"...ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนแรงงานทักษะสูงยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานยังอยู่ในระดับสูง คำถามสำคัญจึงตามมาว่า ลำพังแต่ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่? นโยบายการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานในอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมาตรการยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วให้สูงขึ้น และพัฒนาตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น..."
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.
งานวิจัยของ รศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ Dr. Lusi Liao นักวิจัยที่ Institute of Strategy Research for the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area ประเทศจีน ได้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบปรากฏการณ์ “ค่าจ้างสองขั้ว” (wage polarization) ในตลาดแรงงานไทย โดยค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะต่ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มคงที่
ดร.ศศิวิมล ให้รายละเอียดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ความต้องการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (Skill-biased technical change: SBTC) ได้รับค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานของแรงงานในชนบทไปสู่การทำงานในพื้นที่เขตเมือง และการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทำให้ระดับค่าจ้างที่แท้จริงต่อหัวของแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทยได้ โดยทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงาน (Wage gap) ในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากวัดราคาของทักษะแรงงาน (skill price) ด้วยการสร้างดัชนีสะท้อนทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพที่แรงงานจำเป็นต้องใช้ในแต่ละอาชีพ แต่ละอุตสาหกรรม และประมาณการอัตราผลตอบแทนของแต่ละทักษะ พบว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผลตอบแทนของงานที่เน้นทักษะทางปัญญา เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนของงานที่เน้นทักษะทางกายภาพ สะท้อนความต้องการในตลาดแรงงานไทยที่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางปัญญามีระดับสูงกว่าแรงงานที่มีทักษะทางกายภาพ และทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางปัญญาและแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางกายภาพมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนแรงงานทักษะสูงยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานยังอยู่ในระดับสูง คำถามสำคัญจึงตามมาว่า ลำพังแต่ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่? นโยบายการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานในอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมาตรการยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วให้สูงขึ้น และพัฒนาตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น