37 องค์กรผู้บริโภคฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ ขอเพิกถอนมติ กขค. อนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง ‘ซี.พี. รีเทลฯ-เทสโก้ สโตร์ส’ เหตุเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกม.-ใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมข้อเท็จจริง-เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 83.97%
...................
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 10.00 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ เป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครอง กรณีมีมติอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมาย
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้
1.ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจในตลาดค้าส่ง ค้าปลีกระหว่างบริษัท ซีพีฯ กับ บริษัท เทสโก้ฯ
2.หากศาลไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนมติดุงกล่าวตามข้อ 1 ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภค บริโภค ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ คือ
2.1 ให้บริษัท ซีพีฯ กับบริษัท เทศโก้ฯ ขายกิจการหรือทรัพย์สินบางส่วนที่เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคออกไปเพื่อไม่ให้อำนาจเหนือตลาดอันเป็นการผูกกขาดได้
2.2 ห้ามบริษัท ซีพีฯ ขยายสาขาเพิ่มขึ้นภายในเวลา 10 ปี ภายหลังการร่วมธุรกิจแล้ว
2.3 ให้เพิ่มเงื่อนไขด้านระยะเวลาจากเดิมที่คณะกรรมการเสียงข้างมากกำหนดไว้โดยขยายเวลาจากเดิม 5 ปี เป็น 10 ปี และจากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี
นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯยังขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปีกสมัยใหม่ของบริษัท ซีพีฯ และ บริษัท เทสโก้ฯ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพากษาถึงที่สุด
สำหรับประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯเห็นว่า มติกขค.ในการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
1.ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย เนื่องจากการอนุญาตดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในห่วงโซ่อุปทานตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นการทั่วไป ซึ่งกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
2.การกำหนดกรอบในการลงมติของคณะกรรมการเป็นการกำหนดกรอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปการลงมติ ต้องมีมติในประการแรกก่อน ว่าเห็นควรให้มีการควบรวมธุรกิจหรือไม่ หากมีมติให้รวมได้ คณะกรรมการจะต้องร่วมพิจารณาเงื่อนไขทางโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีอำนาจเหนือตลาด แต่การลงมติครั้งนี้กลับมีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะไม่มีสิทธิกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขการลงมติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและไม่ให้สิทธิกรรมการโดยเท่าเทียมกัน
3.ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะอนุกรรมการที่พิจารณาคำขออนุญาต ซึ่งอนุกรรมการบางคนอาจเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ขออนุญาตหรือไม่
4.การใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์และหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีแข่งขันทางการค้ามากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม
นอกจากนี้ มติดังกล่าวไม่มีความจำเป็นทางธุรกิจ หรือเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจไม่ได้มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ตรงกันข้ามกลับมีส่วนแบ่งในตลาดสูงถึงร้อยละ 69.3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอยู่แล้วเพราะมีส่วนแบ่งเกินร้อยละ 50 ขึ้นไป และเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.97 จึงถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจอย่างชัดเจน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ยังเห็นว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นการกินรวบ เพราะการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในสังคม เช่น น้ำท่วม หรือ โรคโควิด-19 ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากราคาสินค้าถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเหนือตลาด
มติดังกล่าวยังส่งกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม เมื่อจำนวนผู้แข่งขันในตลาดลดลง ผู้บริโภคย่อมมีทางเลือกในการซื้อสินค้าน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีอย่างน้อย 5 จังหวัดที่เดิมผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 100 อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้อาจเป็นช่องทางให้มีการกำหนดราคาสินค้าตามความต้องการของกลุ่มบริษัทผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจ และหากในอนาคตมีการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้นทุนสูง ผู้บริโภคอาจตกเป็นผู้รับภาระต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รวมถึงส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ การควบรวมทำให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMEs ผู้ผลิตสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง มีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือ อาจจำยอมต้องรับเงื่อนไขโดยไร้ข้อต่อรอง
ขณะเดียวกัน ยังทำให้คู่แข่งทางธุรกิจรายเดิมหรือรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้น จนต้องเลิกทำธุรกิจในที่สุด ส่งผลให้ผู้ขอรวมธุรกิจอาจเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพียงรายเดียวในตลาด ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลง และยังเป็นการทำลายธุรกิจคู่แข่งในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการในธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กในตลาดค้าปลีกค้าส่ง และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ในขณะที่เงื่อนไขเชิงพฤติกรรมก็อาจบังคับได้ยากหรือไม่ได้เลย โดยเงื่อนไขแต่ละข้อขัดแย้งกันเองและมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นเกินสมควร
“มติกขค.ดังกล่าวเป็นมติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ขัดต่อเจตนารมณ์ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และขัดกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มติดังกล่าวมีผลผูกพันให้มีการรวมธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย และ การบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงหรือประเภทเดียวกันในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งอาจยังเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอาศัยเป็นข้ออ้างเพื่อควบรวมธุรกิจ สู่การมีอำนาจเหนือตลาดเช่นเดียวกันได้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯระบุ
อ่านประกอบ :
'กขค.' กำกับธุรกิจค้าปลีก 'กลุ่มซีพี' ปฏิบัติ 7 เงื่อนไข หลังรวม 'เทสโก้ โลตัส'
เครือข่ายผู้บริโภคฯ ฟ้องศาลปค.ถอนมติ ‘กขค.’ อนุญาต ‘ซี.พี.’ควบ ‘เทสโก้ โลตัส’
‘ศาลปค.สูงสุด’ ทุเลาการบังคับคำสั่ง ‘กขค.’ ระงับ ‘นิสสัน’ เลิกสัญญา 7 ดีลเลอร์
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัย 'กขค.' อนุญาต 'ซี.พี.' รวม 'เทสโก้ โลตัส' มีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ผูกขาด
ผูกขาด-โกยรายได้ปีละ 9.5 แสนล.! ภาคประชาชน จี้‘กขค.’ทบทวนมติ ‘ซีพี’ ควบ ‘เทสโก้ โลตัส’
ห่วงผูกขาด! ครป.จี้รัฐทบทวนมติ ‘ซีพี’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’-กขค.เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน
กระทบศก.ร้ายแรง-เพิ่มเหลื่อมล้ำ! เหตุผล กขค.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’
ไม่เป็นการผูกขาด! คกก.แข่งขันการค้าฯไฟเขียว‘ซีพี’ควบรวม ‘เทสโก้ โลตัส’-กำหนด 7 เงื่อนไข
2 ปี ‘คกก.แข่งขันทางการค้า’ กับ 'การใช้ดุลพินิจ-ไม่เปิดคำวินิจฉัย'
สั่งปรับเซ็นทรัลฯ 5.9 ล.! ผิดกม.แข่งขันการค้า-กีดกัน ‘บ.คู่แข่ง’ เช่าพื้นที่ห้างขายคอนโด
เข้าข่ายค้าไม่เป็นธรรม! สอบ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่แอพฯ’ ตั้งเงื่อนไขห้ามร้านค้าใช้บริการเจ้าอื่น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage