'ชนาส ชัชวาลวงศ์' ผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ แจงกรณี สตง.สอบโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล้าน ระบุเป็นงบกลาง 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์' ช่วงดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ส่วนปมเอกชนรายเดียวได้งานทั้งหมด เหตุเป็นสินค้าขึ้นบัญชีนวัตกรรมสำนักงบฯ ไม่มีขายทั่วไป ยันมีการใช้อยู่ แต่ปริมาณขยะไม่มากนัก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ รวม 11 เครื่อง จำนวนเงิน 15,400,000.00 บาท พบว่า การใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ของเครื่องแปลงขยะฯ ที่ตรวจสอบ หน่วยงานเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถใช้ประโยชน์เครื่องแปลงขยะฯ ได้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้ประโยชน์สูงสุดเพียง 21 ครั้ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 5.59 ของระยะเวลาหลังวันตรวจรับงานถึงวันที่ สตง. ตรวจสอบสังเกตการณ์ มีปริมาณขยะนำเข้าเครื่องแปลงขยะฯ ไม่ถึง 100 กิโลกรัมต่อครั้ง ทำให้ดินอินทรีย์คงเหลือเพื่อเป็นหัวเชื้อในการผลิตครั้งต่อไปมีปริมาณไม่ถึง 50 กิโลกรัม และไม่มีการเติมจุลินทรีย์ Superbact ทุก 6 เดือน เพื่อการย่อยสลายขยะให้เป็นดินอินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง
เบื้องต้น สตง. มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการทบทวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์เนื่องจากทั้ง 11 เครื่อง ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ จังหวัดอำนาจเจริญ ยังไม่สามารถดำเนินการให้ประชาชนทำการคัดแยกขยะได้และไม่มีข้อมูลหรือรายงานเกี่ยวกับปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์รวมทั้งบริบทของชุมชนการกำจัดขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ได้นำไปเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยอินทรีย์แล้ว
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ขยายผลการตรวจสอบโครงการฯ นี้ เพิ่มเติม พบข้อสังเกตสำคัญ คือ
1. จัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย รหัส 14000029 ขนาด 100 กิโลกรัม 8 โครงการ ของจังหวัดอำนาจเจริญ เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค.2564
2. การจัดซื้อทั้ง 8 โครงการ ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
3. มีผู้ชนะรายเดียวกัน คือ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด รวมวงเงินตามสัญญาจ้างทุกงานอยู่ที่ 15,394,000 บาท
4. ราคาจัดซื้ออยู่ที่เครื่องละ 1,400,000 บาท ยกเว้น การจัดซื้อ 2 เครื่อง ที่ ตลาดสดเทศบาลตำบลปทุมราชวงศา บ้านนาหว้า หมู่ 2 ตำบลนาหว้า อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ และตลาดเทศบาลตำบลเสนางคนิคม บ้านหนองทับม้า หมู่ที่ 12 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ราคาอยู่ที่เครื่องละ 1,397,000 บาท ( 8 โครงการ จัดซื้อช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน)
- จี้ผู้ว่าฯทบทวน! สตง.สอบงบเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล. อำนาจเจริญ ส่อเหลว (1)
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล.อำนาจเจริญ ส่อเหลว (2)
- ตัวละ1.4 ล้าน! แกะรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 11 ตัว15.3 ล. อำนาจเจริญ ซื้อจากไหน? (3)
ล่าสุด นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ว่า งบประมาณโครงการดังกล่าว เป็นงบกลางของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี
"ส่วนที่บริษัทไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ได้งานทุกสัญญาจ้าง เนื่องจาก บริษัทดังกล่าวได้ไปขึ้นบัญชีนวัตกรรมกับสำนักงบฯ ไว้ เพราะฉะนั้น บริษัทที่จะมาทำประมูลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวได้ จะต้องเป็นที่จดทะเบียนเท่านั้น เพราะเป็นสินค้านวัตกรรมที่ผลิตตามการประดิษฐ์ ไม่มีขายทั่วไป" นายชนาสกล่าว
นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อถามถึงย้ำว่า การจัดซื้อทั้ง 8 โครงการ บริษัทดังกล่าวเข้ามาประมูลได้แค่บริษัทเดียวใช่ไหม นายสนาส กล่าวว่า "ไม่ทราบว่ามีกี่บริษัทที่ประมูล"
เมื่อถามว่า ทำไมการจัดซื้อ 2 โครงการ ที่ ตลาดสดเทศบาลตำบลปทุมราชวงศา อ.ปทุมราชวงศา และตลาดเทศบาลตำบลเสนางคนิคม อ.เสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ราคาถึงไม่เท่ากับที่อื่น นายชนาส ระบุว่า "แสดงว่าอาจจะมีบริษัทมายื่นแข่งขันกัน"
เมื่อถามว่า ปัจจุบันเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ยังมีการใช้อยู่หรือไม่ นายสนาส ระบุว่า "มีการใช้อยู่ เพียงแต่ว่าขยะไม่มากเท่าไร"
เมื่อถามถึง สตง. ระบุว่าการดำเนินงานมีปัญหาเรื่องความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่จ่ายไป นายสนาส กล่าวว่า "ถึงแม้ปริมาณขยะไม่มากพอ แต่ก็ยังมีการใช้เครื่อง"
อนึ่งเกี่ยวกับโครงการฯ นี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า สตง. มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ทบทวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ เนื่องจาก ทั้ง 11 เครื่อง ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ จังหวัดอำนาจเจริญยังไม่สามารถดำเนินการให้ประชาชนทำการคัดแยกขยะได้ และไม่มีข้อมูลหรือรายงานเกี่ยวกับปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ รวมทั้งบริบทของชุมชนการกำจัดขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ได้นำไปเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยอินทรีย์แล้ว
แต่อย่างไรก็ตามหากในอนาคตจังหวัดอำนาจเจริญประสบปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่ต้องการกำจัด และมีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ และแนวทางในการบริหารจัดการเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ก็สามารถดำเนินการเสนอขอรับงบประมาณต่อไปได้
2. ในโอกาสต่อไปการเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ นอกจากการพิจารณาตามนโยบายแล้ว ต้องพิจารณาถึงความเดือดร้อน ความจำเป็นเร่งด่วน และปัญหาที่เกิดจริงในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเมื่อดำเนินโครงการแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้รัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณแล้วเกิดความไม่คุ้มค่า และรัฐสูญเสียงบประมาณโดย,ปล่าประโยชน์ รวมทั้งหน่วยรับโอนทรัพย์สินควรระบุความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ พื้นที่ และการบริหารจัดการทรัพย์สินประกอบบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินด้วย
3. แจ้งหน่วยงานเจ้าของทรัพย์สิน ทบทวนการใช้ประยชน์เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ หากเห็นว่าการใช้ประโยชน์จะไม่คุ้มค่า ขาดความพร้อมด้านวัตถุดิบ บุคลากร และงบประมาณ หรือมีวิธีการกำจัดขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่ดีกว่า ต้นทุนถูกกว่า ก็ให้ยุติการใช้ประโยชน์ หรือหากเห็นว่าในพื้นที่ของหน่วยงานของท่านมีปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ ต้องกำจัดโดยเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ มีปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์เป็นจำนวนมาก มีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณที่ต้องจัดสรรในการบริหารจัดการ และสามารถแก้ไขปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ในพื้นที่ได้จริงก็ให้ดำเนินการใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งประสานผู้ขายมาให้คำแนะนำการใช้งาน กระบวนการผลิต การบำรุงรักษา โดยละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ ต่อไป
4. แจ้งหน่วยงานเจ้าของทรัพย์สินดำเนินการบำรุงรักษา ตรวจสอบเครื่องแปลงขยะเศษโดยใช้จุลินทรีย์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเคร่งครัด
5. นำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับโครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอนุมัติงบประมาณในกรณีมีหน่วยงานอื่นประสงค์จะขอรับการจัดสรรงบประมาณหรือโครงการลักษณะนวัตกรรม หรือเพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานอื่นที่มีความประสงค์จะรับโอนเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ ไปใช้ประโยชน์ต่อไป และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรีในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 14 ของสำนักนายกรัฐมนตรี
6. กำชับผู้ที่เกี่ยวข้องในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ ควรเสนอโครงการที่เกิดจากปัญหาแท้จริงในพื้นที่ และเป็นโครงการภารกิจจำเป็น เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว หากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจะทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน ทั้งนี้ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ร้ายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ดี ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. มิได้ระบุปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องฯ รวมถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีปัญหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบไว้ด้วยแต่อย่างใด