“…คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยผลการตรวจสอบฯ พบปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาการทุจริต และปัญหาที่นำไปสู่ความเสี่ยงการทุจริต ในช่วงการพัฒนานโยบายและช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ…”
......................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติ ‘รับทราบ’ ข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรม ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
พร้อมทั้งมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงการคลังสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับ ‘ข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรม’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปได้ ดังนี้
@พบปัญหาทุจริต-เสี่ยงทุจริต จัดซื้อ‘สินค้านวัตกรรม’
เหตุผลความจำเป็น-ข้อเท็จจริง
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัย จึงได้มีการใช้ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ เป็นเครื่องมือในการเอื้ออำนวย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการผลักดันงานวิจัยของภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยผลการตรวจสอบฯ พบปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาการทุจริต และปัญหาที่นำไปสู่ความเสี่ยงการทุจริต ในช่วงการพัฒนานโยบายและช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
เช่น ปัญหาการดำเนินนโยบายที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน ปัญหาการแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรมและความเสี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่ง โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนี้
ข้อเสนอแนะในช่วงการพัฒนานโยบาย
ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน
-ปัญหาการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ
เห็นควร ให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ นำแนวทางที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง
คือ แนวทางที่ 1 การขอใช้มาตรการในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional measures) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย ทั้งความตกลง GPA และ CPTPP ที่มีบทระบุถึงมาตรการในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก และแนวทางที่ 2 การระบุข้อยกเว้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย มาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเร็ว
@แนะแก้ 7 ปัญหาเชิงนโยบาย จัดซื้อ‘สินค้านวัตกรรม’
ข้อเสนอแนะในช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน
หน่วยงานที่รับช่วงภารกิจต่อจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้
1) ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย ให้มีความแตกต่างกันตามระดับนวัตกรรมไทย ซึ่งอาจจำแนกระดับนวัตกรรมไทยออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และระดับที่ 2 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และในการจำแนกระดับนวัตกรรมไทย ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน
และควรมีการพิจารณาให้ครอบคลุมถึงความเหมาะสมในประเด็นต่างๆ เช่น ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ตลอดจนการมีหลักฐานปรากฎเป็นผลงานวิจัยของคนไทย การอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ได้รับประโยชน์ทางตรง คือ ประเทศไทย เป็นต้น
2) ปัญหาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ
เห็นควร ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ให้ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยให้มีการกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น
3) ปัญหาคุณสมบัติของผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จำหน่ายและผู้แทนจำหน่าย ให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ ก่อนประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เช่น การเป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมาย การไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน การไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และการเป็นผู้มีอาชีพนั้นโดยตรง เป็นต้น
4) ปัญหาผู้ประกอบการไม่แสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย โดยมีสำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความลับข้อมูล
5) ปัญหาระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีการกำหนดชื่อและรหัสผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่ตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณ ให้มีชื่อกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง และในระยะยาวอาจพิจารณาจัดทำหมวดรายการผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทย ให้เป็นรหัสมาตรฐานสากล (UNSPSC)
6) ปัญหาภาครัฐขาดการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีประสิทธิภาพ
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางในการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยให้มีความชัดเจน เช่น แนวทางในการติดตามและประเมินผลการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย
โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมกับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ของกรมบัญชีกลาง แนวทางในการติดตามและประเมินผล เมื่อหน่วยงานของรัฐมีเหตุผลและความจำเป็น ที่ไม่สามารถจัดซื้อพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
7) ปัญหาภาครัฐขาดการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน
เห็นควร ให้มีการกำหนดแนวทางในการชักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย ถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
@เสนอ 4 แนวทางแก้ทุจริต ประมูลสินค้า‘บัญชีนวัตกรรม’
ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและความเสี่ยงการทุจริต
1) ปัญหาการแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรม และความเสี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
เห็นควร ให้หน่วยงานที่รับช่วงภารกิจต่อจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง สวทช. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
‘ทบทวน’ แนวนโยบายที่ได้กำหนดให้ หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมนั้น ได้มีการกำหนดราคาไว้แล้ว ประกอบกับการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย
เพื่อป้องกันมิให้แนวนโยบายดังกล่าว เป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย (gap in the law) ที่นำไปสู่ความเสี่ยงการเป็นตลาดผู้ขาย ผูกขาด และความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งนี้ อาจพิจารณาแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้แต้มต่อราคา
2) ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย
เห็นควร ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมและกฎหมายอื่น ที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
3) ปัญหาการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เห็นควร ให้สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง กำหนดแนวทางในการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในเรื่องดังนี้
(1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชน และมีการสำรวจพื้นที่ในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสภาท้องถิ่นต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบคอบ และควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่นๆ อย่างเคร่งครัด
(2) การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณอย่างเคร่งครัด มีการสำรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือมีเอกสารหลักฐานยืนยันความถูกต้องครบถ้วน และมีการกลั่นกรองโครงการ และตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารโครงการอย่างรอบคอบ
(3) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุส่งเสริมนวัตกรรม ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 หมวด 4 ประกอบกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 48
(4) การกำหนดราคากลางพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 4(3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
และมอบหมายให้ สวทช. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อ ครม. เพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้ สวทช. รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำทุกปี
เหล่านี้ เป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการป้องกันการทุจริตในการดำเนิน 'นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรม' และต้องติดตามกันต่อไปว่า ภาครัฐจะมีการปรับปรุงแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างฯสินค้า ‘บัญชีนวัตกรรม’ ในระยะข้างหน้าอย่างไร?
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
ภาพรวม:
- ขมวดปมร้อน!จัดซื้อสินค้าบัญชีนวัตกรรม เอกชนกลุ่มเดียวคว้างานพันล.นโยบายรัฐเสี่ยงเอื้อปย.?
- อปท.แห่ซื้อเป็นร้อยโครงการ! ล้วงข้อมูล ป.ป.ช.สอบสินค้านวัตกรรม'ป๊อกแทงค์-Water Purifying'
- หลังบ.กลุ่มเดียวคว้างานพันล.! ป.ป.ช.สั่งศูนย์CDC จับตาซื้อสินค้าบัญชีนวัตกรรมใกล้ชิด
- เฉลิมพล เพ็ญสูตร:ปมขายสินค้านวัตกรรมรายเดียวพันล.รัฐไม่มีเจตนาเอื้อปย.-ทุจริตเชิงนโยบาย
- กมธ.ติดตามการบริหารงบ แนะสวทช.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความคุ้มทุนโคมไฟถนนโซลาร์เซลล์
- เปิดละเอียด! ข้อสังเกตกมธ.ติดตามงบฯ ซักประเด็นจัดซื้อโคมไฟนวัตกรรม คุ้มค่าราคาหรือไม่?
สินค้าเอกชนกลุ่มแรก:
เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- จี้ผู้ว่าฯทบทวน! สตง.สอบงบเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล. อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล.อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ตัวละ1.4 ล้าน! แกะรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 11 ตัว15.3 ล. อำนาจเจริญ ซื้อจากไหน?
- ไม่มีขายทั่วไป! ผู้ว่าฯอำนาจเจริญ แจงซื้อเครื่องแปลงเศษอาหาร15.4 ล. บ.เดียว-ใช้งบรองนายกฯ
- สินค้าที่ 3 เครื่องแปลงขยะบัญชีนวัตกรรม เจ้าของกลุ่มเดิมอีกแล้ว สตง.เคยสอบที่อำนาจเจริญ
ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- ถึงคิว! สตง.สอบระบบผลิตน้ำประปากระบี่ 145 ล.พบปัญหาซ้ำรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์
- เจาะจัดซื้อระบบผลิตน้ำประปาบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียว คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
- ไขที่มา POG TANKS สินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียวคว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
- เปิดตัวเจ้าของ 'ป๊อกแทงค์' ไขข้อสงสัยสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- เจาะสินค้าบัญชีนวัตกรรม 'ป๊อกแทงค์-Water Purifying' เจ้าของเดียวกัน-ได้งานรัฐอีก 32 ล.
- เบื้องลึก! 'Water Purifying' ป.ป.ช.บึงกาฬชงสอบอดีตผู้ว่าฯ-8 นอภ.แจ้งถอนชื่อบัญชีนวัตกรรม
ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
สินค้าเอกชนกลุ่มสอง:
โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียว (ALL In One Solar Street Light) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- ถึงคิว! เปิดตัวเอกชนกลุ่ม 2 ขายสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน ได้งานอปท.ทั่วปท. 1,514 ล้าน
- เปิด '6 อบจ.' สนองนโยบายรัฐ ทุ่มซื้อสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน - สระบุรี มากสุด 392 ล.
- ลูกค้ามั่นใจ-ของไม่มีปัญหา! ผู้บริหารบ.โซดิแอคท์ แจงขายสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน 1.4 พันล.
- อบจ.สระบุรี ซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม194 ล. '3 บ.ผู้จำหน่าย-ตัวแทน' รับซอง แต่ไม่ยื่นแข่ง 2
- ปชช.ต้องการ! อบจ.สระบุรีแจงซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม 329 ล.-เอกชนคุณสมบัติครบตัดสิทธิไม่ได้
- ยอดพุ่ง 454 ล.! อบจ.สระบุรีซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม 5 สัญญา บ.กลุ่มเดิมรับซอง-แต่ไม่ยื่นแข่ง
กรณีทำถนนพ่วงซื้อโคมไฟนวัตกรรม
- ข้อมูลใหม่! อปท.แห่ทำถนนพ่วงติดตั้งโคมไฟนวัตกรรม TOR กำหนดรหัสสินค้าชัดเจน
- ส่วนกลางกำหนดมา! นายก อบต.สร้างมิ่ง แจงปมสร้างถนนพ่วงติดตั้งโคมไฟนวัตกรรม 3 สัญญารวด
- ชนะคู่เทียบหลักพัน!ไส้ใน อบต.สร้างมิ่ง ทำถนนพ่วงซื้อโคมไฟนวัตกรรม กำหนดคุณสมบัติเจาะจง
- ไส้ในสัญญาที่ 2! อบต.สร้างมิ่ง ทำถนนพ่วงซื้อโคมไฟนวัตกรรม เจาะจงคุณสมบัติ-ชนะหลักพันอีก
เครื่องสูบไฮดรอลิคนวัตกรรม ตัวละ 10.6 ล้าน
- พบ 'คู่เทียบ' หจก.ลูกพล.อ.ปรีชา ขายเครื่องสูบไฮดรอลิคสินค้านวัตกรรม ได้งาน กรมฯน้ำ 233 ล.
- เผยโฉม! เครื่องสูบไฮดรอลิคนวัตกรรม ตัวละ 10.6 ล้าน กรมฯ น้ำ ทุ่มซื้อ 22 เครื่อง 233 ล.
- ยอดพุ่ง 913 ล้าน! กรมชลฯ เจ้าแรกเจาะจงซื้อเครื่องสูบไฮดรอลิคนวัตกรรม 64 ตัว 679 ล.ปี 65
- ท.บางแก้ว แห่งที่ 3! ซื้อเครื่องสูบนวัตกรรม 5 ตัว 44.6 ล. ยอดขาย บ.นำพลฯ กระฉูด 957 ล.
- เปิดตัวนักวิจัย ม.ศรีปทุม เจ้าของผลงานเครื่องสูบน้ำนวัตกรรม ก่อน บ.คว้าสัญญารัฐ 957 ล.