“…ความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2572) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,827,002 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (772,502 ล้านบาท) การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (3,909,500 ล้านบาท) และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี (145,000 ล้านบาท)…”
...................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572)’ ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงข้อนำเสนอรายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลยังคงมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบ ‘ขาดดุล’ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการปรับขนาดการขาดดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระยะปานกลาง ดังนี้
@คาดจีดีพีปี 68 โต 2.3-3.3%-จับตาเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำคาด
สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568
เศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 (ค่ากลางร้อยละ 2.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลก
ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า และความยืดเยื้อของความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร
สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 2.6 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2569-2572
เศรษฐกิจไทยในปี 2569 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 (ค่ากลางร้อยละ 2.8) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล ร้อยละ 2.3 ต่อ GDP
เศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางในช่วงปี 2570-2572 มีแนวโน้มการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2570 และ 2571 จะขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 (ค่ากลางร้อยละ 2.8) สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ในปี 2572 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0)
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2570-2572 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 ร้อยละ 0.8-1.8 และช่วงร้อยลt 0.8-1.8 ตามลำดับ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มที่จะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง
@คาด‘งบประมาณรายจ่ายฯ’ปี 69 แตะ 3.78 ล้านล้าน-รายได้ 2.92 ล้านล.
สถานะและประมาณการการคลัง
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท สูงกว่าผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 จำนวน 89,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 โดยประมาณการรายได้ของกรมสรรพากรและกรมศุลกากรขยายตัว ตามสมมติฐานเศรษฐกิจและฐานการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567
ขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนมีมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว
อย่างไรก็ดี ประมาณการรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่นต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนมีการนำส่งรายได้เพิ่มเติมจากกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2566
ประกอบกับมีการนำส่งเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และเงินคงเหลือจากการดำเนินการตามภารกิจคงค้างของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทำให้ฐานการนำส่งรายได้ในปีก่อนสูงผิดปกติ
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569
ภายใต้ข้อสมมติฐานเศรษฐกิจ แนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล รวมถึงการทบทวนมาตรการยกเว้นภาษี และมาตรการที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ให้มีเท่าที่จำเป็น ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 2,920,600 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 33,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2570 - 2573
กำหนดประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2570-2573 เป็นสัดส่วนจากประมาณการ GDP เพื่อเป็นเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง ให้สัดส่วนรายได้ต่อ GDP ทยอยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.5 ในปีงบประมาณ 2569 เป็นร้อยละ 14.9 ในปีงบประมาณ 2573
โดยประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2570-2573 เท่ากับ 3,096,400 3,244,100 3,389,700 และ 3,542,700 ล้านบาท ตามลำดับ ขยายตัวร้อยละ 6.0 4.8 4.5 และ 4.5 ตามลำดับ คิดเป็น Revenue Buoyancy 1.0-1.5 เท่า
งบประมาณรายจ่าย
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 150,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จำแนกเป็น รายจ่ายประจำจำนวน 2,680,436.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 115,568.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.4 ของวงเงินงบประมาณ
รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท) รายจ่ายลงทุน จำนวน 932,362.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 124,681.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.8 ของวงเงินงบประมาณ
และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,780 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท
ประมาณการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2573
สมมติฐานในการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย
1.กำหนดการจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท. ให้มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549
2.สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ
3.บริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังและเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ โดยกำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5-4.0 ของวงเงินงบประมาณ
4.ควบคุมค่าใช้จ่ายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรให้มีอัตราการเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมทบค่าใช้จ่าย
จากสมมติฐานข้างต้น ประมาณการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2573 เป็นดังนี้ พ.ศ.2569 งบประมาณรายจ่าย 3,780,600 ล้านบาท , พ.ศ.2570 งบประมาณรายจ่าย 3,855,000 ล้านบาท , พ.ศ.2571 งบประมาณรายจ่าย 3,966,000 ล้านบาท , พ.ศ.2572 งบประมาณรายจ่าย 4,093,000 ล้านบาท และ พ.ศ.2573 งบประมาณรายจ่าย 4,254,000 ล้านบาท
@คาดปีงบ 68 เก็บรายได้ 2.88 ล้านล.-กู้ชดเชยขาดดุล 1.1 ล้านล.
ฐานะการคลังของรัฐบาล
คาดการณ์ฐานะการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 2568
สำหรับปีงบประมาณ 2568 หากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามประมาณการ คาดว่า รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 2,887,000 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2567 จำนวน 95,279 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.4) และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 3,775,218 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2567 จำนวน 232,821 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.6)
ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 3,527,538 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.0 ของวงเงินงบประมาณ (3,752,700 ล้านบาท) สูงกว่าปีก่อนหน้า ร้อยละ 3.9 และรายจ่ายปีก่อน จำนวน 247,680 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.0 ของวงเงินรายจ่ายปีก่อน (275,200 ล้านบาท) สูงกว่าปีก่อน ร้อยละ 69.1 ส่งผลให้ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด คาดว่า จะขาดดุล 888,218 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจะบริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 1,107,700 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) เกินดุล จำนวน 219,482 ล้านบาท คาดว่าเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 733,583 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ
สถานะหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2567
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 11,627,853.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.32 ของ GDP โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9,706,499.22 ล้านบาท หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) 552,627 ล้านบาท
หนี้รัฐวิสาหกิจ 1,066,825.83 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 189,252.91 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 112,648.58 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 11,627,853.54 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 11,505,765.81 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.95 และหนี้ต่างประเทศ 122,087.73 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.05 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ทั้งนี้ หนี้้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือจะเป็นหนี้ระยะยาว 10,085,808.16 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.74 และหนี้ระยะสั้น 1,542,045.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.26 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
@คาดปีงบ 68-72 ความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง 4.82 ล้านล้าน
แผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572)
แผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 772,502 ล้านบาท (โดยไม่นับรวมวงเงินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล) ประกอบด้วย พ.ศ.2568 จำนวน 85,781 ล้านบาท ,พ.ศ.2569 จำนวน 161,610 ล้านบาท , พ.ศ.2570 จำนวน 196,322 ล้านบาท , พ.ศ.2571 จำนวน 199,959 ล้านบาท และ พ.ศ.2572 จำนวน 128,830 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจ รายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย พร้อมทั้้งแผนความต้องการ กู้เงินระยะปานกลาง ส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างในปีงบประมาณ 2567-2572 มีดังนี้
พ.ศ.2567 หนี้สาธารณะคงค้าง 11,627,854 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 63.32 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 6.33
พ.ศ.2568 หนี้สาธารณะคงค้าง 12,605,834 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 65.56 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 6.93
พ.ศ.2569 หนี้สาธารณะคงค้าง 13,461,963 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 67.34 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 8.86
พ.ศ.2570 หนี้สาธารณะคงค้าง 14,242,312 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 68.52 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 9.69
พ.ศ.2571 หนี้สาธารณะคงค้าง 14,983,098 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 69.25 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 10.56
พ.ศ.2572 หนี้สาธารณะคงค้าง 15,642,927 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ร้อยละ 69.32 และดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 11.23
แนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการกู้เงินในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปี 2563-2564 ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มขึ้น
โดยความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2572) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,827,002 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (772,502 ล้านบาท) การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (3,909,500 ล้านบาท) และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี (145,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีภารกิจที่สำคัญในการกู้เงินให้ครบตามความต้องการในแต่ละปีเพื่อตอบสนองนโยบายการคลังดังกล่าว และกำกับติดตามให้หนี้สาธารณะมีความยั่งยืนภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งได้กำหนดกรอบเพดานสัดส่วนตัวชี้วัดทางการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะไว้ 5 ด้าน
โดยสถานะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนด ยกเว้นสัดส่วนภาระหนี้ ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่เกินกว่ากรอบเล็กน้อย
@ปีงบ 68 ภาระผูกพัน‘สวัสดิการฯ 3 กลุ่ม-รายจ่ายบุคลากรรัฐ’ 1.65 ล้านล.
ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล (ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567)
ภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities) เป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่มีกฎหมาย สัญญาหรือข้อตกลงที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง (ในการชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย) จำนวนรวมทั้งสิ้น 9,866,251.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.72 ของ GDP ประกอบด้วย
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,284,316 ล้านบาท (2) หนี้้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ จำนวน 374,965 ล้านบาท และ (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ จำนวน 206,970 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 มีรายจ่ายในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ที่ 150,100 และ 259,254 ล้านบาท ตามลำดับ
2.ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 ยอดคงค้างดังกล่าวมีจำนวน 1,028,279 ล้านบาท อยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนภาระยอดคงค้างตามมาตรา 28 จำนวน 36,957 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.98 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
3.ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรงบประมาณส่วนดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 857,832 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.86 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคมอีก จำนวน 66,452 ล้านบาท
4.ภาระผูกพันที่มาจากรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลมีภาระงบประมาณ ในส่วนดังกล่าว 800,970 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.34
5.ภาระผูกพันในการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายรอบแรกแล้ว จำนวน 1,453.11 ล้านบาท โดยยังมีประมาณการภาระผูกพันในการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหาย รอบสองอีก 100 ล้านบาท
6.ภาระผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟู) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่าย และความเสียหายดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,705 ล้านบาท โดยยังมีประมาณการภาระผูกพันคงเหลือที่ต้องชดเชยอีกสูงสุดไม่เกิน 61,328 ล้านบาท
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities) เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลอาจต้องจ่ายหรือชำระหนี้แทนตามกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง รวมไปถึงความคาดหวังจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ประกอบด้วย
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,761,602.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.59 ของ GDP ประกอบด้วย
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 552,627 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง โดยมีแหล่งเงินหลักในการชำระหนี้มาจากเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555
(2) หนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่รัฐบาลไม่รับภาระ จำนวน 641,597 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงินและอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (แผนฟื้นฟูฯ) เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น และ
(3) หนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) และหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 567,379 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
2.การพิจารณาชดเชยการสูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับ อปท. ตามความจำเป็นและสมควร รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสิ้น 30,489 ล้านบาท โดยยังมีภาระผูกพันคงเหลือในการพิจารณาชดเชยอีกสูงสุดไม่เกิน 34,627 ล้านบาท
@นายกฯสั่ง 4 หน่วยงานทบทวนข้อมูลประมาณการ‘เศรษฐกิจ’
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาวาระ เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) ครม.มีมติเห็นชอบให้ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทบทวนข้อมูลประมาณการทางเศรษฐกิจภายใต้แผนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ตามที่ นายกฯเสนอ
“ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ เพื่อสนับสนุนการประกอบการของภาคธุรกิจและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลประมาณการทางเศรษฐกิจในหลายตัวชี้วัดตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) ยังอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
จึงขอมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาปรับปรุงประมาณการทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
รวมทั้งจัดทำมาตรการทางการคลังในเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และการลงทุนของภาภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ แล้วให้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ” หนังสือแจ้งมติ ครม. ที่ นร.0505/ว (ล) 30222 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2567 ระบุ
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ฉบับล่าสุด ซึ่งพบว่ารัฐบาลยังคงมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบ ‘ขาดดุล’ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปีงบประมาณ 2568-2572 รัฐบาลจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 3.9 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว!
อ่านประกอบ :
พลิกมติ'ครม.เศรษฐา'รื้อ'แผนการคลังฯ'2 รอบ กู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-'หนี้สาธารณะ'ใกล้ชนเพดาน
ครม.เคาะรื้อ‘แผนการคลังฯ’รอบ 2 เพิ่มงบปี 67 เป็น 3.6 ล้านล. ดันหนี้สาธารณะ 65.7%ต่อGDP
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.
ครม.ไฟเขียว'แผนการคลังฯ'ฉบับใหม่ คาดปี 68 ตั้งงบรายจ่ายฯ 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล.
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง