"...เราทำงานนี้เพื่อชุมชนโดยแท้จริง การออกแบบระบบให้ใช้งานง่ายมีการล้างระบบแบบอัตโนมัติ มีการออกแบบสีให้สวยงามทันสมัยเพื่อให้พื้นที่ชนบทมีความภาคภูมิใจเพราะในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นแทบไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้จากใครเลย..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
งานจัดซื้อจัดจ้างสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงบประมาณ อันเป็นมาตรการส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่หากหน่วยงานของรัฐมีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างตรงตามบัญชีสามารถดำเนินการโดยวิธีการเจาะจงได้ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า จากการขยายผลสอบการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น ที่อยู่ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 145.34 ล้านบาท ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบปัญหาการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
พบว่า
1. ในการจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการฯ นี้ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย จังหวัดกระบี่ โดยวิธีเฉพาะเจาะจงทั้งหมด
2. นอกจากงานในส่วนจังหวัดกระบี่แล้ว บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ยังปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับร้อยโครงการทั่วประเทศ นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา รวมวงเงินมูลค่างานตามสัญญาที่ได้รับไปกว่าพันล้านบาท
3. เมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ในบัญชีนวัตกรรมไทย ของสำนักงานประมาณ ฉบับเพิ่มเติมเมษายน 2563 พบว่า เป็นผลงานนวัตกรรมไทย ของ บริษัทคิดพร้อมทำ จำกัด ในฐานะผู้ขึ้นบัญชีฯ ระบุชื่อ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ช่วงเวลาขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย ตั้งแต่ พ.ย.2560-พ.ย.2567 (7ปี )
4. การจัดซื้อจัดจ้างงานจำนวนหลายสัญญา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ที่มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลตามหนังสือบัญชีนวัตกรรมไทย ไปเร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2562
- ถึงคิว! สตง.สอบระบบผลิตน้ำประปากระบี่ 145 ล.พบปัญหาซ้ำรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์
- เจาะจัดซื้อระบบผลิตน้ำประปาบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียว คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
- ไขที่มา POG TANKS สินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียวคว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายศิวพงศ์ เลื่อนราม กรรมการ บริษัท วอเตอร์ป๊อก จำกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าระบบผลิตน้ำประปา (POG TANKS: ป๊อกแทงค์) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงปัญหาการดำเนินงานที่ส่วนของจังหวัดกระบี่ ตามรายงานผลการตรวจสอบของสตง.
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป เป็นรายละเอียดบทสัมภาษณ์ครั้งนี้
นายศิวพงศ์ เลื่อนราม กรรมการบริษัทวอเตอร์ป๊อก จำกัด
อิศรา: ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้อย่างไร?
นายศิวพงศ์: "การนำผลิตภัณฑ์ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นคำแนะนำมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเราได้เริ่มมีการคิดระบบประปาป๊อกแทงค์ มาตั้งแต่ปี 2559 การเข้าบัญชีนวัตกรรมกรรมต้องยื่นเรื่องเข้าไปที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ หลังจากนั้น สวทช. จะยื่นเรื่อง ไปยังกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาราคา หลังจากเสร็จกระบวนการทั้งหมดจึงจะประกาศเป็นบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณ"
ทั้งนี้การขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้เป็นการส่งเสริมของภาครัฐที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นโดยคนไทยให้สามารถซื้อขายได้จริง แต่กระบวนการขึ้นบัญชีไม่ได้ง่าย โดนตรวจสอบตั้งแต่คุณสมบัติจนถึงราคากว่าจะได้มาเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย
“การขึ้นบัญชีนวัตกรรมต้องผ่านการตรวจสอบของสวทช.ก่อนว่า คุณสมบัติ ลักษณะ ดีจริงหรือไม่ มีการคิดค้นขึ้นมาจริงหรือไม่ หลังจากที่ตรวจสอบผ่านก็ไปทำราคาที่กรมบัญชีกลางกับสำนักงบประมาณที่จะเป็นบัญชีนวัตกรรม”
อิศรา: ที่มาที่ไปของป๊อกแทงค์?
นายศิวพงศ์: "ผมเป็นเด็กบ้านนอกและทราบดีถึงปัญหาต่างๆที่ชาวบ้านได้พบเจอ ตั้งแต่ก่อนนี้จนปัจจุบัน น้ำเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญและชาวบ้านที่อยู่ในชนบทต้องซื้อน้ำมาใช้ในการประกอบอาหารซักผ้าดื่มกินชงนมให้ลูกกินและอะไรอีกหลายอย่างเพราะแหล่งน้ำที่มีอยู่หรือน้ำประปาหมู่บ้านที่มีอยู่ไม่สะอาดพอ เมื่อเรานำจุดนี้มาเป็นโจทย์ เพื่อจะหาคำตอบว่า เราจะทำระบบประปาหมู่บ้านให้น้ำมีคุณภาพเหมือนกับประปาภูมิภาคได้อย่างไร เราได้ศึกษาระบบประปาภูมิภาคและย่อส่วนลงมาให้มีขนาดเล็กให้มีกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะใช้กับขนาดของครัวเรือนในหมู่บ้าน เพื่อให้มีราคาที่เหมาะสม ในท้ายที่สุดในโลกก็ได้ระบบผลิตน้ำประปาป๊อกแทงค์ ที่มีระบบทุกอย่างตั้งแต่การเติมสารเคมีเพื่อปรับค่าน้ำต่าง ๆ ที่ใช้การกรองแบบใหม่จากล่างขึ้นบน การกรองซ้ำในถังสูง และการเติมคลอรีนก่อนที่จะจ่ายน้ำออกไปเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำปราศจากเชื้อโรคและมีค่ามาตรฐานตามคุณสมบัติที่เราได้ระบุไว้ในบัญชีนวัตกรรมไทย"
“การส่งมอบงานระบบป็อกแทงค์ กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำให้ผ่านตามที่ระบุไว้ในบัญชีนวัตกกรมทุกครั้ง หมายถึงระบบจะต้องใช้จริง จึงจะสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ เพราะสินค้าเราเป็นคุรุภัณฑ์ ต่างจากระบบเก่าที่เป็นงานก่อสร้างที่มีการตรวจรับตามปริมาณราคา หรือ BOQ เท่านั้น เราพยายามกำหนดมาตรฐานตรงจุดนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนแบบยั่งยืน”
อิศรา: คิดพร้อมทำมาเกี่ยวข้องกับวอเตอร์ป๊อกได้อย่างไร?
นายศิวพงศ์: "ผมเป็นเจ้าของคิดพร้อมทำเหมือนกัน เป็นบริษัทเครือเดียวกัน พอมาทำป๊อกแทงค์ก็เป็นผู้จัดจำหน่าย เนื่องจากเมื่อคิดพร้อมทำเป็นบริษัทที่คิดเกี่ยวกับนวัตกรรม เล็ก ๆ ทำขึ้นมาเล่น ๆ พอตอนหลังที่เริ่มทำงานที่มีการตรวจบัญชีจึงปรับ ตอนนี้โครงสร้างคือวอเตอร์ป๊อกถือหุ้นคิดพร้อมทำ 100% "
อิศรา: จำนวนงานทั่วประเทศเป็นพันล้านมีขั้นตอนและได้มาอย่างไร?
นายศิวพงศ์: ป๊อกแทงค์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมตั้งแต่ปี 2560 แต่ไม่ได้งาน เริ่มได้งานปี 2562 แล้วก็มีงานเพิ่มขึ้นในแต่ละปี จนกระทั่งถึงปี 2565 จึงมีงานจำนวนมาก ซึ่งรัฐระบุว่าการขึ้นบัญชีนวัตกรรมจะได้รับการจัดซื้อจัดจ้างได้ร้อยละ 30 ก็พยายามขึ้นบัญชีให้ได้ เนื่องจากบริษัทไม่ชำนาญเรื่องภาครัฐ แต่เมื่อขึ้นบัญชีได้ก็ไม่มีงานอย่างที่กล่าวในตอนต้น
“กว่าจะไปถึงจุดที่เอาป๊อกแทงค์เข้าไปอยู่ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้ง่าย ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบของป๊อกแทงค์เทียบเท่ากับระบบของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งใช้เวลาเป็นปี เมื่อผ่านขั้นการพิสูจน์ไปได้ กรมทรัพยากรน้ำจึงออกหนังสือว่าระบบของป๊อกแทงค์มีคุณภาพเทียบเท่ากับระบบของกรมทรัพยากรน้ำ จากนั้นจึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับพื้นที่ (ท้องถิ่นต่าง ๆ ) โดยการได้มาซึ่งงานเกิดจากความต้องการของพื้นที่”
“ถามว่าทำไมพื้นที่ถึงสนใจงานของเรา (ป๊อกแทงค์) เพราะมีกฎอยู่ข้อหนึ่งระบุว่า ตอนที่ส่งมอบงานต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามคุณลักษณะที่ระบุไว้ในบัญชีนวัตกรรม ข้อนี้จึงทำให้เราแตกต่างจากระบบเก่าในพื้นที่ที่เคยมีมา ที่ก่อสร้างเสร็จก็ใช้งานเลย แต่ของเราต้องรันระบบให้เรียบร้อย ใส่สารเคมีที่จำเป็นลงในน้ำเพื่อให้ได้มาตรฐาน พอทำแบบนี้เรื่อย ๆ หลายพื้นที่ก็ให้ความสนใจ เรากลายเป็นที่รู้จัก จึงได้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยกระบวนการได้มาซึ่งงานเป็นไปตามกติกาทุกอย่าง"
อิศรา: การที่ป๊อกแทงค์ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรม แล้วได้งานทั่วประเทศ ไม่กลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นการผูกขาดงานทำระบบประปาหรือไม่?
นายศิวพงศ์: บริษัทที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมประปาหมู่บ้านในปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 บริษัท ดังนั้นย่อมไม่ใช่การผูกขาดโดยเรารายเดียวอย่างแน่นอน การได้งานมาก หมายถึงพื้นที่มีความต้องการระบบป๊อกแทงค์มาก ทั้งที่พื้นที่สามารถขอระบบประปาแบบเก่าของกรมทรัพยากรน้ำ หรือตามบัญชีนวัตกรรมของบริษัทอื่นๆอีก 3 บริษัทก็ได้ เรื่องนี้เป็นความต้องการของพื้นที่มากกว่า
อิศรา: เมื่อบริษัทได้รับงานทั่วประเทศแล้ว มีการผลิตสินค้าอย่างไรให้ทันกับเวลาและปริมาณงานที่ได้รับ โดยนำวัตถุดิบจากที่ใดมาใช้ผลิต ได้กำไรครั้งละเท่าไรต่อ 1 งาน และจำนวนต้นทุนที่ใช้ในการผลิตป๊อกแทงค์มีค่าเท่าใด?
นายศิวพงศ์: ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เคยบริหารโครงการขนาดใหญ่ในบริษัทที่ได้ทำงานเป็นพนักงานมาก่อน จึงสามารถจัดการระบบการทำงานได้และสามารถส่งงานได้ทุกโครงการ อีกทั้งบริษัทมีการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ที่มีคุณภาพ ที่มีความชำนาญในการผลิตถังประปา จึงสามารถรับงานได้ทั่วประเทศ การรับงานได้ขนาดนี้ไม่ได้นับแค่ปีเดียว เราเริ่มเรียนรู้งานมาเป็นระยะเวลาก่อนหน้านี้ 2–3 ปี โดยที่ยังรับงานได้ไม่เยอะจนพัฒนามาเป็นการรับงานได้มากขึ้นโดยที่คงคุณภาพได้ ส่วนตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นหน้าที่ของ supplier ที่ทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้บัญชีนวัตกรรมไทยจะควบคุมโดยสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางในการถอดราคาอยู่แล้ว โดยที่กำไรหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 5% แต่ก็ไม่แน่นอนอยู่ที่ราคาเหล็กในแต่ละปีด้วย บริษัทอยู่ในช่วงเริ่มต้นยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่างอย่างเช่นเงินทุน ดอกเบี้ย ซึ่งต้องดูในงบการเงินของแต่ละปีประกอบด้วย ในช่วงนี้บริษัทไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
เรามองว่ากำไรที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนได้ใช้น้ำสะอาด อยู่ที่ชาวบ้านสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ครอบครัวละกว่า 2 พันบาทต่อเดือน อยู่ที่ชาวบ้านที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้เท่าเทียมกับคนในเมืองอย่างพวกเรา
อิศรา: จากรายงาน ของ สตง. ไม่มีเอกสารคุณภาพ น้ำที่ WHO กำหนดไว้?
นายศิวพงศ์: การส่งมอบงานทุกครั้งจะต้องแนบเอกสารการตรวจสอบคุณภาพน้ำตามที่ถูกระบุไว้ในคุณลักษณะที่ระบบผลิตน้ำประปาป๊อกแทงค์ ได้กำหนดไว้ในบัญชีนวัตกรรมไทยตามเอกสารแนบ ซึ่งอ้างอิงมาตรฐานของการประปาภูมิภาคในบางค่า อย่างไรก็ตามในระบบได้มีการเติมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะส่งเข้าระบบจ่ายในหมู่บ้าน
"ถ้าไม่มีเอกสารตรวจส่งงานไม่ได้แน่นอน พื้นที่จะไม่รับงาน" นายศิวพงศ์กล่าว
นายศิวพงศ์ ยังระบุด้วยว่า "เราทำงานนี้เพื่อชุมชนโดยแท้จริง การออกแบบระบบให้ใช้งานง่ายมีการล้างระบบแบบอัตโนมัติ มีการออกแบบสีให้สวยงามทันสมัยเพื่อให้พื้นที่ชนบทมีความภาคภูมิใจเพราะในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นแทบไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้จากใครเลย"
"สิ่งที่เราตั้งใจมาตลอดคือไม่ว่าชาวบ้านจะเกิดที่ไหนจะอยู่ที่ใด น้ำดิบในชุมชนจะมีคุณภาพไม่ดีแค่ไหนก็ตามเราจะต้องทำให้ชุมชนและชาวบ้านที่ด้อยโอกาสเหล่านั้นได้ใช้น้ำสะอาดเทียบเท่ากับคนในเมืองให้ได้ ทุกคนในประเทศไทยควรจะมีสิทธิ์เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเช่นน้ำสะอาดอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นแผนก R&D ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยจึงได้วิจัยพัฒนาระบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขทุกปัญหาให้ได้ตลอดเวลา การส่งมอบงานต้องมีการรันระบบ ทำจาร์เทสเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมี และตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาให้ผ่านมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้ใช้น้ำสะอาดจริง"
"นอกจากนี้เรายังมีการเข้าไปตรวจสอบระบบหรือที่เรียกว่างานเซอร์วิส ทุก ๆ เดือน ทุกพื้นที่เรามีเบอร์โทรศัพท์ด่วนติดต่อไว้เพื่อที่ชาวบ้านสามารถที่จะแจ้งปัญหาได้ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้านจะได้ใช้น้ำสะอาดอย่างแท้จริงตลอดเวลา เพราะน้ำคือชีวิต"
ส่วนกรณีที่รายงาน ของ สตง. ระบุว่าไม่มีเอกสารคุณภาพ น้ำที่ WHO กำหนดไว้ นั้น?
นายศิวพงศ์ เลื่อนราม กล่าวชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการส่งมอบงานทุกครั้งจะต้องแนบเอกสารการตรวจสอบคุณภาพน้ำตามที่ถูกระบุไว้ในคุณลักษณะที่ระบบผลิตน้ำประปา ป๊อกแทงค์ได้กำหนดไว้ในบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งอ้างอิงมาตรฐานของการประปาภูมิภาคในบางค่า อย่างไรก็ตามในระบบได้มีการเติมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะส่งเข้าระบบจ่ายในหมู่บ้าน
"ถ้าไม่มีเอกสารตรวจส่งงานไม่ได้แน่นอน พื้นที่จะไม่รับงาน โดยปกติสตง.จะตรวจสอบภาครัฐ แต่ถ้าทางสตง.เข้าใจว่าทางบริษัทไม่ให้ผลการรับรองคุณภาพน้ำกับพื้นที่ พื้นที่จะเรียกจากทางบริษัทเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งหลักการทำงานของบริษัทจะส่งเอกสารคุณภาพน้ำตอนที่ส่งมอบงานหรือส่งเบิก"
นายศิวพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่ได้รับงานในอปท.จำนวนมากนั้น เนื่องจากนำเสนอผลิตภัณฑ์กับ อปท. ทั่วประเทศ ถ้าพื้นที่ใดสนใจ จึงจะเข้าไปช่วยสำรวจพื้นที่ว่าพร้อมติดตั้งระบบหรือไม่ โดยทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนดไว้
ทั้งนี้ ในระหว่างการสัมภาษณ์ กรรมการบริษัทวอเตอร์ป๊อก นำเอกสารการตรวจสอบคุณภาพน้ำจำนวนมาก ที่มีข้อมูลการตรวจคุณภาพน้ำในหลายพื้นที่ มาชี้แจงกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โดยระบุว่าเป็นเอกสารที่ผ่านการตรวจคุณภาพน้ำของบริษัทวอเตอร์ป๊อก โดยศูนย์บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
เหล่านี้ คือ คำชี้แจงของ นายศิวพงศ์ เลื่อนราม กรรมการ บริษัท วอเตอร์ป๊อก จำกัด เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าระบบผลิตน้ำประปา (POG TANKS: ป๊อกแทงค์) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานที่ส่วนของจังหวัดกระบี่ ตามรายงานผลการตรวจสอบของสตง. ที่เปิดเผยไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในผลสอบของ สตง. ระบุถึงปัญหาเรื่องการควบคุมและดูแลพัสดุขาดประสิทธิภาพ โครงการไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
ไม่ได้มีการระบุว่าโครงการฯ นี้มีความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีลักษณะการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามารับงานแต่อย่างใด
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย