ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ ปรับปรุงครั้งที่ 1 เพิ่มกรอบวงเงินกู้อีก 1.99 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะแตะ 56.74% จีดีพี ในเดือนก.ย.64 เพิ่มก่อหนี้เงินกู้โควิด 7.6 หมื่นล้าน-ปรับโครงสร้างหนี้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม 1.2 แสนล้าน
................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ โดยกำหนดให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากแผนฯเดิมเป็นวงเงิน 199,434.42 ล้านบาท พร้อมทั้งโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ จำนวน 18 โครงการ/รายการ ประกอบด้วย
การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,394.17 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท เป็น 1,539,832.78 ล้านบาท 2.การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท เป็น 1,403,981.17 ล้านบาท และการปรับปรุงแผนการชำระหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 505.88 ล้านบาท จากเดิม 387,354.84 ล้านบาท เป็น 387,860.72 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติตามที่คณะกรรมการเสนอ โดยให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1
สำหรับสาระสำคัญของการปรับปรุงแผนฯในครั้งนี้ ได้แก่
1.การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พ.ร.ก.โควิด-19 จำนวน 76,239.00 ล้านบาท
2.การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 120,000 ล้านบาท เนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้
3.การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการขยายระบบไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
4.การชำระหนี้ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 441.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 อยู่ที่ 56.74% จีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบไม่เกิน 60% ของจีดีพี รวมทั้งได้จัดทำประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในช่วงปีงบ 2565-2568 อยู่ระหว่าง 56.74-59.66% ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับ 60%
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินโดยเฉพาะเงินกู้ให้เพียงพอทั้งในภาวะปกติและภายใต้สถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐมีความต่อเนื่อง เพียงพอ และทันการณ์ ขณะที่รัฐบาลควรติดตามและเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆเบิกจ่ายงบประมาณต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนการกู้เงิน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีความล่าช้า รวมถึงเร่งรัดการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19
อ่านประกอบ :
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
‘4 นักเศรษฐศาสตร์’ มองศก.ปี 64 ยังเสี่ยงสูง-เชื่อรัฐไม่ถังแตก แต่ต้องใช้เงินให้ตรงจุด
ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
สภาถกงบปี 64 ปรับลดน้อย-จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เสี่ยงกู้ชดเชยจนทะลุเพดานหนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/