"...บัญชีนวัตกรรมไทย เป็นมาตรการส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้หันมาผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าแบบดั้งเดิม อันจะช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานและทรัพยากรเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด..."
ISRA-INVESTIGATIVE :กรณีการขยายผลสอบการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบปัญหาการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า
1. ในการจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการฯ นี้ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ โดยวิธีเฉพาะเจาะจงทั้งหมด
2. นอกจากงานในส่วนจังหวัดกระบี่แล้ว บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ยังปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับร้อยโครงการทั่วประเทศ นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา รวมวงเงินมูลค่างานตามสัญญาที่ได้รับไปกว่าพันล้านบาท
3. เมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรมไทย ของสำนักงานประมาณ ฉบับเพิ่มเติมเมษายน 2563 พบว่า เป็นผลงานนวัตกรรมไทย ของ บริษัทคิดพร้อมทำ จำกัด ในฐานะผู้ขึ้นบัญชีฯ ระบุชื่อ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ช่วงเวลาขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย ตั้งแต่ พ.ย.2560-พ.ย.2567 (7ปี )
4. การจัดซื้อจัดจ้างงานจำนวนหลายสัญญา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ที่มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลตามหนังสือบัญชีนวัตกรรมไทย ไปเร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2562
ขณะที่การให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่มีฐานะเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย และหน่วยงานอื่นของรัฐ สนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 หลังจากครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 มีมติรับทราบเรื่อง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเร่งรัดตรวจสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชี นวัตกรรมไทย เพื่อที่สำนักงบประมาณดำเนินการจัดทำประกาศบัญชีนวัตกรรมอีกครั้ง
- ถึงคิว! สตง.สอบระบบผลิตน้ำประปากระบี่ 145 ล.พบปัญหาซ้ำรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์
- เจาะจัดซื้อระบบผลิตน้ำประปาบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียว คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับที่มาที่ไปสินค้าระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรมไทย มานำเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้
บัญชีนวัตกรรมไทย คืออะไร?
บัญชีนวัตกรรมไทย เป็นมาตรการส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้หันมาผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าแบบดั้งเดิม อันจะช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานและทรัพยากรเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
บัญชีนวัตกรรมไทย ยังถูกระบุว่าเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมไทย ผลิตภัณฑ์ หรือบริการนวัตกรรมเหล่าที่มีคุณภาพ หากหน่วยงานของรัฐมีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างตรงตามบัญชีสามารถดำเนินการโดยวิธีการเจาะจงได้
โดยสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สามารถจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานราชการได้ กรณีที่ไม่เคยจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐมาก่อนสามารถขึ้นทะเบียนได้สูงสุด 8 ปี หากเคยจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยภาครัฐมาแล้ว จะได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างน้อย 3 ปี
ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรมไทย
ข้อมูลระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรม ของ สำนักงบประมาณ ระบุเลขรหัสไว้ คือ 01020003 ชื่อทางการค้าของผลงานนวัตกรรมไทยตัวนี้ คือ ป๊อกแทงค์ (POG TANKS)
หน่วยงาน บริษัท หรือผู้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย คือ บริษัท คิดพร้อมทำ จำกัต ผู้แทนจำหน่าย คือ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด
ช่วงเวลาที่ขึ้นทะเบียน พฤศจิกายน 2560 - พฤศจิกายน 2567 (7 ปี)
คุณสมบัตินวัตกรรม ระบุว่า ระบบผลิตน้ำประปา "POG" คือระบบประปาแบบใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงโดยรวมเอาขั้นตอนในการผลิตน้ำประปามารวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งได้ถูกคิดคันและออกแบบขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหางานก่อสร้าง ปัญหาความซับซัอนของการจัดการ และปัญหาการดูแลบำรุงรักษาระบบการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะคุณภาพน้ำที่ผลิตได้จากระบบ POG ต้องมีคุณภาพดีขึ้น และต้องเป็นไปตามมาตรฐาน WHO (ทั้งนี้ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมอนามัย ก็ใช้ข้อมูลจาก WHO ในการอ้างอิงมาตรฐานเรื่องน้ำ) และต้องตรวจวัดค่าตามที่รายการกำหนดได้
ระบบผลิตน้ำประปา "POG" รวมเอากระบวนการในการผลิตน้ำประปามาไว้ด้วยกันด้วยหลักการ All in one (รวมขั้นตอนทุกอย่างมาอยู่ในขั้นตอนเดียว) และ Put On the Ground (ยกทุกอย่างมาไว้บนดิน) โดยยังคงหน้าที่และคุณสมบัติที่ดีไว้อย่างครบถ้วน แต่ได้น้ำที่มีคุณภาพดีกว่า ลดขั้นตอนยุ่งยากต่าง ๆ เช่น การรวมขั้นตอนการเติมอากาศ การกวน การตกตะกอน การกรอง และการระบายก๊าซอันตราย มาไว้ด้วยกันในอุปกรณ์ขึ้นเดียว ทำให้การก่อสร้าง การติดตั้งระบบ และการจัดการดูแสรักษาง่ายและคล่องตัวขึ้น ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยกว่าระบบเดิม 70 %
คุณลักษณะเฉพาะ มีดังนี้
- POG เป็นระบบผลิตน้ำประปาที่ถังเก็บน้ำมีอุปกรณ์กรองอยู่ภายใน ซึ่งเป็นการรวมขั้นตอนการผลิตน้ำประปา และวาล์วควบคุมต่าง ๆ มาไว้จุดเดียวกัน
