"...การประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย 5 สัญญา มูลค่า 128,376.79 ล้านบาท ในยุค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งเป็น รมว.คมนาคม นั้น เอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียง 108.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.0847% เท่านั้น ขณะที่การเสนอราคาประมูลแต่ละสัญญา พบว่าต่ำกว่าราคากลางตั้งแต่ 0.05-0.12%..."
..................
อยู่ระหว่างรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการ
สำหรับการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย ด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จำนวน 3 สัญญา และ รถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม จำนวน 2 สัญญา มูลค่ารวม 128,376.79 ล้านบาท
ล่าสุดมีข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า การประมูลรถไฟทางคู่ 2 สาย ทั้ง 5 สัญญา ได้เอกชนที่เสนอราคาต่ำสุดแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอราคา ก่อนจะประกาศผลการประมูลอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ค.2564 ประกอบด้วย
โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ราคากลาง 72,919.25 ล้านบาท ได้แก่
สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า ITD-NWR (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ(NWR)) โดยเสนอราคา 26,568 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 31.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.117%
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ราคากลาง 26,931.78 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE (บมจ. ช.การช่าง (CK) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)) โดยเสนอราคา 26,900 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13.78 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.051%
สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE (บมจ. ช.การช่าง (CK) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)) โดยเสนอราคา19,390 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.084%
โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ราคากลาง 55,457.55 ล้านบาท ได้แก่
สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าที่มี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นแกนนำ โดยเสนอราคา 27,100 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.087%
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าที่มี ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นแกนนำ โดยเสนอราคา 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23.93 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.084%
เท่ากับว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย 5 สัญญา มูลค่า 128,376.79 ล้านบาท ในยุค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งเป็น รมว.คมนาคม นั้น เอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียง 108.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.0847% เท่านั้น ขณะที่การเสนอราคาประมูลแต่ละสัญญา พบว่าต่ำกว่าราคากลางตั้งแต่ 0.05-0.12%
@ประมูลทางคู่ 7 สายรัฐบาลประหยัด 3.04 พันล้าน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบการประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย 5 สัญญา ซึ่งเปิดการประมูลเมื่อในวันที่ 18 และ25 พ.ค.2564 กับการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน (ระยะที่ 1) 7 สาย 12 สัญญา ที่เปิดประมูลในช่วงปี 2558-2560 ยุคที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรมว.คมนาคม ใน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1
จะพบว่าการเสนอราคาประมูล ‘แตกต่างกัน’ อย่างเห็นได้ชัด
โดยการประมูลรถไฟทางคู่ 7 สาย 12 สัญญาในครั้งนี้ (ส.ค.2558-ก.ย.2560) ซึ่งมีราคากลางรวม 106,251.51 ล้านบาท ผลปรากฎว่าเอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลาง 3,043.09 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.86% ขณะที่ราคาประมูลแต่ละสัญญาต่ำกว่าราคากลาง 0.75-20.51%
เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สัญญางานโยธา ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ราคากลาง7,305.26 ล้านบาท เอกชนเสนอราคาประมูลต่ำสุดที่ 5,807 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,498 ล้านบาท หรือคิดเป็น20.51%
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ราคากลาง6,579.91 ล้านบาท เอกชนเสนอราคาต่ำสุดที่ 6,465 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 114.91 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.75%
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกระเบา-คลองขนานจิตร ราคากลาง7,721.13 ล้านบาท เอกชนเสนอราคาต่ำสุด 7,560 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 161.13 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.09% เป็นต้น (อ่านตารางประกอบ)
@ ‘หมอระวี’ ชี้เขียนทีโออาร์ล็อกเอกชนร่วมประมูล
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ทำให้เอกชนเสนอราคาประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ต่ำกว่าราคากลางมากๆนั้น เป็นเพราะมีการเขียนทีโออาร์กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนเข้ายื่นซองแข่งขันได้เพียง 5 ราย
“มันเริ่มต้นตั้งแต่ทีโออาร์ที่มีเงื่อนไขล็อกไว้ให้เข้าได้แค่ 5 บริษัท ส่วนอีกกว่า 10 บริษัทที่ซื้อซองประมูลไป ไม่สามารถเข้าร่วมยื่นซองประมูลได้ ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรีจริงๆ” นพ.ระวี กล่าว พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า การประมูลรถไฟทางคู่ในแต่ละสัญญามีการ ‘ฮั้ว’ กันหรือไม่ เพราะราคาที่เอกชนเสนอนั้นต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.08% เท่านั้น
นพ.ระวี เรียกร้องให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการให้ รฟท.ชะลอการประกาศผลการประมูลออกไปก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
“ผมขอให้ชะลอการประกาศผลและเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไป เพื่อทำการตรวจสอบ โดยผมได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงนายกฯแล้ว ซึ่งท่านนายกฯต้องไปคุยกับคุณศักดิ์สยาม เพื่อให้ทำการตรวจสอบก่อน หากเป็นจริง ก็ให้ทำทีโออาร์และเปิดประมูลใหม่” นพ.ระวี ระบุ
ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งการให้ชะลอการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย รวม 5 สัญญาไปก่อน และขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้อย่างเร่งด่วน
@ 'ศักดิ์สยาม'เผยสั่งตรวจสอบแล้วไม่พบทุจริต
ขณะที่ ศักดิ์สยาม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 72,921 ล้านบาท นั้น กระทรวงคมนาคมต้องรับฟัง และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบแล้ว โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่ายังไม่พบการทุจริตใดๆ
“การประมูลแบบ e-bidding ...เป็นการเสนอราคาที่ต่างคนต่างยื่นประมูล และไม่ทราบว่าจะมีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง และประมูลในราคาเท่าใด เมื่อเปิดให้ยื่นเสนอราคาเสร็จสิ้น ทางกรมบัญชีกลางจะรายงานผลมายัง รฟท.” ศักดิ์สยามกล่าวกับสื่อ
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า “การที่มาร้องเรียนให้กระทรวงคมนาคมสั่งการให้ล้มประมูลโครงการนั้น จะเป็นการเสียโอกาสสำหรับประเทศมาก ซึ่งการประมูลมีราคากลางเป็นตัวกำหนดอยู่แล้ว หากผู้ร้องเป็นบริษัทผู้รับเหมาก็ควรมาลงแข่งขันเสนอราคา ไม่ใช่มาร้องแบบนี้”
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
ส่วน ศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท. ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า การเปิดประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ว่า การประมูลด้วยวิธี e-bidding นี้ เป็นรูปแบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในการประมูลงานภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการสมยอมกันระหว่างผู้รับจ้างในการฮั้วราคา หรือ ตกลงราคากัน เพราะเป็นการเสนอราคาที่ต่างคนต่างยื่นประมูลโดยไม่ทราบ ณ เวลานั้นว่าจะมีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง และประมูลในราคาเท่าไหร่
“การผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าเสนอราคาเนื่องจากไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในการเสนอราคาได้” รฟท. ระบุ
จากนี้จึงต้องติดตามว่า การลงนามสัญญาโครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย 5 สัญญา มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท จะลงเอยอย่างไร
อ่านประกอบ :
‘รฟท.-รับเหมาฯ’ เซ็นสัญญางานโยธาไฮสปีดกรุงเทพ-โคราช 3 สัญญา 2.7 หมื่นล.
ศาล ปค.เบรกสร้าง‘ไฮสปีดเทรน’ไทย-จีน สัญญา 3-1 เหตุคำสั่ง กก.อุทธรณ์ฯอาจมิชอบ
รฟท.เซ็นรวด 5 สัญญา 4 หมื่นล.! งานโยธาไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’-เปิดเดินรถปี 68
น้ำหนึ่งใจเดียวทุกเรื่องราบรื่น! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไฮสปีด'กรุงเทพ-โคราช' เชื่อม'ไทย-จีน'แน่นแฟ้น
รฟท.เตรียมทำสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 5 หมื่นล.28 ต.ค.นี้
ล้างหนี้รฟท.! ครม.ไฟเขียวตั้ง ‘บริษัทลูก’ บริหารที่ดิน-คาดรายได้ 6.3 แสนล.ใน 30 ปี
นิรุฒ มณีพันธ์ : ต้อง ‘ลุกจากโต๊ะ วิ่งไปหาลูกค้า’-แก้ 2 โจทย์ใหญ่พลิกฟื้นรฟท.
ไม่รอเอกชนร่วมทุนฯ! รฟท.เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า ‘สายสีแดง’ กลางปี 64-ลุยทางคู่สายอีสาน
3 ยุทธศาสตร์ 'นิรุฒ มณีพันธ์' ปลุกยักษ์ใหญ่ 'รฟท.' ลุกขึ้นยืน-คนรถไฟฯ ต้องไม่เลี้ยงบอลไปวันๆ
เดินหน้าฟื้นฟู รฟท.! ‘นิรุฒ’ เข็นเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ 4.2 แสนล.-สู้ต่อคดีโฮปเวลล์
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโปรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage