“…การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. มีผลเช่นเดียวกันกับกรณีที่ประธานกรรมการฯไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่กรณีที่ประธานกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ธปท. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ จึงสามารถเป็นประธานในที่ประชุมได้…”
..........................................
จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีที่ประธานกรรมการ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (เรื่องเสร็จที่ 75/2568)
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้วินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ธปท. ที่เหลืออยู่ ‘ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้’ หลังจาก ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธปท. ครบวาระในการดำรงตำแหน่ง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานฯต่อไปได้ ภายหลังวันที่ 9 ม.ค.2568 เพราะรักษาการในตำแหน่งครบ 120 วันแล้ว
รวมทั้งได้วินิจฉัยว่า ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการ ธปท. สามารถทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการ ธปท. และสามารถออกเสียงเพิ่มขึ้น ‘เสียงหนึ่ง’ เป็นเสียงชี้ขาดได้ นั้น (อ่านประกอบ : ‘กฤษฎีกา’ชี้‘บอร์ด ธปท.’ปฏิบัติหน้าที่ได้ หลัง‘ปธ.’พ้นตำแหน่ง-‘ผู้ว่าฯ’นั่งหัวโต๊ะประชุม)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอข้อหารือของ ‘ธปท.’ ที่ยื่นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรายละเอียด ‘คำวินิจฉัย’ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
@‘ธปท.’ถาม 3 ประเด็น ปม‘ประธานบอร์ด’พ้นจากตำแหน่ง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือ ที่ ธปท. 62/2568 ลงวันที่ 3 ม.ค.2568 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า มาตรา 17 ประกอบกับมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551
บัญญัติให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ ธปท.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ
โดยคณะกรรมการ ธปท. มีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของ ธปท. เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. จะมีการประชุมเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อให้การดำเนินงานของ ธปท. เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
โดยที่ในภายหลังจากวันที่ 9 ม.ค.2568 นาย ป. (ปรเมธี วิมลศิริ) ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง และอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการฯ ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการฯ ได้ต่อไป
เนื่องจากครบกำหนด 120 วันแล้ว ตามมาตรา 19 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)ฯ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและความชัดเจน ธปท. จึงขอหารือ ดังนี้
(1) ภายหลังจากวันที่ 9 ม.ค.2568 ยังไม่มีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการฯ จะถือว่าคณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และคณะกรรมการดังกล่าว สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ตามมาตรา 19 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)ฯ หรือไม่
(2) จากกรณีข้อ (1) หากคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการฯ สามารถเป็นประธานในที่ประชุม และสามารถออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดในกรณีที่การวินิจฉัยของที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากันได้หรือไม่
และหากต้องมีการลงนามในเอกสาร เช่น รายงานประจำปีของคณะกรรมการ ธปท. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการฯ สามารถเป็นผู้ลงนามในเอกสารได้หรือไม่
(3) จากกรณีข้อ (1) หากคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในระหว่างนั้น ธปท. จะสามารถดำเนินการกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. ไปก่อน แล้วนำมาเสนอคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้สัตยาบันในภายหลังได้หรือไม่ หรือ ธปท. ควรจะดำเนินการอย่างไร ดังเช่นในกรณีต่อไปนี้
(3.1) กรณีที่ ธปท. จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดทำงบการเงินของ ธปท. ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร และรายงานประจำปีของคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)ฯ บัญญัติให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีการเงิน
(3.2) กรณีที่ ธปท. จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินภารกิจอันเป็นงานของธนาคารกลางโดยเร่งด่วน เช่น การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาล ซึ่งต้องมีการจัดซื้อกระดาษและหมึกพิมพ์เพื่อนำมาจัดพิมพ์ธนบัตรในช่วงเวลาตามแผนงาน
โดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบกับระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ อ 61/2565 เรื่อง การมอบอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ลงวันที่ 24 ธ.ค.2565 กำหนดให้คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างกรณีจัดหาด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงคราวหนึ่งเกิน 50,000,000 บาท
@ชี้‘บอร์ด ธปท.’ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ หลัง‘ปธ.’พ้นตำแหน่ง
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 3 ประเด็น และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ในกรณีที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ด้วยเหตุที่ล่วงพ้นระยะเวลา 120 วันนับแต่ครบวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการฯ ใหม่ จะถือว่าคณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่
เห็นว่า โดยที่มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 บัญญัติให้คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ
และรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 19 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559
ได้บัญญัติรองรับองค์ประกอบและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ ธปท. ในกรณีที่มีที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรานี้
ให้ถือว่า คณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และให้คณะกรรมการดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยจะต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอย่างน้อย 1 คน ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. โดยอนุโลม
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 19 วรรคสี่ ที่บัญญัติรองรับองค์ประกอบและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง มาใช้บังคับแก่กรณีที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ้นจากตำแหน่งด้วย
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงตามข้อหารือนี้ว่า ภายหลังจากวันที่ 9 ม.ค.2568 นาย ป. ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ต้องพ้นจากตำแหน่ง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ด้วยเหตุที่ล่วงพ้นระยะเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ครบวาระ ตามมาตรา 19 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว และยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการฯ ขึ้นใหม่ กับยังคงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น คณะกรรมการ ธปท. ย่อมประกอบด้วย กรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 วรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
@เจตนารมณ์กม.ต้องการให้‘บอร์ด ธปท.’ปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเนื่อง
ประเด็นที่สอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. จะสามารถเป็นประธานในที่ประชุม และออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดในกรณีที่การวินิจฉัยของที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในเอกสาร เช่น รายงานประจำปีของคณะกรรมการ ธปท. ได้หรือไม่
เห็นว่า แม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)ฯ ที่บัญญัติวิธีการประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ ธปท. ว่า
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม แต่ถ้าทั้งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้เลื่อนการประชุม เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการประชุมของคณะกรรมการ เฉพาะกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เท่านั้น โดยมิได้บัญญัติวิธีการประชุมสำหรับกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งไว้
อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรา 19 วรรคสี่ และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แม้ว่าประธานกรรมการฯ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
กรณีจึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท. เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. มีผลเช่นเดียวกันกับกรณีที่ประธานกรรมการฯไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่กรณีที่ประธานกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ธปท. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ จึงสามารถเป็นประธานในที่ประชุมได้
และเมื่อมาตรา 21 วรรคสาม ได้บัญญัติให้ในการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ดังนั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงสามารถออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้
สำหรับอำนาจลงนามในเอกสารของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ว่า จะลงนามแทนประธานกรรมการฯ ได้หรือไม่ นั้น
เห็นว่า โดยที่มาตรา 21 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ บัญญัติแต่เพียงให้รองประธานกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม โดยมิได้บัญญัติให้รองประธานกรรมการฯ ทำหน้าที่ประธานกรรมการฯ ด้วย
การพิจารณาเกี่ยวกับผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารแทนประธานกรรมการฯ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่า เป็นการลงนามในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. หรือเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานกรรมการฯ โดยเฉพาะ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. ที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร
โดยหากเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ ผู้มีอำนาจลงนามในเรื่องดังกล่าว ก็ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการนั้น
แต่หากเป็นกรณีที่ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นเรื่องที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการ ธปท. ก็ย่อมมีมติให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ลงนามในเอกสารนั้นได้
ประเด็นที่สาม ในกรณีที่คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ธปท. จะสามารถดำเนินการกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. ไปก่อน และเมื่อได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. แล้ว จะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้สัตยาบันในภายหลังได้หรือไม่
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วย กรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ความเห็นในประเด็นนี้อีก
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ เกี่ยวกับการ ‘ปฏิบัติหน้าที่’ ของคณะกรรมการ ธปท. หลังจากประธานบอร์ด ธปท. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง และไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก และยังคงต้องติดตามต่อไปว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสรรหา ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ คนใหม่ แล้วเสร็จเมื่อใด?
อ่านประกอบ :
‘กฤษฎีกา’ชี้‘บอร์ด ธปท.’ปฏิบัติหน้าที่ได้ หลัง‘ปธ.’พ้นตำแหน่ง-‘ผู้ว่าฯ’นั่งหัวโต๊ะประชุม
ฉบับเต็ม! บันทึกกฤษฎีกา ชี้ ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัติ หลุด 'ประธานบอร์ด ธปท.'
เบื้องหลัง'กฤษฎีกา'เสียงข้างมาก ชี้'กิตติรัตน์'ขาดคุณสมบัติ'ประธานบอร์ดธปท.'
สะพัด ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัติ ‘ประธาน ธปท.’ - พิชัย เตรียมเสนอชื่อสรรหาใหม่
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะเสนอชื่อ‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’นั่ง‘กรรมการ ธปท.’แทน‘พงษ์ภาณุ’
ตั้ง ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ ส่อลากยาว ‘กิตติรัตน์’ เจอตอ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
กระบวนการยังไม่เสร็จ เปิดเผยข้อมูลไม่ได้! 'สถิตย์' ตอบปมเลือกปธ.บอร์ดธปท.
คณะกก.คัดเลือก ฯ อุบชื่อ ประธานบอร์ด ธปท.-ไม่ให้สัมภาษณ์-แจกข่าวกระดาษแผ่นเดียว
กองทัพธรรม-ศิษย์หลวงตาบัว ยื่นหนังสือ ค้าน ‘กิตติรัตน์’ นั่ง ‘ประธานบอร์ดธปท.'
‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์ฯ’แถลงการณ์ ฉ.3 จี้‘คกก.คัดเลือก’อย่าตั้งคนใกล้ชิดการเมืองนั่ง‘ปธ.ธปท.’
'สวตท.-วตท.'ประกาศจุดยืน'เป็นกลาง'-ไม่ก้าวล่วงหนุน'กิตติรัตน์'นั่ง'ประธานบอร์ด ธปท.'
ล่าชื่อสนับสนุน‘กิตติรัตน์’นั่งเก้าอี้‘ประธานบอร์ด ธปท.’ หวังผลักดันปรับปรุงการกำกับ‘แบงก์’
นัดใหม่ 11 พ.ย.!‘สถิตย์’เลื่อนประชุมฯ-สะพัดขอเปลี่ยนตัว‘กิตติรัตน์’ชิง‘ประธานบอร์ด ธปท.’
ค้าน‘การเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’พุ่งเกือบ 1 พันคน ก่อนถกตั้ง‘ปธ.บอร์ด ธปท.’ 4 พ.ย.นี้
416 อดีต‘พนักงาน ธปท.’ร่อน‘จม.เปิดผนึก’ คัดค้าน‘การเมือง’แทรกแซงตั้ง‘ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำ‘ธนาคารกลาง’ต้องอิสระ ป้องกัน‘นโยบายการเงิน’ถูกกำหนดโดย‘นโยบายการคลัง’
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย