รฟม.แจงปมแอชตัน อโศก ของอนันดา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างไม่ถูกต้อง ชี้ไม่เกี่ยวกับการที่ รฟม. ให้พื้นที่ทำทางเข้า-ออก เพราะศาลไม่ได้วินิจฉันตรงนี้ ก่อนย้อนที่มาการขอใช้ที่ตั้งแต่ปี 57 ยันไม่ได้ทำให้เอกชนเสียหาย ด้านกทม.จ่อตั้งโต๊ะแถลง 3 ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทย่อยของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) เนื่องจากโครงการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และเนื่องด้วยที่ตั้งของอาคารโครงการฯ ไม่มีเขตที่ดินด้านหนึ่งด้านใดที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกัน และ ใบอนุญาต การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นทางเข้าออกสาธารณะได้ ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดินได้ โดยผู้บริหาร บมจ. อนันดา ระบุว่า จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกทม.และผู้ว่าการ รฟม.ภายใน 14 วันและจะเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น
- ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
- ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
- เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ทางนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. รับทราบถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว และในวันที่ 3 ส.ค. 66 นี้ เวลาประมาณ 10.00 น. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. จะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงประเด็นนี้
@รฟม.ปัดทำให้ อนันดา เสียหาย
ขณะที่แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนเฉพาะการอนุญาตก่อสร้างของโครงการ เนื่องจากทางเข้า-ออกที่ รฟม.อนุญาตให้โครงการผ่านเข้าออกได้นั้น ไม่ถือเป็นทางสาธารณะ และที่ดินที่ตั้งโครงการไม่ติดทางสาธารณะ จึงไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของกฏกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง และต้องทำความเข้าใจว่า ที่ดินที่รฟม.เวนคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการและบริการรถไฟฟ้า กรณีมีการอนุญาตให้เอกชนหรือประชาชน ใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออก จะอยู่ภายใต้การสงวนสิทธิ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความจำเป็น ของรฟม. ดังนั้นจึงไม่ใช่ทางสาธารณะ ส่วนการที่ เอกชนนำใบอนุญาตจากรฟม.นี้ ไปใช้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ กับ กทม.เป็นเรื่องที่เอกชนต้องสอบถามและหาทางแก้ปัญหา กับกทม.
@ย้อนที่มา อนุญาต รฟม. ใช้พื้นที่ทำทางเข้า-ออก
แหล่งข่าวจากรฟม.กล่าวต่อไปว่า กรณี รฟม.อนุญาตใช้ทางเข้าออกนั้น เกิดจากเดิม รฟม.มีการเวนคืนที่ดิน บริเวณแนวถนนอโศกเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่เวนคืนเฉพาะที่ดินด้านหน้าติดถนน ทำให้ที่ดินด้านในไม่มีทางออกถนนหรือกลายเป็นที่ดินตาบอด ดังนั้น รฟม.จึงดำเนินการเยียวยาผู้ถูกเวนคืนโดยเปิดเป็นทางจำเป็นให้เข้าออกกว้าง 6.40 เมตรซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเจ้าของมีการขายที่ดิน ซึ่งต้องให้สิทธิ์ทางจำเป็นกับผู้ซื้อไปด้วยเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก
ต่อมาช่วงปี 2557 อนันดาเสนอมาที่ รฟม. เพื่อขอขยายถนนทางเข้าออก จากความกว้าง 6.40 เมตร เป็น 13 เมตร ซึ่งรฟม.ในขณะนั้น ได้อนุญาตไป และเท่าที่ทราบ การที่ กทม.อนุญาต อนันดา ก่อสร้างอาคาร เนื่องจากกทม.ตีความว่า กรณีทางผ่านที่ได้รับอนุญาตจากรฟม.ถือเป็นทางสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่ขออนุญาตใช้ที่ดินรฟม.ผ่านเป็นทางเข้าออก ซึ่งเป็นคนละแบบกับ อนันดา และไม่ได้ถือเป็นทางจำเป็น เช่น ขอผ่านที่ดิน บริเวณ ทางใต้ทางวิ่งเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ โดยรฟม. คิดค่าใช้ทางกับเอกชน ขณะที่ รฟม.ใช้ประโยชน์เป็นทางวิ่งรถไฟฟ้าด้านบนได้ตามวัตถุประสงค์การเวนคืนครบถ้วน
และยังมีรูปแบบกรณีหน่วยงานราชการ มาขอใช้ที่ดินรฟม. เช่น กทม.ขอใช้ที่ดินรฟม.บริเวณด้านหลังศูนย์ซ่อมบำรุง ย่านพระราม 9 ก่อสร้างเป็นถนนสาธารณะ ซึ่งรฟม.อนุญาต กทม. แต่ สงวนสิทธิ์ เรื่อง ค่าเชื่อมทางเข้าออก กรณีมีอาคารเชิงพาณิชย์ คอนโดมิเนียมของเอกชน ต้องขออนุญาต รฟม. ในการเชื่อมทางเข้าออก กับถนน แต่หากเป็นบ้านเรือนประชาชน ก็ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
ส่วนกรณีการก่อสร้างทางเชื่อมแบบสกายวอล์ก หรือทางเดินเชื่อมใต้ดิน กับสถานีรถไฟฟ้า เป็นคนละรูปแบบกัน เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า
@ยังไม่รับเงิน 90 ล้านจากอนันดา
แหล่งข่าวจากรฟม.ระบุต่อว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษา แล้ว คงต้องปฎิบัติตาม แต่เรื่องนี้ยังมีแนวทางออกที่จะ แก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบหากต้องรื้อถอนอาคาร เช่น แก้ไข กฎกระทรวงฉบับที่ 33 เพื่อไม่ให้การตีความของกทม. ขัดแย้งกับกฎกระทรวงฯ โดยการแก้ไขกฎกระทรวงมีขั้นตอน เสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามประกาศใช้ ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่า ศาลเคยให้คำแนะนำไว้ในการพิจารณาชั้นต้น ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างไร เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรฟม.
และสำหรับการอนุญาตใช้พื้นที่ รฟม.เป็นทางเข้าออกกว้าง 6.40 เมตรเป็นเรื่องการเยียวยาผู้ถูกเวนคืน จึงไม่มีการคิดค่าอนุญาตใดๆ แต่จะคิดในส่วนที่เอกชน ขอขยายเพิ่มเติมอีก 6.60 เมตร ทำให้มีความกว้าง เป็น 13 เมตร ซึ่งประเมินค่าผ่านทางกว่า 9 ล้านบาท นอกจากนี้ ทาง อนันดายังขอกันพื้นที่ส่วนของลานจอดรถ รฟม. ที่ติดพื้นที่ก่อสร้างอาคารสูงไว้ในระหว่างก่อสร้าง 3-4 ปี เพื่อป้องกันอันตรายจากเศษวัสดุตกหล่น โดยจ่ายค่าเสียโอกาสรายได้ให้รฟม.อีกประมาณ 88 ล้านบาท เท่ากับ เอกชนต้องจ่ายให้รฟม. 2 ส่วนรวมกันประมาณ 97 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีประเด็นฟ้องร้อง รฟม.จึงยังไม่รับเงินดังกล่าว
“รฟม.ยืนยันว่า ไม่ได้ทำให้เอกชนเสียหาย การจะเรียกร้องใดๆ จากรฟม.คงทำไม่ได้ เพราะเมื่อเอกชนมาขออนุญาตขยายทางเข้าออก รฟม.ก็อนุญาตให้ เพราะเป็นเรื่องเยียวยาจากการเวนคืนที่รฟม.ทำมาตลอด อีกทั้งทางเข้าออกดังกล่าว รฟม.ใช้ประโยชน์ร่วมสำหรับทางเข้าออกลานจอดรถ รฟม.ที่สถานีสุขุมวิท และคำพิพากษาไม่ได้เพิกถอน ทางเข้าออกในที่ดินที่รฟม.อนุญาตแต่อย่างใด” แหล่งข่าวจาก รฟม.ระบุ