"...บริษัท ซ.ได้ทำการค้ากับหน่วยงานรัฐในไทย และก็เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทในเมียนมาด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทในเมียนมาที่บริษัท ซ.ได้ดำเนินการค้าขายด้วยนั้นเขาถูกสำนักข่าวแห่งหนึ่งในเมียนมาเรียกรับเงิน บอกว่า คุณรู้จักคนนั้นคนนี้ไหม ซึ่งจริง ๆ สำนักข่าวไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีการเรียกรับเงิน บอกว่าถ้าหากคุณไม่สนับสนุนเราเรื่องเงิน เราก็จะปล่อยข่าวนี้ไปว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้อง..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณีปรากฏข้อมูลในรายงานสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุข้อมูลบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในประเทศไทย ดำเนินการส่งยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 เป็นต้นมา โดยมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้เข้าสู่เมียนมามีมูลค่าอยู่ที่ 27,745,212 ดอลลาร์สหรัฐฯ (960,941,545 บาท) โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์
- เจาะรายงาน UN อ้างชื่อ 25 บ.ไทย ส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา954 ล.-โยง'ผู้ค้าอาวุธ' สำคัญ (1)
- ลอตแรก! เปิดข้อมูล19 เอกชนไทย UN อ้างส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา-หลายแห่งจัดตั้งหลัง รปห. (2)
- เป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น! ตามหา 2 บ.ไทย UN อ้างส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา-รอเจ้าของชี้แจง (3)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากผู้บริหารบริษัท ซ. (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 ตั้งอยู่ที่ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนไทย ที่ส่งยุทธภัณฑ์เข้าสู่เมียนมา มูลค่าอยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นซัพพลายเออร์ทางด้านยุทธภัณฑ์ให้กับบริษัท IGG Network หรือชื่อเต็มว่าบริษัท International Gateways Group Network ที่ถือเป็นบริษัทที่มีความผูกพันกับกองทัพเมียนมามาอย่างยาวนาน และถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปี 2565
เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ
โดยผู้บริหารบริษัท ซ. รายดังกล่าว คือ นายจิม (ขอสงวนชื่อเต็ม) เป็นคนเมียนมาแต่โอนสัญชาติเป็นคนไทย ชี้แจงว่า รายงานของสหประชาชาติมีจุดที่ไม่ถูกต้องอยู่ คือมันก็มีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริงประกอบกัน
"ข้อมูลที่ออกมาในรายงานนี้นั้นปรากฏว่ามาจาก Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นให้บริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยเครือข่าย ซึ่งบริษัทที่อยู่ในรายชื่อธนาคาร MFTB บางบริษัทก็มีการค้าขายเหล็ก ทำธุรกิจเก่าแก่เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธเลย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเพิ่งจะโดน ทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงเพิ่งจะปรากฏชื่อในรายงานฉบับนี้" นายจิมระบุ
หน้าเว็บธนาคาร MFTB
นายจิมกล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างบริษัท ซ.นั้น จริง ๆ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้า อะไหล่รถกระบะเป็นต้น แต่ว่าบริษัทไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับอะไหล่เครื่องบิน อะไหล่เฮลิคอปเตอร์แต่อย่างใด
"บริษัท ซ.ได้ทำการค้ากับหน่วยงานรัฐในไทย และก็เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทในเมียนมาด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทในเมียนมาที่บริษัท ซ.ได้ดำเนินการค้าขายด้วยนั้นเขาถูกสำนักข่าวแห่งหนึ่งในเมียนมาเรียกรับเงิน บอกว่า คุณรู้จักคนนั้นคนนี้ไหม ซึ่งจริง ๆ สำนักข่าวไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีการเรียกรับเงิน บอกว่าถ้าหากคุณไม่สนับสนุนเราเรื่องเงิน เราก็จะปล่อยข่าวนี้ไปว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้อง"
“พวกนี้เขาก็เป็นลูกค้าของผมทั้งนั้นแหละ คือเขาไม่ได้ทำ เขาก็ตอบกลับมาว่าทำไมผมต้องให้เงินคุณ แล้วสำนักข่าวนี้ก็ยังไม่พอไปขอเงินแม่เขาอีก ซึ่งพอเขาไม่ให้เงิน ประมาณไม่เกินสองเดือน บริษัทเหล่านี้ก็โดนแบล็กลิสต์ไป” นายจิมกล่าว
และย้ำว่า "บริษัทพวกนี้เขาก็มีเครือข่ายมีบริษัทที่สิงคโปร์ก็ถูกล็อกบัญชีไปด้วย"
นายจิมกล่าวอีกว่า สาเหตุที่บริษัทลูกค้าเหล่านี้โดนเหมาไปหมดอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าการที่ประเทศเมียนมานั้นถูกคว่ำบาตรหลังจากรัฐประหาร
"บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการทำการค้านอกประเทศ ต้องการจะซื้อของจากต่างประเทศ เขาก็ต้องไปหาบริษัทที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ในบัญชีของรัฐบาลที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งบริษัทแลกเงินหล่านั้นก็จะเป็นคนทำเรื่องให้ บริษัทในเมียนมาก็จะให้เงินจ๊าดไป แล้วบริษัทที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็จะโอนเงินให้ต่างประเทศ โดยหักค่าตอบแทนไป"
“คนที่อยากจะติดต่อซื้อขายต่างประเทศก็ต้องไปติดต่อบริษัทพวกนี้ที่มีเงินยูเอสดอลลาร์ ซึ่งบริษัทพวกนี้ เขาก็เป็นเครือข่ายของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แล้วก็เผด็จการทหาร มันก็เป็นวิธีการที่เขาจะหาเงินดอลลาร์สหรัฐฯเข้าประเทศได้ โดยนโยบายของเขาพยายามจะควบคุมตรงนี้ไว้"
"ส่วนบริษัทลูกค้าที่ติดต่อบริษัทแลกเงินก็ถูกเหมารวมไปหมดเลย แม้แต่บริษัทที่นำเข้าของกิน”
เมื่อถามถึงบริษัท IGG Network หรือ International Gateway Group ที่ถูกสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรคว่ำบาตร นายจิมยืนยันว่า ทางบริษัท ซ.ไม่เคยทำการค้ากับบริษัทนี้แต่อย่างใด
เมื่อถามว่าทำไมตอนที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราลงพื้นที่บริษัทที่สายไหมถึงไม่มีใครอยู่เลย (ดูภาพประกอบท้ายเรื่อง) นายจิมกล่าวว่า บริษัทเพิ่งย้ายไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยย้ายไปอยู่ในท้องที่ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
ทั้งหมดนี้ คือ คำชี้แจงของ นายจิม ผู้บริหารบริษัท ซ. (ตัวย่อ) ที่ถูกระบุชื่อในรายงานยูเอ็น ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนไทย ที่ส่งยุทธภัณฑ์เข้าสู่เมียนมา มูลค่าอยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นซัพพลายเออร์ทางด้านยุทธภัณฑ์ให้กับบริษัท IGG Network หรือชื่อเต็มว่าบริษัท International Gateways Group Network ที่ถือเป็นบริษัทที่มีความผูกพันกับกองทัพเมียนมามาอย่างยาวนาน และถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปี 2565 ที่เปิดใจให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของรายงานยูเอ็น ที่ นายจิม อ้างว่า มีจุดที่ไม่ถูกต้องอยู่
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ หากมีความคืบหน้าสำนักข่าวอิศรา จะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป