"...ในรายงานของสหประชาชาติ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ ไว้เป็นทางการ จำนวน 19 แห่ง หลายบริษัทถูกระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งหลังเหตุรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ดำเนินการส่งอาวุธให้กับกลุ่มเอกชนสัญชาติเมียนมาอีกทีหนึ่ง แล้วเอกชนเมียนมาเหล่านี้จึงได้มีการส่งยุทธภัณฑ์ไปให้กับทางกองทัพเมียนมาต่อไป แต่ก็มีบริษัทในไทยบางแห่งที่ได้ดำเนินธุรกรรมการค้ากับกองทัพเมียนมาโดยตรง โดยไม่ผ่านกลุ่มเอกชนเช่นกัน..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกในรายงานของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่มีการระบุถึงข้อมูลบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 25 แห่ง ดำเนินการส่งยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 เป็นต้นมา โดยมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้เข้าสู่เมียนมามีมูลค่าอยู่ที่ 27,745,212 ดอลลาร์สหรัฐฯ (960,941,545 บาท) โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์
ขณะที่ในรายงานของสหประชาชาติ ยังระบุอีกว่า แม้ว่าปริมาณและมูลค่ายุทธภัณฑ์จากประเทศไทยที่ส่งเข้าไปให้กับกองทัพเมียนมานั้นจะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศรัสเซีย,จีน,สิงคโปร์ และอินเดีย
แต่ถ้าหากว่าประเทศสิงคโปร์มีการปราบปรามบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจัง ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งดำเนินธุรกรรมแทนประเทศสิงคโปร์
จากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 25 แห่ง ที่ปรากฏอยู่ในรายงานของสหประชาชาติ ดังกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ลงลึกรายละเอียดข้อมูลส่วนนี้ ในรายงานของสหประชาชาติ พบว่า มีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ ไว้เป็นทางการ จำนวน 19 แห่ง
หลายบริษัทถูกระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งหลังเหตุรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ดำเนินการส่งอาวุธให้กับกลุ่มเอกชนสัญชาติเมียนมาอีกทีหนึ่ง แล้วเอกชนเมียนมาเหล่านี้จึงได้มีการส่งยุทธภัณฑ์ไปให้กับทางกองทัพเมียนมาต่อไป
แต่ก็มีบริษัทในไทยบางแห่งที่ได้ดำเนินธุรกรรมการค้ากับกองทัพเมียนมาโดยตรง โดยไม่ผ่านกลุ่มเอกชนเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา จำแนกข้อมูล 19 บริษัท สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน ตามรายละเอียดในรายงาน ดังนี้
1.ซัพพลายเออร์ให้กับบริษัท IGG Network
บริษัท IGG Network หรือชื่อเต็มว่าบริษัท International Gateways Group Network นั้นถือเป็นบริษัทที่มีความผูกพันกับกองทัพเมียนมามาอย่างยาวนาน และถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปี 2565 ทว่าเครือข่ายบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องและกำลังขยายวางมากขึ้นเรื่อยๆได้ดำเนินการจัดหาทั้งยุทธภัณฑ์และอุปกรณ์อากาศยานที่หลากหลายให้กับกองทัพเมียนมา
โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ IGG Network นั้นพบว่ามีอยู่ทั้งในสิงคโปร์และในประเทศไทย ซึ่งบริษัทในประเทศไทยประกอบไปด้วย
-บริษัท บ. (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท เอ็ม (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตบางกะปี กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท พี (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท ซ (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 ตั้งอยู่ที่ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (บริษัท ซ.ตั้งอยู่ที่เดี่ยวกับบริษัท บ.)
หน้าเว็บบริษัท IGG ของเมียนมา
2.ซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มบริษัท Synpex Shwe Network
บริษัท Synpex Shwe Network เป็นบริษัทจำกัดที่ถูกคว่ำบาตรจากสหราชอาณาจักร ในโทษฐานที่ว่าบริษัทนี้ได้ทำข้อตกลงจัดหาอะไหล่และบำรุงรักษาเครื่องบินให้กับกองทัพเมียนมา โดยบริษัทแห่งนี้พบว่ามีซัพพลายเออร์ในไทยได้แก่
-บริษัท เอสเอส (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.ซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มบริษัท KT Group Network
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้รายงานว่ามีซัพพลายเออร์ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับบริษัท KT Group Network ได้แก่
-บริษัท อัล (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ตั้งอยู่ที่ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท บลู (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ตั้งอยู่ที่ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่เดียวกับบริษัทอัล)
-บริษัท ซ (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ตั้งอยู่ที่ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัทอัลและบริษัทบลู)
4.ซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มบริษัท IGE Network
ผู้รายงานพิเศษระบุว่ามีบริษัทในไทยซึ่งมีทั้งคนไทยและคนเมียนมาร่วมกันถือหุ้น โดยมีหลักฐานพบว่าบริษัทนี้เชื่อมโยงกับบริษัท IPL PTE Ltd ซึ่งมีเจ้าของได้แก่นาย Yeo Soon Seng สัญชาติสิงคโปร์ ซึงเขาคนนี้เป็นผู้อำนวยการให้กับบริษัท IGE PTE และบริษัท UNOG PTE ซึ่งทั้งหมดอยู่ในโครงข่ายของบริษัทขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า International Group of Entrepeneurs หรือ IGE โดยพบข้อมูลว่าบริษัทนี้นั้นมีการให้เงินสนับสนุนกับกองทัพเมียนมาเป็นจำนวนมาก
สำหรับบริษัทในไทยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นได้แก่
-บริษัท ร. (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ตั้งอยู่ที่ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5.ซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มบริษัท King Royal Technologies Network
บริษัท King Royal Technologies Network นั้นถูกระบุว่ามีเจ้าของ,กรรมการ และผู้ถือหุ้นหลักที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมา อีกทั้งยังมีบริษัทเครือข่ายจำนวนมากมายพบว่ามีส่วนในการซื้อขายกับกองทัพ
โดยบริษัทในประเทศไทยที่พบว่าเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัท King Royal Technologies Network ได้แก่
-บริษัท แอส (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 ตั้งอยู่ที่ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่ทำการหลักบริษัท King Royal Technologies Network ในเมียนมา
6.บริษัทในไทยที่พบว่าเป็นซัพพลายเออร์ยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพเมียนมาโดยตรงโดยไม่ผ่านเครือข่ายการค้ายุทธภัณฑ์ใดๆ ได้แก่
-บริษัท โกลด์ (ตัวย่อ) ตั้งอยู่ที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่พบข้อมูลบริษัทนี้ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด ซึ่งในรายงานของสหประชาชาติระบุว่าบริษัทแห่งนี้มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท รอยัล ส (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่ตั้งเดียวกับบริษัท ร.)
-บริษัท เค (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 ตั้งอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท SM (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท รี (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท เอส (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2562 ตั้งอยู่ที่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท ส.เอส (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2549 ตั้งอยู่ที่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-บริษัท บี.ยอ (ตัวย่อ) ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ตั้งอยู่ที่ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และบริษัท ส.เอ็ม ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีมูลค่าการส่งยุทธภัณฑ์อยู่ที่ไม่เกิน 1แสนดอลลาร์สหรัฐฯ
เรียบเรียงจาก:https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทเอกชนไทยเหล่านี้ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน
หากมีความคืบหน้า จะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป