‘นิรุฒ’ เปิดภารกิจฟื้นฟูฯรฟท. สั่งรื้อระบบจัดการทรัพย์สิน-ที่ดิน 2 หมื่นไร่ หลังพบสร้างรายได้แค่ปีละ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น ลั่นเดินหน้าเปิดประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่-ทางคู่เฟสสอง 4.2 แสนล้านบาท พร้อมสู้ต่อคดี 'โฮปเวลล์' เผยล่าสุดยื่นศาลปกครองฯ ชี้ขาดการจดทะเบียนของบริษัทคู่สัญญาว่า ถูกต้องหรือไม่
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงนโยบายและยุทศาสตร์การขับเคลื่อน รฟท. อย่างเป็นทางการ หลังเข้าทำงานเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งว่า ภายในปีนี้ รฟท.จะเร่งรัดให้มีการเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง กรอบวงเงินรวม 1.52 แสนล้านบาท ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท
“รถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงของ เราจะเสนอเรื่องกลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเราจะแบ่งการประมูลเป็น 3 สัญญา ซึ่งเป็นไปตามมติครม.เดิม ซึ่งเมื่อครม.เห็นชอบก็จะเดินหน้าเปิดประมูล พร้อมๆกับทำการเวนคืนที่ดินคู่ขนานกันไป ส่วนสายบ้านไผ่-นครพนม ครม.อนุมัติแล้ว ตอนนี้เราหาที่ปรึกษาเพื่อเขียนร่างเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์)ได้แล้ว โดยจะมีการประกาศทีโออาร์เร็วๆนี้ ซึ่งรถไฟทางคู่สายใหม่ทั้ง 2 โครงการจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้” นายนิรุฒกล่าว
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินรวม 273,382 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) และหากเป็นไปได้ตนเองก็อยากให้มีการเปิดประมูลภายในปีนี้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดสภาพัฒน์ฯว่าจะเห็นชอบโครงการฯเมื่อใด ซึ่งที่ผ่านมารฟท.และบอร์ดสภาพัฒน์ฯมีการหารือกันหลายครั้งแล้ว
“รถไฟทางคู่เฟส 2 ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเราได้มีการพูดคุยเยอะมากแล้ว และหากรถไฟทางคู่เฟส 2 เกิดขึ้น ก็จะไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้อ 2 ของรฟท. คือ การเพิ่มรายได้ฯจากการใช้ทางรถไฟฯให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งหากเป็นไปได้เราก็อยากเปิดประมูลในปีนี้ นอกจากนี้ เราอยู่ระหว่างศึกษาว่าถ้าทางคู่เฟสต่างๆแล้วเสร็จ เราจะต้องมีการจัดหาหัวรถจักรเพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร เพื่อทำให้มีการใช้ทางให้มากที่สุด” นายนิรุฒกล่าว
สำหรับรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1.สายปากน้ำโพ-เด่นชัย, 2.สายเด่นชัย-เชียงใหม่ , 3.สายขอนแก่น-หนองคาย, 4.สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, 5.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, 6.สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และ7.ชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์
นายนิรุฒ กล่าวถึงการประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ แปลง A ขนาดที่ดิน 32 ไร่ ว่า รฟท.อยู่ระหว่างการทบทวนโครงการฯและได้มีการจัดตั้งคณะทำงานฯพิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งแนวทางการร่วมลงทุนกับเอกชน และเงื่อนไขการประมูล รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องความต้องการด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น โครงการ One Bangkok และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ–รังสิต และช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน นายนิรุฒ ระบุว่า การเปิดเดินรถจะต้องเลื่อนไปเป็นเดือนพ.ค.64 เป็นอย่างน้อย จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดเปิดเดินรถต้นปี 64 โดยล่าสุดผู้รับเหมาขอเลื่อนเวลาก่อสร้างออกไป 500 วัน แต่รฟท.ให้ได้เพียง 87 วันเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเลื่อนเวลาได้เท่าไหร่ ส่วนการจัดหาผู้ให้บริการเดินรถนั้น คณะทำงานฯอยู่ระหว่างศึกษาเช่นกัน
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการนั้น ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา รฟท.จะเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาให้เป็นไปตามแผน ส่วนการสัญญา 2.3 สัญญาการวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633 ล้านบาท ขณะนี้ร่างสัญญาส่งไปให้สำนักงานอัยการพิจารณาแล้ว คาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะลงนามกับฝ่ายจีนได้
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มั่นใจว่า รฟท.จะส่งมอบพื้นที่ตั้งแต่ช่วงมักกะสันถึงสนามบินอู่ตะเภา ได้ภายในเดือนต.ค.64 อย่างแน่นอน
นายนิรุฒ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างจัดระบบการบริหารทรัพย์สินของรฟท. โดยเฉพาะที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มีมากกว่า 2 หมื่นไร่ เช่น ที่ดินสถานีแม่น้ำ พื้นที่ กม.11 ที่ดินสถานีมักกะสันที่เหลืออยู่ และพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟที่อยู่กลางเมืองต่างๆ เช่น สถานีขอนแก่น และโคราช ขณะเดียวกัน รฟท.อยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินของรฟท. ซึ่งจะทำให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่รฟท.มีรายได้ค่าเช่าทรัพย์สินส่วนนี้เพียง 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก
“วันนี้เรามีที่ดินเชิงพาณิชย์ 2 หมื่นไร่ แต่มีรายได้ 2,000 ล้านบาท ไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ทั้งๆที่ที่ดินของเราบางส่วนอยู่กลางเมือง ไม่ใช่ที่ปลายทุ่งปลายนา แต่ยอมรับว่าการจัดระบบการบริหารทรัพย์สินไม่ง่าย เพราะมีทั้งชาวบ้านบุกรุก ผู้มีอิทธิพล คนเช่าเดิมไม่จ่ายเงิน บางรายซื้อเวลาขับไล่โดยเอาเรื่องไปฟ้องศาล ซึ่งเราต้องเอาจริงเอาจริง และถ้าการจัดการเป็นขั้นเป็นตอน เราจะมีรายได้เพิ่ม ซึ่งการจัดระบบจะเสร็จในปีนี้” นายนิรุฒกล่าว
นายนิรุฒ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รฟท.การจ่ายเงินชดเชยในคดีพิพาทโครงการโฮปเวลล์ให้เอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทว่า รฟท.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้พิจารณาว่าบริษัท โฮปเวลล์ฯ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์จะระบุว่า การจดทะเบียนของบริษัทฯถูกต้องกฎหมายก็ตาม
อ่านประกอบ :
เซ็นสัญญาจ้าง 'นิรุฒ มณีพันธ์' นั่งผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ลุยสางหนี้รถไฟ-ลงทุนระบบราง
เปิดภารกิจ ‘นิรุฒ’ ว่าที่ผู้ว่าการฯ รฟท. ดัน 24 เมกะโพรเจกต์-สางหนี้ 1.6 แสนล.
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage