"...รูปแบบนี้มีมานานเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานเป็นล่ามภาษาจีนให้กับลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจชาวไทย พบว่า ผู้ใช้บริการ Fast Track มักจะเป็นคนมีฐานะ และต้องการอำนวยความสะดวกให้กับคู่ค้าชาวจีนที่กำลังเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อลดระยะเวลาและความยุ่งยากต่างๆ..."
ยังเป็นประเด็นร้อนที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง
กรณี ปรากฏคลิปนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนโพสต์วิดีโอในโซเชียลมีเดีย อวดภาพตำรวจ ถือป้ายรับหน้าประตูเครื่อง พารับกระเป๋า ขึ้นรถตำรวจ พร้อมจัดรถนำขบวนพาไปส่งยังโรงแรมที่พัก
นักท่องเที่ยวสาวชาวจีนรายนี้ ยังกล่าวอ้างว่า ได้จ่ายค่าบริการให้กับตำรวจ ทำให้ได้รับการบริการในลักษณะวีไอพี จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความถูกต้องเหมาะสมในการกระทำของตำรวจในคลิปดังกล่าว
เป็นเหตุให้ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ภายหลังจากสำนักข่าวอิศรา ได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ Taobao ซึ่งเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของประเทศจีน พบว่า มีการประกาศโฆษณาเกี่ยวกับการซื้อทัวร์ตำรวจบริการวีไอพีดังกล่าวไว้อย่างแพร่หลาย
โฆษณาบางรายการ เมื่อแปลข้อความภาษาจีน ในรูปภาพดังกล่าวเป็นภาษาไทย พบว่า มีการแจ้งรายละเอียดสำคัญว่า ให้บริการ VIP โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สนามบิน พาผ่านด่านตรวจ รวมค่าภาษีผ่านแดน ไม่ต้องมีการสำแดงใบจองที่พัก ไม่ต้องมีการสำแดงตั๋วเครื่องบินเดินทางขากลับแต่อย่างใด โดยสิ่งที่ต้องใช้มีแค่เพียงภาพถ่ายหนังสือเดินทาง และตั๋วเครื่องบินขามาเท่านั้น
ระบุราคาเป็นหน่วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ตั้งแต่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯไปจนถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (327,600 บาท-3,276,000 บาท) ขึ้นอยู่กับระยะเวลา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ตามแกะรอยข้อมูลภาพโฆษณาชิ้นที่อ้างว่ามีบริการจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อผ่านด่านตรวจดังกล่าว ไปสืบค้นข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพิ่มเติม
โฆษณาการให้บริการแบบ VIP โดยตำรวจ ตม.
พบว่า ภาพโฆษณาชิ้นนี้ เคยถูกโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ของบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในไทย มีชื่อขึ้นต้นว่า ไทย-จีน ในเชิงแนะนำเชิญชวนการใช้บริการ (ดูภาพประกอบ)
เมื่อเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับทวิตเตอร์นี้ พบว่า เพิ่งเปิดใช้งานในช่วงเดือน ก.ย. 2565 และในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. มีการโพสต์เป็นภาษาจีนว่าสามารถให้บริการทำให้สามารถผ่านเข้าประเทศไทยได้โดยง่าย โดยใช้แค่หนังสือเดินทางกับจดหมายเชิญเท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถส่งข้อความมาติดต่อได้ (ดูภาพประกอบ)
ตัวอย่างของทวิตเตอร์ที่โพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมการผ่านเข้าประเทศไทย
เมื่อสืบค้นข้อมูลบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทกฎหมายแห่งนี้ เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อเดือน ส.ค.2565 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ย่านถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง จังหวัดกรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจกิจกรรมทางกฎหมายกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการการเงิน ปรากฏชื่อกรรมการและผู้ถือหุ้น 3 คน เป็นคนไทย
เบื้องต้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราพยายามหาข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ แต่ยังไม่พบรายละเอียด
เมื่อสืบค้นข้อมูลกรรมการและผู้ถือหุ้น 3 คน ที่เป็นคนไทยดังกล่าว พบว่า กรรมการบริษัทรายหนึ่ง มีชื่อและนามสกุลคล้ายนักการเมือง ในสังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็กพรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ดี จากการติดต่อนักการเมืองที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแห่งนี้ เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ นักการเมือง ในสังกัดพรรครายนี้ จำนวน 2 ครั้ง ได้รับแจ้งว่า ยังไม่สามารถติดต่อสมาชิกพรรคฯ คนนี้ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรายังได้พยายามติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของนักการเมืองผู้เป็นผู้ถือหุ้นรายนี้ด้วยเช่นกัน แต่ปรากฎว่าถูกตัดสายโดยระบบ
ต่อมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลบริษัทฯ ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ มีป้ายบริษัทเอกชนไทยอีกแห่งหนึ่งติดอยู่ แต่ปิดทำการ ไม่สามารถติดต่อได้ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ บริษัท มีป้ายระบุว่าบริษัทอีกหลายแห่งติดอยู่ให้บริการหลายอย่างด้วยกัน อาทิ การทำป้ายไวนิล ป้ายต่างๆ ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
จากการสอบถามข้อมูลผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ดังกล่าวเพิ่งจะย้ายมาอยู่ได้เมื่อตอนปลายปี 2565 ก่อนหน้านี้ ห้องเช่าแห่งนี้ประกอบกิจการขายเปียนโน แต่พอหลังจากเปิดกิจการสภาพของห้องก็มีลักษณะดังที่เห็น แต่ว่ายังเห็นคนเข้าออกห้องเช่านี้เป็นระยะ ๆ
ต่อมาผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อ บริษัทกฎหมายแห่งนี้ อีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงทำให้ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการทัวร์ตำรวจวีไอพี ที่ปรากฏเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปผลการสอบสวนเป็นทางการ ผู้เกี่ยวข้องทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
@ พลิกปูมธุรกิจบริการทัวร์ตำรวจวีไอพี
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในแวดวงการท่องเที่ยว ไทย-จีน รายหนึ่งว่า การเข้าเมืองแบบ VIP ที่จะมีบริการตำรวจเข้ามารับถึงประตูทางออกภายในสนามบิน รวมถึงมีรถตำรวจติดไซเรนนำขบวนไปส่งถึงที่พักนั้น
รูปแบบนี้มีมานานเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานเป็นล่ามภาษาจีนให้กับลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจชาวไทย พบว่า ผู้ใช้บริการ Fast Track มักจะเป็นคนมีฐานะ และต้องการอำนวยความสะดวกให้กับคู่ค้าชาวจีนที่กำลังเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อลดระยะเวลาและความยุ่งยากต่างๆ
โดยประสบการณ์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2557 รูปแบบการขอใช้บริการจะยังผ่านนายหน้า ในการติดต่อตำรวจท่องเที่ยว แต่พอใช้บริการบ่อยครั้ง ตำรวจท่องเที่ยวก็ให้เบอร์โทรศัพท์ เพื่อกันโดยตรง ในการขอใช้บริการให้ช่วยพาล่ามเข้าไปรับชาวจีนที่ด้านในสนามบิน ถึงบริเวณประตูด้านในจุดจอดเครื่องบิน ซึ่งค่าบริการจะอยู่ที่ 2,000 บาทต่อหัว เช่น หากมีชาวจีนที่ต้องการให้ไปรับออกมา 4 คน ก็จะอยู่ที่ 8,000 บาท ยังไม่รวมกับค่าบริการอื่นๆ เช่น หากต้องการเจ้าหน้าที่ช่วยกรอกเอกสาร ตม. ให้ ก็คิดเพิ่มอีก 200 บาทต่อหัว และหากต้องการใช้รถกอล์ฟ ก็มีค่าบริการอีก 700 บาทต่อหัว ซึ่งทั้งหมดต้องจ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น เพราะต้องแบ่งไปจ่ายให้กับอีกคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น คนขับรถกอล์ฟ หรือเจ้าหน้าที่ ตม. ที่เปิดช่องพิเศษให้
ต่อมาปี 2559 เริ่มไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าไปในสนามบิน จึงมีตำรวจท่องเที่ยวทำหน้าที่แทน โดยจะสอบถามชื่อชาวจีน แล้วเขียนใส่แผ่นป้ายไปยื่นต้อนรับชาวจีนถึงประตูด้านในสนามบินแทน แต่อัตราค่าบริการยังเท่าเดิม
ส่วนบริการรถตำรวจนำขบวน ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในกรณีพิเศษ เช่น มีรถกองถ่ายจากจีนเข้ามาถ่ายทำในไทย จึงจำเป็นต้องใช้รถตำรวจอำนวยความสะดวกให้ ยังไม่เคยใช้บริการแบบส่วนบุคคล แต่ทราบส่า สามารถเลือกได้ว่าต้องการรถมอเตอร์ไซค์ หรือ รถยนต์ จำนวนกี่คัน
การใช้บริการ Fast track นอกจากจะเพื่ออำนวยความสะดวก และลดระยะเวลาในการต่อคิวแล้ว บางครั้งยังถูกใช้ในกรณีที่ต้องการหลบเลี่ยงการตรวจบางอย่างด้วย เช่น เคยมีดาราชาวจีน สวมใส่เครื่องประดับราคาสูงหลายชิ้นผ่าน ตม.เกาหลี แล้วถูกให้ถอดเก็บไว้ที่ ตม. ไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศ เพราะกังวลว่าลักลอบนำเข้าไปส่งต่อให้บุคคลอื่น ทำให้ดาราชาวจีน เลือกใช้บริการ Fast Track ในประเทศไทย เพื่อหลบเลี่ยงศุลกากร
แหล่งข่าวรายนี้ยังบอกอีกว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบแค่รายได้ของตำรวจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังกระทบไปคนที่อยู่ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย เพราะก็อาจมีไกด์ นายหน้า อื่นๆ ที่เสียผลประโยชน์รายได้จากเรื่องนี้
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ ธุรกิจบริการทัวร์ตำรวจไวไอพี ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้หรือไม่
คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง จะต้องรีบเข้ามาตรวจสอบเพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด
อ่านประกอบ: