เปิด 4 เหตุผล กรรมการแข่งขันทางการค้าฯ ‘เสียงข้างน้อย’ ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ รวมธุรกิจ ‘เทสโก้ โลตัส’ ชี้ทำเศรษฐกิจประเทศเสียหายร้ายแรง-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ส่งผลกระทบ 'คู่แข่ง-ซัพพลายเออร์-ผู้บริโภค'
.................
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และนางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงกรณีกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างน้อย ไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างกลุ่มซี.พี. และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น
2.ผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่ หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น
เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาด จะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง
3.ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่งร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านชูปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMES ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่สมารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด
4.ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคทั้งประเภทชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต นอกจากนี้ หากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีก ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า หากยอมให้มีการรวมธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้น จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และมีผลทำให้โครสร้างของตลาดค้าส่งค้าปลีกมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก อันจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางค้าในที่สุด จึงไม่เห็นชอบต่อการอนุญาตให้รวมธุรกิจ
ทั้งนี้ ในต่างประทศเมื่อมีการรวมธุรกิจที่มีการกระจุกตัวมากขนาดนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจากหนักไปเบา ได้แก่ ไม่อนุญาต อนุญาตแต่มีเงื่อนไข ด้านโครงสร้างประกอบกับด้านพฤติกรรม และเบาสุดเฉพาะมาตรการด้านพฤติกรรม (มติ กขค.เสียงส่วนใหญ่ใช้มาตการนี้)
อนึ่ง กรณีการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในต่างประทศ หากมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างตลาด องค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่างๆ จะมีทางเลือก 2 ทาง คือ ไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ หรืออนุญาตให้รวมธุรกิจอย่างมีเงื่อนไข โดยต้องมีมาตรการเยียวยาที่เน้นมาตรการโครงสร้างเป็นหลักควบคู่ไปกับมาตรการด้านพฤติกรรม โดยมาตรการด้านโครงสร้างที่ใช้แก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของตลาดในระดับพื้นที่ ได้แก่ การให้ขายกิจการบางส่วน หรือการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการให้เป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่อยู่ในตลาดเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขในการยับยั้งการเปิดสาขาใหม่ หรือในกรณีที่ไม่ถูกบังคับให้ขายร้านแต่จะมีการห้ามมิให้มีการขยายพื้นที่ในร้านค้าที่มีอยู่เดิม
นายสันติชัย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มี 3 เซ็กเมนต์ที่ทดแทนกันได้ คือ ร้านไฮเปอร์มาเก็ต (ร้านขนาดใหญ่) ร้านซูปเปอร์มาเก็ต (ร้านขนาดกลาง) และร้านคอนวีเนียนสโตร์ (ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก) ซึ่งเมื่อพิจารณาค่าการกระจุกตัวของตลาดผ่านดัชนี HHI พบว่าหลังควบรวมธุรกิจระหว่างกลุ่มซี.พี. กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ค่า HHI อยู่ที่ 4,000 และค่าการเปลี่ยนแปลง HHI อยู่ที่ระดับ 1,700 ซึ่งสะท้อนได้ตลาดมีการกระจุกตัวสูงมาก
ทั้งนี้ นายสันติชัย ได้ขยายความถึงเหตุผล 4 ข้อ ที่กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อย ที่ไม่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่างกลุ่มซี.พี. กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส โดยระบุตอนหนึ่งว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตครอบงำตลาดได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอำนาจสูงอยู่แล้ว และจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่
“ด้วยความเป็นมืออาชีพ ด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และคำนึงถึงศักดิ์ศรีขององค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ให้ด้อยค่าลง หรือเสื่อมศรัทธา หมดความเชื่อถือจากประชาชน กขค. เสียงส่วนน้อย จึงได้พิจารณาออกเสียงไม่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจในครั้งนี้
และการที่เราออกมา เราไม่ได้ต้องการสร้างความสับสน สร้างความแตกแยก มติส่วนใหญ่อันนั้นถือว่าจบ เพราะเป็นมติที่มีผลทางกฎหมายอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปแย้งมติอะไรดังกล่าว เพียงแต่เราพูดในมุมของเรา สิ่งที่เรามอง สิ่งที่เรากังวล สิ่งที่เราเป็นห่วง ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็คิดว่าเราสื่อสารให้พวกท่านเข้าใจหมดแล้ว ผมก็มีความสบายใจที่ผมได้พูด และผมพูดวันนี้แล้ว ผมจะไม่พูดเรื่องนี้อีกต่อไป เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่จบซักที” นายสันติชัยกล่าว
นางอร่ามศรี กล่าวว่า ในการพิจารณาอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจนั้น กขค.อยากให้ทุกคนได้รับประโยชน์ แต่บางครั้งเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ก็คิดว่าเรายอมเป็นเสียงข้างน้อยดีกว่า เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจในด้านนี้ได้รับความเสียหายจากโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น กขค.เสียงข้างน้อย จึงอยากทำให้ประโยชน์นั้นเกิดขึ้นคนโดยรวม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกรรมการ กขค. เสียงข้างมาก ได้แก่ นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ ,นายสมชาติ สร้อยทอง ,ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล และนายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์
ส่วนกรรมการ กขค.เสียงข้างน้อย ได้แก่ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา , นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์
อ่านประกอบ :
ไม่เป็นการผูกขาด! คกก.แข่งขันการค้าฯไฟเขียว‘ซีพี’ควบรวม ‘เทสโก้ โลตัส’-กำหนด 7 เงื่อนไข
2 ปี ‘คกก.แข่งขันทางการค้า’ กับ 'การใช้ดุลพินิจ-ไม่เปิดคำวินิจฉัย'
สั่งปรับเซ็นทรัลฯ 5.9 ล.! ผิดกม.แข่งขันการค้า-กีดกัน ‘บ.คู่แข่ง’ เช่าพื้นที่ห้างขายคอนโด
เข้าข่ายค้าไม่เป็นธรรม! สอบ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่แอพฯ’ ตั้งเงื่อนไขห้ามร้านค้าใช้บริการเจ้าอื่น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage