"...แต่ในเมื่อการกระทำดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดระบุชัดเจนว่า 'มิอาจกระทำได้' อีกทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า การออกใบอนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ไม่สามารถกระทำได้ และเมื่อ รฟม. ไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว 'คณะกรรมการและผู้บริหาร รฟม.' จะต้องมีส่วนรับผิดชอบตรงนี้ อย่างไร?..."
.........................................
หลังจากต่อสู้คดีกันมาเกือบ 6 ปีเต็ม
ในที่สุด 'ศาลปกครองสูงสุด' ได้พิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ซึ่งกรุงเทพมหานคร ออกให้กับ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เพื่อก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’)
ส่งผลให้ ‘คอนโดหรู’ ความสูง 51 ชั้น มูลค่า 6,480 ล้านบาท กลายสภาพเป็นตึกที่ไม่มี ‘ใบอนุญาตฯ’ ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงให้กับลูกบ้านไม่น้อยกว่า 580 ครัวเรือน ที่ซื้อและพักอาศัยในคอนโดแห่งนี้
จึงทำให้เกิดคำถามว่า ‘ใครหรือหน่วยงานใด’ ที่จะต้องรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น?
@‘รฟม.’ออกใบอนุญาตฯใช้ประโยชน์ที่ดินขัด‘พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ’
ทั้งนี้ หากพิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566) จะเห็นได้ว่า ‘เหตุปัจจัย’ ที่นำไปสู่การเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกให้กับ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ นั้น
เป็นเพราะ ‘ใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน’ เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกให้กับ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ เป็นสิ่งที่ ‘มิอาจกระทำได้’
เนื่องจากการนำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ซึ่ง รฟม.ได้มาจาก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ มาให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการแอชตัน อโศก นั้น ‘มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน’
“…แต่เมื่อผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ) ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ให้ใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพมหานคร บางส่วน ขนาดกว้าง 13 เมตร ของ รฟม. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรีอันเป็นทางสาธารณะ
ผู้ร้องสอดได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ของ รฟม. ดังกล่าว ไปใช้ประกอบกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 ของผู้ร้องสอด ในการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จนนำมาสู่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ให้แก่ผู้ร้องสอด
แต่โดยที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ใช้เป็นทางเข้าออกของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก มิได้เป็นที่ดินของผู้ร้องสอด แต่เป็นที่ดินของ รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราซเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 โดยมีวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก รฟม. ย่อมมีหน้าที่ ที่จะต้องนำที่ดินไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ การที่ รฟม. นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืน ไปอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2456
โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศกของผู้ร้องสอด อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของผู้ร้องสอดเท่านั้น ซึ่งมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน การอนุญาตของ รฟม. เช่นว่านี้ จึงมิอาจกระทำได้” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฯระบุ
@ศาลฯไม่เพิกถอนใบอนุญาตฯใช้ที่ดิน รฟม. เหตุผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้อง
ส่วนกรณีที่ รฟม. ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีแอชตัน อโศก โดยระบุตอนหนึ่งว่า“…ปัจจุบันคดีเกี่ยวกับทางผ่านดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 1 คดี โดยให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 4 ฉบับ
โดยศาลฯ มิได้เพิกถอนประกาศกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. และใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านดังกล่าวแต่อย่างใด” นั้น (อ่านประกอบ : 'รฟม.'แจง'มิได้ปกปิด-เพิกเฉย'ความเห็น'กฤษฎีกา' ปมใช้ที่ดินเวนคืนฯทำทางออก'แอชตัน อโศก')
ไม่ได้หมายความว่า รฟม. ไม่ได้มีการ ‘กระทำผิด’ วัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดินที่ได้ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราซเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่อย่างใด
แต่การที่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 นั้น เป็นเพราะศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนประกาศฯดังกล่าวได้เท่านั้น
“เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 และผู้ฟ้องคดีที่ 16 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาดังกล่าว และมิได้มีส่วนได้เสียหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใดในการทำสัญญา
และในทางพิจารณาของศาลไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 และผู้ฟ้องคดีที่ 16 ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) ดังกล่าวประการใด
กับทั้งกรณีที่จะกล่าวอ้างว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รพม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม.
ซึ่งได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณทีที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539
เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก (สายเฉลิมรัชมงคล) บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร
เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 ของผู้ร้องสอด ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2557 ในการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ โครงการแอชตัน อโศก ผิดไปจากวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนนั้น
มาตรา 36 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2434 มาตรา 49 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 42 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมทั้งมาตรา 37 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
บัญญัติหลักเกณฑ์การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ทำนองเดียวกันว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท
ดังนั้น สิทธิในการกล่าวอ้างว่า รฟม. มิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก จึงเป็นสิทธิของเจ้าของเดิมหรือทายาทของเจ้าของเดิม เพื่อขอคืนที่ดินส่วนดังกล่าว
หาใช่สิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 และผู้ฟ้องคดีที่ 16 ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่ดินตามโฉนด์ที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. แต่อย่างใดไม่
ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 และผู้ฟ้องคดีที่ 16 จึงมิใช่ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีในประเด็นนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 และผู้ฟ้องคดีที่ 16 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน” คำพิพากษาฯระบุ
@‘ผู้บริหาร รฟม.’ ไม่ปฏิบัติตามความเห็น‘กฤษฎีกา’มีโทษทางวินัย
ขณะเดียวกัน การที่ รฟม. ได้รับรู้ข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ในช่วงปี 2563 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 237/2563 ว่า การที่ รฟม.ได้อนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ (เดิมบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. ที่ได้จาก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เป็นทางเข้า-ออกของโครงการแอชตัน อโศก นั้น
“...เป็นการนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่สามารถกระทำได้..” (อ่านประกอบ : รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้)
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รฟม.กลับไม่ได้มีการดำเนินการเพิกถอน ‘ใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน’ เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อความเห็นของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ และเป็นการขัดต่อมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 ที่ระบุว่า หรือเรียกได้ว่า
“…เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น…” ในขณะที่ความเห็นชอบคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น จะมีผลผูกพันกับหน่วยงานของรัฐที่ขอหารือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อหารือนั้น
หากผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. จะต้องรับผิดทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ รฟม. เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ก็ตาม แต่ในเมื่อการกระทำดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดระบุชัดเจนว่า 'มิอาจกระทำได้'
อีกทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า การออกใบอนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ไม่สามารถกระทำได้ และเมื่อ รฟม. ไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว 'คณะกรรมการและผู้บริหาร รฟม.' จะต้องมีส่วนรับผิดชอบตรงนี้ อย่างไร?
ที่สำคัญในอดีตเคยมีการฟ้อง 'คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์' ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผลปรากฎว่าเมื่อปี 2563 ศาลฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่คดีนี้มีความเกี่ยวโยงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
กล่าวคือ ในคดีดังกล่าว มีประเด็นเพิ่มเติมว่ากรณีนี้ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้ว่าฝ่ายโจทก์จะไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่าเดิมสมัยจำเลย (นายยงยุทธ) เป็นอธิบดีกรมที่ดิน ที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นของกลุ่มบริษัทอัลไพน์ ที่มีนายเสนาะฯ เป็นเจ้าของโดยพฤตินัย
และเมื่อปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ ต่อจากนายเสนาะฯ โดย พ.ต.ท.ทักษิณฯ เคยให้สัมภาษณ์กับนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นคลิปเสียงยอมรับว่า ได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะฯจริง
ขณะที่จำเลยช่วงเป็นอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ต่อมาภายหลังรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กลับไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทำให้การปฏิบัติหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพิเคราะห์อีกว่าช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะฯ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พ.ต.ท.ทักษิณฯ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว
จึงน่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลังเกษียณราชการแล้วได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
จึงเชื่อได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์ และ พ.ต.ท.ทักษิณฯ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น" (อ่านประกอบ : สถานภาพทางกฎหมายของความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กับหลักการปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงและความรับผิดทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (16ก.ค.2563))
เหล่านี้จึงเป็นอุทาหรณ์ของการที่ 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยไม่ชอบได้เป็นอย่างดี
@เปิดรายชื่อ'บอร์ด-ผู้ว่าฯรฟม.'ปี 57 และช่วงปี 63-66
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการ รฟม. และผู้บริหารสูงสุดของ รฟม. ในช่วงปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ รฟม.ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน’ เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ให้กับบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ
และในช่วงปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 237/2563 ว่า การที่ รฟม.ได้อนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ ใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. ที่ได้จาก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เป็นทางเข้า-ออกของโครงการแอชตัน อโศก ไม่สามารถกระทำได้ โดยอ้างอิงจากรายงานประจำปีของ รฟม. มีดังนี้
รายงานประจำปี 2557 (1 ต.ค.2556-30 ก.ย.2557)
คณะกรรมการ รฟม.
1.น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานกรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2555-19 มิ.ย.2557)
2.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2557-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
3.นายวินัย ดำรงมงคลกุล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2556-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
4.นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2555-6 ต.ค.2557)
5.นายพงศธร คุณานุสรณ์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2555-21 ก.ค.2557)
6.นายชูศักดิ์ เกวี กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.2556-21 ก.ค.2557)
7.รศ.ดร.ธนากร พีระพันธุ์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2557-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
8.นางปราณี สริวัฒน์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2556-30 ก.ย.2557)
9.นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2551-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
10.นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.2555-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
11.นายเพิมศักดิ์ สัจจะเวทะ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2555-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
12.นายจุฬา สุขมานพ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2555-21 ก.ค.2557)
13.นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.2557-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557)
14.นายปรเมธี วิมลศิริ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2549-10 ก.ย.2557)
15.น.ส.ลดาวัลย์ คำภา กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2557-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
16.นายมณฑล สุดประเสริฐ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2555-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
17.นายเกษมสันต์ จิณณวาโส กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.2557-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
18.นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2556-30 ก.ย.2557)
19.นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล กรรมการและผู้ว่าฯ รฟม. (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2555-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2557))
(รายงานประจำปี 2557 รฟม.)
รายงานประจำปี 2563 (1 ต.ค.2562-30 ก.ย.2563)
คณะกรรมการ รฟม.
1.นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
2.นายอมร พิมานมาศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่ง 7 พ.ย.2560-22 ก.พ.2562 และ 21 พ.ค.2562-30 ก.ย.2563
3.นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2562-30 ก.ย.2563)
4.นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
5.นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
6.นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
7.นายยุทธนา หยิมการุณ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.2558-30 ก.ย.2563)
8.นายปฐม เฉลยวาเรศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
9.นางสาวชวนชม กิจพันธ์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
10.นายชยธรรม์ พรหมศร กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.2562-30 ก.ย.2563)
11.นายวิชญายุทธ บุญชิต กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2560-30 ก.ย.2563)
12.นายมณฑล สุดประเสริฐ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2563-30 ก.ย.2563)
13.นางรวีวรรณ ภูริเดช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.2558-30 ก.ย.2563)
14.นายประพาส เหลืองศิรินภา กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561-30 ก.ย.2563)
15.นายวิริยะ รามสมภพ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค2562-13 พ.ย.2562)
16.นายสมัย โชติสกุล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2562-28 พ.ย.2562)
17.นายชยพล ธิติศักดิ์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2562-14 มิ.ย.2563)
18.นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กรรมการและผู้ว่าฯ รฟม. (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2561-30 ก.ย.2563)
(รายงานประจำปี 2563 รฟม.)
รายงานประจำปี 2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564)
คณะกรรมการ รฟม.
1.นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
2.นายอมร พิมานมาศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่ง 7 พ.ย.2560-22 ก.พ.2562 และ 21 พ.ค.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
3.นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
4.นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-15 ต.ค.2563)
5.นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
6.นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
7.นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
8.นายยุทธนา หยิมการุณ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.2558-30 ก.ย.2564)
9.นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
10.นายปฐม เฉลยวาเรศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2562-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
11.นายปัญญา ชูพานิช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
12.นายวิชญายุทธ บุญชิต กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2560-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
13.นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2563-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
14.นางรวีวรรณ ภูริเดช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.2558-11 ก.ย.2564)
15.นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
16.นายประพาส เหลืองศิรินภา กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
17.นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กรรมการและผู้ว่าฯ รฟม. (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2561-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2564))
(รายงานประจำปี 2564 รฟม.)
รายงานประจำปี 2565 (1 ต.ค.2564-30 ก.ย.2565)
คณะกรรมการ รฟม.
1.นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
2.นายอมร พิมานมาศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่ง 7 พ.ย.2560-22 ก.พ.2562 และ 21 พ.ค.2562-19 ก.ค.2565)
3.นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2562-19 ก.ค.2565)
4.นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
5.นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2562-19 ก.ค.2565)
6.ผศ.ดร.เผ่าภัค กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
7.พล.ท.ดร.พิเชษฐ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
8.นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
9.นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2562-30 ก.ย.2565)
10.นายปิยกร อภิบาลศรี กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
11.นายปฐม เฉลยวาเรศ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2562-14 ต.ค.2564))
12.นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
13.นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
14.นายปัญญา ชูพานิช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
15.นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2564-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
16.นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2563-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
17.นายวิชญายุทธ บุญชิต กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2560-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
18.นายประพาส เหลืองศิรินภา กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561-17 ส.ค.2565)
19.นายไทวุฒิ ขันแก้ว กรรมการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.2565-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
20.นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กรรมการและผู้ว่าฯ รฟม. (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2561-ปัจจุบัน (30 ก.ย.2565))
(รายงานประจำปี 2565 รฟม.)
ปี 2566-ปัจจุบัน
คณะกรรมการ รฟม.
1.นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ 2.นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ 3.พล.ท.ดร.พิเชษฐ กรรมการ 4.ผศ.ดร.เผ่าภัค กรรมการ 5.นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ กรรมการ 6.นายมงคล สมอุดร กรรมการ 7.นายปิยกร อภิบาลศรี กรรมการ 8.นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ กรรมการ 9.นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ
10.นายปัญญา ชูพานิช กรรมการ 11.นายวิชญายุทธ บุญชิต กรรมการ 12.นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง กรรมการ 13.นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กรรมการ 14.นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี กรรมการ และ 15.นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กรรมการและผู้ว่าฯ รฟม.
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รฟม.จะมีการปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 237/2563 และปฏิบัติให้สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดใน ‘คดีแอชตัน อโศก’ กรณีการออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ที่ขัดต่อ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินฯ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
'รฟม.'แจง'มิได้ปกปิด-เพิกเฉย'ความเห็น'กฤษฎีกา' ปมใช้ที่ดินเวนคืนฯทำทางออก'แอชตัน อโศก'
รฟม.เก็บเงียบ 3 ปี! คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ชี้ที่ดินเวนคืนฯใช้เป็นทางออก‘แอชตัน อโศก’ไม่ได้
เมิน‘ป.ป.ช.-สตง.’ท้วง! รฟม.อุ้ม‘อนันดาฯ’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ ก่อน‘แอชตันอโศก’โดนถอนใบอนุญาต
กทม.ชี้ไม่ต้องทุบ 'แอชตัน อโศก' เตรียมสั่ง'อนันดา' แก้ใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องรื้อคอนโดหรู! ANAN วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา‘แอชตัน อโศก’-เจรจาภาครัฐหาทางออก
เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม
กทม.นัดแถลงปมแอชตัน อโศก 3 ส.ค. 66 รฟม.โต้ทำเอกชนเสียหาย
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้