"...การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะที่ผ่านมา ยังมีความไม่เท่าเทียมกันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายรูปแบบ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคงและรายได้ และด้านการกระจายโอกาส อาทิ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดยังแตกต่างกันมากกว่า 15 เท่า..."
....................................
“…นโยบายการเงินการคลังที่ดี
ไม่ได้แค่ระมัดระวังเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่นโยบายการเงินการคลังที่ดี คือ นโยบายการเงินการคลังที่ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน โดยคำนึงถึงวินัยด้านการเงินการคลัง
รัฐบาลนี้ตระหนักดี รัฐบาลนี้ทราบดีอยู่ว่า สถานภาพการเงินการคลังของเราเป็นอย่างไร ตรงไหนที่เราทำได้ ตรงไหนที่เราควรทำ เรารับฟังเสียงติชมตลอด รับฟังข้อเสนอแนะตลอด อยากให้เดินไปข้างหน้าได้ด้วยความมีเสถียรภาพ รักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ไม่อย่างนั้น สังคมจะเดินต่อไปไม่ได้ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐานะ สูงเหลือเกิน’ ที่เรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันหลายๆเรื่อง หลายๆท่านก็พูดว่า เป็นเรื่องของความคิด และเรื่องของอะไรหลายๆอย่าง
แต่หลายๆอย่าง ก็เกิดมาจากปัญหาของ ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ’ ระหว่าง ‘คนที่มี’ กับ ‘คนที่ไม่มี’ เราต้องช่วยมองอย่างเป็นธรรม เราต้องช่วยมองอย่างชัดเจน ว่า เราอยู่กันไม่ได้หรอกครับ ถ้าเกิดรัฐบาลไม่ช่วย แต่การช่วยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตของการทำงานของรัฐบาล ต้องกระตุ้นให้ตรงจุด ต้องมีวิธีการที่ชัดเจน…”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดตอนหนึ่งของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ได้กล่าวภายในงาน ‘Dinner Talk : Thailand Future อนาคตประเทศไทย 2024’ จัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนมุมมองของ เศรษฐา ที่มองว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับ ‘สูง’ และเป็นโจทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
(เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ปาฐกถาภายในงาน ‘Dinner Talk : Thailand Future อนาคตประเทศไทย 2024’ จัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่่ 24 ต.ค.2566)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสถานการณ์ ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม’ ล่าสุด ผ่าน ‘รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12’ ซึ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อกลางเดือน ก.ย.2566 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้
@คนจน 10% ล่างสุด มีสัดส่วน‘หนี้สินต่อรายได้’ 18.6 เท่า
ผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565)
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนไทยปรับตัวดีขึ้น และสัดส่วนคนจนลดลง
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนประชากรใต้เส้นความยากจนปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.83 ในปี 2560 เหลือร้อยละ 6.32 ในปี 2564 ซึ่งบรรลุเป้าหมายของแผนฯ ที่กำหนดให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนฯ
เนื่องจากภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้น จาก 0.453 ในปี 2560 เป็น 0.430 ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยังไม่บรรลุตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ 0.41
นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนยากจนร้อยละ 10 ที่มีรายได้ต่ำสุด ลดลงจาก 19.1 เท่า ในปี 2560 มาอยู่ที่ 18.6 เท่า ในปี 2564
นอกจากนี้ ประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นจาก 3,425 บาท/คน/เดือน ในปี 2560 เป็น 3,921 บาท/คน/เดือน ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวในช่วงปี 2560-2564 พบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างประชากรในกลุ่ม bottom 40 ที่ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.87) เป็นผู้ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economically Inactive) ได้แก่ผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก เด็กนักเรียน แม่บ้าน ผู้ป่วย ผู้พิการ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร และมีการศึกษาระดับประถมศึกษา ทำให้มีข้อจำกัดในการยกระดับรายได้
ประกอบกับในช่วงปี 2563-2564 เกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง กระทบกับรายได้ประชากร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย จึงทำให้อัตราการขยายตัวของรายได้ประชากรในกลุ่ม bottom 40 ยังไม่บรรลุตามค่าเป้าหมาย
@ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูง ยัง‘กระจุกตัว’ในพื้นที่กรุงเทพฯ
คนไทยเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมของภาครัฐเพิ่มขึ้น
การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและระบบสาธารณสุขดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล โดยด้านการศึกษาในภาพรวม พบว่า
ผลคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทุกระดับชั้น (ป.6 ม.3 และ ม.6) ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36.75 จากร้อยละ 36.25 และ 35.97 ในปี 2560 และปี 2562 ตามลำดับ แต่ยังต่ำกว่าการผ่านเกณฑ์คะแนน ร้อยละ 50 ซึ่งกำหนดเป็นเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
ขณะที่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของพื้นที่ที่มีคะแนนสูงที่สุด (กรุงเทพมหานคร) และมีคะแนนต่ำที่สุด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พบว่า มีส่วนต่างของคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.79 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 9.87 ในปี 2564 ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากกว่าพื้นที่อื่น
นอกจากนี้ โรงเรียนขนาดใหญ่มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร จัดสรรตามขนาดโรงเรียน จึงยังคงมีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศมีความเข้มแข็ง จากสัดส่วนประชากรต่อบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ จำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน ลดลงจาก 1,843 คนในปี 2560 เหลือ 1,680 คนในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีปัญหาการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ในภาคต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล พบว่า ในปี 2564 กรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน เท่ากับ 515 คน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน เท่ากับ 2,761 คน แตกต่างกันมากถึง 5 เท่า
เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินค้าชุมชนต่อเนื่องจากปี 2560 โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP จำ นวน 153,467 ล้านบาท เป็นจำนวน 244,778 ล้านบาท ในปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.5 เมื่อเทียบจากปี 2560 สะท้อนถึงการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่ครัวเรือนที่เข้าถึงแหล่งทุนยังคงมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 83.9 ในปี 2560 มาอยู่ที่ ร้อยละ 82.38 ในปี 2564
(ที่มา : รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ,สศช.)
@รายได้‘คนรวยที่สุด-คนจนที่สุด’ยังห่างเกิน 15 เท่า
ประเด็นการพัฒนาในระยะต่อไป สู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
มิติด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์
การติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศมิติด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พบว่า มีความก้าวหน้าตามเป้าหมายของแผนหลายประการ และเป็นไปตามกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
อาทิ สถานการณ์ด้านความยากจนปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนคนยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น ช่องว่างสัดส่วนรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจนมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในด้านความเสมอภาคและความเท่าเทียม พบว่าความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะที่ผ่านมา ยังมีความไม่เท่าเทียมกันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายรูปแบบ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคงและรายได้ และด้านการกระจายโอกาส
อาทิ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดยังแตกต่างกันมากกว่า 15 เท่า คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าคนรวย นอกจากนี้ ผู้ที่มีรายได้น้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ที่มีคุณภาพ
ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ การพัฒนาในระยะต่อไปต้องมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสวัสดิการ และมาตรการช่วยเหลือแก่ประชาชนในแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหา
