ครม.เห็นชอบตั้ง ‘บ.รถไฟพัฒนาสินทรัพย์’ จัดการที่ดินที่รฟท.กว่า 3.8 หมื่นไร่ มูลค่า 3 แสนล้านบาท คาดสร้างรายได้ 6.3 แสนล้านบาท ภายใน 30 ปี เพียงพอสำหรับล้างหนี้สินการรถไฟฯที่ปัจจุบันมีอยู่ 1.77 แสนล้านบาท พร้อมอนุมัติเพิ่มปรับเพิ่มกรอบวงเงิน-อนุมัติร่างสัญญา 2.3 ระบบรางรถไฟไทย-จีน มูลค่า 5 หมื่นล้าน
..................
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นชอบให้รฟท. กู้ยืมเงิน 200 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียน โดยรฟท.รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน
ทั้งนี้ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จะทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินของรฟท. โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันรฟท.มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์เพียงปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ เนื่องจากรฟท.ไม่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารสินทรัพย์ดังกล่าว
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์จะมาจาก 3 ส่วนคือ 1.รายได้จากค่ารับจ้างบริหารสัญญาเช่าเดิมจำนวน 15,270 สัญญา โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของรฟท. 2.รายได้จากการให้เช่าช่วง ร่วมทุน หรือพัฒนาที่ดินเดิมที่หมดอายุสัญญา 3.รายได้จากโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนและการพัฒนาพื้นที่ดินเปล่าแปลงอื่นๆ และในอนาคตอาจมีรายได้จากการขายกระแสเงินสดในอนาคตให้กับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“รฟท.จะมีรายได้จากบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ มาลดภารระหนี้สิน โดยประมาณการผลตอบแทนที่รฟท.จะได้รับในระยะเวลา 30 ปี จะอยู่ที่ 631,628 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีภาระหนี้สินรวม 177,611 ล้านบาท”น.ส.ไตรศุลีกล่าว
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็น 50,633.50 ล้านบาท จากเดิม 38,558.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,075.12 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบกับกรอบวงเงินรวมของโครงการ และให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
สำหรับการปรับเพิ่มกรอบวงเงินดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า โรงเชื่อมรางและกองเก็บ และโรงกองเก็บราง จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ
2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท
3.การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (Ballasted Track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (Ballastless Track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานีซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท
และ4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่าง และอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ครม.ได้เห็นชอบร่างสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โดยจะมีการว่าจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และCHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร วงเงินสัญญา 50,633.50 ล้านบาท
สำหรับระยะเวลาสัญญาจ้างแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2.การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน
อ่านประกอบ :
นิรุฒ มณีพันธ์ : ต้อง ‘ลุกจากโต๊ะ วิ่งไปหาลูกค้า’-แก้ 2 โจทย์ใหญ่พลิกฟื้นรฟท.
ไม่รอเอกชนร่วมทุนฯ! รฟท.เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า ‘สายสีแดง’ กลางปี 64-ลุยทางคู่สายอีสาน
3 ยุทธศาสตร์ 'นิรุฒ มณีพันธ์' ปลุกยักษ์ใหญ่ 'รฟท.' ลุกขึ้นยืน-คนรถไฟฯ ต้องไม่เลี้ยงบอลไปวันๆ
เดินหน้าฟื้นฟู รฟท.! ‘นิรุฒ’ เข็นเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ 4.2 แสนล.-สู้ต่อคดีโฮปเวลล์
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโปรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage