"...ที่ดินของการรถไฟฯเป็นตลาดเยอะมาก เราลองถามแม่ค้า วันนี้จ่ายเงินให้ใคร จ่ายมากี่ทอด แม่ค้าจ่ายทอดที่ 3 ที่ 4 ก็ต้องแพงกว่าคนที่จ่ายทอดที่ 1 เรากำลังจะเข้าไปจัดระเบียบ ให้แม่ค้ามาขึ้นทะเบียนกับการรถไฟฯ แล้วจ่ายทอดที่ 1 กับเรา ซึ่งเราต้องอาศัยความกล้ามากๆ แต่ก็ต้องทำ...”
หมายเหตุ : นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ตึกบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63
นิรุฒ กล่าวว่า รฟท.มีวิสัยทัศน์ว่า เราจะเป็นผู้ให้บริการระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ฉะนั้นเหลือเวลาทำงานอีก 7 ปี ในการทำให้ รฟท. เป็นผู้ให้บริการระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียน
“หลายคนอาจบอกว่าเป็นไปได้หรือ โม้หรือเปล่า ซึ่ง 4 ปีของผมคงไม่ถึงตรงนั้น แต่ถ้า 8 ปีก็พอดีเป๊ะเลย แน่นอนว่าผมไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะไปถึงตรงนั้นได้ อย่างน้อยๆเราต้องมี 3 ข้อ และคนที่จะบอกว่าเรา (รฟท.) ดีที่สุด คือ ประชาชนที่ขึ้นมาใช้บริการเรา แล้วบอกว่าที่นี่ดีที่สุด เราจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งคนและสินค้า ซึ่งโอกาสของเราก็มีอยู่ เพราะเรากำลังทำรถไฟทางคู่เฟส 1 และหวังว่าจะมีเฟส 2 รวมทั้งส่วนต่อขยาย” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวว่า วันนี้ รฟท. ขนส่งสินค้าปีละ 11 ล้านตัน แต่ปี 2570 เราตั้งเป้าเพิ่มการขนส่งสินค้าเป็น 38 ล้านตัน หรือเพิ่มจาก 2% ของการขนส่งสินค้าทั้งประเทศ เป็น 5% ซึ่งจริงๆเรามักน้อยไป แต่ขอให้ลองคิดดู หากเราสามารถขนส่งสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้รถบรรทุกบนท้องถนนน้อยลง มลภาวะและอุบัติเหตุ ก็น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงว่าประชาชนโดยรวมจะมีความสุขกับการเป็นอยู่ในประเทศนี้มากขึ้น
ส่วนการขนส่งผู้โดยสาร เรามีผู้โดยสารปีละ 35 ล้านคน แต่เป็นผู้โดยสารในเชิงสังคมประมาณ 20 ล้านคน อีก 10 ล้านคน เป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ ในขณะที่รายได้ 90% ของการรถไฟฯมาจากผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่า การรถไฟฯยังคงเป็นสาธารณูปโภคหลักของประชาชน
“การรถไฟฯไม่ได้ถูกดีไซด์มาเพื่อทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ถ้าอยากทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ก็ต้องขึ้นค่าโดยสาร แต่คนที่เดือดร้อน คือ ประชาชน ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการรถไฟฯ ดังนั้น โจทย์หนึ่งที่เราทิ้งไม่ได้ คือ การรถไฟฯ ต้องรับใช้ประชาชน ส่วนที่ทำเชิงพาณิชย์ก็ทำไป แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็อยากเห็นการรถไฟฯทำกำไรด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผมต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ 3 ข้อ” นิรุฒกล่าว
สำหรับยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ข้อนั้น นิรุฒ ระบุว่า ยุทธศาสตร์แรก คือ การเพิ่มความสามารถในการให้บริการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การขับเคลื่อนและยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน
“เรื่องการหารายได้ การรถไฟฯหมดเวลาแล้วในบริบทเดิม ที่ต้องรอให้ผู้โดยสารมาซื้อตั๋ว รอให้ผู้โดยสารมาขอให้เราขนส่งสินค้า หมดเวลาแล้วที่จะรอให้คนมาเช่าพื้นที่ของการรถไฟฯ ผมมาจากธนาคาร ธนาคารมี NPA (ทรัพย์สินรอการขาย เช่น บ้านและที่ดิน) มากมาย เขายังจัดการได้ ซึ่งผมอาจหาวิธีบางอย่างที่จะใช้เปิดการตลาดของเรา ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้า ขนส่งผู้โดยสาร แม้กระทั่งการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้
ส่วนการลดรายจ่าย เราจะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปประกาศลดค่าใช้จ่าย โดยการตัดเงินเดือนพนักงาน ลดรายได้พนักงาน อันนั้นไม่ใช่ บางองค์กรอาจทำอย่างนั้น แต่ไม่ใช่การรถไฟฯ ซึ่งมีหลายส่วนที่ผมเห็นว่า เราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ และเพิ่มรายได้ได้
ขณะเดียวกัน เราต้องขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งผมขอใช้คำว่า ‘Smart Organization’ ซึ่งผมจะทำให้การรถไฟฯ เป็นองค์กรที่คนอื่นมองเข้ามาแล้ว เป็นองค์กรที่ชาญฉลาด ไม่ใช่องค์กรที่ใครมองเข้ามาแล้วบอกว่าล้าหลัง ทุจริต ไม่มีประสิทธิภาพ สกปรก เพราะเมื่อผมเข้ามา ผมเห็นว่ามันไม่ใช่ เรามีโอกาสมากมาย
แต่สิ่งที่ต้องบูรณาการ คือ 1.เรื่องบุคลากร 2.ขั้นตอนการทำงาน ซึ่งที่นี่อาจเยิ่นเย้อไปนิดหนึ่ง เพราะเราบริบทของปี 24 กว่าๆหรือปี 25 ต้นๆ มาบริหารจัดการองค์กรที่อยู่ในปี 2563 และเชื่อเถอะว่าหลังโควิด-19 เรื่อง New normal เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องปรับตัว โดยผมเตรียมพร้อมให้เราไปถึงจุดนั้น แต่การจะเป็น Smart Organization นั้น วันนี้ เทคโนโลยีถูกลงเยอะ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการรถไฟฯได้อย่างไร” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวว่า นอกจากจะเป็นองค์กรที่ฉลาด และคนของการรถไฟฯเป็นคนที่ฉลาดแล้ว การรถไฟฯจะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสมและฉลาดบนบริบทของการเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจไม่จำเป็นต้องยืดยาดเสมอไป เราสามารถจัดการรัฐวิสาหกิจแบบไม่ให้ยืดยาดก็ได้ แม้ว่าจะไม่เร็วเท่ากับเอกชน ส่วนข้อกฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดขนาดนั้น โดยเราจะนำเทคโนโลยีมาช่วย
“เมื่อก่อนท่านอาจจะเห็นตั๋วที่ยิงแก๊บๆ แล้ววันนี้เป็นตั๋วที่ปริ้นออกมา แต่วันหน้าตั๋วจะไปอยู่ในมือถือ มันควรจะเป็นระบบที่ทำผ่านแอพพลิเคชั่น
สิ่งที่ผมกำลังจะทำต่อไป และผมได้หารือกับกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยแล้วว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่การรถไฟฯจะเอาระบบการเช่าที่ดินของการรถไฟฯที่มีเป็นหมื่นราย ให้มาจ่ายเงินผ่านแอพฯ ไม่ต้องมีแล้ว พนักงานการรถไฟฯ ที่เดินถือตั๋วสีฟ้าไปเก็บตังก์แล้วแจกตั๋ว ถ้าทำอย่างนี้ได้ นอกจากเราจะเอาคนเหล่านี้ไปทำอย่างอื่นได้แล้ว การรั่วไหลก็จะไม่มี อันนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวต่อว่า หากการรถไฟฯจะเป็นผู้บริหารระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียน นอกจากจะต้องมียุทธศาสตร์ 3 ข้อนี้แล้ว ทุกอย่างต้องมาถูกเวลา และถูกต้องด้วย
“บางอย่าง ถ้ามันเกิดขึ้น แต่ไม่ถูกเวลา ก็ไม่มีประโยชน์ เทคโนโลยีของวันนี้ แต่เอาไปใช้อีก 10 ปีข้างหน้า กว่าจะจัดซื้อจัดจ้างได้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว แต่ถ้าถูกเวลา แต่มาไม่ถูกต้อง มาจากการทุจริตคดโกง ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะถ้าถูกต้อง ถูกเวลา ผมว่ามันยั่งยืน สิ่งนี้เป็นสิ่งการรถไฟฯมีอยู่ เพียงแต่ต้องสร้างเพิ่มเติม” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ ย้ำว่า สิ่งที่จะเพิ่มความสามารถให้การรถไฟฯได้ นั่นก็คือ การสร้างรถไฟทางคู่ และเป็นโอกาสที่รัฐบาลมอบให้กับการรถไฟฯ เพราะลองนึกภาพดู หากรถไฟที่วิ่งต้องหลีก ต้องเลี่ยงกัน การเดินทางจะไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สิ่งที่ตนเน้นมากๆ และอยากให้เกิดเร็วที่สุด คือ รถไฟทางคู่
“ถ้าเราจัดลำดับความสำคัญว่า รถโดยสารรถชั้น 1 ชั้น 2 และชั้นสังคม ต้องมาก่อน สุดท้ายจึงเป็นการขนส่งสินค้า แล้วกว่าสินค้าจะส่งถึงปลายทางได้ต้องใช้เวลานาน แล้วใครจะอยากใช้ แต่ถ้าเป็นรถไฟทางคู่ มันไม่ต้องเลี่ยง ไม่ต้องหลีก หรือมีก็มีน้อยที่สุด ทำให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ตรงเวลา แต่ถ้าเกิดรางคู่แล้ว ไม่มีรถวิ่งก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องบริหารให้มีการใช้รางให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการขบวนรถ” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ ระบุว่า สิ่งที่สำคัญอีกอันหนึ่ง คือ การพัฒนาและบริหารพื้นที่ของสถานีใหญ่ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและก่อให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ๆกลางเมือง เช่น กรุงเทพฯ อย่างที่ดินสถานีกลางบางซื่อ 2,000 ไร่ ที่ดินสถานีแม่น้ำ และที่ดินมักกะสันส่วนที่เหลือจากที่การแบ่งให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเราจะต้องบริหารจัดการเพื่อนำที่ดินเหล่านี้มาสร้างรายได้ให้การรถไฟฯ
“เราต้องไม่หารายได้ให้การรถไฟฯ โดยที่ไม่ลืมหู ลืมตาดูประชาชน ที่ดินบางที่ เราไม่ได้ทำเพื่อเงินอย่างเดียว บางทีเราต้องจัดระเบียบให้ประชาชนด้วย อย่างตลาด ที่ดินของการรถไฟฯเป็นตลาดเยอะมาก เราลองถามแม่ค้า วันนี้จ่ายเงินให้ใคร จ่ายมากี่ทอด แม่ค้าจ่ายทอดที่ 3 ที่ 4 ก็ต้องแพงกว่าคนที่จ่ายทอดที่ 1 เรากำลังจะเข้าไปจัดระเบียบ ให้แม่ค้ามาขึ้นทะเบียนกับการรถไฟฯ แล้วจ่ายทอดที่ 1 กับเรา ซึ่งเราต้องอาศัยความกล้ามากๆ แต่ก็ต้องทำ” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวต่อว่า คนพูดว่าการรถไฟฯมีที่ดินเยอะ และเครดิตที่ทำให้การรถไฟฯอยู่ได้ ไม่ว่าจะไปกู้เงินที่ไหน คือ ทรัพย์สินของการรถไฟฯที่เรามีมากมายก่ายกอง ซึ่งนอกจากทรัพย์สินที่เราเห็นอยู่ว่าเป็นของการรถไฟฯแล้ว และจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินที่ยังคลุมเครือว่าเป็นของการรถไฟฯหรือไม่ โดยเราจะเอาระบบดาวเทียมเข้ามายิงเลยว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯหรือไม่ จากนั้นก็เอาที่ดินที่รถไฟฯมีอยู่ไปสร้างรายได้
“จะมีทีมหนึ่งที่จะเข้าไปดูว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟหรือไม่ เอาออกให้เช่าแล้วหรือไม่ ติดอยู่ในโครงการอะไรหรือเปล่า แล้วเอามาวางในหิ้ง แล้วจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งวิ่งไปหาคนมาซื้อของในหิ้ง วิธีแบบนี้จะเกิดขึ้นในยุคนี้
หรืออย่างซากเก่าๆของการรถไฟฯ เช่น ตู้โบกี้เก่าๆที่เต็มไปหมดเลย ผมกับคนในการรถไฟฯก็คิดว่าทำอย่างไร จึงจะสร้างมูลค่าให้สิ่งเหล่านี้ เพราะแทนที่เราจะขายเป็นเศษเหล็ก เราเอาตู้โบกี้มาทำเป็นร้านกาแฟได้ไหม ตกแต่งเป็นตู้ท่องเที่ยว ทำเป็นห้องสมุดให้เด็กๆได้หรือไม่ ซึ่งมีคนพร้อมสนับสนุนเราในเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาคเอกชนมีเยอะมาก”
(นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯรฟท.คนที่ 29 แถลงนโยบายฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63)
นิรุฒ ระบุว่า แม้ว่าทุกวันนี้การรถไฟฯจะมีการทำตลาด แต่ไม่เข้มข้นและชัดเจน ซึ่งองค์กรที่ทำธุรกิจให้บริการจะต้องมีการตลาดที่ชัดเจน อย่างบริษัท การบินไทย มีการตลาดที่ชัดเจน แต่ขาดเรื่องการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ขอพูดถึง
“รถไฟฯเรายังไม่เข้มข้นเรื่องการตลาด เรายังไม่เคยถือกระเช้าไปหาลูกค้า เพื่อที่จะบอกให้เขามาใช้บริการ อันนั้นเราจะทำมิติใหม่ของการตลาด ทั้งแบบบีทูบี (ธุรกิจต่อธุรกิจ) บีทีซี (ธุรกิจกับลูกค้า) พวกนี้จะเกิดขึ้นมาในยุคที่ผมเป็นผู้ว่าฯแน่นอน” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวว่า การรถไฟฯยุคนี้ เราจะพัฒนาคนอย่างจริงจัง คนของการรถไฟฯจะต้องไม่ใช่คนที่คนอื่นมองว่า ทำงานไปวันๆ ต่อไป คนรถไฟฯจะรู้ว่าเราจะมีเป้าหมายอย่างเดียวกันอย่างไรบ้าง เหมือนทีมฟุตบอล เราจะรู้ว่าประตูฝั่งตรงข้ามอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เลี้ยงบอลไปวันๆ แล้วส่งบอลต่อให้คนอื่นๆเท่านั้นเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างประสิทธิภาพให้เขา ทั้งผ่านโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟฯ การอัพสกิล การรีสกิล ต้องเกิดขึ้นอย่างเต็มความสามารถ
“เราสร้างคนให้เป็นฝ่ายช่าง ฝ่ายโยธา เราสร้างคนเก่งมากในเรื่องอาณัติสัญญาณ และในเรื่องระบบรางไม่มีใครเก่งกว่าเรา แต่ยังไม่ได้สร้างคน เพื่อเอาบริการเหล่านี้ไปขาย เรายังไม่สร้างคนที่เก่งในการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ต่อไปเราจะสร้าง เราเอาประสบการณ์ของการรถไฟฯที่มีนับร้อยปี เอามาเป็นองค์ความรู้ที่มี และต่อยอด เราจะไม่ย่ำอยู่กับที่อีกต่อไป” นิรุฒกล่าว
นิรุฒ กล่าวว่า “ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผมจะทำ และเป็นแผนที่ผมนำเสนอบอร์ดรถไฟฯ ซึ่งเบื้องต้นบอร์ดเห็นด้วย ที่จะให้ผู้ว่าฯเดินหน้าในรูปแบบอย่างนี้ เราจะต้องเติบโตไปบนบริบทที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะเดินไปอย่างนี้ ผมยืนยันว่าการรถไฟฯเป็นยักษ์ใหญ่ แต่วันนี้เรายังเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก นั่งๆนอนๆ ยังไม่มีแรงเท่าไหร่ เราจะต้องเสริมอาหารเสริม เพิ่มพลังกาย พลังใจให้เขาลุกขึ้นยืน
แต่การยืนได้อย่างมั่นคงนั้น ยังไม่สำคัญเท่า เขาจะมั่นคงตลอดไป นั่นหมายความระบบต้องดี วัฒนธรรมองค์กรต้องดี และผมเชื่อว่าทั้งหมดจะทำไม่ได้ดีที่สุด ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน”
เหล่านี้เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการรถไฟฯของ ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนที่ 29
อ่านประกอบ :
เดินหน้าฟื้นฟู รฟท.! ‘นิรุฒ’ เข็นเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ 4.2 แสนล.-สู้ต่อคดีโฮปเวลล์
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโปรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage