"....แต่พบข้อเท็จจริงว่านับตั้งแต่มีการยื่นคำขออนุญาต ‘รวมธุรกิจ’ เข้ามาให้ กขค.พิจารณา แต่กรรมการ กขค. ไม่เคยได้รับเอกสารหรือข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการดีลนี้เลย เนื่องจากกรรมการ กขค. เสียงส่วนใหญ่ ระบุว่า ขอให้ ‘คณะอนุกรรมการฯ’ ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ทั้งหมด โดยระบุเหตุผลว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหลออกไป”..."
............
ทำงานมาเกือบจะครบ 2 ปีแล้ว
สำหรับ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ‘ชุดแรก’ ที่มาจากสรรหาภายใต้ ‘กติกาใหม่’ ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 โดย กขค. ชุดนี้ มีการเรียกประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 หลังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 350/2561 ลงวันที่ 27 ธ.ค.2561 แต่งตั้งกรรมการ กขค. 7 คน ซึ่งประกอบด้วย
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตกรรมการผู้ช่วยรมต.ประจำกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2560 และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า
กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอดีตผู้พิพากษาสมทบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง
สมชาติ สร้อยทอง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์
สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน และอดีตอนุกรรมาธิการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อร่ามศรี รุพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งกรมการค้าภายใน ที่ 262/2558 และเคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งกรมการค้าภายในที่ 98/2559 ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการนวัตกรรม SME และอดีตอาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ ซึ่งมาจากภาคเอกชน โดยเป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด และอดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด เป็นต้น
แม้จะเป็นกรรมการ กขค. ที่มาจากการ ‘สรรหา’ และมี ‘อิสระ’ ในการทำงานมากขึ้น ต่างจากกรรมการ กขค. ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่มีที่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ โดยรมว.พาณิชย์ แต่ทว่าความคาดหวังที่มีต่อกรรมการ กขค. ชุดนี้ ยังคงมีน้อยมาก แม้ว่าจะดีขึ้นจากในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้
สะท้อนได้จากจำนวนเรื่องที่มีการยื่นร้องเรียนต่อ กขค. ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงกลางปี 2563 ซึ่งมีประมาณ 50 เรื่องเศษนั้น พบว่าตั้งแต่ปี 2562 จนถึงกลางปี 2563 จำนวนเรื่องที่ยื่นร้องเรียนต่อ กขค.ประมาณ 40 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 20 เรื่อง ต่างจากในอดีตที่มีจำนวนเรื่องที่ยื่นร้องเรียนปีละไม่ถึง 10 เรื่อง บางปีมีเรื่องที่ยื่นร้องเรียนมายัง กขค. เพียง 6 เรื่องเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในขณะที่พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ต้องเผยแพร่ผลการวินิจฉัยกรณีที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าต่อ ‘สาธารณะชน’ และต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ได้รบัญญัติไว้ในมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งระบุว่า
“มาตรา 29 ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้…(12) เผยแพร่ผลคําวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อสาธารณชน”
แต่ปรากฏว่าเรื่องที่ กขค.ได้มีคำวินิจฉัยสิ้นสุดแล้ว ซึ่งมีกว่า 30 เรื่องนั้น พบว่ามีการเผยแพร่คำวินิจฉัยผ่านเว็บไซต์สำนักงาน สขค. เพียง 6 เรื่องเท่านั้น และมี 2 เรื่องจากทั้งหมด 30 เรื่อง ที่กรรมการ กขค. มีคำวินิจฉัยว่า เป็นพฤติกรรมที่เป็นมีการกระทำผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้แก่
1.การสั่งปรับบริษัท เอ็ม-150 จำกัด และกรรมการบริษัทฯ 1 ราย เป็นเงินรายละ 6 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาทในปี 2562 หลังกรรมการ กขค. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจเหนือตลาดกระทำการกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดการซื้อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง (อ่านประกอบ : กรณีการห้ามขายสินค้าของคู่แข่งในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง)
2.การสั่งปรับพ่อค้าขายฟักทอง ใน จ.แม่ฮ่องสอน 1 ราย เป็นเงิน 25,000 บาท เนื่องจากมีพฤติกรรมกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่จำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของคู่ค้ากับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม (อ่านประกอบ : กรณีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
ส่วนเรื่องที่พบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ และ กขค.มีคำวินิจฉัยแล้ว เช่น กรณีบริษัทอสังหาฯในเครือธุรกิจ ‘เหล้าเบียร์’ เข้าซื้อ ‘ร้านสเต็ก’ โดยไม่แจ้งเรื่องภายใน 7 วัน และถูกสั่งปรับ หรือการวินิจฉัยกรณีร้าน ‘สุกี้’ รายใหญ่ เข้าซื้อ ‘ร้านอาหารทะเล’ ไม่ปรากฎว่ามีการเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณชนแต่อย่างใด
ที่สำคัญในบรรดาเรื่องร้องเรียนที่ กขค. ได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วนั้น พบว่ามีบางเรื่องที่กรรมการ กขค. เสียงส่วนใหญ่ใช้ ‘ดุลพินิจ’ ในการตัดสินใจ โดยอาจไม่ได้รับฟังข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน
เช่น กรณีบริษัทของ ‘เจ้าสัว’ รายหนึ่ง เข้าซื้อแฟรนไชส์ ‘ร้านกาแฟ’ ชื่อดังที่มีสาขาในประเทศไทย และยื่นคำขออนุญาตมาให้ กขค.พิจารณา เพราะอาจเข้าข่ายเป็นผู้มี ‘อำนาจเหนือตลาด’ หรือไม่ แต่เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ยอดขาย’ ซึ่งใช้ยื่นประกอบคำขอนั้น เป็นข้อมูลปี 2560 ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน กรรมการ กขค. จึงขอให้ผู้ยื่นฯปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันกว่านี้
แต่กลับกลายเป็นว่า กรรมการ กขค. เสียงส่วนใหญ่ มีมติอนุญาตการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวในการประชุมคราวหนึ่ง โดยไม่รอข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งๆที่ในอีกไม่กี่วันต่อมา ผู้ยื่นฯได้ยื่นข้อมูลยอดขายล่าสุดมายังสำนักงานฯ (สขค.) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ กขค. ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้กันใหม่ แต่สุดท้ายข้อมูลเหล่านั้นไม่เคยมีการเสนอให้ กขค. พิจารณาอีกเลย
หรือในการวินิจฉัยกรณีบริษัทที่เป็นเจ้าของศูนย์การค้ารายใหญ่แห่งหนึ่ง และผู้จัดการ 1 ราย ว่ามีพฤติกรรมกีดกันการทำธุรกิจของคู่แข่งในการเช่าพื้นที่ขายคอนโดหรือไม่ และต่อมา กขค. มีมติเอกฉันท์ 7 : 0 ว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ราย มีการกระทำผิดจริง และมีคำสั่งปรับทางปกครองเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาทนั้น
ปรากฏว่ามีกรรมการ 1 ราย ขอ ‘งดออกเสียง’ ในกรณีสั่งลงโทษปรับทางปกครองกับบริษัทเจ้าของศูนย์การค้าฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับ ‘หลักเกณฑ์ในการคำนวณฐานรายได้’ ที่ใช้ในการคำนวณค่าปรับ แต่กรรมการ กขค. คนเดียวกันนั้น กลับลงมติให้ลงโทษปรับ 'ผู้จัดการ' ที่ร่วมกระทำผิดในกรณีเดียวกัน เป็นเงิน 5.9 แสนบาท
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีล่าสุด คือ เครือธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ของประเทศ และเป็นเจ้าของ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ รายใหญ่ ได้เข้ากิจการห้าง ‘ไฮเปอร์มาเก็ต’ รายหนึ่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต
แต่พบข้อเท็จจริงว่านับตั้งแต่มีการยื่นคำขออนุญาต ‘รวมธุรกิจ’ เข้ามาให้ กขค.พิจารณา แต่กรรมการ กขค. ไม่เคยได้รับเอกสารหรือข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการดีลนี้เลย เนื่องจากกรรมการ กขค. เสียงส่วนใหญ่ ระบุว่า ขอให้ ‘คณะอนุกรรมการฯ’ ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ทั้งหมด โดยระบุเหตุผลว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหลออกไป”
นั่นเท่ากับว่าแม้แต่ กรรมการ กขค. เอง ซึ่งมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าจะอนุมัติการเข้าซื้อกิจการหรือไม่ กลับต้องรอผลการพิจารณาของอนุกรรมการฯ โดยไม่มีสิทธิ์เข้าไปศึกษาหรือเข้าไปรับรู้รายละเอียดเชิงลึกใดๆเลย เพียงเพราะว่า กรรมการ กขค. เสียงส่วนใหญ่ เกรงว่า "ข้อมูลจะรั่วไหล"
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งการทำงานของ กขค. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจสรุปได้ว่าแม้ว่ากรรมการ กขค. จะมีอำนาจใช้ ‘ดุลพินิจ’ ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆได้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ แต่จะพบว่ากรรมการ กขค. บางคนหลีกเลี่ยงในการเข้าชนกับธุรกิจรายใหญ่ และมีการปฏิบัติที่เป็นสองมาตรฐาน
อีกทั้งยังพบข้อเท็จจริงว่า กขค. และสำนักงาน สขค. ไม่ได้ทำตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ที่ระบุว่าให้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่สิ้นสุดแล้วให้สาธารณชนรับทราบ ตามที่เจตนารมณ์ของกฎหมายได้กำหนดเอาไว้
เหนือสิ่งอื่นใด ทั้ง กขค. และสำนักงาน สขค. เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาษีของประชาชนปีละมากกว่า 150 ล้านบาท โดยเฉพาะ กขค. ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคณะกรรมการฯที่มี 'อำนาจมาก' ชดหนึ่ง ที่เข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการกับธุรกิจที่มีการ 'ผูกขาด' หรือธุรกิจที่มีพฤติกรรม 'กีดกันคู่แข่ง' รวมถุึงสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่การทำงานของ กขค. จะเป็นที่จับจ้องของภาคธุรกิจและสาธารณชน
อ่านประกอบ :
สั่งปรับเซ็นทรัลฯ 5.9 ล.! ผิดกม.แข่งขันการค้า-กีดกัน ‘บ.คู่แข่ง’ เช่าพื้นที่ห้างขายคอนโด
เข้าข่ายค้าไม่เป็นธรรม! สอบ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่แอพฯ’ ตั้งเงื่อนไขห้ามร้านค้าใช้บริการเจ้าอื่น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage