‘ศาลปกครองสุด’ มีคำสั่งยืน ‘ทุเลาการบังคับ’ คำสั่ง ‘กขค.’ หลังให้ ‘บริษัท นิสสันฯ’ ระงับการยกเลิกสัญญา ‘ดีลเลอร์’ 7 ราย เหตุไม่เป็นอุปสรรคการบริหารงานของรัฐ
.................
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระงับ หยุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัท นิสสันฯ ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าดังกล่าว เป็นเพียงการกำหนดมาตรการตามมาตรา 60 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ที่ออกมาบังคับใช้ในระหว่างที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พิจารณาข้อร้องเรียนของผู้จำหน่ายว่า การที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ต่อสัญญากับผู้จำหน่ายของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ เท่านั้น
ดังนั้น แม้ศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังกับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวระหว่างการพิจรณาคดี กรณีก็มิได้มีผลกระทบต่อการพิจารณาว่า การไม่ต่อสัญญากับผู้จำหน่ายของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 หรือไม่ ประการใด
นอกจากนี้ หากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีคำวินิจฉัย ว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ก็ยังคงมีคำสั่งให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
สำหรับคดีมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2562 ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน ตามสัญญาผู้จำหน่ายระหว่างบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 17 ราย ได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีพฤติการณ์กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้จำหน่ายรายผู้ร้องทั้ง 17 ราย อย่างไม่เป็นธรรม
ต่อมาเมื่อวันที่ 23-24 ธ.ค.2562 ผู้จำหน่ายจำนวน 7 ราย ได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 6 ราย และผู้จำหน่ายรายอื่นอีก 1 ราย ได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพิ่มเติมว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือ ลงวันที่ 6 และลงวันที่ 20 ธ.ค.2562 แจ้งไม่ต่อสัญญาผู้จำหน่าย ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.2563 ไปยังผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย ดังกล่าว
ทั้งๆที่ผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสสันมาตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2543 และตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ใช้เกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของผู้จำหน่ายเป็นเกณฑ์ในการต่อสัญญา ซึ่งผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย ผ่านเกณฑ์การประเมินผลและได้รับการต่อสัญญามาโดยตลอด
แต่ในเดือน ธ.ค.2562 บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กลับแจ้งไม่ต่อสัญญากับผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุในการไม่ต่อสัญญาแต่อย่างใด ทั้งที่ผู้จำหน่ายทั้ง 7 รายผ่านเกณฑ์การดำเนินงานของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เช่นเดียวกันกับผู้จำหน่ายรายอื่นที่ได้รับการต่อสัญญา จึงมีความไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ
ส่วนที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อ้างว่าการไม่ต่อสัญญากับผู้จำหน่ายบางรายมีสาเหตุมาจากผู้จำหน่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้จำหน่ายมีพฤติกรรมการข่มขู่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และมีผู้จำหน่ายบางรายไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญานั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ต่อสัญญาผู้จำหน่ายให้แก่ผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย
และเห็นว่าในขณะที่พิจารณา มีเห็นอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กระทำการอันอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า อันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม มีลักษณะเป็นการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรระหว่างลูกค้าต่างรายและเป็นการปฏิเสธที่จะทำการค้ากับค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนหรือจะฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการแข่งทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำอันเป็นผลเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น พ.ศ.2560
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้จำหน่ายทั้ง 7 ราย คณะกรรมการการแข่งทางการค้า จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มีคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 ก.พ.2563 เรื่อง ให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระงับ หยุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์
โดยมีเงื่อนไขให้สัญญาผู้จำหน่ายระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้จำหน่ายแต่ละรายยังมีผลอยู่ต่อไป แม้ว่าสัญญาผู้จำหน่ายจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.2563 จนกว่าคณะกรรมการการแข่งทางการค้า จะมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้หรือจนกว่าจะเห็นว่าบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงรายละเอียดและแสดงพยานหลักฐานที่สามารถรับฟังได้ด้วยหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ
ต่อมาบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีคำขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งทางการค้า ที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 ก.พ.2563 และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2563 ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งทางการค้า ที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 ก.พ.2563 เรื่อง ให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระงับ หยุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลฯจะมีคำพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
จากนั้น บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 31 ก.ค.2563 ถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 6 ราย แจ้งยกเลิกการต่อสัญญาผู้จำหน่ายและขอยืนยันการแจ้งสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาผู้จำหน่าย โดยอ้างว่าเนื่องจากศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งทางการค้า ที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 ก.พ.2563 แล้ว
ดังนั้น บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของคณะกรรมการการแข่งทางการค้าอีกต่อไป จึงขอยืนยันการบอกเลิกสัญญาและขอยืนยันว่าสัญญาได้สิ้นสุดลงโดยชอบด้วยกฎหมายและสัญญานับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 แล้ว รวมทั้งขอยกเลิกการต่อสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งทางการค้า โดยให้มีผลในวันที่ 3 ส.ค.2563
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการแข่งทางการค้า และผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 6 ราย ได้แก่ บริษัท สยามนิสสันสิงห์บุรี จำกัด ,บริษัท สยามนิสสัน มาสเตอร์เซลล์ จำกัด ,บริษัท สยามนิสสัน นครราชสีมา จำกัด ,บริษัท สยามนิสสัน โคราช จำกัด ,บริษัท สยามนิสสัน ไทยอุดม (หนองคาย) จำกัด และบริษัท สยามนิสสัน อุดรธานี ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
ที่มา : คำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัย 'กขค.' อนุญาต 'ซี.พี.' รวม 'เทสโก้ โลตัส' มีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ผูกขาด
ผูกขาด-โกยรายได้ปีละ 9.5 แสนล.! ภาคประชาชน จี้‘กขค.’ทบทวนมติ ‘ซีพี’ ควบ ‘เทสโก้ โลตัส’
ห่วงผูกขาด! ครป.จี้รัฐทบทวนมติ ‘ซีพี’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’-กขค.เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน
กระทบศก.ร้ายแรง-เพิ่มเหลื่อมล้ำ! เหตุผล กขค.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’
ไม่เป็นการผูกขาด! คกก.แข่งขันการค้าฯไฟเขียว‘ซีพี’ควบรวม ‘เทสโก้ โลตัส’-กำหนด 7 เงื่อนไข
2 ปี ‘คกก.แข่งขันทางการค้า’ กับ 'การใช้ดุลพินิจ-ไม่เปิดคำวินิจฉัย'
สั่งปรับเซ็นทรัลฯ 5.9 ล.! ผิดกม.แข่งขันการค้า-กีดกัน ‘บ.คู่แข่ง’ เช่าพื้นที่ห้างขายคอนโด
เข้าข่ายค้าไม่เป็นธรรม! สอบ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่แอพฯ’ ตั้งเงื่อนไขห้ามร้านค้าใช้บริการเจ้าอื่น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage