“…ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 (Decile 10) ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 32.42 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 (Decile 1) มีส่วนแบ่งรายได้เพียงแค่ร้อยละ 2.33 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ…”
.............................................
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในประเทศไทยในมิติต่างๆ มีแนวโน้มปรับดีขึ้น
สะท้อนได้จากรายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะของ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2565) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ที่ระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้น จาก 0.453 ในปี 2560 เป็น 0.430 ในปี 2564
ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนยากจนร้อยละ 10 ที่มีรายได้ต่ำสุด ลดลงจาก 19.1 เท่า ในปี 2560 มาอยู่ที่ 18.6 เท่า ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะที่ผ่านมา ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายรูปแบบ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคงและรายได้ และด้านการกระจายโอกาส อาทิ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดยังแตกต่างกันมากกว่า 15 เท่า คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าคนรวย
นอกจากนี้ ผู้ที่มีรายได้น้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ที่มีคุณภาพ (อ่านประกอบ : ช่องว่างรายได้เกิน15เท่า-คนจนหนี้ท่วม-พัฒนาไม่เท่าเทียม! เปิดโจทย์‘เศรษฐา’แก้เหลื่อมล้ำฯ)
ล่าสุด ‘สภาพัฒน์’ ได้เผยแพร่รายงาน ‘การวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566’ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอบางช่วงบางตอนของรายงานฯฉบับนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ด้าน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ สรุปได้ ดังนี้
@คนรายได้สูง 10% แรก มีส่วนแบ่งรายได้ 32.42%
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความไม่เสมอภาค ลดลงจาก 0.430 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 0.417 ในปี 2566 โดยแนวโน้มการปรับตัวลดลงของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ดังกล่าวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคเกษตรกรรมที่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ทำงาน ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้มีรายได้สูงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ กลับปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้า ทำให้ภาพรวมของประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (Decile 9-10) มีระดับอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า (Decile 1-8) อย่างชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของช่องว่างความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ
หากวิเคราะห์จำแนกตามเขตการปกครอง พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในเขตเทศบาลยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยภาคเหนือมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ภาคใต้ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของรายได้ จำแนกเป็น 10 กลุ่มประชากร พบว่า ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (Decile 9-10) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า (Decile 1-8) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 (Decile 10) ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 32.42 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 (Decile 1) มีส่วนแบ่งรายได้เพียงแค่ร้อยละ 2.33 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ
นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลเงินได้พึงประเมินของผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากฐานข้อมูลภาษี ปี 2565 จะยิ่งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้น
กล่าวคือ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 (Top 1) หรือมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป มีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 11.7 ของเงินได้พึงประเมินทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 (Bottom 20) หรือมีเงินได้พึงประเมินในช่วง 0-150,000 บาท มีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 3.47 เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่ม Top 1 ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้มากกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ กล่าวได้ว่าระบบภาษีเงินได้ของประเทศไทยยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างของรายได้ที่เป็นตัวเงิน จำแนกเป็น 10 กลุ่มประชากร ตามระดับรายได้พบว่า รายได้หลักของทุกกลุ่มประชากรมาจากรายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้าง/เงินเดือน กำไรจากธุรกิจนอกภาคเกษตร และกำไรจากการเกษตร
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มพึ่งพาเงินโอนจากบุคคลอื่น และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนรายได้จากบำเหน็จ/บำนาญที่สูงกว่า ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงทางการเงินที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มรายได้
สัดส่วนรายได้ที่มาจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐของทุกกลุ่มรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจำวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด (Decile 1) ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวอย่างรุนแรง พบว่า สัดส่วนรายได้ที่ได้รับจำกเงินช่วยเหลือจากภาครัฐลดลงถึงร้อยละ 12.47 สะท้อนให้เห็นถึงการสิ้นสุดลงของมาตรการเยียวยาของรัฐบาล
นอกจากนี้ สัดส่วนและระดับรายได้ที่มาจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีแนวโน้มลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อระดับรายได้รวมทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ด้านรายได้โดยการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก
@คนรายได้ต่ำสุด 20% แรก ใช้จ่ายเงินเพื่อความอยู่รอด
ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.343 ในปี 2565 มาอยู่ที่ 0.335 ในปี 2566
เมื่อพิจารณาจำแนกตามเขตการปกครอง พบว่า ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลต่างมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายลดลง โดยในเขตเทศบาลยังคงมีระดับความรุนแรงสูงกว่านอกเขตเทศบาล และในระดับภูมิภาค พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่กรุงเทพมหานครกลับมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายสูงที่สุด
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งรายจ่ายของประชากรจำแนกตามระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยส่วนแบ่งรายจ่ายของกลุ่มที่มีรายจ่ายสูงสุด (Decile 10) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนแบ่งรายจ่ายของกลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำ (Decile 1-8) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยกลุ่มที่มีรายจ่ายสูงสุดยังคงมีส่วนแบ่งรายจ่ายสูงถึงร้อยละ 26.03 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำสุดร้อยละ 10 (Decile 1) ที่มีส่วนแบ่งรายจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 3.34 เท่านั้น คิดเป็น 7.79 เท่า
แม้กลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายต่ำจะมีส่วนแบ่งการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นไปยังสินค้าจำเป็นเพื่อการยังชีพเป็นหลัก หากพิจารณาโครงสร้างการใช้จ่ายของประชากรตามระดับรายจ่าย พบว่า กลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำสุดร้อยละ 20 (Decile 1 และ 2) ใช้จ่ายเงินไปกับอาหารและเครื่องดื่มมากถึงกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ประชากรกลุ่มนี้ต้องใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปเพื่อความอยู่รอด
ในขณะที่กลุ่มที่มีรายจ่ายสูงสุดร้อยละ 10 (Decile 10) กลับใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับสินค้าและบริการอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน อาทิ การครอบครองและบำรุงรักษายานพาหนะ เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพเอกชนที่สะดวกรวดเร็ว และการศึกษาขั้นสูง
ทั้งนี้ ความแตกต่างในการใช้จ่ายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ การบริการสุขภาพที่ทันท่วงที รวมถึงโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อสุขภาพ และโอกาสในการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้สะดวกสบายมากขึ้น ช่วยให้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นยิ่งขึ้นไปอีก
@‘กลุ่มคนรายได้สูง’ถือครองทรัพย์สินสัดส่วน 29.99%
ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง
-ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวมของไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละประเภททรัพย์สิน พบว่า ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่อยู่อาศัยและยานพาหนะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยรวม
ในขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินทางการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม และความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ/การเกษตร กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมของกลุ่มที่มีรายได้สูง (Top 10) ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 34.65 ในปี 2556 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.99 ขณะที่ ส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมของกลุ่มที่มีรายได้น้อย (Bottom 40) และกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (Middle 50) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
บ่งชี้ว่า มีการกระจายความมั่งคั่งจากกลุ่มคนรวยไปสู่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากขึ้น นับเป็นสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของประเทศที่ลดลง
หากพิจารณาส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินจำแนกรายประเภท ในปี 2566 พบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินเกือบทุกประเภทสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินทางการเงิน ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งการถือครองสูงถึงร้อยละ 49.87 ของมูลค่าทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยถือครองเพียงร้อยละ 10.35 เท่านั้น
นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูงยังมีส่วนแบ่งการถือครองยานพาหนะและที่อยู่อาศัยสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ร้อยละ 31.86 และ 31.00 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีรายได้น้อยกลับมีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อธุรกิจ และการเกษตรสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง
ทั้งนี้ ความแตกต่างในการถือครองทรัพย์สินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงมีโอกาสเข้าถึงทรัพย์สินที่หลากหลายและมีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าและเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้ในระยะยาว ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อย มักมีโอกาสจำกัดอยู่เพียงทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ขาดโอกาสในการลงทุนและเพิ่มพูนฐานะทางเศรษฐกิจ
-ภาระหนี้สิน
การวิเคราะห์ภาระหนี้สินของประชำกรจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ส่วนแบ่งภาระหนี้สินของกลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 37.14 ของมูลค่าหนี้สินทั้งหมด ในขณะที่ส่วนแบ่งภาระหนี้สินของกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น
แม้ว่าส่วนแบ่งภาระหนี้สินจะไม่ใช่ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งโดยตรง แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิของแต่ละบุคคลลดลง ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ
ภาระหนี้สินสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) หนี้สินในระบบ และ (2) หนี้สินนอกระบบ ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ กลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และมีหลักประกันที่น่าเชื่อถือ ทำให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นใจปล่อยสินเชื่อให้
-ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวมสุทธิ
แม้ว่าค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสุทธิ จะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 0.625 ในปี 2566 แต่ระดับความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงมีทรัพย์สินน้อย หรืออาจมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
@‘เกษตรรายย่อย’ถือครองที่ดินน้อยลง-เข้าถึง‘แหล่งทุน’ยาก
ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงที่ดินและแหล่งทุน
-การเข้าถึงที่ดิน
สัดส่วนการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่สัดส่วนการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ถือครองที่ดิน 10-39 ไร่ สาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้สินที่เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และสภาพอากาศที่ผันผวน ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลให้ต้องสูญเสียที่ดินไป
สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่งพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูหนี้สิน มีหนี้สินค้ำประกันด้วยที่ดิน และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลให้ต้องถูกยึดทรัพย์ในที่สุด
เมื่อพิจารณาสัดส่วนการถือครองที่ดินของประชากรตามระดับรายจ่าย พบว่า เกษตรกรที่มีเศรษฐานะดีกว่าจะมีโอกาสเข้าถึงและถือครองที่ดินได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 เกษตรกรในครัวเรือนที่มีเศรษฐานะต่ำที่สุด (Decile 1) มีสัดส่วนการถือครองที่ดินเพียงร้อยละ 7.19 ขณะที่เกษตรกรในครัวเรือน ที่มีเศรษฐานะดีที่สุด (Decile 10) มีสัดส่วนการถือครองที่ดินถึงร้อยละ 13.33
-การเข้าถึงแหล่งทุน
การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มประชากรที่มีเศรษฐานะต่างกัน โดยกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำ (Decile 1-4) มักพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมักมีข้อจำกัดของวงเงินและเงื่อนไขการกู้
ขณะที่กลุ่มที่มีเศรษฐานะดี (Decile 7-10) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน เช่น ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆได้ง่ายกว่า เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักพิจารณาสินเชื่อจากหลักประกันและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก ทำให้ผู้ที่มีความมั่งคงทางรายได้สูงได้รับอนุมัติสินเชื่อง่ายกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย
เหล่านี้เป็นสถานการณ์ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของประเทศไทยล่าสุด ซึ่งแม้ว่าความเหลื่อมล้ำในหลายมิติจะปรับตัวดีขึ้น แต่ในภาพรวมแล้ว สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย โดยเฉพาะในด้านรายได้ รายจ่าย และการถือครองทรัพย์สิน ยังอยู่ในระดับที่สูง!
อ่านประกอบ :
สมชัย จิตสุชน : สะท้อนปม'ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม'-'ถ้าการเมืองดี ทุกอย่างก็แก้ง่าย'
ช่องว่างรายได้เกิน15เท่า-คนจนหนี้ท่วม-พัฒนาไม่เท่าเทียม! เปิดโจทย์‘เศรษฐา’แก้เหลื่อมล้ำฯ
คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’
สมองVSแรงงาน : ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแนวโน้มสูงขึ้น
ครม.ไฟเขียวตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่อง 538 รร.
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
ผ่า'ร่างแผนความมั่นคงฯ' 5 ปี มองไทยในวงล้อม 2 มหาอำนาจ 'สังคมเหลื่อมล้ำ-ทุจริตทุกระดับ'
เปิดรายงาน ‘สภาพัฒน์’ เผย ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังสูง-คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : 'ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth'
วิรไท สันติประภพ : ถ้าความเหลื่อมล้ำรุนแรง..สังคมจะเปราะบางและแตกแยกมากขึ้น
‘เหลื่อมล้ำ’หนักขึ้น! ผู้ว่าฯธปท.มองภาพศก.หลังพ้นโควิด-รื้อเกณฑ์ซอฟท์โลนอุ้มSME
ขยี้ปมเหลื่อมล้ำศก. เขย่าเก้าอี้ 'บิ๊กตู่' นโยบายรัฐเอื้อเจ้าสัว 5 ตระกูล 'รวยก้าวกระโดด' ?
รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า