“…ร่างกฎกระทรวงฯ มีเป้าหมาย เพิ่มเติมข้อกำหนดกรณีที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้น ติดถนนสาธารณะ แต่ถ้ารถดับเพลิง สามารถเข้า-ออกได้โดยสะดวก ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็ถือว่าที่ดินนั้น สามารถใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้…”
........................................
หากไม่มีอะไรพลิกผัน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด บริษัทร่วมทุนในเครือ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ผู้ดำเนินโครงการคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ มูลค่า 6,481 ล้านบาท น่าจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ) โครงการแอชตัน อโศก จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้อีกครั้ง
หลังจากเมื่อเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ให้ ‘เพิกถอน’ ใบอนุญาตฯของโครงการแอชตัน อโศก
เนื่องจากคอนโดความสูง 50 ชั้น ซึ่งเป็น ‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ หรือพื้นที่ทุกชั้นรวมกันมากกว่า 30,000 ตารางเมตร แห่งนี้ ไม่มี ‘ทางเข้า-ออก’ สู่ ‘ถนนสาธารณะ’ ตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่อาจใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืน เป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ได้ (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
นั่นเพราะในระยะเวลาอันใกล้นี้ ‘ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ ‘สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา’ นั้น น่าจะแล้วเสร็จ และส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอีกครั้ง
ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้โครงการแอชตัน อโศก กลายเป็น ‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ ที่สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในขณะที่กระบวนการในการผลักดันและ 'อนุมัติหลักการ' ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) ฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566
ท่ามกลางความพยายามของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ในการเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 เพื่อแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ให้ที่ดินที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ให้สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้
@แก้กฎกระทรวงฯ รื้อข้อกำหนด‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นการประชุม ครม. นัดสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเพียง 7 วัน หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 นั้น
‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในขณะนั้น ได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) ให้ ครม.พิจารณา และ ครม.มีมติ ‘อนุมัติหลักการ’ และส่งร่างกฎกระทรวงฯไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
“คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 อนุมติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่…(พ.ศ…) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้” หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร. 0505/18621 ลงวันที่ 31 ส.ค.2566 ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) พบว่า
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 ได้ระบุว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 2 ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันตลอด โดยอย่างน้อยหนึ่งทิศทางต้องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ถนนสาธารณะดังกล่าว ต้องมีผิวการจราจรรวมกันกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร
สำหรับที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันตลอด โดยอย่างน้อยหนึ่งทิศทางต้องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร ถนนสาธารณะดังกล่าวต้องมีผิวการจราจรรวมกันกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร
ที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นต้องใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกด้วยและต้องไม่มีสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ในแนวดิ่ง
กรณีที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้นติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ โดยที่ดินดังกล่าวต้องเป็นภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรงตราบที่อาคารนั้นยังมีอยู่ โดยที่ดินที่ใช้เป็นทางเข้าออกนั้นต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคารและใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวก ให้สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามวรรคหนึ่งและวรรคสองได้”
แตกต่างจากกฎกระทรวงฉบับปัจจุบัน (กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522) ที่ระบุว่า
“ข้อ 2 ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร
สำหรับที่ดินทีใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า18.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร
ที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นต้องว่างเพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกด้วย”
หรือสรุปได้ว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดว่า กรณีที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นติดถนนสาธารณะ แต่ถ้ามีที่ดินอื่นที่ติดถนนสาธารณะและใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกและเชื่อมต่อกับถนนรอบอาคาร ก็ถือว่าที่ดินนั้นสามารถใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้
ในขณะที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ความเห็นว่า ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) นั้น
"มีเป้าหมาย เพิ่มเติมข้อกำหนดกรณีที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้น ติดถนนสาธารณะ แต่ถ้ารถดับเพลิงสามารถเข้า-ออกได้โดยสะดวก ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็ถือว่าที่ดินนั้นสามารถใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้"
จึงเท่ากับว่า ในกรณีของโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็น ‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ รวมถึงอาคารขนาดใหญ่พิเศษแห่งอื่นๆ ที่ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินติดถนนสาธารณะ แต่หาก 'รถดับเพลิง' สามารถเข้า-ออกได้โดยสะดวก ก็ถือว่าดำเนินการโครงการฯถูกต้องตาม 'ร่างกฎหมายฉบับใหม่'
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) ซึ่งเป็นร่างกฎกระทรวงฯที่เข้ามาช่วย ‘ผ่าทางตัน’ ให้กับโครงการแอชตัน อโศก ที่ต้องส่งกลับมาให้ ครม. ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อนุมัติอีกครั้งนั้น 'ครม.เศรษฐา' จะติดสินใจอย่างไร และร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่?
อ่านประกอบ :
มีแนวโน้มในทิศทางที่ดี! ‘อนันดาฯ’แจงความคืบหน้าหา‘ทางเข้า-ออก’ใหม่ คอนโด‘แอชตันอโศก’
ลูกบ้าน‘แอชตันอโศก’ร้อง‘อัยการสูงสุด’ช่วย-'รองโฆษกฯ'เผยหากไกล่เกลี่ยไม่จบจะยื่นฟ้องให้
พลิกคดีแอชตันอโศก! รฟม.เมิน‘กฤษฎีกา’เพิกถอนใบอนุญาตใช้ที่ดินเวนคืนฯ ใครต้องรับผิดชอบ?
'รฟม.'แจง'มิได้ปกปิด-เพิกเฉย'ความเห็น'กฤษฎีกา' ปมใช้ที่ดินเวนคืนฯทำทางออก'แอชตัน อโศก'
รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้
เมิน‘ป.ป.ช.-สตง.’ท้วง! รฟม.อุ้ม‘อนันดาฯ’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ ก่อน‘แอชตันอโศก’โดนถอนใบอนุญาต
กทม.ชี้ไม่ต้องทุบ 'แอชตัน อโศก' เตรียมสั่ง'อนันดา' แก้ใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องรื้อคอนโดหรู! ANAN วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา‘แอชตัน อโศก’-เจรจาภาครัฐหาทางออก
เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม
กทม.นัดแถลงปมแอชตัน อโศก 3 ส.ค. 66 รฟม.โต้ทำเอกชนเสียหาย
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้