‘สศช.’ เผยในช่วงการพัฒนาตาม ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ’ ฉบับที่ 12 พบความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูง ‘รายได้คนจนที่สุด-คนรวยที่สุด’ ห่างกันเกือบ 16 เท่า ขณะที่คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3 ของประเทศ ระบุแม้จำนวนยากจนจะลดลงเหลือ 6.48% แต่รายได้เฉลี่ยเติบโตเพียง 4.6% ต่อปี ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 15% ต่อปี
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เสนอ) แล้วให้นำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับดังกล่าวเสนอให้รัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนที่นำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต่อไป นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ภายใต้ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบดังกล่าว สศช.ได้นำเสนอรายงานบริบทของประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของบริบทการพัฒนาประเทศในมิติด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์ พบว่าในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แม้ว่าจำนวนคนจนจะลดลงต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูง
@ปี 63 สัดส่วนคนจนลดเหลือ 6.84% แต่การเติบโตของ ‘รายได้’ ต่ำกว่าเป้า
สศช. ระบุว่า จากการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในมิติต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนในภาพรวม และมีแนวโน้มสัดส่วนและจำนวนคนจนในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภายในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พบว่า สามารถลดสัดส่วนคนจนลงจากร้อยละ 8.6 ในปี 2559 เหลือร้อยละ 6.84 ในปี 2563
อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลระดับประเทศในระยะยาว การติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จึงเป็นค่าเฉลี่ยในภาพรวม ซึ่งไม่สามารถอธิบายพลวัตของความยากจนได้ว่า ครัวเรือนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลือที่สุดจะสามารถหลุดพ้นความยากจนได้หรือไม่
ทั้งนี้ กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.6 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่เฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยปัจจัยสำคัญมาจากการกระจายผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง รายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประซากรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และมีคนจนที่ยังคงติดอยู่ในกับดักความยากจนอย่างต่อเนื่อง
โดยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ รวมไปถึงการขาดหลักประกันและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอต่อการมีความมั่นคงในชีวิตของแรงงานนอกระบบ
รวมทั้งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้โอกาสในการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนเป็นไปได้ยากขึ้น จนมีแนวโน้มที่จะส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นไปยังลูกหลานต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพแรงงานและการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาวได้
@ความเหลื่อมล้ำรายได้สูงเกือบ 16 เท่า-คนรวย 10% ถือทรัพย์สิน 1 ใน 3
ขณะที่การกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมของประเทศไทยก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งในส่วนของ ความเหลือมล้ำด้านรายได้ ระหว่างคนจนและคนรวยในระดับสูง ที่พบว่ารายได้เฉลี่ยระหว่างของกลุ่มคนที่จนที่สุดกับกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุดมีความแตกต่างกันเกือบ 16 เท่า โดยกลุ่มรายได้สูงมีการเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นเร็วกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้มีรายได้สูงจึงมีโอกาสออมเงินและลงทุนในสินทรัพย์มากกว่า ส่งผลให้เกิดเป็นความไม่เสมอภาคของการถือครองทรัพย์สิน
โดยกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 มีการถือครองสินทรัพย์ในประเทศที่มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ บ่งบอกถึง ‘ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง’ ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา
อีกทั้งยังพบความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ จากการเจริญเติบโตและกระจุกตัวทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการค้า ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งมีสัดส่วนประชากรถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมกลับมีขนาดเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกว่า 2 เท่า และต่ำกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึง 3-4 เท่า
และนอกจากจะเป็นผลจากการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความแตกต่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรทรัพยากรและคุณภาพทุนมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาในระดับพื้นที่ โดยกรุงเทพฯ และภาคกลาง มีดัชนีความก้าวหน้าของคนสูงกว่าภูมิภาคอื่นเกือบทุกด้าน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ อาทิ ด้านสุขภาพ การศึกษา ชีวิตการงาน รายได้ ตลอดจนการคมนาคมและการสื่อสาร
@‘กิจการรายใหญ่’ มีความสามารถในการผลิตต่ำกว่า ‘บริษัทข้ามชาติ’
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหา ความเหลื่อมล้ำในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างกิจการที่มีขนาดต่างกันในระดับสูง โดยกิจการรายใหญ่ของไทยที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงมีความสามารถในการผลิตต่ำกว่าบริษัทข้ามชาติ ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีจำนวนกว่าร้อยละ 99 ของกิจการทั้งหมดและจ้างงานกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศกลับมีสัดส่วนมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียงร้อยละ 34.2 ในปี 2563
แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถเพิ่มบทบาทให้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 50 โดยข้อจำกัดในการเติบโตของวิสาหกิจขนาดย่อมที่ไม่สามารถพัฒนาสู่การเป็นวิสาหกิจขนาดกลางได้ ประกอบด้วย การเข้าถึงเงินทุนเพื่อขยายกิจการ การพัฒนาผลิตภาพและระบบบริหารจัดการ ความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยี หรือการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
สะท้อนถึงปัญหาการขาดความสามารถในการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ทั้งเพื่อเผชิญวิกฤติและเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
@วิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทุกมิติของไทยรุนแรงขึ้น
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติของประเทศไทยถูกฉายภาพให้เด่นชัดและทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่าคนจนและผู้ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าประชากรทั่วไป เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่มีเงินออมและขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีโอกาสถูกเลิกจ้างงานได้ง่าย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงทางสุขภาพสูงจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะและการมีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแออัดไม่ถูกสุขลักษณะ โดยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับป้องกันและควบคุมโรคได้เท่าผู้ที่มีฐานะดี
ในขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังอาจนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เนื่องจากขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ ขาดทักษะดิจิทัล ขาดทุนในการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ยิ่งขาดโอกาสในการมีส่วนได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ การเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ หรือกระทั่งการได้รับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ” รายงานฯระบุ
@การเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศรุนแรงขึ้น
ในส่วนของโครงสร้างประชากรของประเทศ พบว่าสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี 2548 โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุรวมกว่า 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.57 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในปี 2566 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไทยจะกลายเป็น สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 สูงถึงร้อยละ 20.1 ของประชากรทั้งหมด
สวนทางกับประชากรวัยเรียนและวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 3-21 ปี ที่จะมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงร้อยละ 20.66 ของประชากรทั้งหมดในปี 2570 หรือลดลงกว่า 715,000 คน ภายในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอาจส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงกว่ากลุ่มผู้มีอายุน้อย และการที่ประชากรวัยแรงงานที่มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานในประเทศ ตอกย้ำความจำเป็นในการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจความสามารถในการแข่งขัน และผลิตภาพแรงงาน รวมถึงความต้องการงบประมาณเพื่อเป็นสวัสดิการรองรับวัยเกษียณ จากอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานและภาระทางการคลังในด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
@‘ทักษะด้านการอ่าน-การศึกษาหาความรู้’ ของคนไทยที่ช่วงวัยลดลง
ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลของการยกระดับสุขภาวะ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สะท้อนว่าคนไทยทุกช่วงวัยมีความรู้ความสามารถโดยรวมเพิ่มขึ้น
แต่กลับพบว่ามีทักษะด้านการอ่านหรือการศึกษาหาความรู้ลดลง และมีจำนวนเยาวชนที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงานใดๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ศักยภาพของเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งประเด็นด้านการพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์เชิงคุณภาพเป็นความท้าทายที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด จากระบบและคุณภาพการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
จากรายงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ทำการทดสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนอายุ 15 ปี ทั่วโลก ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน พบว่านักเรียนไทยร้อยละ 59.5 อยู่ในกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และมีนักเรียนไทยเพียงร้อยละ 0.18 ที่ทำคะแนนได้ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน และยังไม่มีระบบฐานข้อมูลอุปสงค์และอุปทานกำลังคนของประเทศเพื่อประกอบการวางแผนพัฒนากำลังแรงงาน ที่จะช่วยระบุถึงสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นของงานแต่ละอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากกว่าคุณวุฒิทางการศึกษา
จึงเป็นข้อจำกัดในการผลิตและยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสู่ฐานนวัตกรรม ที่มีแนวโน้มความต้องการทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น อาทิ ความรอบรู้ด้านดิจิทัล การจัดการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ โค้ดดิ้ง รวมไปถึงทักษะที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะทักษะทางพฤติกรรม อาทิ ทักษะมนุษย์ การคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม หรือความคิดสร้างสรรค์
ทั้งนี้ แนวโน้มโครงสร้างประชากรที่คาดว่าจะมีกลุ่มประชากรวัยเรียนลดลง ส่งผลให้การขยายสถานศึกษาในเชิงปริมาณลดความจำเป็นลง และเป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพ ความเสมอภาค และประสิทธิภาพทางการศึกษา
หากสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและความแพร่หลายของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้น ช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน อาทิ การเรียนรู้ทางไกล การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้ที่สนับสนุนศักยภาพรายบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
@สศช.เสนอในช่วง ‘แผนพัฒนาฯ’ ฉบับ 13 ต้องเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
จากการประเมินภาพรวมของบริบทและสถานะของทุนทางสังคมของประเทศไทย บ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ด้วยการกระจายโอกาส สร้างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้ ความมั่งคั่ง เชิงพื้นที่ และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ
โดยการกระจายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและเมือง เพื่อกระจายประโยชน์จากความเจริญทางเศรษฐกิจ กระจายโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์และดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่เมือง เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทั้งการเข้าถึงแหล่งความรู้ แหล่งเงินทุน และสวัสดิการทางสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรังและป้องกันการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น โดยเน้นส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนยากจน พร้อมทั้งพัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมที่มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตให้คนไทยได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสมเพียงพอ สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของการลดความเหลื่อมล้ำของศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจนั้น ควรมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถแข่งขันได้ และมีการเติบโตที่ยั่งยืน โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม อาทิ การสนับสนุนทางเทคโนโลยีและกลไกทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึง การยกระดับมาตรฐานและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มการเข้าถึงบริการและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกได้โดยง่าย
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : 'ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth'
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
วิรไท สันติประภพ : ถ้าความเหลื่อมล้ำรุนแรง..สังคมจะเปราะบางและแตกแยกมากขึ้น
กระทบศก.ร้ายแรง-เพิ่มเหลื่อมล้ำ! เหตุผล กขค.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’
ขยี้ปมเหลื่อมล้ำศก. เขย่าเก้าอี้ 'บิ๊กตู่' นโยบายรัฐเอื้อเจ้าสัว 5 ตระกูล 'รวยก้าวกระโดด' ?
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า