจ่าย (Gini Coefficient) มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีค่าลดลงจาก 0.364 ในปี 2560 เป็น 0.350 ในปี 2564 เนื่องจากช่องว่างรายจ่ายของกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายสูงที่สุด ต่อรายจ่ายของกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายต่ำสุด ลดลงต่อเนื่องจากปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ 9.35 เท่า เหลือ 8.63 เท่า ในปี 2564
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ช่องว่างรายจ่ายกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 8.41 เท่า
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และรายจ่ายที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น อาจไม่ได้เกิดจากศักยภาพในการหารายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นผลมาจากเงินโอน ทั้งที่เป็นนโยบายของภาครัฐที่ให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเงินที่ผู้ที่เข้ามาทำงานในเมืองโอนเงินไปยังชนบท หรือภูมิลำเนาของตน
@ครัวเรือน 40% สินทรัพย์ฯลด-คนรวย 10% ถือทรัพย์สิน 77% ของปท.
(2) ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
สัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่มครัวเรือนร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด ลดลงตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (ปี 2559) พบว่า ลดลงจากร้อยละ 12.05 เหลือร้อยละ 8.9 ในปี 2562
แสดงให้เห็นว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น บัญชีเงินฝาก สลากออมสิน สลาก ธกส. พันธบัตร หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงและวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น วิกฤตทางการเงินโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และสภาพคล่องทางการเงินลดลง เป็นต้น
จากข้อมูลการวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า ประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 77 ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า
@เด็กในครัวเรือนยากจน มีโอกาศึกษาระดับ ‘อุดมศึกษา’ แค่ 5%
(3) ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แม้ว่าสัดส่วนเด็กและเยาวชนไทยจะเข้าถึงการศึกษาในระบบเพิ่มขึ้น แต่ยังมี ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
กล่าวคือ ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบที่แตกต่างกัน ซึ่งในปี 2563 กลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย ตามนิยามของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเด็กที่ถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กอยู่ในธุรกิจทางเพศ เด็กถูกทอดทิ้ง ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนกว่า 3.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.31 ของ จำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาทั้งหมด
นอกจากนี้ อัตราการคงอยู่ของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ปีการศึกษา 2551 ถึงระดับอุดมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 คงเหลือร้อยละ 65.80 โดยพบว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอน ปลาย (ม.4/ปวช.1) ที่เลื่อนชั้นจากมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) มีการตกหล่นออกจากระบบมากที่สุด ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ร้อยละ 71.30 โดยสาเหตุมาจากฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา
ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้ตรงตามความจำเป็นและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงควร สร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัว และวางแผนการจัดการแก้ปัญหาเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และคงอยู่ในระดับศึกษา
เมื่อพิจารณาอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net Enrolment Rate) พบว่า ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 57.80 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 60.60 ในปี 2563 ขณะที่ในระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) ลดลงร้อยละ 29.1 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 28.40 ในปี 2563 ซึ่ง
หากจำแนกตามระดับรายจ่ายของประชากร พบว่า ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับปริญญาตรี มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิเพิ่มขึ้นตามกลุ่มประชากรที่มีระดับรายจ่ายที่มากขึ้น ซึ่งประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุดที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี มีเพียงร้อยละ 7.7 ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายมากที่สุด ที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี มีร้อยละ 65.50 ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 8.5 เท่า
นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 และเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนของรายได้พบว่า สูงกว่าสัดส่วนของประชากรที่รวยที่สุดในประเทศถึง 4 เท่า
แม้ว่าภาครัฐมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่การสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าจัดการเรียนการสอน ค่ากิจกรรม ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นของกลุ่มเด็กยากจน
นอกจากนี้ จากวิกฤตโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้น เด็กนักเรียนต้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แทปเล็ต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น จึงส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่มีฐานะยากจนจำนวนมากที่ขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้ เกิดช่องว่างในการรับสิทธิขั้นพื้นฐานมากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนโดยตรง
@‘แพทย์-เตียงคนไข้-เครื่องมือแพทย์’ กระจุกตัวใน‘กรุงเทพฯ-เมืองหลัก’
(4) การพัฒนาระบบสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศดีขึ้น
โดยสัดส่วนประชากรต่อบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ในภาคต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
ที่ผ่านมาคนไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการสาธารณสุขได้ครอบคลุมมากขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น อายุขัยเฉลี่ยเพศชายเมื่อแรกเกิดเพิ่มขึ้นจาก 72.0 ปี ในปี 2560 เป็น 73.5 ในปี 2564 และเพศหญิงเพิ่มจาก 78.8 ปีในปี 2560 เป็น 80.5 ปี ในปี 2564 เนื่องมาจากประเทศไทยได้จัดตั้งระบบประกัน สุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2544 ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีปัญหาการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขเชิงพื้นที่ โดยบุคลากรและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ หรือเมืองหลัก อัตราส่วนประชากรต่อแพทย์ 1 คน ในจังหวัดห่างไกลหรือพื้นที่ชนบทสูงกว่าในจังหวัดขนาดใหญ่หรือพื้นที่เมือง
แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จากจำนวน 225,737 คน เป็นจำนวน 240,518 คนในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพยังต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนา แม้ว่าจำนวน แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชนได้อย่าง ทั่วถึง
และกำลังคนบางสายวิชาชีพกลับมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะทันตแพทย์ ปัจจุบันภาครัฐได้ดำเนินโครงการผลิตทันตแพทย์ร่วมกับคณะทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเพิ่มกำลังคนจากปัญหาการขาดแคลนทันตแพทย์
ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงดำเนินโครงการการกระจายทันตแพทย์สู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง โดยการให้นักศึกษาทันตแพทย์ที่จบใหม่ทั้งหมดทำสัญญาเข้ารับราชการและชดใช้ทุนรัฐบาลอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากปัจจุบัน ทันตแพทย์จำนวนมากเลือกทำงานในกรุงเทพฯ หรือเขตเมือง
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ภาครัฐได้จัดทำคำขอตำแหน่งข้าราชการจัดตั้งใหม่แก่พยาบาลวิชาชีพจำนวน 13,607 อัตรา เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ระบบสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉินและเพียงพอต่อการบริการในอนาคต
การดำเนินนโยบายของภาครัฐดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนประชากรต่อบุคลากรทางการแพทย์ 1 คนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน ลดลงจาก 1,843 คนในปี 2560 เหลือ 1,794 คนในปี 2563 จำนวนประชากรต่อเภสัชกร 1 คน ลดลงจาก 4,750 ในปี 2560 เหลือ 4,273 คน ในปี 2563 และจำนวนประชากรต่อพยาบาลวิชาชีพ 1 คน ลดลงจาก 405 คนในปี 2560 เหลือ 371 คนในปี 2563
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการกระจายตัวของแพทย์ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า บุคลากรทา การแพทย์ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง และลดน้อยลงในพื้นที่ห่างไกล โดยในปี 2563 พบว่า กรุงเทพมหานคร มีจำ นวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน เท่ากับ 548 คน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนประชากรต่อ แพทย์ 1 คน เท่ากับ 2,951 คน ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 5.38 เท่า
สะท้อนว่าในกรุงเทพฯ ประชากรได้รับการดูแลจากแพทย์ทั่วถึงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ดังนั้น การบริหารจัดการการกระจายตัวของบุคลากรทาง การแพทย์ให้ทั่วถึง เพื่อลดช่องว่างด้านการบริการสาธารณสุขระหว่างภูมิภาค จึงเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาด้านระบบสาธารณสุขของไทยให้เข้มแข็งต่อไป
นอกจาก ปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพฯ และเมืองหลักแล้ว ยังพบว่าทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สำคัญและเตียงผู้ป่วยยังไม่กระจายไปสู่ทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง
แม้ว่าในปี 2563 จำนวนครุภัณฑ์ทางการแพทย์โดยรวม ได้แก่ เครื่อง CT scan เครื่อง MRI เครื่องสลายนิ่ว เครื่องเลเซอร์ เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องล้างไต และรถพยาบาล มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 19,200 เครื่อง ในปี 2560 เป็น 20,571 เครื่อง ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการกระจายครุภัณฑ์ในเชิงพื้นที่ พบว่า ในปี 2563 ครุภัณฑ์ทางแพทย์กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการกระจุกตัวของครุภัณฑ์ทางการแพทย์น้อยที่สุด
ตัวอย่างเช่น เครื่อง CT scan 1 เครื่อง ใช้รองรับการให้บริการแก่ประชากรในกรุงเทพฯ จำนวน 40,016 คน ขณะที่รองรับการให้บริการประชากรในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจำนวนกว่า 143,025 คน เป็นต้น
เช่นเดียวกับจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วย พบว่า ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนเตียงรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยในอัตรา 183 คนต่อเตียง ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนเตียงรองรับการให้บริการผู้ป่วย 506 คนต่อเตียง ซึ่งสะท้อนว่าเตียงสำหรับผู้ป่วย กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงมากกว่าในต่างจังหวัดเกือบ 3 เท่า
แสดงให้เห็นว่า แม้การบริการด้านสาธารณสุขของ ประเทศไทยจะดีขึ้น มีบุคลากรที่มีคุณภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาการกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งส่งผลต่อความไม่เพียงพอในการเข้าใช้บริการของประชากรในบางพื้นที่ยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของไทย
@ปี 63 ‘กองทุนยุติธรรม’ ช่วยค่าดำเนินคดีคนยากจน 170 ล้าน
(5) ระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางมีการพัฒนาดีขึ้น
ระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อรองรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง เป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งจัดการระบบให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยได้รับสิทธิพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม
โดยการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า การให้ความช่วยเหลือและการให้บริการของภาครัฐจากกองทุนยุติธรรมแก่ประชากรยากจนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2558 มีประชากรยากจน ได้รับอนุมัติความช่วยเหลือจำนวน 2,089 ราย และ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นจำนวน 2,794 ราย ในปี 2562
โดยในปี 2563 ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน จำนวน 5,184 ราย เป็นจำนวนเงิน 170 ล้านบาท แบ่งเป็น การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีร้อยละ 69.83 การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ร้อยละ 44.00 การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 4.45 และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ร้อยละ 64.71
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นกองทุนที่มุ่งส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับมีการออมโดยสมัครใจ
โดยในปี 2563 พบว่า สมาชิกสะสมของ กอช. มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 60,000 คน โดยมีจำนวน 2,396,543 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรและอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก ร้อยละ 7.82 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 15.57 และในปี 2563 การออมก็ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
@‘ทลายทุนผูกขาด’เป็นนโยบายที่ต้องมุ่งไป แต่ต้องสู้กับอิทธิพล-อำนาจ
“เป็นนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ (การทลายทุนผูกขาด) ที่ควรจะเป็น ซึ่งผมยังไม่เห็นแน่ชัดว่า จะทำอย่างไรในระยะสั้น ในระยะอันใกล้ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่ ยาก ซับซ้อน และกลุ่มคนที่มีอำนาจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับยอดปิรามิดของสังคมไทย เขามีอำนาจ มีอิทธิพลสูงมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน แต่ว่าในที่สุดก็ต้องเป็นเป้าหมาย
และเป็นทิศทางที่เราควรจะต้องมุ่งไป ซึ่งหลักพื้นฐานคงต้องเข้าไปคุยกับในสภา โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม ผมคิดว่าเขา (พรรคก้าวไกล) มีชุดนโยบายของเขาอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร” ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ดร.ทีปกร ย้ำว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากบรรดาองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในประเทศ ต่างก็เสนอในลักษณะอ้อมๆว่า การผลักดันนโยบายการทลายทุนผูกขาด จะทำให้หลายภาคธุรกิจมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น และเป็นนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น
“เราก็เห็นความเป็นจริงว่า ร้านขายของชำแถวบ้านที่เราเคยเดินไปซื้อขนม ซื้ออะไรกัน แทบจะอยู่ไม่ได้ เพราะมีร้านสะดวกซื้อบางเจ้าอยู่ทุกหัวมุมเมือง บางซอยมีอยู่ 3-4 แห่งด้วยซ้ำ แล้วร้านเล็กๆจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อคุณไปขายอาหารแข็ง ขายกาแฟแข่ง อาตี๋อาหมวยจะเปิดร้านกาแฟจะไปแข่งกับทุนใหญ่ได้อย่างไร” ดร.ทีปกร กล่าว
ทีปกร ยังระบุว่า แม้ว่าที่ผ่านมาตนจะยังไม่พบว่า มีงานศึกษาหรือวิจัยใดที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การทลายทุนผูกขาด (Demonopolize) จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่หากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้ว การดำเนินนโยบายทลายทุนผูกขาดจะลดปัญหาเหล่านี้ได้
“คนรวย 50 ตระกูลแรก เขารวยจากการได้เปรียบเชิงโครงสร้าง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นจาก 10% ของจีดีพี เป็น 1 ใน 3 ของจีดีพี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่บอกว่า ถ้าเรากระจายผลประโยชน์เหล่านี้ลงมาให้กับคนในสังคม ก็ลดความเหลื่อมล้ำฯลงไปได้มาก
อย่างตระกูลที่รวยที่สุดตระกูลหนึ่ง ในปีแรกที่เกิดโควิดหรือปี 2563 เขารวยขึ้น 1 แสนล้าน ถ้าเขาแบ่งมาซัก 20% ของปีเดียวที่เขารวยขึ้น แบ่งมาให้กับสังคม ก็จะช่วยได้มาก หรือกรณีการจับมือกับของกลุ่มทุน mobile operator ก็เป็นเรื่องเดียวกัน คุณปล่อยได้อย่างไร ให้จาก 3 รายเหลือ 2 ราย เขาจะขึ้นอย่างไรก็ได้ ซึ่งก็เห็นเยอะแยะไปหมด แล้วไม่ลงทุนในสิ่งที่ควรจะเป็น” ดร.ทีปกร ระบุ
(ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)
ก่อนหน้านี้ ดร.ทีปกร เขียนบทความเรื่อง 'เศรษฐศาสตร์การเมืองของการพัฒนาระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ' โดยบทความระบุตอนหนึ่งว่า หลักการพื้นฐานแล้ว แนวคิด “รัฐสวัสดิการ” หรือ สวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงระบบ “บำนาญแห่งชาติ” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการมีชีวิตที่มั่นคง
และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสวัสดิการ โดยควรจะเป็นเป้าหมายทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางการเมืองที่เป็นฉันทามติของสังคมไทย สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการลดความเหลื่อมล้ำจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง
“เราไม่สามารถจะนำตัวแปรความเหลื่อมล้ำออกจากสมการของการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และด้านทรัพย์สิน เป็นปัญหาติดอันดับต้นๆในโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตระกูลที่รวยที่สุด 50 ตระกูล มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20-30% หรือเพิ่มขึ้น 6-8 เท่า
มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ใน 10 ของ GDP เพิ่มเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP ซึ่งตระกูลที่รวยที่สุดตระกูลหนึ่ง มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเพียงปีเดียวเกือบ 1 แสนล้านบาท ในปี 2563 ที่ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสจากปีแรกของโควิด
หลายตระกูลบนยอดปิรามิดที่ความมั่งคั่งเติบโตรวดเร็วติดจรวด เพราะได้เปรียบจากการประกอบธุรกิจสัมปทาน หรือ ธุรกิจกึ่งผูกขาด เช่น โทรคมนาคม หรือ พลังงาน ตลอดจนกลไกภาครัฐเอื้อให้สามารถมีอำนาจเหนือตลาด และได้รับยกเว้นภาษีแบบที่ผู้ประกอบการ SME ไม่ได้รับโอกาส
ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุด 10% และคนส่วนใหญ่ในประเทศ ยิ่งขยายกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนระดับล่าง 10% แทบจะไม่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ” เนื้อหาของบทความฯระบุ
ขณะที่ ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เคยให้ความเห็นในช่วงการเลือกตั้งฯว่า มีนโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองควรดำเนินการ เช่น นโยบายเรื่องการจำกัดอำนาจของทุนผูกขาด รวมถึงการทำให้ค่าแรงเหมาะสมทันตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การเพิ่มการดูแลเด็กเล็กที่ขาดโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
“หนทางของการปรับปรุงทิศทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศหลังจากนี้ ในกรณีที่ได้รัฐบาลใหม่ อาจต้องเริ่มจากการรื้อมรดกบางประการจากรัฐบาลเก่า โดยเฉพาะข้อผูกมัดในหลายรูปแบบที่รัฐบาลเดิมวางไว้ มิฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงได้รัฐบาลใหม่มา ก็อาจยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในระยะสั้น เพราะยังมีกลไกที่ถูกวางเอาไว้ที่ไม่เอื้อให้พรรครัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่าย” ผศ.ดร.ธร ระบุ
เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศล่าสุด ผ่านรายงานของ ‘สภาพัฒน์’ และต้องติดตามกันต่อไปว่า ว่าที่ ‘รัฐบาลชุดใหม่’ ที่มี ‘พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ และการผลักดันนโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’ ซึ่งนับได้ว่าเป็น 'โจทย์หิน' ให้สำเร็จดั่งเป้าหมายที่วางไว้ได้มากน้อย เพียงใด?
อ่านประกอบ :
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน