“...อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย จึงมีความเห็นว่าสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น…”
..............................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เพื่อดำเนินโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ คอนโดหรู มูลค่า 6,480 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯ ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเจ้าของโครงการและลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมในโครงการคอนโดแอชตัน อโศก จำนวน 580 ครอบครัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั้น (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิพากษาคดีพิพาทคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ ดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ลงวันที่ 19 ก.ค.2566) ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ‘เสียงข้างน้อย’ ฝ่ายที่หนึ่ง จำนวน 19 คน จากตุลาการในที่ประชุมใหญ่ที่มีทั้งหมด 49 คน ได้ทำความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาในคดีนี้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
@สรุปปมปัญหา‘ทางเข้า-ออก’ โครงการ‘แอชตัน อโศก’
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ขอทำความเห็นแย้งด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
เมื่อพิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่ดิน (โครงการแอชตัน อโศก) ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพฯ ทั้ง 3 แปลง ของผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) แล้ว
เห็นว่า ถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร มีเพียงซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น ที่มีเขตทางกว้าง 27.70 ถึง 34.30 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิท ซึ่งมีเขตทางกว้างประมาณ 30 เมตร
โดยที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด มีทางเข้าออกซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ผ่านทางจำเป็น บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2346 เลขที่ดิน 5650 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพฯ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท
แต่ทางจำเป็นดังกล่าว มีขนาดความกว้างเพียง 6.40 เมตร ถือว่าที่ดินที่ผู้ร้องสอด ใช้เป็นที่ตั้งอาคารในโครงการแอชตัน อโศก ด้านที่ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร มีความยาวตามความกว้างของทางจำเป็นเพียง 6.40 เมตร
ยังไม่เพียงพอ ที่จะใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้ตามข้อ 6 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) จึงยื่นคำขอตามแบบคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 5 ก.พ.2557 และหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย.2557 ต่อ รฟม. ขอขยายทางผ่านที่ดินของ รฟม.บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท จากเดิมที่เป็นทางจำเป็นกว้าง 6.40 เมตร เพิ่มเป็นกว้าง 13 เมตร
และเนื่องจากทางจำเป็นดังกล่าว ตั้งอยู่ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2346 เลขที่ดิน 5650 บริเวณด้านทิศใต้ของลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ซึ่งเป็นปล่องระบายอากาศของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ไม่สามารถขยายทางเพิ่มได้
ผู้ร้องสอด จึงขอย้ายตำแหน่งทางดังกล่าวไปอยู่ด้านทิศเหนือของลานจอดรถสถานีสุขุมวิท บริเวณที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ซึ่งติดกับสยามสมาคมในพระบรมราชปถัมภ์
โดยมีวัตถุประสงค์ให้ที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด มีด้านที่ติดกับซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกอาคารในโครงการแอชตัน อโศก และผู้ร้องสอด ตกลงจะให้ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในวงเงิน 97.67 ล้านบาท โดยการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ขนาด 9 ชั้น ให้แก่ รฟม.
ต่อมา คณะกรรมการ รฟม. ในการประชุมครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติตามคำขอของผู้ร้องสอด จากนั้น รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าการ รฟม.) จึงออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านเลขที่ รฟม. 12/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557
อนุญาตให้ผู้ร้องสอด ผ่านที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2557 โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ
และผู้ร้องสอดต้องชำระค่าทดแทนการใช้พื้นที่ให้แก่ รฟม. จำนวน 97.67 ล้านบาท โดย รฟม. จะพิจารณาว่าจะรับค่าทดแทนเป็นเงิน หรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้ รฟม. ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางเข้าออก และการปรับปรุงพื้นที่ ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557
แต่โดยที่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. เป็นทุนของ รฟม. ที่ได้รับโอนมาจากองค์การรถไฟฟ้ามหานครตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ.2535 ตามมาตรา 10 (1) ประกอบกับมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
ขณะที่ที่ดินแปลงดังกล่าวได้มา โดยการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก รฟม. จึงมีพันธะกรณีที่จะต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน เพื่อประโยชน์สำหรับการดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก
@ใช้ที่ดินเวนคืนฯ เป็น‘ทางเข้า-ออก’ไม่ผิดวัตถุประสงค์
กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) อนุญาตให้ผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด นั้น
เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่
เห็นว่า ในปัญหานี้ เมื่อการดำเนินกิจการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกของ รฟม. มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก และความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะรูปแบบหนึ่งของรัฐ
การพิจารณาวินิจฉัยว่า รฟม. ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนหรือไม่ จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าคู่กรณีได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามข้อ 92 ประกอบกับข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในระยะแรก รฟม. ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยใช้เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้า (สถานีสุขุมวิท) มีการก่อสร้างทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศ พื้นที่ส่วนที่เหลือจัดไว้สำหรับเป็นลานจอดรถให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า
โดยมีทางเข้าออกลานจอดรถอยู่บริเวณด้านทิศเหนือติดกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความกว้างประมาณ 13 เมตร ส่วนด้านทิศใต้มีทางเข้าออกกว้าง 6.4 เมตร ซึ่งปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9888/2553 ว่า ตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพฯ ของผู้ร้องสอด
โดยโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลเปิดให้บริการแก่ประชาชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จึงถือว่า รฟม. ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนเพื่อประโยชน์ สำหรับการดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ และยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนนั้นอยู่
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2557 รฟม.ได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วน เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษของผู้ร้องสอด
อีกทั้ง รฟม.ยังได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอด ใช้ที่ดินบริเวณด้านทิศเหนือ ซึ่งติดกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยในโครงการ (แอชตัน อโศก) ของผู้ร้องสอด
ต่อมา ผู้ร้องสอด ได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 บางส่วน ขนาดกว้าง 13 เมตร ไปประกอบการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ร่วมกับที่ดิน 3 แปลงของผู้ร้องสอด ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) ตามมาตรา 39 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
และในระหว่างที่ผู้ร้องสอดดำเนินการก่อสร้างอาคารในโครงการแอชตัน อโศก รฟม. ได้ทำการปิดการให้บริการลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เป็นเวลา 30 เดือน เพื่อให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน สำนักงานขายและติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด
ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องสอดแต่ฝ่ายเดียว โดยประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีสุขุมวิท ไม่สามารถใช้บริการลานจอดรถภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้อย่างแน่แท้
แม้ต่อมาผู้ร้องสอดจะได้รื้อถอนอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าว และปรับพื้นที่ให้สามารถใช้เป็นสถานที่จอดรถได้ดังเดิมแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าในระหว่างที่ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการดังกล่าว เป็นการใช้ที่ดินในส่วนนั้น ผิดไปจากวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดย้ายตำแหน่งทางเข้าออกที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 ไปอยู่บริเวณด้านติดสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และขยายความกว้างเพิ่มอีก 6.60 เมตร รวมเป็นความกว้าง 13 เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกของโครงการแอชตัน อโศก
แม้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) รวมทั้งผู้พักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก ที่จะมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ส่วนที่เป็นทางดังกล่าวก็ตาม แต่โดยที่ที่ดินในส่วนนี้ เดิม รฟม. ใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกลานจอดรถสถานีสุขุมวิท
เมื่อ รฟม. อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้เป็นทางเข้าออกถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ของโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดแล้ว รฟม.ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นทางเข้าออกลานจอดรถสถานีสุขุมวิทดังเดิมในลักษณะเป็นการใช้ทางร่วมกันระหว่างประชาชนผู้มาใช้บริการลานจอดรถสถานีสุขุมวิทกับผู้พักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก
โดยผู้ร้องสอดได้ทำการปรับปรุงทางเข้าออกลานจอดรถใหม่ให้สามารถเดินรถได้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น
จึงต้องถือว่า ภายหลังจากที่ผู้ร้องสอดดำเนินการก่อสร้างอาคารในโครงการแอชตัน โศก แล้วเสร็จ รฟม. ได้กลับมาใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 สำหรับเป็นสถานที่จอดรถของประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีสุขุมวิท ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ แล้ว
เพียงแต่ รฟม โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯรฟม.) อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ โครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอดด้วยเท่านั้น ซึ่งมิได้กระทบต่อสาระสำคัญของวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแต่อย่างใด
อีกทั้ง ในการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ร้องสอดตกลงชำระค่าทดแทนการใช้พื้นที่ให้แก่ รฟม. เป็นเงินจำนวน 97.67 ล้านบาท โดย รฟม. จะพิจารณาว่าจะรับค่าทดแทนเป็นเงินหรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยตามความเหมาะสม เพื่อแทนการชำระเป็นเงินเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
อันเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ รฟม. และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีสุขุมวิท และเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 (3) และมาตรา 9 (11) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
@‘รฟม.’ฝ่าฝืนขั้นตอนกม. ไม่เสนอเรื่องให้‘ครม.’อนุมัติก่อน
สำหรับการปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. ตามมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 นั้น
เห็นว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม. 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2559 อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพฯ ของ รฟม. จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร
เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2557 โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก โดยผู้ร้องสอดตกลงชำระค่าทดแทนการใช้พื้นที่ให้แก่ รฟม. เป็นเงิน 97.67 ล้านบาท
โดย รฟม.จะพิจารณาว่าจะรับค่าทดแทนเป็นเงินหรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ตามความเหมาะสม เพื่อแทนการชำระเป็นเงินเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด นั้น
จึงถูกต้องตามข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2547 ประกอบกับประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้ว
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 มาตรา 74 บัญญัติว่า ในกรณีที่ รฟม. จะต้องเสนอเรื่องใดๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ รฟม.นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี
และมาตรา 75 บัญญัติว่า รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้....(6) ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาท (10) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม.ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้า
เมื่อพิจารณาการกระทำของ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เข้าข่ายเป็นกรณีที่ รฟม. ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทแก่ผู้ร้องสอด และเป็นกรณีที่ รฟม. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 75 (6) และ (10) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงไม่อาจอาศัยแต่เพียง ข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2557
ประกอบกับประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 5 ก.ค.2557 ให้แก่ผู้ร้องสอดได้
โดย รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯรฟม.) จะต้องดำเนินการ นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 และเมื่อคณะรัฐนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว
รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงจะดำเนินการออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่านได้ตามมาตรา 75 (6) และ (10) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ประกอบกับข้อบังคับและประกาศดังกล่าว
เมื่อในทางพิจารณาของศาลไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแก่ รฟม. ในการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงต้องถือว่าการที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลซนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557
อนุญาตให้ผู้ร้องสอดผ่านที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดิน เพื่อการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก นั้น
ดำเนินการมาโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องสอด จึงไม่มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอดได้
และตราบเท่าที่ผู้ร้องสอดยังไม่มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวของ รฟม. ต้องถือว่าพื้นที่ดินที่ผู้ร้องสอดใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
ซึ่งห้ามใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
เมื่อผู้ร้องสอดดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างและดัดแปลงอาคารในโครงการแอชตัน อโศก โดยวิธียื่นแจ้งความประสงค์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา) ได้ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ออกใบรับแจ้งการก่สร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559
และออกใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ให้ผู้ร้องสอด ก่อสร้างและดัดแปลงอาคารในโครงการแอชตัน อโศก ที่ซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
โดยมิได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้ออกใบรับแจ้ง หรือนับแต่วันที่เริ่มก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ให้ผู้ร้องสอดดำเนินการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามข้อ 6 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงที่แก้ไขเพิ่มเติม
จึงถือว่าการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารในโครงการแอขตัน อโศก ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา) แล้ว
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดตามข้อ 6 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
เป็นข้อกำหนดในการห้ามก่อสร้างและดัดแปลงอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร ซึ่งไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอำนาจมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้ร้องสอด ดำเนินการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดเวลา ตามมาตรา 39 ตรี วรรคห้า (3) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558
โดยบทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นข้อสงวนสิทธิ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะยกเลิกใบรับแจ้งการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารได้เอง หากผู้ร้องสอดไม่ดำเนินการแก้ไขการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามหนังสือทักท้วง
ซึ่งกรณีนี้สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โดยการดำเนินการให้สิทธิของผู้ร้องสอดในการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. ถูกต้องสมบูรณ์
โดย รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) จะต้องนำเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน ตามคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 5 ก.พ.2557 ของผู้ร้องสอด เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 74 และมาตรา 75 (6) และ (10) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
และหากคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแก่ รฟม. ในการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม. จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก แล้ว
ย่อมต้องถือว่า การที่ รฟม. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้ว่าฯ รฟม.) ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่เริ่มแรก และผู้ร้องสอดมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี
ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแก่ รฟม. ในการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพมหานคร ของ รฟม. ขนาดกว้าง 13 เมตร เป็นทางผ่านเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี สำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศกของผู้ร้องสอด ตามใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว
ย่อมต้องถือว่าที่ดินของ รฟม. ขนาดกว้าง 13 เมตร มีความมั่นคงเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก เพื่อให้สามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกตามข้อ 6 วรรคสอง และวรรคสาม ของกฎกระทรวงดังกล่าว
และผู้ร้องสอดมีสิทธิที่จะนำที่ดินของ รฟม. แปลงดังกล่าว ไปรวมกับที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด เพื่อใช้เป็นพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด
@ตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นควรแก้คำพิพากษาของศาลปค.ชั้นต้น
และโดยที่โครงการแอชตัน อโศก ของผู้ร้องสอด เป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยมีห้องชุด จำนวน 783 ห้อง ซึ่งผู้ร้องสอดได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วประมาณ 666 ห้อง
การเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 64/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขความบกพร่องทั้งที่อยู่ในวิสัยที่อาจจะกระทำได้
ย่อมมีแต่จะก่อความเสียหายให้แก่เจ้าของห้องชุดซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดมาโดยสุจริต และยังเป็นการตัดอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้ร้องสอดดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ตามที่กำหนดไว้มาตรา 39 ตรี วรรคห้า (3) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558
ในการพิพากษาคดี จึงสมควรกำหนดเงื่อนไขในการพิพากษาให้ รฟม. ดำเนินการนำเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ตามคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 5 ก.พ.2557 ของผู้ร้องสอด เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 74 และมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
หาก รฟม. ไม่ดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือดำเนินการแล้วแต่คณะรัฐมนตรีไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้ง 4 ฉบับ มีผลเมื่อพ้นกำหนด 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
หาก รฟม. ดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินกิจการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้ง 4 ฉบับมีผลต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย จึงมีความเห็นว่าสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ตัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 64/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ใบรับแจ้งการก่อสร้างดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลเมื่อพันกำหนด 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เสนอเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของการ รฟม. เป็นทางผ่าน ตามคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน ลงวันที่ 5 ก.พ.2559 ของผู้ร้องสอด ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในกำหนด 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือดำเนินการแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้วแต่ไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วแต่กรณี ให้การเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้งสี่ฉบับ มีผลตามคำพิพากษา
หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้ รฟม. ดำเนินกิจการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดให้การเพิกถอนตามคำพิพากษานี้เป็นอันสิ้นผลไป ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” ความเห็นแย้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ฝ่ายที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขดำที่ อส.188/2566 ระบุ
สำหรับรายชื่อตุลาการศาลปกครองสูงสุด ‘เสียงข้างน้อย’ ฝ่ายที่หนึ่ง จำนวน 19 คน ประกอบด้วย 1.นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ รองประธานศาลปกครองสูงสุด 2.นายสุชาติ มงคลเลิศลพ รองประธานศาลปกครองสูงสุด 3.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุด
4.นายสมชาย เอมโอช ประธานแผนกคดีบริหารราชการแผ่นดินในศาลปกครองสูงสุด 5.นายประสาท พงษ์สุวรรณ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 6.นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 7.นายมานิตย์ วงศ์เสรี ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
8.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 9.นางรดาวรรณ วานิช ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 10.นายอนุพงศ์ สุขเกษม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 11.นายประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 12.นายพงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
13.นายณัฐ รัฐอมฤต ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 14.นายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 15.นายสมภพ ผ่องสว่าง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 16.นายอนนท์ อดิเรกสมบัติ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 17.นายวิบูลย์ กัมมาระบุตร ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 18.นายภิรัตน์ เจียรนัย ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และนายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
เหล่านี้เป็นสรุปความเห็นแย้งของตุลาการศาลปกครองสูงสุด ‘เสียงข้างน้อย’ ฝ่ายที่หนึ่ง จำนวน 19 คน ที่ได้ทำความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ และยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า อนาคตของคอนโดหรูแห่งนี้จะเป็นอย่างไร!
อ่านประกอบ :
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘สยามสมาคมฯ’ ฟ้องรื้อถอนคอนโดหรู ‘แอชตัน-อโศก’ 24 พ.ย.นี้
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 20 ก.ย.นี้
ร้องทบทวนหลักเกณฑ์! ‘สมาคมอาคารชุดฯ’ ชี้ถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ กระทบวงกว้าง
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.