"...โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการเปิดใช้ผลิตน้ำประปาโดยเป็นระบบประปาขนาดใหญ่ จำนวน 13 โครงการ และขนาดกลาง จำนวน 3 โครงการ รวมจำนวน 16 โครงการ พบว่ามีการให้บริการน้ำประป กับครัวเรือนผู้ใช้น้ำเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดเพียง จำนวน 1 โครงการและมีจำนวนถึง 15 โครงการ ที่ไม่สามารถให้บริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ในจำนวนนี้มีจำนวน 9 โครงการ ที่กำหนดเป้าหมายครัวเรือนผู้ใช้น้ำเกินกำลังการผลิตที่ระบบผลิตน้ำประปาจะสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง..."
โครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย รหัส 14000029 ขนาด 100 กิโลกรัม จำนวน 8 โครงการ รวม 11 เครื่อง จำนวนเงิน 15,400,000 บาท ของ จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณงบกลางฯ ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์)
มิใช่โครงการฯ เดียวที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
- จี้ผู้ว่าฯทบทวน! สตง.สอบงบเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล. อำนาจเจริญ ส่อเหลว (1)
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล.อำนาจเจริญ ส่อเหลว (2)
- ตัวละ1.4 ล้าน! แกะรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 11 ตัว15.3 ล. อำนาจเจริญ ซื้อจากไหน?
โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท
ถูก สตง. ตรวจสอบพบปัญหาการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดเช่นเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลรายละเอียดมานำเสนอ ณ ที่นี้
สตง. ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทยของจังหวัดกระบี่ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565 ปรากฎผลดังนี้
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565 จังหวัดกระบี่ ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System)ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 14 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 65.94 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 6 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 31.20 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 10 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 48.20 ล้านบาท ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่มอบอำนาจให้นายอำเภอที่อยู่ในพื้นที่โครงการเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและลงนามในสัญญา โดยการจัดซื้อจัดจ้างได้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เมื่อดำเนินโครงการเสร็จแล้วได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการเป็นผู้ควบคุมดูแล
มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอภายในหมู่บ้าน
ข้อที่ 2เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีน้ำที่สะอาดได้มาตรฐานถูกหลักอนามัย
ข้อที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ข้อที่ 4 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมาบริโภคในครัวเรือน
ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบที่เป็นสาระสำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ
โครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทยของจังหวัดกระบี่ เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ สำนักงานจังหวัดกระบี่ หน่วยงานรับงบประมาณซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ไม่ได้ดำเนินการลงทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ แต่จะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ โดยไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรากฏว่ามีพัสดุครุภัณฑ์ชำรุดและสูญหาย จำนวน 5 โครงการ มีผลทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ และยังเป็นการทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการซึ่งมาจากงบประมาณของรัฐ สาเหตุสำคัญเกิดจากขาดผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแล เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินและไม่มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการ ควบคุม ดูแลและบำรุงรักษา จึงเป็นเหตุให้ระบบผลิตน้ำประปาที่ติดตั้งมีครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วน เกิดการชำรุดหรือสูญหาย
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การการควบคุมและดูแลพัสดุโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทยมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้สำนักงานจังหวัดกระบี่ ดำเนินการลงทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุและจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลพัสดุที่อยู่ในความครอบครองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ตาม ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203 และข้อ 212
2. กรณีโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวน 4 โครงการ มีพัสดุครุภัณฑ์สูญหาย ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบ ผลเป็นประการใดให้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. กรณีโครงการระบบผลิตน้ำประป า ตามบัญชีนวัตกรรมไทย หมู่ที่ 2 ตำบลคลองยางอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เครื่องสูบน้ำชำรุด ให้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 184 - 185 และตามแนวทาง หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว117 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2562 เรื่อง การกำหนดวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา
4. ขอให้ตรวจสอบว่ามีโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย โครงการใดที่อยู่ในระหว่างระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง และให้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 184 - 185 และตามแนวทางหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุดที่ กค (กวจ) 0405.2/ว117 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2562 เรื่อง การกำหนดวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา
ข้อตรวจพบที่ 2 โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
2.1 โครงการระบบผลิตน้ำประปาตามบัญชีนวัตกรรมไทยที่ติดตั้งแล้วเสร็จ ไม่มีการเปิดใช้โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 25 โครงการ มีการเปิดใช้ จำนวน 16 โครงการคิดเป็นร้อยละ 64 ของโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และไม่เปิดใช้ จำนวน 9 โครงการคิดเป็นร้อยละ 36 ของโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ สาเหตุที่ไม่เปิดใช้ เนื่องจากไม่มีความพร้อมได้แก่ ไม่มีแหล่งน้ำดิบหรือปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอ ไม่มีระบบท่อส่งน้ำดิบ ไม่มีท่อจ่ายน้ำประปาสู่บ้านเรือนประชาชน ไม่มีระบบไฟฟ้า และไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล บางแห่งรอรับโอนทรัพย์สินจากจังหวัดกระบี่จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการน้ำประปากับผู้ใช้น้ำได้ทันทีหลังติดตั้งโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่
2.2 จำนวนครัวเรือนผู้ใช้น้ำจากระบบผลิตน้ำประปาต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด
โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการเปิดใช้ผลิตน้ำประปาโดยเป็นระบบประปาขนาดใหญ่ จำนวน 13 โครงการ และขนาดกลาง จำนวน 3 โครงการ รวมจำนวน 16 โครงการ พบว่ามีการให้บริการน้ำประป กับครัวเรือนผู้ใช้น้ำเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดเพียง จำนวน 1 โครงการและมีจำนวนถึง 15 โครงการ ที่ไม่สามารถให้บริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ในจำนวนนี้มีจำนวน 9 โครงการ ที่กำหนดเป้าหมายครัวเรือนผู้ใช้น้ำเกินกำลังการผลิตที่ระบบผลิตน้ำประปาจะสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง สาเหตุที่โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทยไม่สามารถให้บริการน้ำประปาได้ตามเป้าหมายครัวเรือนที่กำหนด
สรุปได้ดังนี้
1) โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จัดทำเพื่อเสริมระบบประปาเดิม ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอและเพื่อรองรับการขยายตัวของครัวเรือน จึงกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้าน
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ จึงไม่ได้สำรวจครัวเรือนผู้ใช้น้ำให้เป็นปัจจุบัน
3) โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย บางพื้นที่ไม่สามารถจ่ายน้ำสู่บ้านเรือนประชาชนได้ครอบคลุมทุกครัวเรือน เนื่องจากแรงดันน้ำไม่เพียงพอเมื่อต้องส่งน้ำไปยังพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำในระบบผลิตน้ำประปา ทำให้ต้องแบ่งโซนจ่ายน้ำให้กับประชาชนและวางแผนเพื่อจัดทำโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจ่ายน้ำให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง เช่นองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก
4) โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ไม่เหมาะสมที่จะติดตั้งในพื้นที่บ้านเรือนประชาชนกระจายอยู่ห่างกัน เพราะไม่สามารถให้บริการน้ำประปาได้อย่างทั่วถึงและไม่ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนตามเป้าหมายของโครงการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับขนาดของระบบประปาตามที่กำหนดในบัญชีนวัตกรรมไทย
2.3 โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ติดตั้งแล้วเสร็จไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค และปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญข้อหนึ่งคือ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งแต่ผลการตรวจสอบระบบประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด พบว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากปัญหาของพื้นที่ดำเนินการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบ และคุณภาพน้ำดิบไม่เหมาะสม เช่นน้ำคลอง บึง มีความขุ่นสูง เป็นต้น การที่คุณภาพน้ำดิบไม่เหมาะสมจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และมีค่าไฟ้ฟ้าเพิ่มขึ้นจากการล้างทำความสะอาดระบบกรองน้ำแบบอัตโนมัติด้วยวิธีล้างย้อน (BACK WASH)
2.4 น้ำประปาที่ผลิตไม่สะอาดเพียงพอสำหรับบริโภค จึงไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือน
โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกข้อคือ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีน้ำที่สะอาดได้มาตรฐานถูกหลักอนามัยและเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมาบริโภคในครัวเรือน แต่ปรากฏว่า ประชาชนผู้ใช้น้ำโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ได้ใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคแต่ไม่นำมาบริโภคหรือดื่มกินสาเหตุเนื่องจาก
1) แหล่งน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปาไม่สะอาดเพียงพอ โดยผู้ใช้น้ำที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตน้ำประปาให้ข้อมูลว่า กรณีแหล่งน้ำดิบเป็นน้ำผิวดินจะมีสิ่งสกปรกไหลลงสู่แหล่งน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงคุณภาพน้ำแต่ไม่สามารถกำจัดความขุ่นได้หมด ส่วนโครงการที่ใช้แหล่งน้ำดิบจากบ่อบาดาลส่วนใหญ่จะมีปัญหาหินปูนปนเปื้อนในน้ำแม้จะผ่านการกรองและฆ่าเชื้อแต่ไม่สามารถกรองหินปูนในน้ำได้หมดสังเกตุได้จากคราบตะกอนหินปูนเกาะรอบภาชนะเมื่อนำไปต้ม ซึ่งสอดคล้องกับการจัดทำโครงการ ของ อปท. เพื่อแก้ไขปัญหาท่อน้ำที่ใช้งานมานานและมีหินปูนเกาะอยู่ในท่อเมนจำนวนมากเป็นสาเหตุทำให้ท่อตัน และบางพื้นที่น้ำมีสนิมเหล็ก หากใช้บริโภคจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2) กระบวนการผลิตน้ำประปาในระบบประปาตามบัญชีนวัตกรรมไทย ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้น้ำได้เท่ากับกระบวนการผลิตน้ำดื่มตามท้องตลาดซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อหลายขั้นตอน และไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศรับรองว่าน้ำจากระบบประปาตามบัญชีนวัตกรรมไทย มีคุณภาพเป็นน้ำประปาดื่มได้
3) การจ่ายน้ำจากระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย สู่บ้านเรือนประชาชนใช้วิธีเชื่อมต่อเข้ากับท่อน้ำของระบบประปาเดิมที่มีการใช้งานมานานกว่า 10 ปี และยังไม่ได้ปรับปรุงท่อจ่ายน้ำ ส่งผลให้น้ำประปาที่ส่งไปยังบ้านเรือนผู้ใช้น้ำไม่สะอาดเพียงพอที่จะใช้บริโภค4) ผู้ใช้น้ำไม่ประสงค์จะดื่มน้ำประปาแม้จะสามารถผลิตน้ำประปาที่ใสสะอาดเพียงแต่ต้องการน้ำใช้ที่สะอาดเท่านั้น และมีความเชื่อมั่นในการดื่มน้ำที่วางขายตามท้องตลาดนอกจากนั้นแล้วในการดำเนินโครงการผู้รับจ้างหรือผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำตัวอย่างน้ำก่อนเข้าระบบกรองและหลังผ่านระบบกรองส่งตรวจสอบคุณภาพ แต่พบว่าบริษัท วอเทอร์ปีอก จำกัด ผู้ขายและผู้ติดตั้งระบบประปา ได้ส่งตัวอย่างน้ำดิบและน้ำประปาเพื่อทดสอบคุณภาพน้ำ แต่จากเอกสารรายงานผลการวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพน้ำดิบและน้ำประปาทุกโครงการ ไม่พบการวิเคราะห์และทดสอบทางจุลชีววิทยาหรือการทดสอบคุณภาพน้ำทางแบคทีเรีย ซึ่งเป็นรายการที่กำหนด ให้วิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคหรือ WHO ซึ่งกำหนดตามคุณลักษณะเฉพาะในบัญชีนวัตกรรมไทยมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO)
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้โครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ดำเนินการดังนี้
1. กรณีโครงกรระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ติดตั้งแล้วเสร็จไม่เปิดใช้ และกรณีครัวเรือนผู้ใช้น้ำจากระบบผลิตน้ำประปาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เห็นควรดำเนินการดังนี้
1.1 สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการ แก้ไขปัญหา แหล่งน้ำดิบ ระบบไฟฟ้าระบบการจ่ายน้ำ งบประมาณ การบริหารจัดการและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ระบบประปาได้โดยเร็ว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นสำคัญ
1.2 ในโอกาสต่อไป หากมีโครงการในลักษณะเดียวกัน ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการให้มีความชัดเจนและต้องสำรวจความพร้อมในด้านต่าง ๆโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีภารกิจโดยตรงต้องมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลก่อนจัดทำโครงการ โดยจัดทำฐานข้อมูลหรือข้อมูลสถิติที่จำเป็นในการก่อสร้างหรือติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา เช่น ความต้องการของผู้ใช้น้ำ ข้อมูลปริมาณและคุณภาพน้ำดิบ การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ระบบไฟฟ้า แผนผังการวางท่อจ่ายน้ำประปา เพื่อนำข้อมูลไปใช่ในการวางแผนจัดการโครงการระบบผลิตน้ำประปาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และตรงตามความต้องการของผู้ใช้น้ำ โดยไม่เป็นภาระในการบริหารจัดการ รวมทั้งสามารถเปิดใช้ได้ทันทีหลังดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่สูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
2. กรณีโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ติดตั้งแล้วเสร็จไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้เห็นควรสั่งการให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาคุณภาพและปริมาณแหล่งน้ำดิบอันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าว
เหล่านี้ คือ รายละเอียดผลการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท ที่ถูก สตง. ตรวจสอบพบปัญหาการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป