ข่าวประเภทหนึ่งที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอ ก็คือข่าวความไม่โปร่งใสอันเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งถูกนำเสนอจากทั้งสื่อมวลชนหรือจากบุคคลที่อยู่ต่างประเทศที่มีให้เห็นตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนจากทางภาครัฐของไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้
ในปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้นมีข่าวทุจริต และความไม่โปร่งใสมากมายที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ข่าวประเภทหนึ่งที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอ ก็คือข่าวความไม่โปร่งใสอันเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งถูกนำเสนอจากทั้งสื่อมวลชนหรือจากบุคคลที่อยู่ต่างประเทศที่มีให้เห็นตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนจากทางภาครัฐของไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้
สำนักข่าวอิศราจึงขอสรุปข่าวเหล่านี้มานำเสนอกันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 5 ข่าวเด่น มีรายละเอียดดังนี้
@สื่อมาเลย์แฉ ตร.ไทยเรียกเงินค่าของขวัญแลกปล่อยรถ
เริ่มกันที่ต้นปี 2566 ในช่วงวันที่ 20 ม.ค. สำนักข่าว The Star ได้รายงานข่าวเปิดโปงกรณีที่มีการขโมยรถจากผู้เช่ารถจากบริษัทให้เช่ารถต่างๆ แล้วผู้ขโมยรถจึงขับรถมายังประเทศไทย
โดย The Star ได้บอกเล่าประสบการณ์ของเหยื่อจำนวนสองคนซึ่งถูกขโมยรถจากมาเลเซีย แล้วขับข้ามแดนมาที่ อ.สะเดา จ.สงขลา
เหยื่อรายแรกเป็นผู้เช่ารถที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อพบว่าตัวเองถูกขโมยรถเขาก็แจ้งความกับตำรวจมาเลเซีย แต่ตำรวจมาเลเซียได้โยนคดีของเขาไปมา และบอกให้ไปพร้อมกับเพื่อนพร้อมจ้างรถลากไปเพื่อนำรถกลับมาจากประเทศไทย
พอเหยื่อรายนี้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจไทย โดยขับรถข้ามพรมแดนเพื่อไปติดต่อที่สถานีตำรวจภูธรสะเดา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็บอกให้ไปเอารถได้ แต่ต้องจ่ายเงินกว่า 3,000 ริงกิต (22,973 บาท) เป็นค่าของขวัญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยค่าของขวัญนี้ว่าวังสตูฮาติ' (wang satu hati’)
แล้วพอถึงเวลาที่ตำรวจไทยคืนรถ ก็ปรากฎว่ารถถูกถอดกล้องหน้ารถ ถูกถอดยางอะไหล่และถูกถอดพรมรถยนต์ออกไป
ส่วนเหยื่อรายที่สอง หลังจากที่ได้ไปแจ้งความกับตำรวจมาเลเซีย แต่ตำรวจมาเลเซียกลับสงสัยว่านี่เป็นเรื่องของการฉ้อโกงประกัน
เธอจึงอาศัยคนรู้จักที่เป็นคนไทยเพื่อติดต่อตำรวจที่ไทย เนื่องจากข้อมูลจีพีเอสพบว่ารถถูกจอดที่บ้านหลังหนึ่งถัดจากสถานีตำรวจภูธรสะเดา
แต่ปรากฎว่าคนรู้จักของเธอได้เรียกเงินเป็นจำนวนกว่า 10,000 ริงกิต (76,469 บาท)ในฐานะที่เป็นค่าของขวัญ โดยถ้าเธอไม่จ่ายรถก็จะถูกขาย และเมื่อเธอได้รถคืนก็ปรากฎว่าหมายเลขทะเบียนรถมีการเปลี่ยนแปลง และเสาอากาศของวิทยุภายในรถก็ถูกตัดออก โดยคิดว่านั่นเป็นตัวติดตามจีพีเอส
จากรายงานข่าวดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังพล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ชี้แจงในกรณีนี้ โดย พล.ต.ต.อาชยนกล่าวว่าเรื่องนี้ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทราบเรื่องและการสั่งสอบแล้ว
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้เปิดเผยว่าเรื่องนี้ได้มีการประสานงานกับทาง ป.ป.ช.ประเทศมาเลเซีย MACC เพื่อขอข้อมูลแล้วด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการดำเนินการเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว
- เลขา ป.ป.ช.ยันพร้อมสอบ หลังสื่อมาเลย์ฯแฉ จนท.ไทยเรียกสินบนแลกปล่อยรถถูกขโมยข้ามแดน
- โฆษกฯเผย ผบ.ตร.สั่งสอบแล้ว หลังสื่อมาเลย์ฯแฉตำรวจไทยเรียกเงินแลกปล่อยรถถูกขโมยข้ามพรมแดน
- สื่อมาเลย์ฯ แฉ ตร.ไทยเรียกเงิน 2-7 หมื่น เหยื่อถูกขโมยรถจากกัวลาลัมเปอร์ ก่อนขับมาสงขลา
@นักท่องเที่ยวจีนเผยตำรวจไทยบริการ VIP จัดหารถนำขบวนให้ตั้งแต่สนามบิน
เหตุการณ์ถัดมายังอยู่ในช่วงปลายเดือน ม.ค. จากกรณีที่มีคลิปนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนอวดภาพตำรวจ ถือป้ายรับหน้าประตูเครื่อง พารับกระเป๋า ขึ้นรถตำรวจ พร้อมจัดรถนำขบวนพาไปส่งยังโรงแรมที่พัก โดยนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวอ้างว่าได้จ่ายค่าบริการให้กับตำรวจ ทำให้ได้รับการบริการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมีการเผยแพร่ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความถูกต้องเหมาะสมในการกระทำของตำรวจในคลิปดังกล่าว
จากกรณีนี้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.(ดำรงตำแหน่งในช่วงเดือน ม.ค.) สั่งการให้ทางจเรตำรวจ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และได้สั่งการให้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยด่วน โดยได้รับรายงานว่า บุคคลที่ปรากฎในคลิปนั้นเป็นตำรวจจริงทั้ง 3 นาย อยู่ในสังกัดตำรวจท่องเที่ยว 1 นาย และสังกัด กองบังคับการตำรวจจราจร อีก 2 นายโดยเหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566
ขณะที่สำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าบนเว็บไซต์ Taobao ซึ่งเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของประเทศจีน พบว่า มีการประกาศโฆษณาเกี่ยวกับการซื้อทัวร์ตำรวจบริการวีไอพีที่ประเทศไทยไว้อย่างแพร่หลาย
โฆษณาบางรายการ เมื่อแปลข้อความภาษาจีน ในรูปภาพดังกล่าวเป็นภาษาไทย พบว่า มีการแจ้งรายละเอียดสำคัญว่า ให้บริการ VIP โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สนามบิน พาผ่านด่านตรวจ รวมค่าภาษีผ่านแดน ไม่ต้องมีการสำแดงใบจองที่พัก ไม่ต้องมีการสำแดงตั๋วเครื่องบินเดินทางขากลับแต่อย่างใด โดยสิ่งที่ต้องใช้มีแค่เพียงภาพถ่ายหนังสือเดินทาง และตั๋วเครื่องบินขามาเท่านั้น
ระบุราคาเป็นหน่วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ตั้งแต่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯไปจนถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (327,600 บาท-3,276,000 บาท) ขึ้นอยู่กับระยะเวลา
สำนักข่าวอิศรา จึงได้ตามแกะรอยข้อมูลภาพโฆษณาชิ้นที่อ้างว่ามีบริการจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)เพื่อผ่านด่านตรวจ ก็พบว่ารูปภาพดังกล่าวนั้นถูกโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ของบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในไทย มีชื่อขึ้นต้นว่า ไทย-จีน ในเชิงแนะนำเชิญชวนการใช้บริการ โดยบริษัทแห่งนี้พบว่ามีนักการเมืองพรรคการเมืองขนาดเล็กร่วมถือหุ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้ลงพื้นที่ไปยังบริษัทดังกล่าวที่ถนนรัชดา เขตห้วยขวาง เพื่อติดต่อให้บริษัทชี้แจง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ที่บริษัทแต่อย่างใด
จึงทำให้ไม่ทราบว่าบริษัทแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับกรณีตำรวจนำขบวนหรือไม่อย่างไร
ส่วนกรณีการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน
- ตีแผ่ธุรกิจทัวร์ตร.วีไอพี : บ.ลอว์เฟิร์มไทยปริศนาโพสต์ทวิตโฆษณา-นักการเมืองร่วมถือหุ้น?
- ตะลุยเว็บเถาเป่าจีน! ส่องแพ็กเกจทัวร์ ตร. VIP ผ่านแดนเข้าไทย - ตั้งราคาสูงสุด 3.2 ล้าน
- ผบ.ตร.สั่งจเรฯ สอบ 2 ตำรวจเปิดไซเรนอำนวยความสะดวก นทท.จีนแล้ว-ผู้บังคับบัญชาโดนด้วย
@รายงานสหประชาชาติเปิดโปงกลุ่มเอกชนไทยส่งยุทธภัณฑ์ให้เผด็จการทหารเมียนมา 954 ล.
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. มีรายงานจากสหประชาชาติหรือ UN โดยระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมา พบว่ามีนิติบุคคลในประเทศไทยได้ดำเนินการส่งชิ้นส่วนอาวุธ,อุปกรณ์และวัตถุดิบคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27,745,212 ดอลลาร์สหรัฐฯ (960,941,545 บาท)โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์
12 บริษัทที่ว่ามานี้พบว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการค้าที่มีต่อกองทัพเมียนมาจากประเทศไทย
สำหรับประเภทยุทธภัณฑ์ที่เครือข่ายบริษัทในประเทศไทยได้ส่งไปให้เมียนมานั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-ชิ้นส่วนอาวุธ ได้แก่ ชิ้นส่วนอะไหล่สําหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และชิ้นส่วนอะไหล่สําหรับเครื่องบินขนส่งทางทหาร ATR-42
-อุปกรณ์ทางทหารที่สามารถใช้ได้สองทาง (สามารถใช้ในทางพลเรือนได้ด้วย) ได้แก่ยานพาหนะและอุปกรณ์ก่อสร้าง,อุปกรณ์วิทยุและการสื่อสาร,อุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม,ซอฟต์แวร์ต่างๆ
-เครื่องจักรอุตสาหกรรม ได้แก่เครื่องกลึง เครื่องกัดในอุตสาหกรรม
-วัสดุต่างๆ ได้แก่ แท่งอลูมิเนียม,เหล็กเส้น,ตะกั่ว,เหล็กทองเหลืองบรอนซ์และทองแดง,ทองเหลืองและเหล็กแผ่น,ลวดเหล็ก,สารเคมี,น้ำมันหล่อลื่น
จากรายงานข่าวดังกล่าวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในช่วงเดือน พ.ค.) ได้เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในช่วงแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลผสม หรือ MOU จัดตั้งรัฐบาลไว้ตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้ให้ทีมต่างประเทศของพรรค นำโดยนายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ค้นหาข้อมูลจากรายงานฉบับดังกล่าวเพิ่มเติมแล้ว”
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในการตรวจสอบเรื่องนี้ออกมาเลยไม่ว่าจะทั้งจากฝ่ายรัฐบาลหรือว่าจากฝ่ายค้าน
ขณะที่หนึ่งในผู้บริหารบริษัทที่ถูกกล่าวถึงในรายงาน UN ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่ารายงานนั้นมีความคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะมีกรณีที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งในเมียนมาเรียกรับเงิน
อีกทั้งเมียนมาก็มีข้อบังคับว่าถ้าหากบริษัทต่างๆอยากจะติดต่อซื้อขายต่างประเทศก็ต้องไปติดต่อบริษัทที่มีเงินยูเอสดอลลาร์ ซึ่งบริษัทพวกนี้ ก็เป็นเครือข่ายของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหาร
- หนังคนละม้วน? เปิดตัวผู้บริหาร บ.ไทย ในรายงาน ยูเอ็น ยันไม่เกี่ยวข้องค้าอาวุธเมียนมา
- เจาะรายงาน UN อ้างชื่อ 25 บ.ไทย ส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา954 ล.-โยง'ผู้ค้าอาวุธ' สำคัญ (1)
- ลอตแรก! เปิดข้อมูล19 เอกชนไทย UN อ้างส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา-หลายแห่งจัดตั้งหลัง รปห. (2)
- เป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น! ตามหา 2 บ.ไทย UN อ้างส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา-รอเจ้าของชี้แจง (3)
@ผู้ต้องหาจีนเทาอัดคลิปจากคุกไทย เผยแพร่สื่อสหรัฐฯ กลัวถูกส่งกลับจีน
ข่าวนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ก.ย.สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียซึ่งเป็นสื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่วิดีโอของนายเสอ จื้อเจียง ผู้ต้องหาคดีเว็บพนันชาวจีนซึ่งถูกจับในประเทศไทยเมื่อเดือน ส.ค. 2565
โดยนายเสอได้อัดคลิปจากในเรือนจำพิเศษกรุงเทพความยาว 1 นาที 48 วินาที คลิปวิดีโอลงวันที่ 20 ก.ย. เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของตัวเองระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงในประเทศจีนใส่ร้ายเขาและตอนนี้ศาลไทยยังไม่ตัดสินใจในประเด็นเรื่องว่าจะส่งตัวเขากลับไปประเทศจีนหรือไม่ ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด
นายเสอแก้ต่างว่าเขาประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจัดการที่ดินในประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิคม KK Park ในประเทศเมียนมาซึ่งมีส่วนในการฉ้อโกงแต่อย่างใด และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าทางประเทศจีนจะหาทางปิดปากเขา
ขณะที่บุคคลซึ่งเผยแพร่วิดีโอบอกกับสำนักข่าวเรดิฟรีเอเชียว่าในเรือนจำไทยไม่ได้อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไป แต่ว่าในนั้นมีอุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งนี่เป็นการใช้ประโยชน์จากกระบวนการทุจริตที่สามารถพบได้ในเรือนจำไทย และหลังจากการดำเนินการที่ซับซ้อน ในที่สุดก็สามารถนำวิดีโอนี้ปล่อยออกมาได้
ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวการแพร่ภาพวิดีโอของนายเสอ จื้อเจียงออกไป กรมราชทัณฑ์ก็ได้ชี้แจงว่าวิดีโอดังกล่าวนั้นมาจากการอนุญาตให้ญาติของนายเสอเข้าเยี่ยมผ่านระบบไลน์ แต่ปรากฏว่าญาติของนายเสอกลับทำผิดข้อบังคับด้วยการนำเอาวิดีโอนี้ออกไปเผยแพร่
ทางเรือนจำฯ จึงได้ดำเนินการตัดสิทธิการเยี่ยมญาติผ่านช่องทางระบบไลน์นายเสอ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว
สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียรายงานต่อไปว่าหลังจากการเผยแพร่คลิป นายเสอก็ถูกย้ายไปคุมขังในแดนหนึ่งหรือพื้นที่ควบคุมอย่างเข้มงวดของเรือนจําพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับป้อมปราการ
นอกจากนี้ยังพบว่าชาวจีนคนอื่นที่ถูกคุมขังรวมในที่เดียวกับนายเสอ รวมไปถึงนาย หวัง ฟูกุ้ย เลขานุการของนายเสอ ทั้งหมดถูกย้ายไปอย่างรวดเร็ว
แหล่งข่าววงในกล่าวว่าทางการไทยตัดการสื่อสารทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ชาวจีนที่อยู่กับนายเสอก็ถูกย้ายไปหมด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่าทำไมทางการไทยถึงฟังรัฐบาลจีนอย่างยิ่งต่อกรณีของนายเสอ ก็ไม่อาจทราบได้
โดยจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผลการสอบสวนกรณีคลิปรั่วไหลออกไป และยังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วจะมีการส่งตัวนายเสอกลับไปยังประเทศจีนหรือไม่
- สื่อสหรัฐฯแฉ จนท.มั่นคงจีนเอี่ยวนิคมฉ้อโกงที่เมียนมา โยงผู้ต้องขังอัดคลิปจากคุกไทย
- เจาะประวัติ'เสอ จื้อเจียง'ผู้ต้องหาจีนเทาอัดคลิปจากคุกไทย อ้างถูกใส่ความ สะเทือนราชทัณฑ์
- แค่เยี่ยมญาติผ่านไลน์! ราชทัณฑ์แจงผู้ต้องขังจีนเทาอัดคลิปในคุกไทย ทำผิดระเบียบแพร่สาธารณะ
- ผู้ต้องขังจีนเทาอัดคลิปจากคุกไทยแพร่ผ่านสื่อสหรัฐฯโวยถูกใส่ร้าย-หวั่นถูกส่งกลับประเทศ
@นักธุรกิจจีนในไทยถูกสื่อสหรัฐฯโยงฉ้อโกงคริปโต พัน ล.
และข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับประเทศไทย จากสื่อนอกล่าสุดก็มาจากรายงานข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ส สหรัฐอเมริกา
โดยในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์สได้นำเสนอข่าวกรณีเหยื่อจากรัฐแคลิฟอร์เนียเสียเงินจากการถูกฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตไปกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (94,903,650 บาท) ในช่วงเดือน มี.ค. 2565
โดยผู้ที่หลอกลวงเหยื่อปรากฏว่าเป็นหญิงสาวหน้าตาดีและอายุน้อยชื่อว่า ‘เอ็มม่า’ แต่ไม่ทราบข้อมูลว่ารูปภาพที่ส่งมานั้นเป็นภาพจริงๆหรือไม่
สำนักข่าวรอยเตอร์สได้ทำงานร่วมกับบริษัทวิเคราะห์ Coinfirm พบว่าเหยื่อรายนี้ส่งเงินไปยังกระเป๋าเงินคริปโตคิดเป็นมูลค่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (3,514,150 บาท) และกระเป๋าคริปโตนี้ก็เป็นเส้นทางไปสู่บัญชีของนายหวัง หยี่ เฉิง นักธุรกิจจีนที่อยู่ในประเทศไทย โดยในปี 2565 ความเคลื่อนไหวบัญชีคริปโตของนายหวังพบการเพิ่มขึ้นไปจนถึงเกือบ 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,770,174,500 บาท)
สำหรับประวัติของนายหวัง พบว่าเขาเคยทำงานเป็นรองประธานสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย-เอเชีย และด้วยการทำงานในบทบาทดังกล่าวนี้เอง ทำให้มักจะมีภาพถ่ายนายหวังในฐานะตัวแทนสมาคมฯไปมอบดอกไม้หรือสิ่งของให้กับข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงตำรวจที่เคยทำงานในกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
อย่างไรก็ตามนายกสมาคมฯ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา และสมาคมฯได้ชี้แจงไปทางสำนักข่าวรอยเตอร์สแล้วว่านายหวังนั้นออกจากสมาคมไปในช่วงสามเดือนก่อนที่จะปรากฎเป็นข่าวที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส ด้วยเหตุผลว่านายหวังไม่ได้ปฏิบัติตามเป้าหมายของสมาคมฯในการช่วยเหลือสังคมต่างๆ
นายกสมาคมฯ ยังได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมด้วยว่าได้ให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับนายหวังไปทางนายตำรวจที่ปรากฎภาพถ่ายคู่กับนายหวัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบแล้วด้วยเช่นกัน
ในส่วนของการตรวจสอบจากทางภาครัฐ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อสอบถามไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.เพื่อสอบถามข้อมูล แต่พล.ต.ท.วรวัฒน์กล่าวว่าเรื่องนี้หน่วยงานในสหรัฐอเมริกา หรือทางสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ยังไม่ได้ประสานข้อมูลมาทาง สอท.แต่อย่างใด
จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าทางการไทยได้ตรวจสอบนายหวัง รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้อง คืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว และในปีหน้าจะมีความชัดเจนที่มากกว่านี้ออกมาให้สังคมเห็นหรือไม่
- สหรัฐฯยึดคริปโต 17.8 ล.จากบัญชี 'หวัง หยี่ เฉิง' นักธุรกิจจีนในไทย โยงฉ้อโกงนับพันล้าน
- เจาะประวัติ 'หวัง หยี่ เฉิง' นักธุรกิจจีนในไทย ถูกสื่อนอกโยงคดีฉ้อโกงคริปโตนับพันล้าน
- เชิญออกไป 3 เดือนแล้ว! เปิดตัวสมาคมชาวจีนในไทย แจงไม่เกี่ยวข้องนักธุรกิจคดีโกงคริปโตพันล.
- ต้องให้ สตช.สอบ! ผบช.สอท.แจงข่าวนักธุรกิจจีนเอี่ยวฉ้อโกงคริปโตพันล.รู้จักตำรวจไทย
- สื่อนอกเปิดโปงนักธุรกิจจีน ใกล้ชิดตำรวจ-นักการเมืองไทย โยงบัญชีฉ้อโกงคริปโต พัน ล.