"...แม้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ก็พยายายามบรรเทาทุกข์ให้เท่าที่อยู่ในขอบอำนาจ ไม่นิ่งเฉยดูดาย ไม่ได้กระทำอะไรนอกกฎหมายกับโจทก์เลย การบอกสมาชิกว่าต้องคบค้าอย่างระมัดระวัง เพราะทรูไม่ได้เป็นสมาชิกซึ่งเป็นความจริง และแอบแทรกโฆษณาซึ่งก็เป็นความจริง มิใช่รึ? การพูดความจริงจะว่าแกล้งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำอะไรเลยกลับจะกลายเป็นการละเว้นหน้าที่ ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย..."
จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ลงโทษจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 จงใจกลั่นแกล้งให้บริษัทได้รับความเสียหาย ปมออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมีโฆษณาแทรก
เป็นประเด็นที่น่าสนใจเนื่องจากสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม อีกทั้งยังสร้างความประหลาดใจให้กับวงการนักกฎหมายและสื่อสารมวลชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอเริ่มต้นจากลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา
ไทม์ไลน์คดีหมายเลขดำ อท 147/2566
-
1 กุมภาพันธ์ 2566
อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคและมีมติส่งเรื่องการประกอบกิจการของทรูไอดีให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์
-
16 กุมภาพันธ์ 2566
คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์พิจารณาเรื่องการตรวจสอบการแพร่เสียงภาพผ่านการ ให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและแอปผลิเคชันทรูไอดี โดยบีบบีบติเห็นควร ให้มีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการฯ ปฏิบัติตาบข้อ 14(23) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 กล่าวคือ ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการต้องให้บริการผ่านทางโครงข่ายที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
-
24 กุมภาพันธ์ 2566
หนังสือ สำนักงาน กสทช. (ฉบับที่ 1)แจ้งผู้รับใบอนุญาตช่องรายการ ให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขแบบท้ายใบอนุญาตหนังสือของสำนักงานฉบับที่ 1 สร้างความสับสนให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการว่าหมาย ถึงอะไรเพราะผู้รับใบอนุญาตช่องรายการก็มีแอปพลิเคชั่นเผยแพร่เนื้อหารายการของตนเองเช่นกันจึงเกรง ว่าจะได้รับผลกระทบจากหนังสือฉบับที่หนึ่ง
-
3 มีนาคม 2566
หนังสือ สำนักงาน กสทช. (ฉบับที่ 2) สำนักงาน กสทช. มีหนังสือฉบับที่ 2 ถึงผู้รับใบอนุญาต ช่องรายการอีกฉบับ โดยเนื้อหาระบุชื่อ ทรูไอดีว่าไม่ได้ เป็นผู้ให้บริการโครอข่ายที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.
-
11พฤษภาคม 2566
บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปฟ้อง เจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ลงนามในหนังสือ ฉบับที่ 2 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดี อท 71/2566
-
22 สิงหาคม 2566
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง คดี อท 71/2566 เจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ลงนามในหนังสือฉบับที่ 2 โดยไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง
-
29 สิงหาคม 2566
บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้องคดี นางสาว พิรงรอง รามสูต ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดี อท 147/2566
-
14 มีนาคม 2567
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ ไว้พิจารณาของ คดี อท 147/2566 และนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและกำหนดวันนัด ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567
-
2 เมษายน 2567
บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ จำเลย คดี อท 147/2566 ระงับการบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด/บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีหนังสือ เรื่อง คัดค้านการปฏิบัติที่ กรรมการในคณะกรรมการ กสกช. และคณะอนุกรรมการ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรู ดิจิทัลฯ บริษัททรูฯและบริษัทในกลุ่มบริษัททรูฯ
-
14 พฤษภาคม 2567
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลมีคำสั่ง ยกคำร้อง การขอระงับการปฏิบัติหน้าที่ ของจำเลย คดี อท 147/2566
-
23 พฤษภาคม 2567
ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2567 ระเบียบวาระ 4.59 มีมติไม่รับพิจารณาเรื่อง คัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต
-
5,7-8 พฤศจิกายน 2567
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดสืบพยานโจทก์ และจำเลย ในวันที่ 5 , 7-8 พฤศจิกายน 2567 โดยพยานโจทก์ จำนวน 4 ปาก และ พยานจำเลย จำนวน 8 ปาก
-
6 กุมภาพันธ์ 2568
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา คดี อท 147/2566
โทษจำคุกไม่รอลงอาญา บั่นทอนการทำงาน จนท.เสี่ยงถูกฟ้อง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2568 ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ 'ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา: ความเห็นทางนิติศาสตร์ กรณีคำพิพากษาจำคุก กสทช. พิรงรอง'
ผศ.ดร. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ข่าวคดีอาญาทุจริต 26/2568 ดังกล่าว สร้างความประหลาดใจให้ทั้งกับวงการนักกฎหมายและวงการสื่อสารมวลชนไทย
จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งที่ตั้งคำถามถึงอำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลธุรกิจประเภท OTT (Over-The-Top) ว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากศาลฎีกาวางหลักการไว้ว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานไม่มีหน้าที่ ไปกระทำการนอกหน้าที่ จะไม่ถือว่าผิดมาตรา 157 เพราะหากจะผิดมาตรา 157 ต้องเป็นการกระทำในหน้าที่เสียก่อน โดยมาตรา 157 เป็นการกระทำที่ไม่ต้องการผล หากเป็นการกระทำที่เจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ความผิดก็สำเร็จทันที ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ใช่การกระทำที่มิชอบ แม้จะเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมาก็ตาม ก็จะไม่ถือว่าผิดมาตรา 157
"ถ้าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหาย แม้ความเสียหายไม่เกิดขึ้นเลย ก็จะเป็นความผิด ตามมาตรา 157 ทันที ในทางตรงข้าม ถ้าไม่ใช่ การกระทำที่ไม่ชอบ แม้จะเกิดความเสียหาย อะไรขึ้นมาก็ตามก็จะไม่ใช่มาตรา 157 เพราะ ฉะนั้นความเสียหายจึงไม่ใช่ประเด็นใดเลยของเรื่องนี้ ส่วนถ้าเป็นพูดถึงเรื่องความเสียหายที่เกี่ยวข้องจะเป็นเรื่องการกำหนดโทษว่าระวางโทษที่กำหนด 2 ปี ไม่รอลงอาญานี้เหมาะสมหรือไม่" รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าว
รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อการกระทำของของจำเลยไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบ ดังนั้นแม้จะก่อให้เกิดความเสียหายเหมือนที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลก็มุ่งให้เกิดความเสียหายเกิดจำเลยเหมือนที่ตำรวจหน้าที่ในการจับกุมคนร้าย อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ต่างก็เป็นการมุ่งให้เกิดความเสียหาย แต่เมื่อเป็นการหน้าที่โดยชอบแล้วแม้จะเกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ใช่ความผิด เพราะฉะนั้น คิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องคุยกันคือจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
ในคำพิพากษาที่ระบุว่าศาลเห็นว่าจำเลย ‘ชี้นำ กดดัน บงการ’ รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมที่มีการถกเถียงหลากหลาย การชี้นำหรือกดดันอาจไม่ได้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะประธานในที่ประชุมมีหน้าที่ต้องชี้นำการประชุมอยู่แล้ว อีกทั้งคำพิพากษาก็ไม่ได้แสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าการกระทำใดเป็นการบงการ
ตนไม่ได้กำลังจะบอกว่าจำเลยผิดหรือไม่ เพียงแต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าศาลใช้คำว่า ‘ชี้นำ กดดัน บงการ’ เป็นข้อสำคัญในคดี แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนว่าเป็นการกระทำที่ชี้นำ กดดัน บงการ กรรมการท่านใด หรือกระทำอย่างไร
รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวอีกว่า นักกฎหมายมักสอนกันว่าคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่ตนมองว่าคำพิพากษาไม่ได้ผูกพันแค่เฉพาะคู่ความ แต่ถือเป็นกลไกการสื่อสารของฝ่ายตุลาการ
“การที่วันนี้มีองค์กรอิสระพยายามทำหน้าที่ในการรักษาประโยชน์ของประชาชน คุ้มครองผู้บริโภคให้พ้นจากเนื้อหาที่ไม่มีการควบคุม ถ้ากรรมการที่พยายามผลักดันประเทศไทยให้นำไปสู่การตรวจสอบต้องมาแพ้ความผิดพลาดเชิงเทคนิค (Technical Foul) อาจมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็เพิกถอนคำสั่งหรือเพิกถอนการดำเนินการ แต่ถ้าถึงขนาดลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เพราะเหตุผลว่าเป็นเจ้าพนักงาน ผมว่าอันนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่พยายามจะผลักดันขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิประชาชน” รศ.ดร.รณกรณ์ ระบุ
รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวถึงประเด็นการทำเอกสารเท็จ ว่า มีการพูดถึงการทำเอกสารเท็จ ทำเอกสารการประชุมอันเป็นเท็จ แต่ว่าไม่ได้มีการพิพากษา จึงไม่ได้มีการฟ้องร้องถึงประเด็นดังกล่าว ว่ามีการทำเอกสารเท็จหรือว่ามีการพิพากษาว่ามีการทำเอกสารเท็จ แต่มีสร้อยคำในคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตว่ามีการเปลี่ยนแปลงรายงานการ ประชุมที่ 3/26 โดยในการประชุมครั้งที่ 5/26 มีการรับรองว่ามีการทำข้อความบางอย่างเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการวินิจฉัยลงในรายละเอียดและไม่ได้มีการฟ้องในประเด็นนี้
เจตนาฟ้องปิดปาก
ทางด้าน ศ. ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ลงนามในหนังสือฉบับที่ 2 คดี อท 71/2566 ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยภายหลังมีคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
ตามหลักกฎหมายอาญา หากผู้กระทำไม่ผิด ผู้บงการ (ในกรณีที่มีอยู่จริง) ก็จะไม่ผิดเช่นกัน หรือหากมีการฟ้องร้องและสามารถโยงไปที่ผู้สั่งการ ก็ต้องเรียกมาเป็นจำเลยร่วม มิใช่การยกฟ้องคนหนึ่งแล้วไปฟ้องอีกคนหนึ่ง
ศ.ดร. ทวีเกียรติ กล่าวว่า การที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยระงับการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 2 เมษายน 2567 สะท้อนถึงเจตนาในการฟ้องร้องครั้งนี้ ซึ่งคือการฟ้องร้องเพื่อให้จำเลยหมดอำนาจ อีกทั้งยังเสนอว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจากการฟ้องร้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) เพื่อป้องกันการฟ้องร้องนี้
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวถึงประเด็นที่ระบุถึงจำเลยใช้อำนาจ ชี้นำ กดดัน และบงการ ว่า ใครคือผู้บงการหรือกดดัน การที่จำเลยสั่งเจ้าหน้าที่ของตนเองที่ไม่จดบันทึกการประชุมให้ครบ แจ้งให้ชัด ให้จดรายงานประชุมให้ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากหนังสือฉบับแรกที่ไม่มีการระบุให้ชัดเจน สร้างความกังวลและเดือดร้อนกับบุคคลอื่น จึงต้องส่งหนังสือถึงผู้ประกอบการที่รับอนุญาตอีกฉบับ โดยระบุให้ชัดเจนว่า หมายถึงทรูไอดีที่ไม่ได้รับอนุญาต จากการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจ ชี้นำ กดดันอย่างไร
ส่วนประเด็นที่ระบุว่า มุ่งประสงค์จะกลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับเสียหาย ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวว่า อย่างไร แม้ใช้คำว่า 'ตลบหลัง' เป็นการที่กระทำที่ไม่ชอบในกรอบของหน้าที่อย่างไร เพราะเป็นการเตือนสมาชิกอื่นๆ เนื่องจากทรูไอดีไม่ใบอนุญาต
