‘เครือข่ายผู้บริโภค’ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง 15 มี.ค.นี้ ให้เพิกถอน ‘มติ กขค.’ ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ‘ซี.พี.รีเทล-เทสโก้ สโตร์ส’ ชี้ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย-เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการ-ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน’
..................
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เครือข่ายผู้บริโภคฯจะเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลฯเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 ที่อนุญาตให้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมธุรกิจกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของเทสโก้ โลตัส
ทั้งนี้ เนื่องจากการอนุญาตให้รวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกร และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ความมั่นคงด้านอาหาร และความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อระบบการปกครองและกฎหมายของประเทศ
ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ทนายความในคดีดังกล่าว ระบุว่า มติกขค.ที่อนุมัติให้ซี.พี. รีเทลฯรวมธุรกิจกับเทสโก้ สโตร์สฯนั้น มีปัญหาใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การขัดเจตนารมณ์พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เนื่องจากคำว่า ‘อำนาจเหนือตลาด’ และ ‘การผูกขาด’ นั้นเป็นของที่คู่กัน ซึ่งการที่กขค.มีคำวินิจฉัยว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้มีอำนาจเหนือตลาด 80% แต่ถือว่าไม่เป็นการผูกขาด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น จึงเป็นตรรกะที่ขัดแย้งกัน
2.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบธุรกิจ เพราะแม้ว่า กขค. ได้กำหนดเงื่อนไขทางพฤติกรรมต่อการรวมกิจการไว้ แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขทางโครงสร้างเอาไว้ เช่น การจำกัดจำนวนสาขา หรือขายกิจการหรือทรัพย์สินบางส่วนออกไป ทำให้ ผู้ประกอบการจะทำหรือไม่ทำตามเงื่อนไขทางพฤติกรรมที่กำหนดไว้ก็ได้ เพราะไม่มีใครตรวจสอบได้ว่าผู้ประกอบการได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ และ3.ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสีย
"มติกขค.ที่อนุมัติให้ซี.พี. รีเทลฯรวมธุรกิจกับเทสโก้ สโตร์สฯ เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เนื่องจากการตีความครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและการบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจ การตีความทางกฎหมายที่ฉ้อฉลที่ตีความว่า การมีอำนาจเหนือตลาดกว่า 80% ไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบการผูกขาดลักษณะเดียวกันในธุรกิจด้านอื่นๆ" ว่าที่ ร.ต.สมชายกล่าว
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า อำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นเมื่อมีผู้เล่นเจ้าใดเจ้าหนึ่งในตลาดเป็นเจ้าของกิจการมากกว่า 50% ของส่วนแบ่งในตลาด เพราะผู้มีอำนาจนั้นสามารถที่จะกำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแก่กลุ่มของตนในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทั้งหลาย กลุ่มผู้มีอำนาจจึงสามารถตั้งราคาขายในตลาดต่ำกว่าคู่แข่ง จึงก่อให้เกิดการผูกขาดในสินค้านั้นๆ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า มติกขค.ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และทำให้เกษตรกรผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพาและอยู่ภายใต้อำนาจการกำหนดชนิดของสินค้าเกษตร และราคาของบริษัทเพียงเดียว ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดมากกว่า 80% พร้อมยกตัวอย่างราคาขายกล้วยหอมในร้านสะดวกของไทยมีใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาที่ขายในร้านสะดวกซื้อให้สหรัฐและยุโรป แต่ค่าแรงของไทยต่ำ 5-11 เท่า
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’ ทุเลาการบังคับคำสั่ง ‘กขค.’ ระงับ ‘นิสสัน’ เลิกสัญญา 7 ดีลเลอร์
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัย 'กขค.' อนุญาต 'ซี.พี.' รวม 'เทสโก้ โลตัส' มีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ผูกขาด
ผูกขาด-โกยรายได้ปีละ 9.5 แสนล.! ภาคประชาชน จี้‘กขค.’ทบทวนมติ ‘ซีพี’ ควบ ‘เทสโก้ โลตัส’
ห่วงผูกขาด! ครป.จี้รัฐทบทวนมติ ‘ซีพี’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’-กขค.เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน
กระทบศก.ร้ายแรง-เพิ่มเหลื่อมล้ำ! เหตุผล กขค.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ควบ‘เทสโก้ โลตัส’
ไม่เป็นการผูกขาด! คกก.แข่งขันการค้าฯไฟเขียว‘ซีพี’ควบรวม ‘เทสโก้ โลตัส’-กำหนด 7 เงื่อนไข
2 ปี ‘คกก.แข่งขันทางการค้า’ กับ 'การใช้ดุลพินิจ-ไม่เปิดคำวินิจฉัย'
สั่งปรับเซ็นทรัลฯ 5.9 ล.! ผิดกม.แข่งขันการค้า-กีดกัน ‘บ.คู่แข่ง’ เช่าพื้นที่ห้างขายคอนโด
เข้าข่ายค้าไม่เป็นธรรม! สอบ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่แอพฯ’ ตั้งเงื่อนไขห้ามร้านค้าใช้บริการเจ้าอื่น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage