“…หากลูกหนี้สามารถดำเนินการธุรกิจตามแผน ย่อมมีรายได้จากการดำเนินกิจการและสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเมื่อประเมินแล้ว เชื่อว่าการดำเนินการตามแผนมีศักยภาพ เพียงพอที่จะทำให้กิจการของลูกหนี้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย แผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงให้เห็นโอกาสและแนวโน้มที่จะสำเร็จได้…”
.........................
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ก่อนเริ่มต้น ‘นับหนึ่ง’ บริหารแผนฟื้นฟูกิจการระยะ 5 ปี (อ่านประกอบ : มีแนวโน้มสำเร็จ! ‘ศาลล้มละลาย’ ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’)
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ของศาลล้มละลายดังกล่าว ศาลฯมีการยกประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยใน 5 ประเด็น ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอสรุปประเด็นและความเห็นของศาลล้มละลาย ดังนี้
@มติที่ประชุมเจ้าหนี้-คำขอแก้ไขแผน ชอบด้วยกม.
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2564 และมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งเห็นชอบกับคำขอแก้ไขแผนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้รายที่ 2263 และ 9933 ชอบหรือไม่
เห็นว่า จากรายงานผลการประชุมเจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายที่ 2263 และ 9933 ยื่นคำขอแก้ไขแผนเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งรายละเอียดคำขอแก้ไขแผนเพิ่มเติมให้เจ้าหนี้ทราบในคิวอาร์โค้ดแล้ว และปรากฏในเอกสารท้ายคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 2263 ว่า ผู้รับมอบอำนาจของผู้ทำแผนได้ลงชื่อรับสำเนาแล้ว เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 จึงถือว่ามีการส่งสำเนาโดยชอบแล้ว
ส่วนการเลื่อนการประชุมนั้น รายงานผลการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 ระบุว่า ในวันดังกล่าว มีเจ้าหนี้และผู้ทำแผนยื่นคำขอแก้ไขแผน 15 ฉบับ แต่เจ้าหนี้ 20 ราย ซึ่งมีหนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่เข้าประชุม ได้ขอให้เลื่อนพิจารณาแผนออกไป เพราะไม่อาจพิจารณาคำขอแก้ไขแผนให้ทัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 19 พ.ค.2564 โดยมีหัวข้อและวาระการประชุมตามที่กำหนดไว้เดิม ซึ่งหัวข้อที่ประชุมดังกล่าว มีวาระเรื่องการพิจารณาแผนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การประชุมและการลงมติเห็นชอบคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว
@แผนฟื้นฟูมีรายละเอียด ‘ครบถ้วน’ ตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการทั้งฉบับแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพราะประกอบด้วยเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดแห่งทรัพย์สิน หนี้สิน และภาระผูกพันของลูกหนี้
อีกทั้งมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ วิธีการและกำหนดเวลาชำระหนี้ การก่อหนี้ และระดมเงินทุน การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ แนวทางการแก้ปัญหากรณีขาดสภาพคล่อง การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารแผน ระยะเวลาการดำเนินการตามแผน ฯลฯ ครบถ้วน
ส่วนที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ มีอำนาจลงมติถอดถอนผู้บริหารแผน และร้องขอต่อศาลให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งตามมติดังกล่าวนั้น
มาตรา 90/64 (6) กำหนดให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนได้ ขณะที่เงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารแผนในลักษณะดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจากผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ลูกหนี้ สามารถสอดส่องและตรวจสอบการดำเนินการตามแผนของผู้ทำแผน ดังนั้น เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
@ลำดับและคำขอรับชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่ 3 ว่า ลำดับและคำขอรับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เจ้าหนี้รายที่ 10320 คัดค้านว่า แผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดหลักการและวิธีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าว โดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เกินกว่าระยะเวลาดำเนินการตามแผนที่กำหนด 5 ปี จึงขัดต่อกฎหมายมาตรา 90/42 (9) ที่กำหนดให้ระยะเวลาดำเนินการตามแผนต้องไม่เกิน 5 ปี และการขอขยายระยะเวลาดำเนินการได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 90/62 วรรคสองนั้น
เห็นว่า ระยะเวลาการดำเนินการตามแผนของลูกหนี้ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายนั้น มิได้หมายความว่า การชำระหนี้ตามแผนจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 5 ปี แต่อย่างใด
อีกทั้งการทำแผนฟื้นฟูกิจการ จัดให้เจ้าหนี้ดังกล่าว (เจ้าหนี้รายที่ 10320) อยู่ในกลุ่มที่ 10 เจ้าหนี้การค้า โดยให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นในกลุ่มเดียวกัน จึงเป็นการกำหนดหลักการและวิธีการชำระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่เจ้าหนี้ดังกล่าวอ้างว่า หลังจากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่มีกับลูกหนี้จนถึงปัจจุบัน แต่แผนมิได้กำหนดการชำระหนี้ที่ค้างไว้ แตกต่างจากเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้การเช่าหรือเช่าซื้อเครื่องบิน ซึ่งแผนกำหนดหลักการและวิธีการชำระหนี้ สำหรับหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไว้
เห็นว่า เรื่องนี้ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และ 90/60 กำหนดให้เจ้าหนี้ ซึ่งมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภท ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้น เจ้าหนี้ย่อมไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่จะได้รับชำระหนี้ได้ด้วยการใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ตามเงื่อนไขของสัญญาภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ผู้คัดค้านจึงไม่ได้เสียไป
ส่วนข้อสังเกตของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามรายงานสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งผู้ทำแผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ โดยแบ่งกลุ่มตามปีที่ครบกำหนดไถ่ถอนออกเป็นหลายกลุ่มตามระยะเวลาที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมนั้น
เห็นว่า เมื่อระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เป็นสาระสำคัญของสัญญา ซึ่งทำให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้แตกต่างกัน แต่เนื่องจากมีการกำหนดวิธีการชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์เดียวกัน
คือ ให้ได้รับชำระหนี้เงินต้นเต็มจำนวนคงค้างตามคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปประมาณ 8 ปี นับแต่วันทำการสุดท้ายของปีที่ครบไถ่ถอนเช่นเดียวกันทุกกลุ่ม โดยคาดว่าตามประมาณทางการเงิน ลูกหนี้จะมีความสามารถชำระหนี้เงินต้นตามแผนทั้งหมดได้ภายในปี 2579
เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการส่วนนี้ กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีลักษณะเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ดังนั้น ลำดับและข้อเสนอของการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นไปตามมาตรา 90/58 (2)
นอกจากนี้ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) บัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันมีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกัน อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
เห็นว่า ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งหลายนั้น แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ โดยการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้น จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นทางธุรกิจ เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ มิใช่ต้องแบ่งเป็นส่วนเท่ากัน มิฉะนั้นแล้ว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ย่อมไม่มีประโยชน์
ซึ่งเมื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการโดยฉบับแล้ว ได้กำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ด้วยวิธีการและสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในสาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบกิจการของลูกหนี้
แม้การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางกลุ่มจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็สืบเนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มมีลักษณะสิทธิเรียกร้องที่ต่างกันและข้อกำหนดการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็นในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ซึ่งไม่ขัดมาตรา 90/42 ตรี
ดังนั้น ข้อเสนอการชำระหนี้จึงเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ลำดับและข้อเสนอการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ขัดมาตรา 90/42 ตรี และเป็นไปตามมาตรา 90/58 (2)
@ศาลฯเชื่อแผนฟื้นฟูฯ 'การบินไทย' มีโอกาสสำเร็จ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 4 ว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีโอกาสสำเร็จ และเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่
เห็นว่า ลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ดำเนินกิจการด้านการบินพาณิชย์ในประเทศและระหว่างประเทศ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ มีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน โครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ
แต่เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้ลูกหนี้ต้องประสบปัญหาทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ กระทั่งผิดนัดชำระหนี้ต่อบรรดาเจ้าหนี้ จึงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการ ได้กำหนดหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แผนการประกอบธุรกิจ แนวทางแก้ปัญหาของลูกหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับสัดส่วนหนี้ โดยพักหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด ลดการขาดทุน ทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ และขอสินเชื่อเพื่อลงทุนเพิ่มเติมได้
รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรใหม่ให้เหมาะสม ด้วยการลดต้นทุนด้านบุคลากร ค่าเช่าเครื่องบิน และการดำเนินงานอื่นๆ ตลอดจนจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมด้วยการหาสินเชื่อใหม่ การเพิ่มทุน และการขายทรัพย์สินรองที่ไม่จำเป็นต้องการดำเนินธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
ประกอบกับลูกหนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ผู้ให้เช่า และให้เช่าซื้อเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการในสัดส่วนร้อยละ 90 ของจำนวนหนี้ที่มีสิทธิออกเสียง
ดังนั้น หากลูกหนี้สามารถดำเนินการธุรกิจตามแผน ย่อมมีรายได้จากการดำเนินกิจการและสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเมื่อประเมินแล้ว เชื่อว่าการดำเนินการตามแผนมีศักยภาพ เพียงพอที่จะทำให้กิจการของลูกหนี้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย แผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงให้เห็นโอกาสและแนวโน้มที่จะสำเร็จได้
ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีข้อสังเกตตามรายงานการสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการเกี่ยวกับการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 34 และกลุ่มที่ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น
เห็นว่า แม้ว่าภาระหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 34 และกลุ่มที่ 35 มีลักษณะแตกต่างจากเจ้าหนี้กลุ่มอื่น แต่เมื่อพิจารณาคำชี้แจงของผู้ทำแผน และเอกสารแนบท้ายแสดงรายละเอียดเปรียบเทียบการได้รับชำระหนี้ ประกอบรายงานสรุปสาระสำคัญและวิเคราะห์แผนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
แสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ละลาย
และข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จแล้ว จะทำให้บรรดาเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอต่อศาล จึงชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58
@ที่ประชุมเจ้าหนี้ตั้ง 'ผู้บริหารแผน' เหมาะสมแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้บริหารแผนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือไม่
เจ้าหนี้รายที่ 13041 คัดค้านว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้บริหารแผน เนื่องจากเลิกจ้างพนักงานของลูกหนี้ รวมถึงเจ้าหนี้ผู้คัดค้านอย่างไม่เป็นธรรม และเกี่ยวข้องมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการตั้งสายการบินไทยสมายล์ ทำให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการไม่อาจสำเร็จได้
เห็นว่า คุณสมบัติของผู้บริหารแผนถือเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแสดงว่า บรรดาเจ้าหนี้ได้พิจารณาถึงคุณสมบัติ ความสามารถ และความน่าเชื่อถือของผู้บริหารแผนแล้วว่า มีความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ผู้คัดค้านถูกลูกหนี้เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามที่กล่าวอ้าง เจ้าหนี้ผู้คัดค้านย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้น การควบรวมหรือแยกหน่วยธุรกิจ และจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยของลูกหนี้
รวมทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งหากต้องเลิกจ้างพนักงานย่อมเป็นการกระทำที่จำเป็น เพื่อให้การประกอบกิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล โดยมีคณะกรรมการเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และศาล กำกับดูแลตลอดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
“อาศัยเหตุข้างต้นและข้อเท็จจริงได้ความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ ดำเนินการครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา มาตรา 90/42 ข้อเสนอการชำระหนี้ตามแผน ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และเป็นไปตามลำดับของกฎหมายที่บัญญัติว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
และเมื่อดำเนินการสำเร็จ จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายประกอบกับแผนมีโอกาสดำเนินการสำเร็จได้ และการทำแผนเป็นไปโดยสุจริต ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้” คำสั่งศาลสรุป
อ่านประกอบ :
มีแนวโน้มสำเร็จ! ‘ศาลล้มละลาย’ ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’
‘กรมสวัสดิฯ’ แจ้ง ‘การบินไทย’ เลิกจ้างพนง. 508 คน เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน
เออร์ลี่ฯรอบใหม่! ‘การบินไทย’ เปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร ‘MSP D’
ให้ชี้แจงเพิ่ม 5 ประเด็น! 'ศาลล้มละลาย'นัดฟังคำสั่งแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ 15 มิ.ย.นี้
‘การบินไทย’ เตือน 508 พนง.ที่ถูกเลิกจ้าง ต้องปฏิบัติตามระเบียบ-ข้อบังคับบริษัท
มีผลใน 10 วัน! ‘การบินไทย’ ประกาศปลดพนง. 508 คน-สหภาพฯขู่ฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
‘ชาญศิลป์’ มั่นใจศาลไฟเขียวแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-เผยยอดพนง.เข้าเออร์ลี่ฯ 6.6 พันคน
พลิกแฟ้มประวัติ! 5 ผู้บริหารแผน ฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’
ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต ‘รับ’ แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-ตั้ง 5 ผู้บริหารแผน
โหวตตั้ง 5 ผู้บริหารแผน 19 พ.ค.นี้! สหกรณ์เจ้าหนี้ ‘การบินไทย’ ยื่นเพิ่ม ‘ชาญศิลป์'
รอแผนฟื้นฟูฯผ่าน! บิ๊กตู่' ยันยังไม่ใส่เงิน 'การบินไทย'-ลั่นไม่มีใครอยากให้ล้มละลาย
แก้แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’! ระดมสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล. เปิดทางคลัง ‘เพิ่มทุน-ค้ำหนี้'’
อำนาจทับซ้อน? 2 บอร์ดเจ้าหนี้ 'เก่า-ใหม่' คุมผู้บริหารแผน 'การบินไทย'
เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ เป็น 19 พ.ค.-ผู้ทำแผนเสนอตั้ง ‘บอร์ดกำกับสินเชื่อใหม่’
ครม.ไม่ถก ‘การบินไทย’ หวนคืน รสก.-เจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูฯพรุ่งนี้ ชงเปลี่ยนผู้บริหารแผน
วรวรรณ ธาราภูมิ : ทำไมถึงควรสนับสนุนฟื้นฟู 'การบินไทย'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage