รฟท.เซ็นสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างงานโยธา รถไฟความเร็วสูง ‘กรุงเทพ-นครราชสีมา’ 5 สัญญา 4.02 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างได้ม.ค.64 พร้อมเร่งรัดเซ็นสัญญาที่เหลืออีก 7 สัญญา ตั้งเป้าเปิดให้บริการเดินรถปี 68
..................
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม และลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ- หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญา
ทั้งนี้ สัญญาก่อสร้างงานโยธางทั้ง 5 สัญญาดังกล่าว มีระยะทางรวม 101.15 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร วงเงิน 4,279 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)
2.สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กิโลเมตร วงเงิน 9,837.9 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด
3.สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการระยะทาง 37.45 กิโลเมตร วงเงิน 9,848 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
4.สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร วงเงิน 7,750 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย)
5.สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร วงเงิน 8,560 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)
นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาทั้ง 5 สัญญาในวันนี้ (26 พ.ย.) แล้ว คาดว่ารฟท.จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนม.ค.2564
ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา แล้วเสร็จไปแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วงเงิน 425 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยกรมทางหลวง และมีงานโยธาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 3,115 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งการก่อสร้างมีความคืบหน้า 44%
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท. กล่าวว่า รฟท.จะเร่งรัดการลงนามสัญญางานโยธาที่เหลืออีก 7 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา ให้ได้โดยเร็ว และผลักดันให้การก่อสร้างเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ รฟท.ได้ลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) วงเงิน 50,633 ล้านบาท ไปแล้ว จึงคาดว่ารถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา จะเปิดให้บริการได้ในปี 2568
สำหรับสัญญาก่อสร้างงานโยธา 7 สัญญาที่ยังไม่มีการลงนามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา 6 โครงการ และสัญญาที่อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ 1 สัญญา ประกอบด้วย
1.สัญญา 3.1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร โดยบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด และพันธมิตรจากมาเลเซีย ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ได้ยื่นคัดค้านผลการประมูล เนื่องจากถูกคณะกรรมการคัดเลือกฯตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะเอกสารจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไม่ถูกต้อง
2.สัญญา 4-2 งานโยธาช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร โดยจะมีการลงนามสัญญาหลังจากมีการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
3.สัญญา 4-3 งานโยธาช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร โดยจะมีการลงนามสัญญาหลังจากมีการอนุมัติรายงาน EIA แล้ว
4.สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย โดยจะมีการลงนามสัญญาหลังจากมีการอนุมัติรายงาน EIA แล้ว
5.สัญญา 4-5 งานโยธาช่วงบ้านโพ–พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร โดยจะมีการลงนามสัญญาหลังจากมีการอนุมัติรายงาน EIA แล้ว
6.สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร โดยจะมีการลงนามสัญญาหลังจากมีการอนุมัติรายงาน EIA แล้ว
7.สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวเส้นทางที่ต้องใช้โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะต้องรอผลการหารือร่วมกับเอกชนเจ้าของโครงการก่อน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงจะมีการจัดทำทีโออาร์ และเปิดประมูลต่อไป
ด้านนายชยธรรม์ กล่าวถึงการเปิดให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี 2568 ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบว่าการเดินรถจะเป็นแบบใด ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 11 ก.ค.2560 กำหนดให้มีองค์กรที่เป็นเอกเทศทำหน้าจัดหาและกำกับดูแลผู้ให้บริการเดินรถ ส่วนจะเป็นการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาเดินรถหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษา
อ่านประกอบ :
น้ำหนึ่งใจเดียวทุกเรื่องราบรื่น! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไฮสปีด'กรุงเทพ-โคราช' เชื่อม'ไทย-จีน'แน่นแฟ้น
รฟท.เตรียมทำสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 5 หมื่นล.28 ต.ค.นี้
ล้างหนี้รฟท.! ครม.ไฟเขียวตั้ง ‘บริษัทลูก’ บริหารที่ดิน-คาดรายได้ 6.3 แสนล.ใน 30 ปี
นิรุฒ มณีพันธ์ : ต้อง ‘ลุกจากโต๊ะ วิ่งไปหาลูกค้า’-แก้ 2 โจทย์ใหญ่พลิกฟื้นรฟท.
ไม่รอเอกชนร่วมทุนฯ! รฟท.เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า ‘สายสีแดง’ กลางปี 64-ลุยทางคู่สายอีสาน
3 ยุทธศาสตร์ 'นิรุฒ มณีพันธ์' ปลุกยักษ์ใหญ่ 'รฟท.' ลุกขึ้นยืน-คนรถไฟฯ ต้องไม่เลี้ยงบอลไปวันๆ
เดินหน้าฟื้นฟู รฟท.! ‘นิรุฒ’ เข็นเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ 4.2 แสนล.-สู้ต่อคดีโฮปเวลล์
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโปรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage