“…ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยฝ่ายที่สอง เห็นควรมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้น เป็นยกฟ้อง…”
...........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เพื่อดำเนินโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ คอนโดหรู มูลค่า 6,480 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯ ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’)
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว มี 'ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย’ 2 ฝ่าย รวมทั้งสิ้น 20 คน จากที่ประชุมตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่มี 49 คน ได้ทำความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาในคดีนี้
โดยตุลาการเสียงศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่หนึ่ง’ ที่มี 19 คน มีความเห็นแย้งซึ่งสรุปความได้ว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯรฟม.) อนุญาตให้ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ใช้ที่ดินแปลงที่ได้จากการเวนคืนฯเป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก นั้น สามารถกระทำได้
เพียงแต่ รฟม.จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 มาตรา 74 และมาตรา 75 คือ ต้องเสนอเรื่องไปให้ รมว.คมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินฯ (อ่านประกอบ : ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้)
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘ความเห็นแย้ง’ ในคดีแอชตัน อโศก (คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขดำที่ อส.188/2566) ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่สอง’ ซึ่งมี 1 ราย คือ นายกมล สกลเดชา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด มีสาระสำคัญ ดังนี้
@ชี้เจตนารมณ์กฎกระทรวงฯ มุ่งหมายดูแลกรณีเกิดเหตุ‘เพลิงไหม้’
ข้าพเจ้า นายกมล สกลเดชา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่สอง’ ไม่เห็นพ้องด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างมากจึงมีความเห็นแย้ง ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ข้าพเจ้า ‘มีความเห็นพ้องด้วย’ กับความเห็นตุลาการเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่หนึ่ง’ ในประเด็นที่วินิจฉัยว่า
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ย่อมเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าว มุ่งคุ้มครองผู้ใช้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดเพลิงไหม้อาคาร
การที่ข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวงดังกล่าว ที่กำหนดให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีพื้นที่เพียงพอต่อการเข้าไปดับเพลิง และช่วยเหลือผู้ใช้อาคารเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์จะให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร แต่อย่างใด
ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) จึงสามารถนำที่ดินของผู้ร้องสอดไปรวมกับที่ดินแปลงอื่นที่ติดต่อกัน และมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของอาคารได้ โดยอาจเป็นที่ดินของผู้ร้องสอดเป็นกรรมสิทธิ์เอง หรือเป็นที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ยินยอมให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะก็ได้
โดยผู้ร้องสอด ได้ยื่นคำขอตามแบบคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านลงวันที่ 5 ก.พ.2557 และหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย.2559 ต่อ รฟม. โดยขอขยายทางผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท จากเดิมที่เป็นทางจำเป็นกว้าง 6.40 เมตรเพิ่มเป็นกว้าง 13 เมตร หรือขอยายทางเพิ่มอีก 6.60 เมตร
และเนื่องจากทางจำเป็นตั้งอยู่ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2346 เลขที่ดิน 5650 บริเวณด้านทิศใต้ของลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ซึ่งเป็นปล่องระบายอากาศของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ไม่สามารถขยายทางเพิ่มได้
ผู้ร้องสอด จึงขอย้ายตำแหน่งทางดังกล่าวไปอยู่ทางทิศเหนือของสานจอดรถสถานีสุขุมวิท ซึ่งติดกับสยามสมาคมในพระบรมราชปถัมภ์ และผู้ร้องสอดตกลงจะให้ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในวงเงิน 97.67 ล้านบาท บาท โดยการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ขนาด 9 ชั้น ให้แก่ รฟม. ต่อมา คณะกรรมการการ รฟม. ในการประชุมครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติตามคำขอของผู้ร้องสอด
รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) จึงออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557
อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินของ รฟม. ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี ซึ่งผู้ร้องสอดตกลงจะให้ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในวงเงิน 97.67 ล้านบาท โดย รฟม. เป็นผู้พิจารณาว่าจะรับเงินค่าทดแทนเป็นเงิน หรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้ รฟม.
@ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น‘ทางเข้า-ออก’ไม่ขัดวัตถุประสงค์เวนคืน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. เป็นที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรเขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้าออก และการปรับปรุงพื้นที่ ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557
อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินของ รฟม. ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี เป็นการดำเนินการตามวัตุประสงค์แห่งการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวข้างต้น หรือไม่
เห็นว่า ในระยะแรก รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ในการดำเนินการกิจการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล โดยใช้เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้า (สถานีสุขุมวิท) มีการก่อสร้างทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศ พื้นที่ส่วนที่เหลือจัดไว้สำหรับเป็นลานจอดรถให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า
กรณีจึงถือว่า รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว
ส่วนการที่ รฟม. ได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย โครงการแอซตัน อโศก ของผู้ร้องสอด นั้น
เป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไม่สามารถใช้บริการบริเวณลานจอรถสถานีสุขุมวิทได้ อันถือได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอด ย้ายตำแหน่งทางเข้าออกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345เลขที่ดิน 2160 จากเดิมที่อยู่บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิทด้านติดปล่องระบายอากาศ ขนาดกว้าง 6.40 เมตร ไปอยู่บริเวณด้านติดสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และขยายความกว้างเพิ่มอีก 6.60 เมตร รวมเป็นความกว้าง 13 เมตร
เพื่อเป็นทางเข้าออกของโครงการแอชตัน อโศก พร้อมระบบสาธารณูปโภคของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด แม้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องสอด รวมทั้งผู้พักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก ที่จะมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ส่วนที่เป็นทางดังกล่าวก็ตาม
แต่โดยที่ที่ดินในส่วนนี้ เดิม รฟม. ใช้ประโยชน์ เป็นทางเข้าออกลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เมื่อ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้าออกถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ของโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดแล้ว
รฟม.ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นทางเข้าออกลานจอดรถสถานีสุขุมวิทดังเดิมในลักษณะเป็นการใช้ทางร่วมกันระหว่างประชาชนผู้มาใช้บริการลานจอดรถสถานีสุขุมวิทกับผู้พักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด
โดยผู้ร้องสอดได้ทำการปรับปรุงทางเข้าออกลานจอดรถใหม่ให้สามารถเดินรถได้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ตามที่ผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเชื่อมทางเป็นทางเข้า-ออก ตามหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย.2557
กรณีจึงต้องถือว่า ภายหลังจากที่ผู้ร้องสอดดำเนินการก่อสร้างอาคารในโครงการแอชตัน อโศก แล้วเสร็จ รฟม.มาใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 สำหรับเป็นที่จอดรถของประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีสุขุมวิท ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ แล้ว
เพียงแต่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2559
โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเป็นทางผ่านเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ โครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดด้วยเท่านั้น ซึ่งมิได้กระทบต่อสาระสำคัญของวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแต่อย่างใด
อีกทั้งในการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ร้องสอดตกลงชำระค่าทดแทนการใช้พื้นที่ให้แก่ รฟม. เป็นเงิน 97.67 ล้านบาทโดย รฟม. จะพิจารณาว่าจะรับค่าทดแทนเป็นเงินหรือก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยตามความเหมาะสม เพื่อแทนการชำระเงินเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
อันเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ รฟม. และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีสุขุมวิท ตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
@‘รฟม.’ให้เอกชนใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก ทำถูกต้องตามกม.แล้ว
ประเด็นที่สอง ข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องด้วยกับ ‘ตุลาการเสียงข้างมาก’ และมีความเห็นแตกต่างกับ ‘ตุลาการเสียงน้อยฝ่ายที่หนึ่ง’ ที่ได้วินิจฉัยว่า
เมื่อพิจารณาการกระทำของ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อนุญาตให้ผู้ร้องสอด ผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด
เข้าข่ายเป็นกรณีที่ รฟม.ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทแก่ผู้ร้องสอด และเป็นกรณีที่ รฟม. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 75 (6) และ (10) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
ดังนั้น รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะต้องดำเนินการนำเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
เมื่อในทางพิจารณาของศาล ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแก่ รฟม. ในการดำเนินการดังกล่าว จึงต้องถือว่าการที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 เป็นการดำเนินการโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และต้องถือว่าพื้นที่ดินที่ผู้ร้องสอดใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอขตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
ซึ่งห้ามใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงหรีออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
อันเป็นเหตุให้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ให้แก่ผู้ร้องสอด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
ข้าพเจ้าในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 มาตรา 75 บัญญัติให้ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ (6) ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาท (10) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม.ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้า
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการแอซต้น อโศก ของผู้ร้องสอด
เป็นกรณีที่ รฟม. ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทแก่ผู้ร้องสอด และเป็นกรณีที่ รฟม. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 75 (6) และ (10) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 หรือไม่ อย่างไรนั้น
เห็นว่า โดยที่มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 บัญญัติให้ รฟม. เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ซึ่งในการให้บริการรถไฟฟ้าดังกล่าวเป็นบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง และมีความปลอดภัยแก่ประชาชน และเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
ดังนั้น มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 จึงได้กำหนดให้กิจการต่างๆ ที่สำคัญที่จะกระทบต่อการดำเนินการอันเป็นปกติของ รฟม.
เช่น การดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในเส้นทางหนึ่งเส้นทางใด การขยายปรับปรุง หรือดำเนินการใดๆ ซึ่งมีวงเงินเกิน 500 ล้านบาท การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการได้ เพื่อความรอบคอบในการดำเนินกิจการรถฟฟ้า
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 5 ก.พ.2557 และมีหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย.2557 ขอขยายทางผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ซึ่งเดิมเป็นทางจำเป็นขนาดกว้าง 6.40 เมตร เป็นขนาดกว้าง 13 เมตร ระยะทางยาวเท่าเดิม
โดยผู้ร้องสอดขอย้ายตำแหน่งจากเดิมอยู่บริเวณด้านติดปล่องระบายอากาศด้านทิศใต้ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ 2161 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพมหานคร ของ รฟม. ไปอยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าวติดกับด้านทิศใต้ของที่ดินของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
และผู้ร้องสอดตกลงจะให้ค่าตอบแทนในวงเงิน 97.67 ล้านบาท หรือก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ขนาด 9 ชั้น ให้แก่ รฟม. จากนั้น คณะกรรมการ รฟม. พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติตามคำขอของผู้ร้องสอด และ รฟม.โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินของ รฟม.
ดังนั้น เมื่อพิจารณาใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกฯ ย่อมเห็นได้ว่า เป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอด ใช้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 เพื่อเป็นทางผ่านหรือเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น
อีกทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหาในบันทึกข้อตกลงฯ ก็เป็นกรณีที่ รฟม. ทำข้อตกลงเรื่องค่าตอบแทนการใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านสู่ถนนสาธารณะเช่นเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่า รฟม. ได้อนุญาตให้นำที่ดินในส่วนที่อนุญาตให้เป็นทางผ่าน ไปเป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้
ประกอบกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) ได้มีหนังสือ ที่ รฟม 014/1568 ลงวันที่ 4 ก.ย.2557 แจ้งยืนยันต่อผู้ร้องสอดว่า การกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินตามใบอนุญาตฯ ข้อ 1 ว่า “เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความรวมถึง เพื่อการดำเนินการก่อสร้างและเพื่อเป็นทางผ่านเข้า-ออก ของเจ้าของร่วมอาคารชุดตลอดเวลาที่อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ ทั้งนี้ จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเข้า-ออก แต่อย่างใด” นั้น
การที่ รฟม. มีหนังสือฉบับดังกล่าวก็เป็นเพียงการยืนยันว่า รฟม. มีเจตนาให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินเป็นเพียงทางผ่านเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน จึงเป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางผ่านสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น มิใช่เป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดนำที่ดินไปใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในธุรกิจของผู้ร้องสอด
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่า รฟม. ได้ใช้ทางเข้า-ออกดังกล่าวที่มีการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้า- ออกของลานจอดรถของผู้มาใช้บริการ รฟม. ด้วย ซึ่งการดำเนินการเป็นการดำเนินการในกิจการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
และเมื่อการกระทำดังกล่าว ไม่ได้มีลักษณะที่ส่งมอบการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตไปใช้ประโยชน์ โดย รฟม. ยังคงเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ทางเข้า-ออก ดังกล่าว ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และผู้โดยสารรถไฟฟ้าสามารถใช้ทางเข้า- ออกได้ตามปกติ
กรณีจึงมิใช่การให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ที่กำหนดให้ รพม.ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการได้
อีกทั้ง แม้ว่าตามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557 จะกำหนดให้ รฟม. มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนการใช้พื้นที่หรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้ รฟม. ตามความเหมาะสมเพื่อแทนการชำระเป็นเงิน
โดยการที่ผู้ร้องสอดจะดำเนินการก่อสร้างอาคารจอดรถให้แก่ รฟม. นั้น อาจจะถือว่าเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 75 (10) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อ รฟม. ได้ตกลงรับข้อเสนอของผู้ร้องสอดในกรณีที่ผู้ร้องสอดได้ก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ขนาด 9 ชั้น ให้แก่ รฟม. และอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าว
แต่เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาของศาล ไม่ปรากฏว่า รฟม. ได้ตกลงจะรับข้อเสนอของผู้ร้องสอดให้ก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้แก่ รฟม. และอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการได้
ดังนั้น การที่ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี ตามใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกุฎหมาย
@ชี้ออกใบอนุญาตฯก่อสร้าง ทำถูกต้องทำกม.เห็นควรให้‘ยกฟ้อง’
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ให้แก่ผู้ร้องสอด เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องสอดได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. ไปใช้ประกอบกับที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด ในการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
เมื่อได้วินิจฉัยไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า การที่ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี ตามใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน และบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงถือได้ว่า อาคาร (แอชตัน อโศก) ของผู้ร้องสอด มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ โดยมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ตามข้อ 6 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ส่วนปัญหาว่ากรณีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะสำหรับอาคารของผู้ร้องสอด ตามใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน จะต้องมีสภาพที่ใช้เป็นทางเข้าออกได้ตลอด ตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษดำรงอยู่ตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวงฯ นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า รฟม. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทางเข้า-ออก สถานีสุขุมวิท และลานจอดรถ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รฟม. จึงเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รฟม.
ดังนั้น ฟม. จึงมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ทางเข้า-ออก บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เป็นทางเข้า-ออกร่วมกันระหว่างประชาชนผู้มาใช้บริการลานจอดรถสถานีสุขุมวิทกับผู้พักอาศัยในอาคารชุด โครงการแอชตัน อโศก
ประกอบกับ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีหนังสือ ที่ รฟม 014/1568 ลงวันที่ 4 ก.ย.2557 แจ้งยืนยันต่อผู้ร้องสอดว่า การกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินตามใบอนุญาตฯ ข้อ 1 ว่า “เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความรวมถึง เพื่อการดำเนินการก่อสร้างและเพื่อเป็นทางผ่านเข้า-ออก ของเจ้าของร่วมอาคารชุดตลอดเวลาที่อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ ทั้งนี้ จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเข้า-ออก แต่อย่างใด”
กรณีจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอยืนยันได้ว่า อาคารของผู้ร้องสอด มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่มีสภาพใช้เป็นทางเข้าออกได้ตลอดตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษดำรงอยู่ และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก ตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวงฯ
“ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม.6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้างดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข
ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยฝ่ายที่สอง เห็นควรมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้น เป็นยกฟ้อง” ความเห็นแย้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่สอง’ ในคดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขดำที่ อส.188/2566 ระบุ
เหล่านี้เป็นความเห็นแย้งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ‘ฝ่ายที่สอง’ เพียง 'หนึ่งเดียว' ที่มีความแย้งเห็นว่า ควรพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ ในคดีแอชตัน อโศก!
อ่านประกอบ :
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘สยามสมาคมฯ’ ฟ้องรื้อถอนคอนโดหรู ‘แอชตัน-อโศก’ 24 พ.ย.นี้
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 20 ก.ย.นี้
ร้องทบทวนหลักเกณฑ์! ‘สมาคมอาคารชุดฯ’ ชี้ถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ กระทบวงกว้าง
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.