"...ใบอนุญาตให้บริการนวดเพื่อสุขภาพเป็นแบบตลอดชีพ (ไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ) จึงขอเรียกร้องไปยัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ออกใบอนุญาต ให้กับบุคคลที่เรียน, โรงเรียนสอนนวดเพื่อสุขภาพของเอกชน , มูลนิธิ , สมาคม , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเสนอต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี ให้เหมือนกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการแพทย์..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): จากข่าวมีบริการนวดไทยจนเกิดความเสียหายถึงชีวิต มีความจริงส่วนหนึ่งที่ผู้เสียชีวิตได้โพสต์ไว้ตอนป่วยติดเตียงนั่นคือไปนวดบิดคอ กลายเป็นข่าวที่ทำให้ผู้คนตื่นตกใจ และสร้างผลกระทบกับกิจการนวดไทย โดยเหตุที่ทำให้ถกเถียงกันมา เนื่องจากข้อมูล ซึ่งได้มีการเอกซเรย์ในครั้งแรก และ ต่อมาได้ทำ MRI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง ชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด เพราะได้ผลสรุปวินิจฉัยเป็น โรคไขสันหลังอักเสบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เพราะอยากให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีการทำแนวทางปฏิบัติ การตรวจคุณภาพต่างๆ รวมถึงเรื่องการนวดไทยด้วย
ดร.ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เปิดเผยกับสภาผู้บริโภคว่า ผู้ประกอบอาชีพในร้านนวดเพื่อสุขภาพ ต้องอบรมนวดหลักสูตร 150 ชั่วโมง จึงไม่ถูกเรียกว่า ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย เพราะเน้นเพื่อบำรุงสุขภาพ ผ่อนคลาย เท่านั้น แต่ปัญหาที่จนเกิดขึ้นบ่อยๆนั่นคือ ผู้ให้บริการนวด อาจทำมากกว่าที่อบรม หรือไปครูพักลักจำจากศาสตร์อื่นๆเอามาให้บริการกับลูกค้า จนอาจเกิดอันตรายตามมา
“ช่องทางสื่อสารออนไลน์ ทำให้รับรู้การใช้ศาสตร์อื่นๆมากขึ้น ผู้ให้บริการนวดบางคนจึงใช้วิธี “ครูพักลักจำ” เอาวิธีนวดจัดกระดูกมาใช้กับลูกค้า ซึ่งเป็นข้อน่าเป็นห่วงและสร้างความน่ากังวล เพราะการใช้เทคนิคเหล่านี้ มีไว้สำหรับ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เรียนรู้ด้าน กายวิภาควิทยาของร่างกาย และ ต้องตรวจโรคเป็น สามารถใช้เครื่องมือเอกซเรย์ ( X-ray ) หรืออื่นๆ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจถึงโครงสร้างของข้อต่อกระดูกในส่วนต่างๆ อย่างเช่น การนวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก (Chiropractor treatment) คือ การนวดจัดกระดูกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเส้นประสาทในกระดูกและข้อกระดูกให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อจัดตำแหน่งโครงสร้างของกระดูก และข้อต่อตามร่างกายให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติอีกครั้ง" ดร.ภก.ยงศักดิ์ ระบุ
ดร.ภก.ยงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้เรียนด้านนี้เป็นมืออาชีพ ใช้เวลาเรียนเฉพาะศาสตร์นี้ 5-6 ปี เพราะต้องแม่นยำด้านกายวิภาคสรีระวิทยาของมนุษย์ เช่นการตรวจ การอ่านผลเอกซเรย์ ซึ่งการนวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก ถือเป็นศาสตร์ทางเลือก แต่ในประเทศไทย การเรียนไม่มีสอน แต่จะมีสอนเฉพาะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีคนไทยจำนวนน้อยมากไปเรียน เมื่อกลับมาเมืองไทยได้มาขอใบประกอบโรคศิลปะ เพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะอนุญาตให้เป็นรายกรณี
ส่วนกายภาพบำบัด ก็ถือเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ที่มีการดัดคอและข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะทาง และ แพทย์แผนไทย คือ ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ มีใบประกอบโรคศิลปะอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้น ปัญหาผู้ประกอบอาชีพในร้านนวดเพื่อสุขภาพ บางคนใช้วิธี “ครูพักลักจำ” เอาวิธีนวดจัดกระดูกมาใช้กับลูกค้า จึงเกิดคำถาม จะควบคุมมาตรฐานให้บริการให้อยู่ในขอบเขตที่ได้รับการอบรมอย่างไร
ดร.ภก.ยงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานประกอบการ ต้องควบคุมมาตรฐานดำเนินการให้อยู่ในกรอบของอบรมนวดหลักสูตร 150 ชั่วโมง ที่ห้ามมิให้มีการดัด หรือ ดึง ร่างกายส่วนต่างๆของผู้มารับบริการนวด อย่างเด็ดขาด แต่ปัญหาคือ ผู้บริโภคที่เป็นผู้รับบริการไม่สามารถรู้ขอบข่ายการให้บริการในร้านนวดมีขีดความสามารถแค่ไหน จึงถือเป็นจุดที่มีปัญหา ดังนั้น ก่อนให้บริการนวด ผู้ดำเนินการสถานประกอบการ ต้องแจ้งลูกค้าให้รับทราบถึงขอบข่ายที่สามารถให้บริการโดยเฉพาะการให้ข้อมูลความรู้ถึงจุดต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานที่เป็นกรอบชัดเจนเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อปิดช่องโหว่ของปัญหา จึงขอเสนอให้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , ตัวแทนวิชาชีพ , ตัวแทนผู้บริโภค , ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับการนวดไทย เป็นต้น เพื่อให้มาช่วยกันกำหนดแผน ช่วยกันดูในเรื่องการให้ข้อมูลสถานบริการนวด รวมถึง ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการนวดเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ตรงกัน
ดร.ภก.ยงศักดิ์ กล่าวย้ำถึงอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ
ขณะที่ นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า โดยปกติการนวดบริเวณคอต้องนวดด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญการเรียนการสอนนวดไทย ไม่สอนให้บิดคอ หักคอ และท่านวดพิสดาร วิชานวดไทยสามารถบำบัดรักษาได้แต่ต้องเป็นหมอนวดได้ใบประกอบวิชาชีพฯ ที่มีทักษะในการดัดดึงเพื่อรักษา ผู้บริโภคควรเลือกร้านนวดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และหมอนวดต้องผ่านการอบรมอย่างถูกต้องซึ่งมีนวดเพื่อสุขภาพและนวดบำบัดอาการโดยวิชาชีพฯ
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ 27 กันยายน 2559 กับธุรกิจสปา ,นวดเพื่อสุขภาพ, หรือ เสริมความงาม ตามประกาศของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ สปา-นวดไทย มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ได้แก่ สถานที่สะอาด, ผู้ประกอบการ/ผู้ดำเนินการมีคุณสมบัติครบถ้วน, ผู้ให้บริการผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรฐาน, การให้บริการ และความปลอดภัยขณะให้บริการ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเจตนารมณ์หลักเพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐาน การดำเนินธุรกิจสปา-นวดโดยตรง เป็นกฎหมายฉบับแรกของโลก ไม่มีในต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจนี้ รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพโดยตรง และตั้งแต่บัดนี้ธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของไทยจะไม่มีบริการแอบแฝงใดๆทั้งสิ้น เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนวดไทยให้สมศักดิ์ศรี ความเป็นมรดกของภูมิปัญญาไทย และจะเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในอนาคต”
ส่วนผู้จะมาเป็นผู้ให้บริการนวดต้องผ่าน”หลักสูตรวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง ที่สอนศิลปะการนวดเริ่มจากพื้นฐาน มารยาท การวางมือ ท่านวด การจัดท่านวด ตำแหน่ง และแนวเส้นที่นวด ข้อควรระวัง และข้อห้ามในการนวด เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ คนไข้จะได้รับการบำบัด ขจัดความเมื่อยล้า คลายเส้นที่ตึง ดึงเส้นที่หย่อนให้เข้าที่ ผ่อนคลายความเครียด สร้างเสริมความพร้อมและพลังกายให้มีสมรรถภาพ พร้อมที่จะประกอบการงานหรือออกกำลังกาย นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการนวดเพื่อสุขภาพและผ่อนคลายความเครียดอย่างถูกต้องตามแบบฉบับดั้งเดิมของวัดโพธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นแบบการนวดแผนโบราณของไทยและฝึกประสบการณ์ การนวดให้เป็นมืออาชีพ ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้
อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ได้สร้างผลเสียได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึก นวดไทยเป็นอันตราย ซึ่งถือเป็นจุดที่สังคมต้องตระหนัก โดยเฉพาะผู้ให้บริการนวดแผนไทยทุกคน ล้วนอยู่ในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์ เป็นผู้สืบทอด เป็นผู้แสดงให้ชาวโลกได้ประจักษ์ อย่าไป “ครูพักลักจำ” เอาศาสตร์อื่นมาผสมผสานกับนวดไทย และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาทบทวน “นวดไทย” ให้สมกับเป็นมรดกของชาติที่ดี อย่าทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ให้สมกับที่ “นวดไทย “ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น”มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”ประจำ ปีพุทธศักราช 2554 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “ตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”ในปีพุทธศักราช 2562 ซึ่งประกาศรับรองโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก -UNESCO) การขึ้นทะเบียนนี้เป็นการสร้างความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของนวดไทยในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในระดับสากล รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาศาสตร์ด้านการนวดไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง