‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายืน สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯก่อสร้างโครงการคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ เหตุการออกใบอนุญาตฯเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.....................................
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558 ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 34 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สามว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 โฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 และโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานคร ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นที่ตั้งอาคารในโครงการแอชตัน อโศก
เป็นที่ดินที่สามารถใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตามข้อ 6 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้หรือไม่
ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 2 วรรคสอง
กำหนดว่า สำหรับที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร
และวรรคสามกำหนดว่า ที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นต้องว่าง เพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกด้วย
จากบทบัญญัติดังกล่าวที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีทางที่สามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ และทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษนั้น ต้องมีสภาพที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ตลอดตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษดำรงอยู่ และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวก เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้อาคารดังกล่าวให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดเพลิงไหม้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินของผู้ร้องสอดจำนวน 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2355 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ร้องสอดประสงค์ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอซตัน อโศก ของผู้ร้องสอด
ไม่มีเขตที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารด้านหนึ่งด้านใดกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรและยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร เพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
แต่เมื่อผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ให้ใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานครบางส่วน ขนาดกว้าง 13 เมตร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรีอันเป็นทางสาธารณะ
ผู้ร้องสอดได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ของ รฟม. ดังกล่าวไปใช้ประกอบกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 ของผู้ร้องสอด ในการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จนนำมาสู่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558
ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ฉบับแก้ไข และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด
แต่โดยที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ใช้เป็นทางเข้าออกของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก มิได้เป็นที่ดินของผู้ร้องสอด แต่เป็นที่ดินของ รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราซเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 โดยมีวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก รฟม. ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องนำที่ดินไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ การที่ รฟม. นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืน ไปอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2456
โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศกของผู้ร้องสอด อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของผู้ร้องสอดเท่านั้น ซึ่งมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน การอนุญาตของ รฟม. เช่นว่านี้ จึงมิอาจกระทำได้
นอกจากนี้ ปรากฏตามใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ข้อ 2 กำหนดว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 2.1 ปฏิบัติตามข้อสงวนสิทธิ์การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รพม. เป็นทางผ่าน แนบท้ายใบอนุญาตนี้ อย่างเคร่งครัด
ซึ่งข้อสงวนสิทธิ์ ข้อ 1 กำหนดว่า ในกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟฟ้า ประโยชน์ในการบำรุงรักษา ความปลอดภัยของระบบรถฟฟ้า และความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า ไม่ว่าทางตรง และ/หรือ ทางอ้อม หรือเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน หรือ รฟม. หรือสาธารณะอื่นใด รฟม. สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไขตำแหน่งที่ดินที่อนุญาตลดขนาดที่ดินที่อนุญาต หรือดำเนินการตามสมควร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยผู้ได้รับอนุญาตจะเรียกร้องเอาค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆ มิได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดในใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่านเลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ประกอบกับข้อสงวนสิทธิ์ ซึ่งแนบท้ายใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว
เห็นได้ว่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ของ รฟม. เป็นทางเข้าออก นั้น อยู่ภายใต้ข้อสงวนสิทธิ์ที่อาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เสมอตามความจำเป็นแห่งกรณี
จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าว มีสภาพที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกที่รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวกตลอดเวลาตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดยังดำรงอยู่ตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
และหากแม้จะได้มีการนำใบอนุญาตของ รฟม. นี้ ไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 75 (6) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2542 และคณะรัฐมนตรีจะได้ให้ความเห็นชอบแล้วก็ตาม
ก็ยังไม่อาจฟังได้ว่า ทางเข้าออกดังกล่าวมีสภาพที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวกตลอดเวลาตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดยังดำรงอยู่ตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้อาคารดังกล่าวให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดเพลิงไหม้
ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 34 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ฉบับแก้ไข และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย…
…การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 64/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ใบรับแจ้งการก่สร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ฉบับแก้ไข และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4เลขที่ 128/2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ลงวันที่ 19 ก.ค.2566 ระบุ
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติหรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการแอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชน และละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้นหรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เดิมที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก มีทำเลที่ตั้งติดกับถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) แต่ต่อมาที่ดินด้านที่ติดกับถนนสาธารณะบางส่วนถูกเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษฯ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะ และไม่มีทางออกสู่ถนนอโศกมนตรีได้เช่นเดิม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านหรือเข้า-ออกสู่ถนนถนนอโศกมนตรี ซึ่งมีขนาดความกว้าง 13 เมตร เพื่อประโยชน์แก่ผู้ร้องสอดในการดำเนินโครงการ แอชตัน อโศก ตามคำขอของผู้ร้องสอดเท่านั้น
มิได้มีเจตนาที่จะยกที่ดินบางส่วนของ รฟม. ให้เป็นถนนสาธารณะโดยเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงไม่อาจนำที่ดินของ รฟม. ไปประกอบการยื่นแจ้งการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ได้ และไม่อาจถือได้ว่าที่ดิน รฟม. ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารของผู้ร้องสอด ตามนิยามในข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) อนุญาตให้แก่ผู้ร้องสอดทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นที่ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน นั้น ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ที่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าที่ขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านเข้า-ออกสู่ทางสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกจึงมิใช่ผู้ที่อยู่ในบังคับของประกาศที่พิพาทและไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าว
ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อประโยชน์ของที่ดินของผู้ร้องสอด นั้น ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการก่อตั้งสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ตามคำเสนอของผู้ร้องสอด การออกใบอนุญาตดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกจึงไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหานี้
อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และผู้ร้องสอดจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘สยามสมาคมฯ’ ฟ้องรื้อถอนคอนโดหรู ‘แอชตัน-อโศก’ 24 พ.ย.นี้
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 20 ก.ย.นี้
ร้องทบทวนหลักเกณฑ์! ‘สมาคมอาคารชุดฯ’ ชี้ถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ กระทบวงกว้าง
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.