ศาลปกครองกลาง ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เบรกการประมูลก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กทม.-หนองคาย สัญญาที่ 3-1 เหตุสงสัยคำสั่ง กก.พิจารณาอุทธรณ์ข้อร้องเรียนกรมบัญชีกลาง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
................................................
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีรายงานว่า ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย–จีน สัญญา 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย–กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร–หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กรณีนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ร่วมกันกระทำเปลี่ยนผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย–จีน สัญญา 3-1 โดยให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ชนะการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง
ศาลปกครอง พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะรับฟังได้ว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัดเป็นกิจการร่วมค้าที่ไต้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ แต่ในการเสนอราคาตามประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ได้กำหนดให้ผู้อื่นข้อเสนอราคาต้องเสนอไนนาม "กิจการร่วมค้า" แต่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัดกรอกข้อมูลในระบบการเสนอราคาเป็นผู้เสนอราคาในนาม บริษัท ไม่ได้กรอกข้อมูลในนามกิจการร่วมค้า จึงไม่เป็นไปตามประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ดังนั้น บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด จึงไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งในบริษัทจำกัดมาเสนอเป็นผลงานของตนเองได้ การที่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บีนำ พูรี่ เอสติเอ็น บีเอสดี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น
โดยยื่นหนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ PRASARANA MALAYSIA BERHD โดยรับรองว่า บริษัท บีนำ พูรี่ เอสคิเอ็น บีเอสดี จำกัด เป็นผู้รับจ้างช่วงของกิจการร่วมค้า BPHB - TIM SEKATA JV. และได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ ตามหนังสือรับรองผลงานที่หน่วยงานเจ้าของโครงการออกให้กับผู้รับจ้างหลัก โดยไม่ได้ระบุมูลค่าผลงาน แต่มีเพียงเอกสารหลักฐานสัญญาจ้างระหว่างผู้รับจ้างหลักกับผู้รับจ้างช่วงเท่านั้นจึงไม่เป็นไปตามประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ฟังขึ้นจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางในชั้นนี้จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการเพียงบางช่วงเส้นทางเท่านั้น รฟท. ยังคงดำเนินการประกาและเอกสารประกวตราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงทพมหานคร-หนองคาย ในช่วงงานสัญญาอื่น ๆ เพื่อเชิญชวนบุคคลที่สนใจเข้าประกวดราคาอยู่ กรณีนี้จึงเห็นว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ รฟท.ในส่วนงานอื่น ๆ และไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของ รฟท. เนื่องจากยังมิได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนใช้สัญจรขนส่งสินค้าเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวที่อาจส่งผลต่อการบริการสาธารณะของ รฟท. ดังนั้น จึงเห็นว่า การทุเลาบังคับคดีในครั้งนี้ ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของ รฟท.
(อ้างอิงข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส : https://news.thaipbs.or.th/content/301863?fbclid=IwAR3D3mw3D9OsJ70JNQavR5MNnm7UWXY8jidjVtkm7h5fFp-uu8wX16lHb8Y, และผู้จัดการออนไลน์ : https://mgronline.com/politics/detail/9640000018995)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/