รฟม.ออกเอกสารข่าวแจง ‘มิได้มีเจตนาปกปิด-เพิกเฉย’ ความเห็น ‘กฤษฎีกา’ กรณีวินิจฉัยใช้ที่ดินเวนคืนฯทำทางเข้า-ออก ‘แอชตัน อโศก’ ไม่ได้ ระบุได้นำผลหารือแจ้งต่อ ‘องค์กรอิสระ’ แล้ว ขณะที่ 'อิศรา' สืบค้นเว็บไซต์ 'สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา' หาความเห็นฯ แต่ระบบระบุ 'ไม่พบข้อมูล'
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกเอกสารข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีไม่มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่มีสำนักข่าวได้นำเสนอประเด็นที่มีคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ชื่อเดิม) ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน โดยที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน นั้น (อ่านประกอบ : รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้)
ในการนี้ รฟม. ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สืบเนื่องจากในปี 2557 รฟม. ได้อนุญาตให้ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ชื่อเดิม) ผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร เป็นทางผ่านสู่ถนนอโศกมนตรี ต่อมาในปี 2559 และ 2560 ได้มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับทางผ่านบริเวณดังกล่าวรวม 2 คดี ซึ่งขณะที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น
รฟม. ได้รับการประสานงานจากองค์กรอิสระ ให้ รฟม. หารือเรื่องการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อเรื่องดังกล่าว ได้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งแจ้งผลการหารือให้ รฟม. ทราบ และ รฟม. ได้นำผลการหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแจ้งกลับไปยังองค์กรอิสระแล้ว
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า รฟม. มิได้มีเจตนาปกปิด หรือเพิกเฉยต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่อย่างใด ประกอบกับคดีความทั้ง 2 คดีข้างต้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งศาลฯ ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ รฟม. ต้องปฏิบัติตามเป็นอย่างไร ดังนั้น รฟม. จึงจำเป็นต้องรอคำพิพากษาของศาลฯ ที่ถึงที่สุดเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคดีเกี่ยวกับทางผ่านดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 1 คดี โดยให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 4 ฉบับ โดยศาลฯ มิได้เพิกถอนประกาศกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. และใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เข้าไปสืบค้นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 237/2563 เรื่อง การอนุญาตให้เอกชนให้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ จากเว็บไซต์เดิมของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ https://www.krisdika.go.th แต่ระบบระบุว่า 'ไม่พบข้อมูล'
(ที่มา : https://www.krisdika.go.th)
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรายังได้สืบค้นข้อมูลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 237/2563 ผ่านเว็บไซต์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา https://www.ocs.go.th แต่ไม่พบว่ามีข้อมูลความเห็น เรื่องเสร็จที่ 237/2563 แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ในหน้าแรกของเว็บไซต์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการระบุว่า 'เนื่องจากขณะนี้เว็บไซต์ของสำนักงานอยู่ระหว่างทดลองใช้งานข้อมูลกฎหมายจึงยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน'
(ที่มา : https://www.ocs.go.th)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศราได้สืบค้นข้อมูลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 237/2563 เรื่อง การอนุญาตให้เอกชนให้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ ผ่านเว็บไซต์ www.google.com พบว่า ข้อมูลความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 237/2563 ในวารสาร 'กฤษฎีกา โฟกัส' เดือน พ.ค.2563 ซึ่งมีเนื้อหาสรุปเพียง 1 หน้ากระดาษเท่านั้น จากคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่มีทั้งหมด 7 หน้า
อ่านประกอบ :
รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้
เมิน‘ป.ป.ช.-สตง.’ท้วง! รฟม.อุ้ม‘อนันดาฯ’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ ก่อน‘แอชตันอโศก’โดนถอนใบอนุญาต
กทม.ชี้ไม่ต้องทุบ 'แอชตัน อโศก' เตรียมสั่ง'อนันดา' แก้ใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องรื้อคอนโดหรู! ANAN วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา‘แอชตัน อโศก’-เจรจาภาครัฐหาทางออก
เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม
กทม.นัดแถลงปมแอชตัน อโศก 3 ส.ค. 66 รฟม.โต้ทำเอกชนเสียหาย
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้