อาทิ การเพิ่มช่องทางในการสร้างอาชีพแก่กลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อให้สามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยออมและลงทุนในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดการก่อหนี้นอกระบบ และปลูกฝังทัศนคติการวางแผนการออมและการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม
พร้อมทั้งเร่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล โดยการกระจายบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์สู่ทุกภูมิภาคอย่างครบคลุม ทั่วถึง ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับเดียวกันทั่วประเทศ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการคลังจากงบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นอกจากนี้ ต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค โดยปรับปรุงการบริหารจัดการการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาลงสู่ทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียม และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กในภูมิภาคต่างๆ
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับรวมทั้งพัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับยุคใหม่ และเพิ่มอัตรากำลังครูคุณภาพให้กระจายสู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศอย่างเหมาะสม
@ลงทุน‘ทุนมนุษย์’แก้ติดกับดักยากจน-ปท.รายได้ปานกลาง
ด้าน ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2566 ในงาน Equity Forum 2023 ‘ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ’ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2566 ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-66) รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนที่ยากจนพิเศษมีแนวโน้มลดลงจากโควิด-19
ส่งผลให้จำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 ไปจนถึงปี 2566 (ปี 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 1.8 ล้านคน) โดยเฉพาะในปี 2565 จำนวนนักเรียน ‘ยากจนพิเศษ’ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุด 1.3 ล้านคน ก่อนลดลงเหลือ 1.25 ล้านคน ในปี 2566 และหวังว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวอันเนื่องจากโควิด-19
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า ยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น
“จากตัวเลขรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีบุตรหลานในระบบการศึกษา พบว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดยังคงมีรายได้ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 โดยในปี 2562 (ภาค 1 ปีการศึกษา 2562) รายได้เฉลี่ยที่เคยอยู่ที่ 1,250 บาท/คน/เดือน ได้ลดลงมาเหลือ 1,039 บาท/คน/เดือน ในปี 2566 (ภาค 1 ปีการศึกษา 2566)
ลองนึกดูว่าถ้าผู้ใหญ่ 1 คน มีเงินแค่วันละ 30 บาท จะมีความเพียงพอในการเลี้ยงดูตนเองหรือไม่ และหากผู้ใหญ่เหล่านี้มีบุตรหลาน 1-2 คน อยู่ในครัวเรือน ถามว่าเขาจะมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาใช้ในการดูแลเด็ก 1 คนให้ไปจนสุดทางความสามารถในระบบการศึกษาได้อย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง” ไกรยส กล่าว
ไกรยส ระบุว่า ที่ผ่านมา กสศ.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายมาตลอดว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือ การลงทุนในเด็กและการพัฒนาทุนมนุษย์ เราจึงขอย้ำในประเด็นนี้อีกครั้งว่า ประเทศไทยควรลงทุนให้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน ซึ่งมี 2.8 ล้านคน ให้มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและไม่หลุดออกนอกระบบ
“ถ้าเด็กเหล่านี้ เยาวชนเหล่านี้ ไปต่อได้ ถามว่าคุ้มค่ามีแค่ไหน เราก็มีสถิติว่า ถ้าวุฒิ ป.6 จะมีรายได้เฉลี่ย 9,000 บาท/เดือน ถ้าวุฒิ ม.ต้น ก็ 10,000 บาท/เดือน ถ้าวุฒิ ม.ปลายหรือ ปวช. ก็ 13,000 บาท/เดือน และถ้าเป็นวุฒิ ปริญญาตรี 2.7 หมื่นบาท/เดือน โดยประเทศไทยมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาท/เดือน
และถ้าเราต้องการออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้จะต้องอยู่ที่เฉลี่ย 38,000 บาท/เดือน ตรงนี้ยังห่างอยู่ 40% ถ้าประเทศไทยอยากไปถึงตรงนั้น เราต้องขจัดจุดที่รั่วไหลของระบบการศึกษา และผลักดันให้เด็กไทยจบเทียบเท่าหรือสูงกว่าระดับปริญญาตรีให้มากขึ้น…
แต่การจะพาคนออกจากกับดักความยากจน พาประเทศออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปพร้อมๆกัน เราต้องลงทุนในทุนมนุษย์ ซึ่งเราอยากบอกกับสังคมไทยว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ในขณะที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษานั้น ไม่ใช่การสงเคราะห์ ไม่ใช่การจ่ายเป็นรายจ่าย แต่เป็นการลงทุน” ไกรยส ย้ำ
@TDRI หวังคนไทยกดดัน‘ฝ่ายการเมือง’ลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุน
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในวงเสวนาฯ ‘การลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่ออนาคตของประเทศ’ ตอนหนึ่งว่า ในฐานะพลเมืองที่เข้มแข็ง สิ่งที่ทุกคนช่วยกันได้ คือ การช่วยกันกระทุ้งและกดดันให้ฝ่ายการเมืองนำทรัพยากรของประเทศไปใช้ในสิ่งที่ควรทำ และอย่าเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่ควรทำ
“เราต้องช่วยขยับนโยบายด้วยการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ช่วยกันพูด ช่วยกันกระทุ้ง ช่วยกันกดดันฝ่ายการเมืองให้เอาทรัพยากรไปใช้สิ่งที่ควรจะทำ และอย่าเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ส่วนอะไรที่ไม่ควรจะทำนั้น ถ้าติดตามข่าวสารก็จะรู้ว่าผมพูดถึงอะไร
เพราะถ้าเอาเงินก้อนนั้น ซึ่งใหญ่มาก ไม่บอกว่าใหญ่แค่ไหน แต่คิดเป็น 3% กว่าๆของจีดีพี ถ้าเอามาทำให้คนไทยหายยากจน หายพ้นทุกข์กัน ก้อนเดียวนี้ช่วยไปได้มากมายหลายปี แต่ถ้าเอามาทำแบบที่ทำอยู่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นิดหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะวูบไป เพราะฉะนั้น ต้องใช้เงินให้ถูก” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.นฎา วะสี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ตนสนับสนุนแนวทาง กสศ. คือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งได้ผลดี และจากผลศึกษาในต่างประเทศ โดยมองคนไปตลอดช่วงชีวิตแล้ว พบว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของรายได้ ถูกอธิบายด้วยปัจจัยตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ไปวิจัยเรื่องตลาดแรงงานกับการศึกษาของไทย พบว่ามีเรื่องที่น่ากังวล คือ แม้ว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยจะมีระดับการศึกษาสูงขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสในการศึกษาสูงขึ้น แต่กลับพบว่าแรงงานไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา
“วัตถุประสงค์ของการทำให้คนมีทักษะมากขึ้น มีการศึกษาเพิ่มขึ้น คือ เมื่อเข้าสู่วัยแรงงานแล้ว เขาจะมีรายได้ดี มีเงินเก็บ มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปจนตลอดชีวิต และถ้าดูภาพตลาดแรงงานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าคนไทยมีระดับการศึกษาสูงขึ้นจริง มีโอกาสในการศึกษาสูงขึ้น ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น และทำงานในตลาดแรงงานมากขึ้น
แต่ภาพที่ดูน่ากลัว คือ ถ้ามีความต้องการคนที่มีทักษะสูงจริง เราก็ควรจะเห็นค่าจ้างเพิ่มขึ้น คนจบปริญญาตรีรายได้ต้องสูงกว่ามัธยม จบมัธยมรายได้ต้องสูงกว่าประถม แต่จริงๆแล้ว โอกาสที่คนจะมีรายได้ดี มีรายได้สูง ไม่ค่อยมาก โดยงานที่มีรายได้สูง เช่น งานผู้บริหาร หมอ วิศวกร มีเพียง 13% จากคนจบปริมาณตรีที่มีสัดส่วน 22% ในปัจจุบัน
โดยภาพที่เราเห็น 30 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่าคนจบปริญญาตรีจำนวนมากขึ้น ย้ายไปทำงานระดับกลางๆ และรายได้ไม่สูงนัก ส่วนคนจบมัธยมก็ไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำลงมา ดังนั้น มันจึงอยู่ที่ว่าเราจะสร้างงานอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นไปได้ว่า ทุนมนุษย์เรายังไม่พอ พวกงานดีๆ จึงยังไม่เข้ามาสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องไก่กับไข่” ดร.นฎา ระบุ
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ในห้วงเวลาจากนี้จะเป็นอย่างไร และจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากน้อยเพียงใด?
อ่านเพิ่มเติม : รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
อ่านประกอบ :
คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’
สมองVSแรงงาน : ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแนวโน้มสูงขึ้น
ครม.ไฟเขียวตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่อง 538 รร.
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
ผ่า'ร่างแผนความมั่นคงฯ' 5 ปี มองไทยในวงล้อม 2 มหาอำนาจ 'สังคมเหลื่อมล้ำ-ทุจริตทุกระดับ'
เปิดรายงาน ‘สภาพัฒน์’ เผย ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังสูง-คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : 'ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth'
วิรไท สันติประภพ : ถ้าความเหลื่อมล้ำรุนแรง..สังคมจะเปราะบางและแตกแยกมากขึ้น
‘เหลื่อมล้ำ’หนักขึ้น! ผู้ว่าฯธปท.มองภาพศก.หลังพ้นโควิด-รื้อเกณฑ์ซอฟท์โลนอุ้มSME
ขยี้ปมเหลื่อมล้ำศก. เขย่าเก้าอี้ 'บิ๊กตู่' นโยบายรัฐเอื้อเจ้าสัว 5 ตระกูล 'รวยก้าวกระโดด' ?
รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า