- POG เป็นระบบผลิตน้ำประปาที่ใช้พื้นที่ในการติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา อยู่ในช่วง 24 ตารางเมตร - 64 ตารางเมตร
- POG เป็นระบบผลิตน้ำประปามีกำลังการผลิตอยู่ในช่วง 2.5 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง - 10 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
- น้ำประปาที่ผลิตได้จากระบบ POG ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพน้ำอ้างอิงมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
5. คุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในระบบประปา POG ไม่ควรมีการปนเปื้อน สารตะกั่ว สารปรอท สารแคดเมียม สารหนู และสารพิษอื่น ๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรคทั้ง 5 กลุ่ม คือ แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ โปรโตซัว และสาหร่าย
แบ่งเป็น 3 ขนาด ประกอบด้วย
1. POG ระบบขนาดเล็ก S รองรับ 30-50 ครัวเรือน กําลังการผลิต 2.5 ลบ.ม./ชม. ราคา 2.30 ล้านบาท
2. POG ระบบขนาดกลาง M รองรับ 51-120 ครัวเรือน กําลังการผลิต 7 ลบ.ม./ชม. ราคา 3.30 ล้านบาท
3. POG ระบบขนาดเล็ก L รองรับ 121-300 ครัวเรือน กําลังการผลิต 10 ลบ.ม./ชม. ราคา 5.20 ล้านบาท
รัฐบาล กำหนดการจัดซื้อจัดจ้างดําเนินการให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 56 (2) (ซ) และ กฎกระทรวง กําหนดพัสดุรัฐต้องการส่งเสริมสนับสนุนและกําหนด วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีการคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ.2560 หมวด 5 พัสดุส่งเสริมนวัตกรรม
ผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา
ในฐานข้อมูลของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ได้มีการเสนอขอใช้เงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ในการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการฯ ระบุว่า มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ของ อปท.นับตั้งแต่ปี 2563 -2565
แยกเป็นในช่วงปี 2563 มีการดำเนินงานจำนวน 5 โครงการ รวมวงเงิน 12.8 ล้านบาท ในพื้นที่ นครพนม , สกลนคร และอุทัยธานี , ช่วงปี 2564 มีการดำเนินงานจำนวน 14 โครงการ รวมวงเงิน 70.90 ล้านบาท ในพื้นที่ ตาก, ลำปาง ช่วงปี 2565 มีการดำเนินงานจำนวน 157 โครงการ รวมวงเงิน 751.01 ล้านบาท ในพื้นที่ 24 จังหวัด (ดูตารางประกอบ) ยังไม่รวมข้อมูลปี 2566
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลเว็บ "ภาษีไปไหน" ระบุว่า บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ช่วงปี 2563 ได้รับงานไปจำนวน 41 โครงการ รวม 183.36 ล้านบาท ช่วงปี 2564 ได้รับงานไปจำนวน 69 โครงการ รวม 322.11 ล้านบาท ช่วงปี 2565 ได้รับงานไป 65 โครงการ รวม 307.38 ล้านบาท ช่วงปี 2566 ได้รับงานไป 65 โครงการ รวม 292.57 ล้านบาท รวมวงเงิน 1,105.42 ล้านบาท เฉลี่ยมูลค่างานตามสัญญาส่วนใหญ่อยู่ที่ 5.20 ล้านบาท ต่อ 1 สัญญา
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ ที่มาที่ไปสินค้าระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรมไทย ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะสืบค้นได้
ก่อนที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท พบปัญหาการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ออกมาล่าสุด
โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ดำเนินการแก้ไขปัญหา สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการ แก้ไขปัญหา แหล่งน้ำดิบ ระบบไฟฟ้าระบบการจ่ายน้ำ งบประมาณ การบริหารจัดการและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ระบบประปาได้โดยเร็ว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นสำคัญ และในโอกาสต่อไป หากมีโครงการในลักษณะเดียวกัน ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการให้มีความชัดเจนและต้องสำรวจความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่สูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลในรายงาน สตง. มีการระบุว่า น้ำประปาที่ผลิตไม่สะอาดเพียงพอสำหรับบริโภค จึงไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือน ขณะที่ผู้ใช้น้ำไม่ประสงค์จะดื่มน้ำประปา แม้จะสามารถผลิตน้ำประปาที่ใสสะอาดเพียงแต่ต้องการน้ำใช้ที่สะอาดเท่านั้น และมีความเชื่อมั่นในการดื่มน้ำที่วางขายตามท้องตลาดนอกจากนั้นแล้วในการดำเนินโครงการผู้รับจ้างหรือผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำตัวอย่างน้ำก่อนเข้าระบบกรองและหลังผ่านระบบกรองส่งตรวจสอบคุณภาพ แต่พบว่าบริษัท วอเทอร์ป็อก จำกัด ผู้ขายและผู้ติดตั้งระบบประปา ได้ส่งตัวอย่างน้ำดิบและน้ำประปาเพื่อทดสอบคุณภาพน้ำ
แต่จากเอกสารรายงานผลการวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพน้ำดิบและน้ำประปาทุกโครงการ ไม่พบการวิเคราะห์และทดสอบทางจุลชีววิทยาหรือการทดสอบคุณภาพน้ำทางแบคทีเรีย ซึ่งเป็นรายการที่กำหนด ให้วิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคหรือ WHO ซึ่งกำหนดตามคุณลักษณะเฉพาะในบัญชีนวัตกรรมไทยมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากเอกชนอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้ว ในผลสอบของ สตง. ระบุถึงปัญหาเรื่องการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด เป็นหลัก
ไม่ได้มีการระบุว่าโครงการฯ นี้มีความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีลักษณะการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามารับงานแต่อย่างใด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- จี้ผู้ว่าฯทบทวน! สตง.สอบงบเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล. อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล.อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ตัวละ1.4 ล้าน! แกะรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 11 ตัว15.3 ล. อำนาจเจริญ ซื้อจากไหน?