‘ผู้ว่าฯธปท.’ ห่วงสถานการณ์ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในไทยอาจรุนแรงขึ้น หลังเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเท่ากับก่อนโควิดในอีก 2 ปีข้างหน้า เหตุแรงงานเกือบ 20% ในภาคท่องเที่ยวยังมีรายได้ลดลง-หนี้สินเพิ่มขึ้น เตรียมออกมาตรการเพิ่มหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว เชื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไม่ทำให้นโยบายการค้าสหรัฐที่มีต่อไทยเปลี่ยนไปจากเดิม
....................
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2565 นั้น จะเป็นการฟื้นตัวในแง่ของตัวเลข และไม่ได้หมายความว่ารูปแบบหรือความรู้สึกของคนจะกลับเป็นเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ แม้ตัวเลขการส่งออกจะกลับมาดี แต่ไม่ได้มีนัยยะต่อการจ้างงานมากนัก ต่างจากภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ค้าส่ง ขนส่งและการขนย้ายคน ที่มีการจ้างงานเกือบ 20% ของการจ้างงานของไทย ซึ่งเมื่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาสู่ระดับ 40 ล้านคนนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกนาน นั่นก็หมายถึงรายได้ของแรงงานจำนวนมากที่ยังคงลดลง
“เราเชื่อว่าวิกฤติรอบนี้ แม้จะหนัก นาน และแก้ได้ ซึ่งเราก็มองเห็นว่าจะแก้แบบไหน แต่ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยว่า เมื่อการฟื้นกลับมา ความเหลื่อมล้ำจะหนักกว่าเดิมหรือเปล่า ซึ่งมันมีโอกาส เพราะวิกฤติที่เราเจอ โดนรากหญ้าเยอะ โดนครัวเรือนต่างๆ และหนี้ที่แบกก็มีอยู่เยอะ แล้วที่เราพูดมาตลอดว่า แบงก์ชาติกังวลหนี้สินครัวเรือน และตอนนี้เราเจอกับปัญหาเรื่องรายได้ เรื่องการจ้างงาน และภาระหนี้ที่แบกไว้ก็จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่…มีโอกาสที่ความเหลื่อมล้ำตรงนี้จะหนักขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า ธปท.พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงการฟื้นตัว แต่จะไม่ใช่มาตรการแบบเฉพาะหน้าเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมองไปข้างหน้า 2 ปีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
“เรากำลังทำงานกันอยู่ คือ กำลังดูมาตรการต่างๆที่จะต้องออกเพิ่มเติม ซึ่งเราจะดูแบบที่ไม่ใช่เฉพาะหน้า แต่ให้มองไปข้างหน้า 2 ปี ให้คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะไปดูว่าตรงนี้จะไปช่วยเสริมตรงนั้นได้หรือเปล่า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ซึ่งผ่านมาแล้ว 8 เดือนว่า แม้ว่าจะเป็นที่น่าดีใจว่าการส่งออกของไทยค่อยๆกลับมาแล้ว แต่การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 นั้น คล้ายกับหลุมที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมี 40 ล้านคน และสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของจีดีพีนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 80% ก็ต้องพิจารณาว่าจะถมหลุมนี้กันอย่างไร
“ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติมี 40 ล้านคน แต่สมมุติว่าปีนี้มา 8 ล้านคน หรือพูดง่ายๆคือนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมา 80% และเมื่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของเรามันอยู่ที่ 11-12% ของจีดีพี พูดง่ายๆ คือ 11-12% ของจีดีพี มันลดลงไป 80% เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติ นั่นคือไซด์ของหลุมที่หายไป ส่วนปีหน้าเทียบกับปีนี้ อย่างไรก็บวก แต่ผมกำลังเทียบกับไซส์เดิม ซึ่งนี่คือไซส์ของหลุมที่จะต้องถม และจะถมอย่างไร” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า “เมื่อหลุมมันใหญ่ ก็ต้องหาวิธีถมหลุม แต่การถมหลุมโดยใช้มาตรการทางการเงินมันมีข้อจำกัด…และบทบาทของเรา (ธปท.) ไม่ใช่การไปจ้างคนสร้างถนน แต่คนที่เป็นกองหน้า คือ กระทรวงการคลัง ถ้าเป็นเอกชนก็ต้องเป็นบริษัทต่างๆ ส่วนเราและแบงก์จะทำหน้าที่เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นให้ทุกอย่างมันเดินได้
ขณะที่นโยบายของธปท.ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “นโยบายการเงินหลักๆเลย คือ เราจะไม่ให้เรื่องสภาพคล่อง ไม่ให้เรื่องนโยบายการเงินอะไรต่างๆไปเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างหนี้” พร้อมระบุว่า “ท้ายที่สุดแล้วมาตรการที่ออกมา ต้องครบ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้องออกพร้อมกัน”
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ได้กล่าวถึงการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่มาตรการแบบปูพรม ว่า ธปท.มองว่าการพักหนี้แบบปูพรม เหมาเข่ง มีผลกระทบข้างเคียงมาก โดยเฉพาะเรื่อง Moral Hazard หรือการสร้างแรงจูงใจที่ผิด ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปนั้น แม้จะเหมือนกับเป็นการแช่แข็งหนี้เอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะหยุด เพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่
“เราใช้เวลาคิดหนักว่าจะไม่ต่อแบบปูพรมแล้ว เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม มีผลข้างเคียงมีเยอะ และส่วนหนึ่งเราเองมองว่ามันแก้แบบเหมาเข่งไม่ได้แล้ว ต้องแยกแยะระหว่างคนที่จ่ายได้กับคนที่จ่ายไม่ได้ และคนที่จ่ายไม่ได้จะปรับอย่างไร…ต้องให้คนที่รู้ คนที่ใกล้ชิดกับลูกหนี้แก้ เพราะมันเป็น Mass ซึ่งแบงก์เองยังมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่แก้ได้ เราจึงให้เขาเป็นคนนำ โดยที่เราเป็นคนสนับสนุนและติดตาม” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังเปรียบเทียบมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามวิธีการใหม่ว่า “ของเดิมเหมือนกับการเอาของไปใส่ในตู้เย็น เรานึกว่ามันแช่ จริงๆมันไม่ใช่ เพราะมันป่องไปเรื่อยๆ เมื่อเปิดตู้เย็นมาอีกทีของก็พอง วิธีการแนวเดิมจึงไม่เหมาะกับบริบทนี้แล้ว แนวทางแก้ปัญหาหนี้จึงไม่ใช่การปูพรม แต่ต้องแก้ให้ตรงจุดมากขึ้น จากเดิมที่เราพยายามแช่แข็ง ก็เปลี่ยนมาเป็นการฟื้นฟู และการปรับโครงสร้างหนี้อะไรต่างๆ ไม่ใช่แค่พัก”
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า วันนี้ธปท.ได้ดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด แต่ต้องยอมรับว่ามีเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.ได้ ซึ่งธปท.จะต้องปรับปรุงมาตรการต่อไป โดยจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
“สภาพคล่องที่มีอยู่มันไม่ไปในที่ที่ควรจะไป หรือไปถึงคนที่ต้องการ ซึ่งก็คือเอสเอ็มอี เพราะมันมีปัญหา Credit Risk (ความเสี่ยงเครดิต) แบงก์ไม่อยากปล่อย เพราะมองว่าเสี่ยง…ดอกเบี้ยที่ได้ไป 2% ไม่คุ้มกับความเสี่ยง ดังนั้น เมื่อประเด็นจริงๆเป็นเรื่องความเสี่ยง ก็ต้องไปหาวิธีแก้เรื่องความเสี่ยง ก็เป็นเรื่องที่บสย.ต้องมาเสริม อย่างซอฟท์โลนที่เราทำ ยอมรับว่ามีข้อจำกัดอยู่และควรจะปรับปรุง แต่ก็อย่างที่ทราบการแก้กฎหมายต้องใช้เวลายาว” นายเศรษฐพุฒิระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ว่า ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าหาก โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำให้นโยบายการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทยแตกต่างไปจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เลย เพราะสหรัฐก็คือสหรัฐ
“ผมไม่ได้คาดหวังว่าถ้าไบเดนมา เรื่องการค้าจะแตกต่างจากทรัมป์อย่างมหาศาล เพราะอเมริกาก็คืออเมริกา รีพับลิกันก็คืออเมริกา เขาก็ต้องเอาผลประโยชน์ของเขา และเรื่องการตีต่างชาติก็เป็นการหาคะแนนเสียงที่ดี สำหรับทั้งเดโมแครตหรือรีพับลิกัน เพราะชาตินิยมทั้งคู่ และในแง่การค้า เรา (ไทย) โดนตัด GSP ตอนก่อนเลือกตั้ง เมื่อไบเดนมา ก็มีโอกาสที่เราจะโดนอีก” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า “ไม่ว่าไบเดนจะมา หรือทรัมป์จะมา วิธีที่เราจะรองรับความไม่แน่นอนที่ดีที่สุด คือ ผมอยากเห็นว่าเราอยากทำอะไรมากกว่า เช่น แง่ในฝั่งการค้า ยุทธศาสตร์ของเราคืออะไร เพราะภาพนี้ไม่เคลียร์มานานแล้ว อย่างเรื่องทำสัญญาต่างๆ เช่น CPTPP ,RCEP และ FTA เราจะไปอย่างไร ยุทธศาสตร์การค้าเราจะเอาอะไร เพราะมันไม่ค่อยชัดมานานแล้ว ผมเทียบเคียงกับเวียดนาม เขาวิ่งไปทำสัญญาการค้า จนเขามี FTA เป็น 2-3 เท่าของเรา เขาแอคทีฟเรื่องนี้มาก เขามีภาพชัดว่าเขาอยากไป แต่ของเราเรื่องพวกนี้ยังไม่เคลียร์”
อ่านประกอบ :
ธปท.ห่วงแรงงาน 3.3 ล้านคนขาดรายได้-เกาะติดปัจจัยการเมืองฉุดความเชื่อมั่น
โควิดซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนพุ่ง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ห่วงฉุดการฟื้นตัวศก.-เร่งสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/