"กรณีที่พ่อเตือนลูกว่า ไปเที่ยวอาบอบนวด ให้ระวังตัวด้วย เพราะเป็นการนำตัวเองไปเสี่ยงเอง แต่เจ้าของอาบอบนวดฟ้องพ่อ อ้างว่าไปกลั่นแกล้งทำให้ไม่มีลูกค้า ทั้งๆ ที่ พ่อเพียงเตือนลูก ไม่ได้สั่งปิด เพราะไม่มีอำนาจทำได้ ทำได้เพียงเตือน เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้น กสทช. มีหนังสือเตือน เพราะมีคำร้องมา จะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบในกรอบของหน้าที่ได้อย่างไร" ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ทวีเกียรติ ยังเปิดคลิปสัมภาษณ์ นายวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธานทรูไอดี กล่าวถึงเหตุผลการฟ้องร้อง ว่าต้องการสร้างความมั่นใจกับลูกค้า 30 กว่าล้านคนว่า ทรูไอดีไม่ได้กระทำผิดในเชิงกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงคือไม่ได้ต้องการระบุเจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง เพียงแค่เป็นการทำตามขั้นตอน
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวอีกว่า ยังมีทางเลือกอื่นที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป สามารถทำได้ เช่น การสมัครเข้าเป็นผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย IPTV จ่ายค่าธรรมเนียม 5 แสนบาท และค่าธรรมรายปีตามรายได้
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวถึงด้านวิธีพิจารณา ว่า ป.วิอาญา ม.226/3 เทปบันทึกเสียง เป็นพยานบอกเล่า การรับฟังเพื่อลงโทษจึงต้องรอบคอบ โดยมาตรา 227 ให้ศาล .. ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวถึงส่วนในความรับผิดทางอาญา ว่า สารบัญญัติ ตามมาตรา 59 ปอ. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำคดีนี้จำเลยไม่ได้มีกระทำอะไรต่อโจทก์
ความเสียหายของโจทก์เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่เห็นแก่ได้ (ไม่อยากเสียค่าสมาชิกให้ รัฐหรือ กสทช.) และความไม่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา (แอบแทรกโฆษณา) อันเป็นคุณสมบัติของนักธรกิจที่ดีทำให้ถูกร้องเรียนแต่แรก ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เข้มแข็งมีหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลให้ธุรกิจเป็นไปอย่างเสมอภาค เท่าเทียมเกิดประโยชน์แก่รัฐตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทำให้สมาชิกไม่มั่นใจจึงลังเลที่จะการร่วมทำธุรกิจด้วย
"แม้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ก็พยายายามบรรเทาทุกข์ให้เท่าที่อยู่ในขอบอำนาจ ไม่นิ่งเฉยดูดาย ไม่ได้กระทำอะไรนอกกฎหมายกับโจทก์เลย การบอกสมาชิกว่าต้องคบค้าอย่างระมัดระวัง เพราะทรูไม่ได้เป็นสมาชิกซึ่งเป็นความจริง และแอบแทรกโฆษณาซึ่งก็เป็นความจริง มิใช่รึ? การพูดความจริงจะว่าแกล้งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำอะไรเลยกลับจะกลายเป็นการละเว้นหน้าที่ ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย" ศ.ดร.ทวีเกียรติ ระบุ
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อจำเลยไม่มีการกระทำต่อโจทก์เลย จะเป็นความผิดอาญาได้อย่างไร ส่วนความเสียหายนั้นเกิดเพราะพฤติกรรมของโจทก์ (แทรกโฆษณาจริง) จนถูกร้องเรียน และสถานะ (ไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาต) ซึ่งเป็นความจริง ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้ทำอะไรกับโจทก์เลย โจทก์เป็นผู้เสียหายได้อย่างไร
ไม่มีส่วนให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหา
ขณะที่ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ กล่าวว่า คำพิพากษาปกติมักจะมี 3 ส่วน ส่วนแรกคือโจทก์ฟ้องอะไร ส่วนที่สองคือจำเลยแก้ข้อกล่าวหาว่าอย่างไร ส่วนที่สามคือความเห็นของศาลที่จะหักล้างทีละประเด็น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ในคำพิพากษาครั้งนี้เป็นคำฟ้องของโจทก์ไปแล้ว 12 หน้าจาก 25 หน้า และไม่ระบุส่วนที่ให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหา โดยหน้า 13 มีการระบุเพียงว่า 'ศาลไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ'
ผศ. ดร.ปริญญา แสดงความเห็นว่า คดีอาญาเป็นคดีที่มีโทษเป็นการติดคุก จึงควรจะมีการระบุว่าจำเลยแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร มากกว่าคดีในรูปแบบอื่นๆ เสียอีก การต่อสู้ของจำเลยมาปรากฏอยู่ที่หน้า 25 โดยศาลระบุว่า 'จำเลยให้การต่อสู้ลอยๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพฤติการณ์ของจำเลย ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์' หากชี้ว่าข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ก็ควรจะมาหักล้างให้ดู แต่ศาลกลับสรุปโดยไม่มีคำอธิบายว่าหักล้างอย่างไร ไม่มีน้ำหนักอย่างไร
ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่าผู้ใดประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ปริญญาตั้งคำถามว่า การที่นำเอาโทรทัศน์มาฉายออนไลน์แล้วแทรกโฆษณาเข้าไปไม่ถือเป็นรายการโทรทัศน์อย่างไร
ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า โจทก์อ้างถึงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ว่าประกาศฉบับนี้เขียนว่าการให้บริการกิจการ OTT ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านประกาศฉบับนี้ กลับไม่พบการระบุถึง OTT เพียงแต่เขียนว่า ผู้ใดที่จะประกอบกิจการโทรทัศน์จำเป็นต้องมาขออนุญาต
ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการประกอบกิจการโทรทัศน์ คณะอนุกรรมการอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ เนื่องจากนิยามของการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในประกาศระบุว่า การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมหรือรับฟังการให้บริการนั้นๆได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบรวมกัน หรือการให้บริการอื่นทำนองเดียวกัน ที่คณะกรรมการกำหนดให้เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
“หากเพียงแต่บอกว่าการทำให้เกิดความเสียหาย แล้วจะผิดมาตรา 157 เกรงว่ามันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ จะพากันเกียร์ว่างไปหมด จากนี้ไปจะไม่มีใครกล้าใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าใช้ไปแล้วเกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด” ผศ. ดร.ปริญญา กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือความเห็นทางวิชาการต่อคำตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 'ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต' กรรมการ กสทช. ซึ่งไม่ได้เป็นการหมิ่นคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด
อ่านประกอบ:
- พิรงรอง รามสูต: ทีวีไทยต้องไปต่อ ทำหน้าที่เป็นกลาง เชื่อถือได้-เชื่อมโยงสังคม
- วิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘พิรงรอง’ ใช้เหตุผล-ตรรกะขัดแย้งกันเอง?
- ‘สำนักงาน กสทช.’แถลงการณ์ปกป้องสิทธิฯ‘พนง.’ถูกอ้าง‘ชื่อ-รูปถ่าย’โดยมิชอบ โยงคดี‘พิรงรอง’
- ‘ภาคปชช.’ชี้คดี‘พิรงรอง’สะเทือนกระบวนการ‘ยุติธรรม’-จับตา‘กสทช.’ส่อถูก‘กลุ่มทุน’แทรกแซง
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
- วารสารฯ มธ.-นิเทศฯ ม.อ.ปัตตานี แถลงการณ์ ‘พิรงรอง’ การพิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะคือสิ่งสำคัญ
- วงเสวนานิเทศจุฬาฯชี้ 'พิรงรอง Effect' กระทบการกำกับดูแลในอนาคต เหตุ จนท.เสี่ยงถูกฟ้อง
- นิเทศจุฬาฯ โชว์จุดยืนสนับสนุน 'พิรงรอง' จัดเสวนาด่วน Effect ทิศทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- เปิดใจ พิรงรอง ก่อนโดนคุก 2 ปี
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ อ้าง 'ตลบหลัง-ล้มยักษ์' พูดหลังประชุมแค่เปรียบเปรย
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดฟังคำพิพากษาคดี‘ทรู ดิจิทัลฯ’ฟ้อง‘กก.กสทช.’ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 6 ก.พ.
- ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกคำร้อง‘ทรู ดิจิทัล’ ขอสั่ง‘พิรงรอง’หยุดปฏิบัติหน้าที่‘กสทช.’
- อาจเข้าข่ายฟ้องปิดปาก! ‘สภาผู้บริโภค’ออกแถลงการณ์จี้‘ทรู ดิจิทัล’ถอนฟ้อง‘กรรมการ กสทช.’
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’ประทับฟ้อง คดีกล่าวหา‘กรรมการ กสทช.’ มีพฤติการณ์ส่อกลั่นแกล้ง‘ทรู’